ลูกน้องของท่านกล้าเข้ามาคุยปัญหาเรื่องงานกับท่านหรือไม่


สิ่งหนึ่งที่พนักงานมักจะเกรง หรือกลัว ก็คือ กลัวที่จะเข้าหานาย หรือหัวหน้าโดยตรงของตนเองในเวลาที่งานที่ทำนั้นเกิดปัญหาขึ้น สาเหตุที่พนักงานกลัว ก็เนื่องจาก พนักงานเชื่อว่า ถ้าเราปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าไปหารือ หรือบอกกับหัวหน้าของตนแล้ว หัวหน้าจะคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุของปัญหานั้น และคิดว่าเราเองไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ ผลก็คือ พนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในองค์กรเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นในการทำงานก็มักจะไม่กล้าที่จะเข้าไปปรึกษาหารือกับหัวหน้าของตนโดยตรง

ผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะบานปลาย และกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเราไม่ได้เริ่มต้นแก้ไขมันตั้งแต่แรก พฤติกรรมของพนักงานที่มักจะทำเวลาที่งานมีปัญหามีดังนี้ครับ

  • ทำเป็นไม่มีปัญหา ก็คือ มักจะบอกกับทุกคนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ไม่มีอะไรต้องกลัว แม้ว่าตนเองจะกลัวแทบตายแล้วก็ตาม เพราะจะได้ไม่เสียหน้านั่นเอง
  • ซ่อนปัญหา ก็คือ เมื่อรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็เริ่มปิดบังปัญหาต่างๆ เหล่านั้น เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าตนเองมีปัญหาเกิดขึ้นในการทำงาน พยายามทุกวิถีทางที่จะปิดบัง โดยเก็บซ่อนเอกสาร ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ใครค้นเจอ
  • หารือกับเพื่อนร่วมงาน อีกวิธีหนึ่งที่มักจะเป็นที่นิยมมากก็คือ เอาปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไปแอบคุยกับเพื่อนพนักงานด้วยกันเอง รวมทั้งอาจจะปรึกษาหารือเพื่อนๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าเพื่อนๆ ไม่ได้เป็นคนที่รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริง แล้วแนะนำวิธีแก้มา พนักงานก็เชื่ออีก ผลก็คือ ปัญหานั้นจะยิ่งบานปลายและแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ
  • ลาออก และเปลี่ยนงานใหม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่พนักงานหลายคนนิยมเช่นกันครับ ก็คือ เวลามีปัญหาในการทำงานมากๆ เข้า ก็ไม่มีการปรึกษาหารือกับใครๆทั้งนั้น เพื่อที่จะหาทางแก้ไข แต่กลับใช้วิธีการตัดช่องน้อยแต่พอตัว โดยการลาออก หรือบางครั้งก็หายตัวไปเฉยๆ ไม่มาทำงานอีกเลย ปล่อยให้คนอื่นต้องเข้ามาขุดหาสาเหตุกันอย่างสนุกสนาน พนักงานที่ทำงานอยู่ก็ต้องพลอยรับกรรมในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อไว้ด้วย

ผมเชื่อว่าคงไม่มีหัวหน้างานคนไหนที่อยากมีลูกน้องอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จริงมั้ยครับ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานมีพฤติกรรมแบบที่กล่าวมานั้นก็มาจาก “หัวหน้า” ด้วยเช่นกันนะครับ สอบถามไปที่พนักงานว่า ทำไมถึงไม่ค่อยอยากจะเอาปัญหาในการทำงานไปปรึกษาหารือหัวหน้าของตนเอง คำตอบที่ออกมาก็มีดังนี้ครับ

  • โดนด่าทุกที เวลาที่เอาปัญหาเข้าไปหารือ ก็มักจะโดนหัวหน้าด่าทุกที ทั้งๆ ที่ปัญหานั้นเราเองไม่ได้เป็นผู้ก่อมันด้วยซ้ำไป แค่จะเข้าไปขอคำปรึกษาว่าจะควรจะทำอย่างไรดี แต่กลับได้รับแต่คำด่าออกมา แบบนี้ก็ไม่มีใครที่อยากจะเข้าหาหรอกครับ
  • ไม่เคยรับฟัง เวลาที่ลูกน้องเข้าไปหาหัวหน้า เพื่อจะหารือเรื่องงาน สิ่งที่หัวหน้ามักจะทำก็คือ ไม่เคยที่จะตั้งใจฟังให้จบ ชอบพูดขัดขึ้นมากลางคัน แล้วก็บอกวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ทุกครั้งไป หรือไม่ก็ชอบเล่าประสบการณ์ของตนเองให้ลูกน้องฟัง โดยไม่สนใจว่าปัญหาที่ลูกน้องเข้ามาสอบถามนั้นคืออะไรกันแน่ แบบนี้ก็ไม่มีลูกน้องคนไหนอยากเข้ามาหาอีกแน่นอนครับ
  • ไม่เคยมีคำตอบให้ จริงๆ แล้วหัวหน้าเองก็ไม่ใช่คนที่ต้องรู้ทุกอย่างเวลาที่พนักงานเข้ามาสอบถาม แต่ในกรณีนี้ก็คือ ไม่เคยที่ตอบอะไรพนักงาน ไม่เคยช่วยสอน ช่วยแนะนำ หรือช่วยหาทางออกให้เลย เวลาพนักงานเข้ามาปรึกษา ก็นั่งฟัง แต่สุดท้ายก็เงียบ หรือไม่ก็มีคำพูดแค่ว่า “งั้นคุณก็ไปหาทางจัดการเองก็แล้วกัน”

ท่านคิดว่าการที่ลูกน้องเข้ามาหารือ หรือปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาในการทำงานกับเรานั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ทำให้ปัญหานั้นไม่บานปลาย และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีแล้ว สิ่งที่ท่านในฐานะหัวหน้าจะต้องทำก็คือ ไม่ทำพฤติกรรมอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่พนักงานเข้ามาหารือ และรับฟังอย่างเข้าใจ เน้นไปที่สาเหตุของปัญหามากกว่าที่ตัวคน ที่สำคัญก็คือ ไม่ควรจะดุด่า หรือตำหนิพนักงานอย่างรุนแรงและไม่มีเหตุผล เพราะนี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานไม่อยากที่จะเข้ามาหารือกับเรา ผลสุดท้ายก็คือ ปัญหานั้นจะไม่ถูกแก้ และอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น แก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ ท่านเองล่ะครับ ลูกน้องกล้าเข้ามาหารือเรื่องปัญหาในการทำงานหรือเปล่าครับ

หมายเลขบันทึก: 492326เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 06:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท