“ความสุข” เริ่มต้นด้วยการเป็นนักคิดสร้างสรรค์แบบไม่เพ้อฝัน (Practical Creativity)


การใช้ชีวิตแบบเลข 9 อย่าคิดว่าอะไรจะต้องสมบูรณ์เต็ม 10 ให้เผื่อที่ว่างไว้ คนที่สมบูรณ์แบบเกินไปมักจะเป็นปัญหา เพราะความสมบูรณ์แบบมักกินเวลาในชีวิตไปมาก ทำให้ไม่มีพลังเหลือพอที่จะไปเปิดหูเปิดตาและค้นหาความคิดสร้างสรรค์ ในที่ห่างไกลไปจากงานประจำวัน

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

นักจัดรายการวิทยุ "คิดระหว่างบรรทัด" FM 96.5

 

นี่เป็น คำถามและคำตอบที่ผมเตรียมไว้สำหรับรายการ “สโมสรสุขภาพ Green Life” สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อสมท. เมื่อวันพุธที่ 13 มิถุนายน 2555 หากทว่าเนื่องจากมีเวลาจำกัดเพียง 10 นาที จึงไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาสาระทั้งหมดได้

ผมคิดว่าเนื้อหาสาระยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง โดยเฉพาะสภาพการณ์ของสยามประเทศในวันนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้าในทุกอณู ขุมขน จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้ได้อ่านกันนะครับ

 

- ถ้าพูดถึงเรื่องการสร้างความสุขตอนนี้ คนไทยมีความสุขมากน้อยแค่ไหน ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆเพราะอะไร ประเทศอื่นๆ ถึงมีค่า GDP มากกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH)

ความสุขเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อาจวัดเป็นตัวเลขได้ชัดเจนเหมือนเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงชอบวัดตัวเลข GDP กันมากกว่า

เราลืมนึกไปว่า ที่ทำมาหากินเพิ่มทั้งเงินในกระเป๋า และ GDP ประเทศ ก็เพื่อที่จะมีความสุข มีชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ

สิ่งที่คนไทยได้เปรียบในเรื่องความสุขก็คือ คนไทยเป็นชนชาติรักสนุก มีงานรื่นเริงตลอดเวลา ใบหน้ายิ้มแย้ม จิตใจผ่องใส เมื่อมีทุกข์มาเยือน ก็มักจะพูดว่า “ช่างมันเถิด”

บางทีเราก็หลงไปกับเทคโนโลยีล้ำยุคของตะวันตก จนกระทั่งลืมไปว่า การยิ้มแย้มแจ่มใสของเรา ก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล ทำให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาค้าขาย ซึ่งเป็นโอกาสอย่างยิ่งในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวเราเองเท่านั้น หากยังเป็นผลจากความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ดังนั้น การมองโลกในแง่ดี รับฟังผู้อื่น ดื่มด่ำกับทุกถ้อยคำ ไม่เถียงก่อนคนอื่นจะพูดจบ นอกจากทำให้จิตใจเรานิ่งสงบ เนิบนาบแล้ว คนอื่นก็จะรู้สึกว่าเรานอบน้อมสุภาพ ก็จะส่งความรักและพลังด้านบวกกลับมาหาเรา

ความสุขอาจไม่ใช่เรื่องที่จะมาวัดกันได้ แต่สามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ด้วยใจครับ

- ทำไมคุณเจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ ถึงอยากให้การสร้างความสุข มาจากการเปลี่ยนความคิดให้คิดในแง่ดีและสร้างสรรค์

การคิดในแง่ดี ต้องระวังว่าไม่ได้เป็นการหลอกตัวเองหรือปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หากเป็นกลยุทธ์แบบหนึ่งให้เรามีพลังในการสู้กับปัญหา หากคิดแต่ในด้านร้าย แค่คิดก็คงหมดแรงแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการลงมือทำ

ความสุขเป็นเรื่องยาก การคิดในแง่ดีเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบให้เรามีความสุขได้ทันที แต่ไม่ใช่เพื่อเกียจคร้าน หากเป็นการเติมพลังให้เราต่อสู้ในโลกที่โหดร้ายได้ทุกวัน

การสังเกตสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยด้วยมุมมองแบบใหม่ เป็นวิธีหนึ่งในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการมองโลกในด้านบวก เราอาจสัมผัสโต๊ะที่เรานั่งทำงานและกล่าวขอบคุณ เราอาจทักทายต้นไม้ที่ให้อากาศสดชื่นกับเรา แล้วสูดหายใจให้เต็มปอด 1 ครั้ง เพื่อจะเริ่มเช้าวันใหม่ที่สดใส

Steve Jobs เคยไปฝึกฝนกับนักบวชและอาจารย์ Zen ซึ่งก็บ่มเพาะให้ผลิตภัณฑ์ของ Apple มีความโดดเด่นแบบเรียบง่าย แม้แต่เรื่องการซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน Steve Jobs ก็ยังต้องถกเถียงกับภรรยาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบและดีไซน์ นี่จึงเป็นที่มาความคิดสร้างสรรค์ซึ่งไม่มีวันหยุดนิ่งของเขา

ในเรื่องความรักก็เช่นกัน หากเรากำลังมีปัญหากับแฟน ก็อย่าพึ่งคิดลบว่าเขาไม่รักเรา แต่จงเปิดใจและใช้ความคิดสร้างสรรค์รับฟังในสิ่งที่คู่รักของเราไม่ได้พูด ออกมา อาจมีบางอย่างที่เราหลงลืมไป เพราะเรื่องแบบนี้บางทีอีกฝ่ายก็ไม่ได้บอกมาโดยตรง

คิดบวกคิดสร้างสรรคแล้วก็ต้องคิดลบไว้ด้วย หากว่าไปกันไม่ได้จริง เราก็ต้องปล่อยวาง เพราะในโลกนี้ก็อาจมีคนดีๆอีกมากมายที่รอให้เราไปค้นหาและเรียนรู้
บางคนพอมีแฟนแล้ว ก็จะปิดใจไม่คบหาเพื่อนฝูง ไม่สนใจชีวิตรอบข้าง เมื่อวันหนึ่งเกิดปัญหากับแฟนขึ้นมา ชีวิตก็จะไปต่อไม่ได้ บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง

สำหรับคนที่ยังไม่มีแฟน ก็อย่าพึ่งน้อยใจ เราต้องเปิดใจว่าจะพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของเพศตรงข้ามได้อย่าง ไร มีบุคลิกและคุณสมบัติตรงไหนที่จะพัฒนาให้มีเสน่ห์ดึงดูด และแน่นอน โอกาสสำหรับคนโสดย่อมเปิดกว้างกว่าคนที่มีคู่อยู่แล้ว เพราะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องกลัวโดนจับตา

- เรามีวิธีสร้างความสุขอย่างสร้างสรรค์กับตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อให้สุขทั้งกายและใจ

อันดับแรก ต้องทำอะไรให้ช้าลง ดื่มด่ำกับบรรยากาศงดงามรอบตัวอย่างเต็มที่ มนุษย์ทุกวันนี้ถูกรบกวนจากสิ่งเร้ามากมาย ทำให้สมองคิดตามไม่ทัน เมื่อประสาทสัมผัสถูกกระตุ้นมากๆ ก็จะทำงานได้ไม่ดี นำมาซึ่งความเครียดวิตกทุกข์ร้อน

การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อลิ้มรสชาติ นอกจากทำให้อารมณ์ดีคลายเครียดแล้ว ยังส่งผลดีต่อระบบย่อยของร่างกายอีกด้วย

บางทีปัญหาชีวิตที่รุ้มเร้า ก็อาจคลี่คลายได้ด้วยการรับประทานอาหารเลิศรส คลอเคลียไปด้วยเสียงดนตรีคลาสสิค

อันดับที่สอง คือ การจัดเรียงลำดับความสำคัญในชีวิต เราต้องรู้จักตัดใจจากบางสิ่ง เพื่อเฟ้นหาสิ่งที่ดีกว่า โดยเฉพาะหลายคนติดตามข่าวการเมือง จนกระทั่งเป็นโรคเครียด

เราต้องเป็นฝ่ายกำหนดสื่อที่เราจะรับ ถ้าเราเปิดโทรทัศน์เจอข่าวการเมืองหรือข่าวที่กระตุ้นความเครียด โดยไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิต ก็จงเปลี่ยนช่อง หรือไปเสพรับข่าวสารจากช่องทางอื่น อาจแวะไปที่ร้านหนังสือ เพื่อเลือกหยิบนิยายรื่นรมย์มาอ่าน เปิดวิทยุฟังเพลงเบาๆ หรืออยู่เงียบๆคนเดียว นั่งนึกฝันถึงวัยเด็กที่ผ่านมา ก็ยังทำได้

อันดับสุดท้าย คือ การใช้ชีวิตแบบเลข 9 อย่าคิดว่าอะไรจะต้องสมบูรณ์เต็ม 10 ให้เผื่อที่ว่างไว้ คนที่สมบูรณ์แบบเกินไปมักจะเป็นปัญหา เพราะความสมบูรณ์แบบมักกินเวลาในชีวิตไปมาก ทำให้ไม่มีพลังเหลือพอที่จะไปเปิดหูเปิดตาและค้นหาความคิดสร้างสรรค์ ในที่ห่างไกลไปจากงานประจำวัน

- case study และการนำแนวทางไปคิดจริงๆ (อยากให้พูดถึงปัญหารบกวนจิตใจ ที่ทำให้คนเกิดความเครียด เช่น น้ำท่วมที่ระนอง ปัญหาขยะล้นโลก รถติด ปัญหาโลกร้อน ปัญหาเงินๆทองๆ ทั้งราคาน้ำมันแพงทองคำผันผวน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนสร้างความทุกข์แก่ประชาชน)

น้ำท่วมก็แย่อยู่แล้ว หากจิตใจหดหู่ ทุกสิ่งก็ยิ่งไปกันใหญ่

อยากให้ลองคิดในด้านบวกกันดูว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน ตกเย็นก็ต้องรีบเข้านอน ครอบครัวจะเจอหน้าทักทายกันได้สักกี่ครั้ง

น้ำท่วมอาจเป็นโอกาสให้เราได้เห็นน้ำใจและความรักของคนในครอบครัว

น้ำท่วมเพิ่มเวลาให้เราได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักมากขึ้น

หลังจากน้ำท่วมปีที่แล้วผ่านพ้น ก็อาจแปรวิกฤตเป็นโอกาส โดยการนัดรวมตัวกันทุกอาทิตย์ เพื่อวางแผนกันรับมือน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า หลังจากนั้นจึงรับประทานอาหารหรือหยอกล้อเล่นกัน

ความสุขในครอบครัวก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ง่ายๆแบบนี้

ปัญหารถติด ก็เป็นเรื่องธรรมชาติไปแล้ว แต่ถ้าเรายอมตื่นเช้าสักนิด ปรับเวลานอนให้เร็วขึ้น นอกจากทำให้นาฬิกาชีวิตของเราเดินได้ดีแล้ว ยังทำให้กระปรี้กระเปร่ากับแสงแดดและไอน้ำค้างในยามเช้าอีกด้วย

เมื่อออกจากบ้านก่อน 6 โมงเช้า เราจะรู้สึกโล่งใจที่ถนนโล่งอย่างนี้ แม้จะมีรถติดบ้าง ก็ถือเป็นโอกาสในการชมวิวทิวทัศน์ข้างทาง เพิ่มความรื่นรมย์ไปโดยไม่รู้ตัว

เราจะพบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราละเลยไประหว่างทางจากบ้านไปที่ทำงาน หรือจากบ้านไปโรงเรียน การตื่นเช้า จึงเป็นเทคนิคในการปลุกประสาทสัมผัสและความละเอียดอ่อนของเราให้กลับคืนมา หลังจากที่อารยธรรมเมืองดึงมันไปหมด แล้วทำให้เราเฉื่อยชา

ราคาน้ำมันแพง ก็อาจทำให้เราได้เปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น ถ้าขึ้นแท็กซี่ ก็อาจได้มีเพื่อนสนทนาอย่างถูกคอ ได้เปิดมุมมองใหม่ ถ้าขึ้นรถไฟฟ้า ก็อาจได้แวะรับประทานอาหารและเดินทอดน่องในระหว่างเส้นทางที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน

ยังไม่นับว่าเราอาจพบรักบนรถไฟฟ้า เหมือนลุงและลี่ ในเรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ก็เป็นได้

หรือแค่แอบมองดูเขาและเธอบนรถไฟฟ้า ชีวิตก็เบิกบานขึ้นแล้ว

ทองคำผันผวน ก็ต้องอ่านจังหวะให้ดี อย่าเป็นแมงเม่า ซึ่งผมคงไม่มีเวลาวิเคราะห์ละเอียด หากอยากรู้เพิ่มเติมก็ติดตามที่ผมจัดรายการวิทยุ “รู้ใช้เข้าใจเงิน” FM 96.5 ซึ่งสังกัดช่อง 9 อสมท. เหมือนกัน หากไม่อยากปวดหัว ถ้าราคาดีดกลับขึ้นมาในช่วงสั้น มีกำไรนิดนึงให้ขายทิ้ง เลิกเล่นไปเลย

มีการลงทุนอีกมากที่เรายังไม่รู้จัก หากเปิดใจเข้าไปศึกษาไม่แน่ว่าจะเจอขุมทรัพย์ หรืออย่างน้อยก็อาจมีแง่มุมดีๆมากมายที่เราจะได้รับ

การลงทุนในหุ้น หลายคนอาจบอกว่ามีความเสี่ยง แต่ถ้าเราไม่ติดตามตลาดแบบรายวันที่จะทำให้เครียด และเริ่มศึกษารูปแบบการทำธุรกิจของหุ้นตัวนั้นอย่างจริงจัง เราก็สามารถลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ตื่นเช้าและเข้านอนอย่างมีความสุข เมื่อครบเวลา 1001 ราตรี หุ้นขึ้นไป 3 เท่า เราก็ยิ้มร่าและมีเงินไปช้อปปิ้งได้แล้ว

Peter Lynch นักลงทุนระดับโลก ยินดีเกษียณตัวเองเมื่ออายุเพียง 46 ปี  เพราะพบว่าตัวเองจดจำชื่อหุ้นได้แม่นยำกว่าชื่อลูกสาวตัวเอง เขาหวนระลึกถึงคนรู้จักที่เสียชีวิตไปเพราะโหมงานหนัก คิดว่าทำงานอีกนิด จะได้มีเงินเพิ่ม จะได้ใช้เวลาที่เหลือในการสร้างความอบอุ่นสุขล้นให้กับลูกและภรรยา แต่เวลานั้นไม่เคยมาถึงเลย หากเรายังคงผลัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนเวลาที่จะมีความสุขออกไป

จงเป็นนักลงทุนที่ดีเหมือน Peter Lynch ลงทุนหุ้นดีๆ แล้วก็แบ่งเวลามาลงทุนกับสุขภาพด้วย เพราะเงินซื้อสุขภาพไม่ได้

เศรษฐกิจทุกวันนี้มีความผันผวนมากกว่าในอดีต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราจะย่ำแย่ตามไปด้วย ยังมีธุรกิจมากมายที่เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต เศรษฐกิจแย่ลงโทษเฉพาะธุรกิจและคนที่อ่อนแอเท่านั้น

เราจึงต้องเลิกเครียดเพราะคิดว่าจะเป็นผู้แพ้ แต่ควรนำเวลาแห่งความวิตกกังวลไปใช้ในการพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่ง ทั้งในเชิงสติปัญญาที่เฉียบแหลมสร้างสรรค์ ทั้งในการบ่มเพาะสุขภาพร่างกายและจิตใจให้สดชื่น สู้งานได้ทุกรูปแบบโดยไม่เหน็ดเหนื่อย

แม้ว่าท้องฟ้าจะมืดมิดเพียงใดก็ตาม เราก็ยังมีที่หลบฝนที่แข็งแรงและอบอุ่นได้ หากไม่ทำตัวอ่อนแอท้อแท้ไปกับคำพยากรณ์อากาศและการทำนายเศรษฐกิจทั้งหลาย เราต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับกับทุกสถานการณ์

- อยากให้คุณเจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ พูดถึงปัญหาที่คนต่างจังหวัดพบเจอด้วยครับ รวมถึงวิธีการคิดแบบสร้างสรรค์เพื่อให้ความทุกข์ลดน้อยลง)

ชีวิตในต่างจังหวัดก็ไม่ได้เลวร้ายไปหมดครับ อย่างน้อยก็ยังมีอากาศบริสุทธิ์กว่าคนกรุง ไม่ต้องแย่งเบียดในรถไฟฟ้า ไม่ต้องทนควันพิษ
เราสามารถทำงานได้มากมายในต่างจังหวัด เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เราอาจนั่งอ่านหนังสือและเขียนหนังสือได้อย่างงดงาม ซึ่งอาจนำไปสู่รางวัลซีไรต์หรือแม้กระทั่งโนเบล

เราอาจหยิบยืมโมเดลธุรกิจของคนกรุง ทั้งในสยามสแควร์และสีลม ไปใช้ในต่างจังหวัดได้ เพราะคู่แข่งยังน้อย ทำไมต้องไปเบียดแย่งในเมืองกรุงด้วย
คนกรุงต้องซื้อผักปลอดสารพิษในราคาแพง แต่คนต่างจังหวัดสามารถปลูกกินได้อย่างมั่นใจ

สมัยก่อนคนต่างจังหวัดมีปัญหาเรื่องการคมนาคม ไฟฟ้า และประปา แต่ปัจจุบันก็เริ่มคลี่คลายลง ที่สำคัญ คนต่างจังหวัดยังสามารถเดินทางเข้ามาเสพรับความเจริญและความหรูหราใน เมืองกรุงได้ ทั้งการทำธุรกิจและท่องเที่ยว เมื่อเต็มอิ่มแล้ว ก็กลับไปรื่นรมย์กับธรรมชาติโดยไม่ต้องปวดหัวกับความวุ่นวายในเมือง

คนต่างจังหวัดหรือคนเมืองกรุง ก็มีทั้งคนที่สุขและทุกข์ สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาตัวเองในทุกวิถี เปิดมุมมองใหม่ เชื่อมโยงสิ่งที่อยู่รอบตัวให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ แล้วชีวิตของเราจะไม่อับจนอีกต่อไป

มีคนบอกว่า “ความสุข คือ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง” ก็อย่าลืมดูแลคนที่คุณรักด้วย แต่ก็ต้องรักอย่างถูกทาง รักอย่างเข้าอกเข้าใจ และรักอย่างสร้างสรรค์ อย่าฟังแต่สิ่งที่พูด แต่ฟังสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดด้วย เพราะนั่นเป็นที่สิงสถิตย์ของหัวใจ

สุขภาพกายและใจที่ดี เริ่มต้นได้จากการสร้างสรรค์ “ความสุข” ให้กับตัวเราและคนรอบข้าง ไม่ใช่ด้วยการร่ำรวยเงินทอง แต่มาจากการพัฒนาความคิด ไม่มองโลกใบนี้ด้วยมุมมองที่ซ้ำซาก หากมองเห็นความงามในทุกวันชองชีวิต

หมายเลขบันทึก: 491795เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท