พระราชทานเพลิงศพ


พิธีกร ผู้อัญเชิญไฟพระราชทานเพลิงศพ

พิธีกร และผู้อัญเชิญไฟพระราชทานเพลิงศพ

                มีโอกาสได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ได้เป็นพิธีกรจำเป็น จึงใคร่ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์เคยเป็นพิธีกรงานทั่วไป และเคยเป็นผู้อัญเชิญไฟพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งหาคำแนะนำได้ยาก ไม่มีผู้เขียนไว้เลย เป็น tacit knowledge ล้วนๆ

                งานพระราชทานเพลิงศพแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนดังนี้

๑.       กิจกรรมก่อนถึงเวลาไฟพระราชทานเพลิงศพมาถึง และ

๒.     ไฟพระราชทานเพลิงศพมาถึงวัด

กิจกรรมก่อนถึงเวลาไฟพระราชทานเพลิงศพมาถึง

๑.       ถวายภัตตาหารเพล ส่วนใหญ่แต่ละวัดจะมีมรรคทายกดำเนินการพิธีทางสงฆ์ ถ้าไม่มีเจ้าภาพต้องหาผู้ดำเนินการแทน ส่วนใหญ่จะเริ่ม เวลา ๑๐.๐๐ น.

บทบาทพิธีกร

-          อ่านรายนาม ผู้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ผู้ถวายภัตตาหารและจตุปัจจัยไทยธรรม โดยประสานขอรายชื่อกับเจ้าภาพ

๒.     รับประทานอาหารกลางวัน  ส่วนใหญ่จะเป็นญาติๆ ใกล้ชิดหรือแขกทางไกลที่มาก่อนเวลา

บทบาทพิธีกร

-          เชิญญาติๆ และแขกผู้มีเกียรติร่วมรับประทานอาหารกลางวัน

๓.      พระสงฆ์เทศน์ ๑ กัณฑ์  ส่วนใหญ่จะเริ่ม เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น.

บทบาทพิธีกร

-          อ่านรายนาม ผู้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ผู้ถวายกัณฑ์เทศน์ โดยประสานขอรายชื่อกับเจ้าภาพ

๔.      เจ้าภาพถ่ายภาพหน้าโลงศพกับแขกผู้มีเกียรติ เริ่มเวลา ๑๔.๐๐-๑๔.๓๐ น.

บทบาทพิธีกร

-          เชิญแขกผู้มีเกียรติเป็นชุดๆ  พยายามให้กระชับเวลาไม่เกิน ๓๐ นาที

๕.      เคลื่อนโลงศพขึ้นสู่เมรุ ใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ นาที เริ่มเวลา ๑๔.๓๐-๑๕.๐๐ น.

บทบาทพิธีกร

-          ประชาสัมพันธ์จัดรูปขบวน ดังนี้

(๑)        ผู้ถือกระถางธูปนำหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นบุตรคนโต

(๒)    
ผู้ถือรูปภาพผู้วายชนม์ ถ้ารูปใหญ่ถือ ๒ คน ส่วนใหญ่จะเป็นบุตรคนรองลงมาหรือสะใภ้

(๓)      พระภิกษุ สามเณรบวชใหม่ และแม่ชี(ถ้ามี) จูงสายโยงจากโลงศพ

(๔)      โลงศพ

(๕)      แขกผู้มีเกียรติ

-          เดินเวียนขวารอบเมรุ ๓ รอบ (ทักษิณาวรรต เมรุอยู่ติดด้านซ้ายมือผู้เดิน) นำโลงศพไปตั้งไว้บนแท่นที่เมรุ ทุกคนกลับมานั่งที่จัดไว้

-          ขณะเคลื่อนศพเวียนรอบเมรุ ควรเปิดเพลงไทยเดิมบรรเลงเป็น back up เพลงที่ใช้ควรเป็นเพลงพญาโศก บรรเลงโดยขลุ่ยเพียงออ และมอญร้องไห้ บรรเลงโดยปี่ สำหรับเพลงนางหงส์ ได้นำไปใช้สำหรับงานพระราชพิธี สามัญชนนำมาใช้จึงน่าจะไม่เหมาะสม ส่วนเพลงธรณีกรรแสง ผู้เขียนเห็นว่าจะทำให้โศกเศร้าเกินไป จะส่งผลต่อขั้นตอนต่อไปช่วงพระราชทานเพลิง ซึ่งดนตรีสามารถดาวน์โหลดจาก 4share.com

๖.       มอบทุนบำรุงสาธารณกุศล และหน่วยงานต่างๆ เริ่มเวลา ๑๔.๓๐-๑๕.๑๕ น.

บทบาทพิธีกร พยายามให้กระชับเวลาไม่เกิน ๑๕ นาที

-          เชิญตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ยืนเรียงแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง ครบทุกหน่วยงานแล้ว จึงให้เจ้าภาพ(หลายคนให้ครบทุกหน่วยงาน) ยื่นซองให้พร้อมกันและค้างไว้ ๕ วินาที ช่างภาพเก็บภาพให้สวยงาม

-          เชิญเจ้าภาพรับมอบเงินจากบริษัทประกันชีวิต ชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ พิธีกรประสานชื่อนามสกุล และตำแหน่งของผู้มามอบให้ถูกต้องจากเจ้าภาพ

๗.      ทอดถวายผ้าบังสุกุล เริ่มเวลา ๑๕.๑๕-๑๕.๔๕ น.

บทบาทพิธีกร พยายามให้กระชับเวลาไม่เกิน ๓๐ นาที

-          เชิญตัวแทนญาติ และแขกผู้มีเกียรติ ขอรายชื่อ และตำแหน่งงาน จากเจ้าภาพ ถ้าไม่เห็นเจ้าตัวขอให้เจ้าภาพเปลี่ยนเป็นท่านอื่นที่มาถึงวัดแล้ว ประสานพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้พิจารณาผ้าบังสุกุล ถ้าระบุฉายาแต่ละรูป พิธีกรต้องซ้อมอ่านให้ถูกต้อง เตรียมผู้ถือพานและผ้าบังสุกุล ผู้ถือตาลปัตรบนเมรุ เมื่อเรียบร้อยแล้วพิธีกรอ่านเป็นชุดๆ ละ ๔ ท่านหรือ ๕ ท่าน ตามแต่เจ้าภาพจะกำหนดตามจำนวนผ้าบังสุกุล ข้อเสนอแนะจากผู้เขียน ผู้ทอดผ้าต่อจากตัวแทนญาติ อาจเรียงลำดับจากผู้มีตำแหน่งสูงสุดเป็นชุดที่ ๒ หรือน้อยสุด แล้วให้ผู้มีตำแหน่งสูงสุดไว้ชุดสุดท้าย

-          พิธีกรสังเกตผู้ทอดผ้าบังสุกุลขึ้นไปครบ จึงกราบอาราชธนาพระสงฆ์ตามจำนวนผ้าที่ทอด ก่อนชุดสุดท้ายตรวจสอบผ้าบังสุกุลที่เหลือว่าครบตามจำนวนหรือไม่(ทีมถือพานผ้าบังสุกุลจึงต้องตรวจนับผ้าให้ถูกต้อง แยกเป็นชุดๆ ไว้จะได้ไม่หลงลืม)

-          เมื่อทอดผ้าครบ ให้ประชาสัมพันธ์ขั้นตอนไฟพระราชทานเพลิงศพมาถึงอีกครั้ง และรอเวลาไฟพระราชทานเพลิงศพมาถึงในอาการสำรวม และเมื่อขบวนไฟพระราชทานเพลิงศพมาถึง พิธีกรประกาศแจ้งให้ทุกคนทราบ ให้อยู่ในอาการสำรวมและงดใช้เสียงสักครู่ จนกว่าจะนำไฟพระราชทานเพลิงศพไปไว้ที่เมรุเรียบร้อย

 

 

 

ลำดับพิธีการ

พิธีพระราชทานเพลิงศพ

(๑) รับหีบเพลิงพระราชทาน

(๒) กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

(๓) รำหน้าไฟ (ถ้ามี)

(๔) นำเสนอประวัติผู้วายชนม์

(๕) อ่านทำนองเสนาะสดุดีและอาลัยแด่ผู้วายชนม์ (ถ้ามี)

(๖) ทอดผ้ามหาบังสุกุล

(๗) วางดอกไม้จันทน์

(๘) ประชุมเพลิง

               

รายละเอียดขั้นตอนการอัญเชิญไฟพระราชทานเพลิงศพ

...............

๑.       รับไฟพระราชทานเพลิงศพ (หีบเพลิง) จากที่ตั้งบูชาไว้ในที่อันควร ส่วนใหญ่จัดโต๊ะหมู่บูชาไว้

๒.     ผู้อัญเชิญถวายคำนับ ๑ ครั้ง (หญิงถอนสายบัว) อย่างน้อย ๗ คน จัดขบวน ๑: ๖ คน

            ผู้อัญเชิญไฟพระราชทาน/หีบเพลิงนำหน้า ขบวนเดินตามเป็นสองแถวๆ ละ สามคน (กรณีมีหกคน) 

๓.      รับไฟพร้อมพานรองเดินไปขึ้นรถตู้ที่เตรียมไว้

๔.      รถตำรวจนำขบวน เปิดไซเรน ต่อด้วยรถไฟพระราชทานเพลิงศพ

๕.      ถึงวัดที่ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ

๖.       ผู้อัญเชิญไฟ/หีบเพลิงพระราชทาน ลงจากรถตู้เข้าแถวเดิน

             ขบวนนำยืนเป็นสองแถว ผู้อัญเชิญเดินผ่ากลาง และเดินนำขบวนไปสู่เมรุ

 ๗. ขบวนผู้อัญเชิญไฟหีบเพลิง เดินไปหยุดหน้าเมรุ ผู้อัญเชิญนำหีบเพลิงไปตั้งไว้ที่วัดได้จัดให้ แล้วเดินลงมานำขบวนไปนั่งในที่จัดไว้

๗.๑ ผู้อัญเชิญหีบเพลิง จะเดินมาที่โพเดี่ยมพิธีกร และอ่านหมายรับรับสั่ง (กรณีเจ้าภาพทำเรื่องผ่านสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอหรือจังหวัด วัฒนธรรมอำเภอหรือวัฒนธรรมจังหวัดจะเป็นผู้อ่านเอง)

๗.๒ เจ้าภาพอ่านเอง (กรณีอำเภอหรือจังหวัดไม่มาจะแจ้งเจ้าภาพทราบล่วงหน้า)

        ๗.๒.๑ บทบาทพิธีกร ประกาศผู้อ่านหมายรับรับสั่ง

                     นาย.... บุตรคนที่ ... ตำแหน่ง......หน่วยงาน........

แนะนำให้เจ้าภาพผู้ที่จะอ่าน ซ้อมอ่านหลายร้อยเที่ยว ให้เสียงดังฟังชัด เว้นวรรคตอนเหมาะสม จังหวะการอ่านไม่เร็วไม่ช้าเกินไป

         ๗.๒.๒ ผู้อ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

                     นาย.... บุตรคนที่ ... ตำแหน่ง......หน่วยงาน........

แนะนำให้เจ้าภาพผู้ที่จะอ่าน ซ้อมอ่านหลายร้อยเที่ยว ให้เสียงดังฟังชัด เว้นวรรคตอนเหมาะสม จังหวะการอ่านไม่เร็วไม่ช้าเกินไป

         ๗.๒.๓ รำหน้าไฟ (ถ้ามี) ชื่อชุดการแสดง...รำโดย นางสาว...

         ๗.๒.๔ ผู้อ่านประวัติผู้วายชนม์

                     นาง.... บุตรคนที่ ... ตำแหน่ง......หน่วยงาน........

แนะนำให้เจ้าภาพผู้ที่จะอ่าน ซ้อมอ่านหลายร้อยเที่ยว ให้เสียงดังฟังชัด เว้นวรรคตอนเหมาะสม จังหวะการอ่านไม่เร็วไม่ช้าเกินไป

          ๗.๒.๔ ผู้อ่านทำนองเสนาะ(ถ้ามี)

                     นาง.... บุตรคนที่ ... ตำแหน่ง......หน่วยงาน........

แนะนำให้เจ้าภาพผู้ที่จะอ่าน ซ้อมอ่านหลายร้อยเที่ยว ให้เสียงดังฟังชัด เว้นวรรคตอนเหมาะสม จังหวะการอ่านไม่เร็วไม่ช้าเกินไป

         ๗.๒.๕ ต่อจากนั้น พิธีกรกราบอาราชธนาพระสงฆ์ทุกรูปแผ่เมตตาจิตส่งดวงวิญญาณผู้วายชนม์สู่สุคติ และเชิญแขกผู้มีเกียรติทุกท่านยืนขึ้นสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย พิธีกรส่งสัญญาณทีมดูแลเครื่องเสียงเปิดเพลงแตรนอน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก 4share.com จบเพลงพิธีกรเชิญทุกท่านนั่งลง

๘.      ลำดับต่อมาพิธีกรเชิญประธานในพิธีทอดผ้ามหาบังสุกล ผู้อัญเชิญเดินขึ้นเมรุทางบันไดด้านข้าง ไปประจำจุดหีบเพลิงตั้งไว้ หลังประธานในพิธีทอดผ้ามหาบังสุกุลเสร็จจะดำเนินการดังนี้

๘.๑ ประธานจะเป็นผู้เปิดหีบเพลิง

๘.๒ แล้วยื่นเทียนชนวนให้ผู้อัญเชิญไฟถือไว้

๘.๓ ประธานหยิบกลักไม้ขีดไฟจุดเทียนชนวนจนลุก

๘.๔ ประธานจะหยิบเอาดอกไม้จันทน์ ธูปเทียนพระราชทานต่อไฟจนลุก แล้ววางไว้ใต้โลงศพในที่จัดให้

๘.๕ ประธานถวายคำนับ ๑ ครั้ง เดินลงมา ผู้อัญเชิญค่อยเดินลงมาตามหลัง

๙.       พิธีกรกราบอาราชธนา ประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์วางดอกไม้จันทน์ ช่วงนี้เปิดเพลงไทยเดิมบรรเลงเพลงพญาโศก และมอญร้องไห้เป็น back up ไปเรื่อยๆ จนทุกคนวางดอกไม้จันทน์เรียบร้อยแล้ว

๑๐.    ลำดับต่อมาผู้ขึ้นวางดอกไม้จันทน์คือ ข้าราชการแต่งชุดปกติขาว  ตามมาคือ ชุดพิธีการหน่วยงานต่างๆ เช่น อสรด. สภากาชาด และตามด้วยชุดไว้ทุกข์ดำสุดท้าย

๑๑.   พิธีกรกล่าวขอบพระคุณ แขกผู้มีเกียรติ เชิญรับประทานอาหารเย็นที่บ้านเจ้าภาพ(ถ้ามี) และขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ เป็นอันเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ และบริหารเวลาได้ตามกำหนดการอย่างยอดเยี่ยม.

...........................

คำสำคัญ (Tags): #พิธีกร
หมายเลขบันทึก: 491888เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท