ผ้าขาวเปื้อนหมึก
กานนา สงกรานต์ กานต์ วิสุทธสีลเมธี

เอาอะไรต่อไหม


เรื่องที่นำเสนอ

กิจวัตรของสงฆ์  หรือ หน้าที่ของพระสงฆ์

หน้าที่ของพระสงฆ์ในการศึกษาปฏิบัติ

       พระสงฆ์ทุกรูปในพระพุทธศาสนา จะต้องปฏิบัติตามพระวินัยในพระพุทธศาสนาเพราะถือเป็นกฎระเบียบที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อให้พระสงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างสงบไม่สร้างความเสื่อมเสีย

ให้แก่พระพุทธศาสนา  ทั้งยังเป็นการสร้างศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็นด้วย วินัยของสงฆ์มีมากมาย ในสมัยพุทธกาลพระสงฆ์จะต้องมีกิจวัตร ( กิจ = สิ่งที่ต้องทำ วัตร = สิ่งที่ควรทำ ) ๒ อย่าง

       ๑. นิสัย ๔ หมายถึง ต้องอาศัยปัจจัย ๔ อย่างในการดำเนินชีวิต คือ

           ๑.๑ บิณฑบาตเป็นกิจวัตร คือ ไม่ประกอบอาชีพใด ๆ นอกจากบิณฑบาตเลี้ยงชีพ

           ๑.๒ ถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร คือ นำผ้าที่ทิ้งแล้วมาเย็บเป็นจีวร ต่อมาพระองค์อนุญาตให้รับผ้าที่มีผู้นำมาถวายได้

           ๑.๓ อยู่โคนต้นไม้เป็นกิจวัตร คือ อาศัยอยู่ตามถ้ำ ป่า โคนต้นไม้ จะอยู่ประจำเฉพาะฤดูฝน ๓ เดือนเท่านั้น

           ๑.๔ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือ ฉันยาสมุนไพรรักษาโรคตามที่หาได้

       ๒. อกรณียกิจ ๔ หมายถึง สิ่งที่พระสงฆ์ไม่ทำ ๔ อย่าง คือ

           ๒.๑ ไม่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์

           ๒.๒ ไม่ลักทรัพย์

           ๒.๓ ไม่ฆ่าสัตว์

           ๒.๔ ไม่อวดคุณวิเศษที่ตนไม่มี

หน้าที่ของพระสงฆ์ในการศึกษาอบรม

   พระสงฆ์จะต้องฝึกอบรม  กาย วาจา ใจ ให้ครบสมบรูณ์  ๓ ด้าน คือ

       ๑. ด้านศีล ต้องควบคุม กาย วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย งดเว้นจากข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ศีลของพระสงฆ์มี ๒ อย่าง คือ

           ๑.๑ ศีลในปาติโมกข์ คือ ศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุและศีล ๓๑๑ ข้อ ของภิกษุณี

           ๑.๒ ศีลนอกปาติโมกข์ คือ ศีลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ข้อบัญญัติที่เกี่ยวกับมารยาทต่าง ๆ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์

       ๒. ด้านสมาธิ พระสงฆ์ต้องฝึกฝนจิตใจด้วยการฝึกเจริญภาวนา เพื่อทำจิตใจให้สงบ ข่มกิเลสได้ทีละน้อย ๆ จนมากขึ้นถึงขั้นวิปัสสนา ภาวนา คือ เกิดปัญญารู้แจ้ง แล้วสละกิเลสได้เด็ดขาด

       ๓. ด้านปัญญา พระสงฆ์จะต้องศึกษาอบรมตนเองให้เป็นผู้มีปัญญา ๒ ด้าน คือ มีปัญญาในสรรพวิทยาการทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน เช่น พระสงฆ์มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ก็จะช่วยอธิบายหลักธรรมได้กว้างยิ่งขึ้น นอกจากนี้พระสงฆ์จะต้องมีปัญญาในทางธรรมโดยเข้าใจโลกและชีวิตการปล่อยวางความติดยึดตามลำดับ แล้วพยายามลดละความโลภ โกรธ หลง ให้ลดลงจนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง

การศึกษาเล่าเรียน

พระสงฆ์ในประเทศไทยจะต้องศึกษาปฏิบัติตามหลักสูตรของพระสงฆ์ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมของ  กระทรวงศึกษาธิการหรือศึกษา ในหลักสูตร ปริญญาศาสนศาสตร์ ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ( ศน.บ. ) และหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต  ของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (พธ.บ.) จนถึงปริญญาตรีก็ได้  ถ้าศึกษาหลักสูตรนักธรรม  ก็มี ๓ ระดับ คือ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ถ้าเรียนต่อหลักสูตรเปรียญ อีก ๓ ระดับ คือ เปรียญตรี เปรียญโท เปรียญเอก ( เปรียญธรรม ๙ ประโยค ) จะได้ชื่อว่าเปรียญธรรม มีฐานะเทียบเท่าปริญญาตรี

หน้าที่ของพระสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    เมื่อพระสงฆ์ฝึกอบรมตนเองพร้อมแล้ว จะต้องมีหน้าที่ ชี้แนะแนวทางการประพฤติที่ดีให้แก่ ผู้อื่นเพื่อเป็นการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยปฏิบัติดังนี้

    ๑. สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยการสอนหลักธรรมให้คนอื่น ดังนี้

        ๑.๑ สอนให้ละเว้นจากความชั่ว

        ๑.๒ สอนให้ตั้งตนอยู่ในความดี

        ๑.๓ เมื่อทำความดีอยู่แล้วให้ทำเพิ่มขึ้น

        ๑.๔ สอนให้ได้ฟัง ได้รู้ ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ไม่เคยฟัง

        ๑.๕ ทำสิ่งที่เคยทำมาแล้วให้เข้าใจยิ่งขึ้น

        ๑.๖ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบสุข

    ๒. เป็นแบบอย่างที่ดี พระสงฆ์ต้องรู้และเข้าใจ ในหลักธรรมและปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติแจ้ง ปฏิบัติชอบยิ่ง เพื่อสร้างศรัทธาให้ผู้พบเห็นได้เลื่อมใสและปฏิบัติตาม

    ๓. มีกิจกรรมในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยพระสงฆ์จะต้องใช้สื่อหลายอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วีดีทัศน์ เพื่อช่วยในการให้ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมได้มากยิ่งขึ้น

    ๔. สร้างบุคลากรไว้สืบทอดพระพุทธศาสนา เพื่อให้คงอยู่ตลอดไป

ธรรมะจากเณรน้อย

สามเณรน้อยรูปหนึ่งเป็นนักเทศน์  เก่งมาก 

สามารถนำธรรมะมาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ ได้อย่างแตกฉาน

เข้าพรรษา...ที่วัดก็มีการจัดพระเณร ผลัดหมุนเวียนกัน ขึ้นเทศน์ 

แต่เณรน้อยจะเป็นขวัญใจของญาติโยม... ชื่นชอบมากเป็นพิเศษ มากกว่าคนอื่นๆ

เพราะฟังแล้วเข้าใจง่าย...ไม่มีภาษาบาลีมากนัก 

หลวงตาติดก็เป็นนักเทศน์เหมือนกัน  ติดสมชื่อ คือ ติดหมาก  ติดบุหรี่ ขณะที่เทศน์ก็สูบบุหรี่ควันโขมง เทศน์สอนว่าเหล้า บุหรี่ ไม่ดี ยาเสพติดไม่ดี... อาตมารู้หมด  แต่ อดไม่ได้

วันหนึ่งได้พบหน้ากับเณรน้อย หลวงตาซึ่งไม่ค่อยสบอารมณ์อยู่แล้ว  จึงพูดกับเณรว่า 

"เณร..ถึงเณรจะเทศน์เก่ง  มีคนสนใจมาก..แต่ไม่เห็นมีใครสนใจเอาใจใส่เณรเลยว่าเณรต้องการอะไร  ?

ไม่เห็นมีใครเอาอะไรมาถวายเณรเลย สู้อาตมาไม่ได้ มีญาติโยมนำมาติดกันเทศน์เต็มไปหมด 

ต้องการอะไรเขาก็เอามาถวายทุกอย่าง ฉันต้องการขวานมาผ่าฟืนต้มน้ำร้อน เขาก็เอามาถวาย

ฉันต้องการพัดลมมาแก้ร้อน  เขาก็ถวาย พัดลม"

เณรน้อยบอกว่า

"หลวงตา ที่เขาติดกันเทศน์เป็นขวานกับพัดลมน่ะ 

มันเป็นปริศนาธรรม เขาติดกันเทศน์เพื่อสอนหลวงตา"

"ไม่จริง..เขาสอนยังไง..??"หลวงตาแย้งถาม

"ที่เขาถวายขวาน  เขาสอนว่า หลวงตารู้หมดทุกอย่างว่า  เหล้าไม่ดี บุหรี่ไม่ดี  ยาเสพติดไม่ดี 

เทศน์สอนคนทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ตัวเองยังสูบ ยังติด มันก็เหมือนกับขวาน

ขวานมันถากอะไรได้ทุกอย่าง ยกเว้นด้ามของมันเอง"

หลวงตาโกรธจัด ด่าว่า "ไอ้เด็กเวร ทำเป็นอวดรู้มาสอนกู"

เณรน้อยจึงพูดต่อว่า "หลวงตาโกรธใช่ไหม?"

"เออ ..ซิวะ.."หลวงตาว่ายังไม่หายฉุน 

"เวลาโกรธนี่มันร้อนใจหรือเย็นใจ  หลวงตา" เณรถามต่อ 

"ร้อนซิวะ ถามได้"

"พัดลมที่เขาติดกันเทศน์น่ะ  เขาสอนหลวงตาว่า พัดลมมันเป่าให้คนอื่นเย็นได้ทุกคนแหละ 

แต่ว่าก้นมันเองร้อน เพราะมันลืมเป่าก้นตัวเอง"

พระทศพล วุฑฺฒิเมธี รหัส ๕๑๑๐๕๔๐๑๑๑๐๗๔

ปี ๔ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาไทย

ดาบเมืองล้านนา

ที่มาของดาบ

นักสะสมดาบก็เช่นกัน ดาบเก่าค้างฝาเรือน มีแต่คำเล่าที่คงอยู่คู่กับดาบ  รู้ว่าเป็นของอุ๊ยแต่อุ๊ยจะได้จากไหน  ใครเป็นคนตี เราก็ตอบยาก  ส่วนเรื่องดาบกับการรบทัพจับศึกก็มีแต่ตำนาน ไม่เคยสักครั้ง ที่เห็นการใช้ดาบต่อสู้กันจริงจังต่อหน้าต่อตา นอกจากบนเวทีลิเก และหนังจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง๗สี ฉะนี้แล้ว เราคาดเดาอายุดาบ แหล่งที่มาของดาบ จากประสบการณ์ใด

ดาบแต่ละเล่ม มีรูปลักษณ์แตกต่างกัน  ดาบเก่าดาบใหม่วิธีสร้างก็ต่างกัน แต่ดาบใหม่แสร้งทำเก่าคนทำก็เก่งเหลือเกิน องค์ประกอบตั้งแต่ ฝัก  ใบดาบ และ ด้าม ต้องพิจารณาดูว่าเป็นชิ้นเดียวกัน หรือผิดฝาผิดตัวกันหรือไม่  ฝักที่สอดใบดาบได้สนิท  ไม่ขาดไม่เกินจนน่าเกลียด หวายคาด หรือปลอกเงิน ลวดเงิน  ต้องเป็นฝีมือเดียวกันทั้งเล่ม  และที่สำคัญ ด้ามกับใบดาบถูกเปลี่ยนไปมากหรือน้อยเพียงใด นี่ยังไม่รวมการตีใบดาบขึ้นใหม่ และทำให้เก่า เนียนจนยากจะแยกออก ยอกหัวใจเมื่อรู้ความจริงภายหลัง

การพิจารณาหาแหล่งที่มา  อายุ ของดาบนั้น ที่อายุเกินครึ่งร้อยใช้หลักง่ายๆ ดังนี้ แล

๑รูปลักษณ์ที่คล้ายกัน กล่าวคือ ดาบแต่ละแหล่งจะมีรูปลักษณ์เฉพาะทำให้จำได้ คนมีดาบเกิน ๑๐ เล่ม จะแยกได้ว่าเล่มใดเหมือนเล่มใด ทั้ง ฝัก ด้าม เครื่องคาด ใบดาบ เหมือนกัน คล้ายกันก็รวมกันไว้ แล้วค่อยดูที่มาและเรื่องเล่าประกอบ

๒ ตราประทับ ดาบบางเล่ม จะประทับตราที่โคนดาบจำหมายให้รู้ว่าเป็นของสำนักใด ตอกเป็นรูปตะวัน รูปดอกจันทน์ รูปเต่า รูปปืน (รูปที่เห็นเอาคล้ายเฉยๆ อาจไม่ใช่เต่า ไม่ใช่ตะวัน ไม่ใช่ดอกจันทน์ก็ได้ ) บางเล่มฝังโลหะ แต่งร่องลายที่สันดาป และลวดลายอื่นๆ เท่าที่ศึกษามา ยังไม่พบจารึกบอกปีที่สร้างบนตัวดาบ (หรืออาจจะมี แต่ผู้ข้าไม่เคยเห็น)

๓ ทรงดาบ ข้อนี้ลึกซึ้งหน่อย คือ รูปแบบของใบดาบที่ตีจากแหล่งเดียวกันจะคล้ายกัน ด้วยคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือช่าง หรือตระกูลช่างเดียวกัน บางท่านดูลึกถึงเนื้อเหล็ก ลวดลายการชุบแข็งว่าคล้าย หรือต่างกัน

๔ ตำนานดาบ ดาบโบราณเกือบทุกเล่ม เจ้าของดาบ คนหาดาบมาขาย จะมีเรื่องเล่าคู่มากับดาบ คำบอกเล่าที่พ้องกันจะปรากฏซ้ำๆ หรือการได้พูดคุยกับนักสะสมด้วยกัน ความรู้บวกความรู้นานๆ ไปก็ตกผลึก ถึงแม้ข้อมูลจะเจือตำนานไปบ้าง ก็ต้องค่อยๆ กรองจนเหลือ เค้าความเป็นจริง

๕ ข้อมูลจากเอกสาร ทั้งเอกสารที่บันทึกมาแต่เดิม อย่างพับสา เป็นต้น หรือที่ปราชญ์ในอดีตได้จดจารไว้ อย่างโศลกดาบ การวัดความยาวดาบ ลักษณะดาบแต่ละเล่ม เป็นต้น ค่อยค้นค่อยหาไป ข้อมูลใหม่ๆก็เพิ่มขึ้น

๖ ภาพถ่ายโบราณ หรือ ภาพจิตรกรรม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นองค์ความรู้เรื่องดาบเช่นกัน อย่างน้อยก็เป็นแนวให้ได้ศึกษา เช่นดาบลื้อ ดาบเขิน ดาบคะฉิ่น ดาบม่าน มาจากต่างถิ่นห่างไกล ได้เห็นภาพถ่าย ก็สามารถประมาณเอาได้ ในเว็บไซต์ต่างๆ ได้เห็นดาบในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ พร้อมคำอธิบาย ก็เติมองค์ความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ของดีในเอกสารพับสาโบราณล้านนาหลายฉบับ กล่าวถึงของวิเศษประจำตัวแต่ละบุคคลไม่ว่าหญิงหรือชาย  โดยกำหนดตามปีนักษัตร หรือปีเปิ้ง  ตัวอย่าง คนเกิดปียี (ไทยกลางว่าปีขาล) ควรมีอัญมณีประดับตัวคือมรกต  แก้วผลึก หรือไพฑูรย์ ถุงย่ามที่ใช้สะพายไปนั่นไปนี่ก็ต้องสีดำหรือหม่นถึงจะดี และที่ขาดไม่ได้ คือ หากเป็นชายหาญต้องมีดาบดีครบสูตร  เป็นของมงคลคู่กาย

ดาบดีของเหล่าชายหาญทั้งหลายนั้น ต้องสัมพันธ์กับปีเกิด  และในแต่ละปีนักษัตรย่อมมีรายละเอียดต่างกัน การถือครองดังว่านี้ เพื่อให้เกิดมงคลแก่ตัว เป็นดาบชาตาประจำตน อันมีองค์ประกอบส่วนอื่นอีก เช่น สีของด้าม เชือกมัดด้ามหรือสายดาบ วิธีสะพายดาบให้ถูกโฉลก รวมทั้งความยาวที่ต้องโฉลกกับปีนั้นๆด้วย

มีวิธีวัดความยาวดาบอีกแบบหนึ่ง  โดยนับความยาวเป็นไม้ เพราะปีนักษัตรจะเป็นตัวกำหนดความยาวดาบให้เหมาะกับการถือครอง  วิธีวัดความยาวนั้น โบราณจารย์ล้านนาให้วัดจากโคนดาบถึงปลายดาบ  แล้วทบครึ่ง วัดความกว้างของใบดาบ ณ ตำแหน่งนั้น ให้นับเป็น ๑ ไม้ แล้วจึงนำมาวัดความยาวของใบดาบ  ตั้งแต่โคนถึงปลาย วัดได้เท่าใดก็นับจำนวนไม้ตามนั้น ส่วนลักษณะดาบดีประจำปีเกิด และความยาวที่กำหนด รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ เป็นดังนี้

ชายผู้เกิดปีใจ้ (ชวด)  ให้ครองดาบปลายแหลมหรือปลายตัด  ยาว ๑๖-๑๗ ไม้

เกิดปีเป้า (ฉลู)  ให้ครองดาบปลายว้าย (ปลายง้อน หรือปลายงอน ) หรือปลายบัว  ด้ามสีขาว ยาว ๑๖ ไม้

เกิดปียี (ขาล) ให้ครองดาบปลายตัด  ไม่กำหนดความยาวและอื่นๆ

เกิดปีเหม้า (เถาะ)  ให้ครองดาบปลายแหลม ด้ามสีเหลืองสายดาบสีหม่นหรือสีขาว  สะพายดาบห้อยข้าง ยาว ๒๐ ไม้

เกิดปีสี (มะโรง)  ให้ครองดาบปลายแหลม ด้ามดำแดงสายเหลือง สะพายข้างขวา ยาว ๑๕ หรือ ๑๗ ไม้

เกิดปีใส้ (มะเส็ง)  ให้ครองดาบปลายตัดด้ามสีเหลืองสายดาบสีเหลือง  ยาว ๑๕ หรือ ๑๗ ไม้

เกิดปีสะง้า (มะเมีย)ให้ครองดาบปลายแหลม ด้ามสีดำสายดาบสีแดง สะพายดาบข้างซ้าย ยาว ๑๖ ไม้

เกิดปีเม็ด (มะแม)ให้ครองดาบปลายตัดหรือปลายแหลมด้ามดำเหลือง สายดาบสีขาว ยาว ๑๒ ไม้

เกิดปีสัน (วอก)  ให้ครองดาบปลายแหลมด้ามดำเหลืองยาว  ๑๖ ไม้

เกิดปีเล้า (ระกา)ให้ครองดาบปลายตัดด้ามดำสายดาบสีแดง ยาว ๑๖ ไม้

เกิดปีเส็ด (จอ)ให้ครองดาบปลายตัดยาว ๑๔-๑๖ ไม้

เกิดปีไก๊ (กุน)ให้ครองดาบปลายแหลมด้ามดำหรือเหลืองสายดาบสีเหลืองแดง ไม่กำหนดความยาว

ทีนี้ ลองพิจารณาดาบประจำตัวของท่าน ว่าเข้าเกณฑ์ตามนี้หรือไม่  จะขาดจะเกินไปบ้างก็คงไม่เป็นไร ถ้าเป็นของดีของงาม หรือมีผู้มอบให้ด้วยใจรักสิเนหา ก็เก็บรักษาไว้เถอะ ยิ่งเป็นของเก่าของเดิม เป็นมรดกตกทอดสืบมาแต่พ่ออุ๊ยพ่อหม่อน ย่อมเป็นของวิเศษทั้งนั้น และถ้าหาดาบเก่าดาบโบราณไม่ได้  ก็ซื้อดาบตีใหม่ซักเล่มไม่เห็นยาก สถาปนาเป็นดาบดีประจำตระกูล สืบไว้ให้ลูกหลาน รับรองว่าในอนาคต ดาบเล่มนั้นจะงามและสง่าอย่างล้านนาแท้ๆ เชื่อเต๊อะ….

พระเมธี กญฺจนวํโส  รหัส ๕๑๑๐๕๔๐๑๑๑๐๗๕

ปี ๔ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาไทย

ฆราวาสธรรม  ๔ ประการ

บนนี้โลกไม่มีใครที่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากความสุขและทุกข์  และเชื่อถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝัง และบำรุงให้เจริญงอกงามโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนา ให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดัง ข้อปฏิบัติธรรมโดยตรงของคฤหัสถ์ทั้งหลาย ของผู้ครองเรือนทั้งหลาย ฆราวาสใด หมั่นน้อมนำ "ฆราวาสธรรม ๔" มาฝึกฝน อบรม พัฒนาตน นั่นย่อมจะเปรียบได้ว่า ได้เป็นฆราวาสผู้มั่นคงจงรักภักดี ในพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

ฆราวาสธรรมนี้มี ๔ ประการได้แก่ สัจจะ ความจริงใจ   ทมะ ความข่มใจ ขันติ ความอดทน  จาคะ  ความเสียสละ ถ้าพูดให้จำกันง่ายๆก็คือ  จริงใจ-ใผ่ฝึกฝน-อดทนต่อสู้-รู้จักเสียสละ

ประการแรก  สัจจะ คือความจริงใจ ดำรงมั่นอยู่ในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง เป็นเหตุนำมาซึ่งความเชื่อถือ หรือไว้วางใจได้  นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  กล่าวคือ  ต้องอยู่รวมกันตั้งต่างคนขึ้นไป  อยู่คนเดียวไม่ได้ เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วก็ต้องมีความจริงใจต่อกันและกัน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม เช่น อยู่อย่างพี่น้อง  อยู่อย่างสามีภรรยา  อยู่อย่างเพื่อนร่วมชุมชน  ถ้ามีสิ่งใดก็ไม่ปิดบังกัน

ประการที่สอง  ทมะ คือใฝ่ฝึกฝนปรับปรุงตน บังคับควบคุมตนเองได้รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงตน ให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งการยอมรับและแก้ไขสิ่งบกพร่องของตนด้วย สามารถอยู่ร่วมกับทุกๆคนในสังคมได้ จะไปที่ใดย่อมมีแต่คนรัก แต่ในบางครั้งการที่เราอยู่ร่วมกัน แน่นอนที่สุดก็ต้องมีการกระทบกระทั่งการเป็นธรรมดา  โบราณท่านว่า ฟันยังกัดลิ้น ขนาดอยู่ด้วยกันยังกระทบกันเลย จะให้แยกไปจากกันก็ไม่ได้จึงจำเป็นต้องประคับประคองกันไป  อาศัยการฝึกฝนจนตลอดรอดฝั่ง

ประการที่สาม  ขันติ  คือ อดทนต่อสู้ อดกลั้น การใช้ชีวิตร่วมกันนอกจากจะต้องมีความซื่อสัตย์ ความจริงใจ และความเข้าใจกันแล้ว จะต้องมีความอดทนอดกลั้น เพราะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนอกจากจะมีข้อขัดแย้งแตกต่างทางด้านอุปนิสัยการอบรม ประสบการณ์เดิม บางคนอาจมีเหตุล่วงเกินรุนแรง ซึ่งอาจเป็นซึ่งอาจะเป็นถ้อยคำหรือกิริยาอาการ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไปความร้ายจึงจะระงับลงไป

ประการที่สี่  จาคะ  คือ  รู้จักเสียสละ  มีน้ำใจงาม เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ การที่ทำงานด้วยกันต้องรู้จักเสียสละประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  ความจริงแล้วคนเราทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งสิ้นไม่มีใครอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่ว่าจะรวยล้นฟ้าหรือยาจก ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว  การปฏิบัติตนตามหลักฆราวาสธรรม  ๔ ประการดังที่กล่าวมา คือ สัจจะ-ทมะ-ขันติ-จาคะ หรือเรียกให้จำง่ายคือ จริงใจ-ใผ่ฝึกฝน-อดทนต่อสู้-รู้จักเสียสละ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ตนเองและสังคม   หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้จะได้นำหลักฆราวาสธรรม ๔นี้ไปปฏิบัติ สามารถที่จะเป็นที่รักของทุกคน หากปฏิบัติกับเพื่อนแล้วจะมีแต่มิตรแท้ หากปฏิบัติกับพี่น้องแล้วจะทำให้พี่น้องรักเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่เชื่อใจของพี่น้องหากปฏิบัติกับคู่รัก แฟนจะรัก  แฟนจะหลง หากไม่ปฏิบัติเลยจะถูกทอดทิ้งโดดเดี่ยว

พระเลิศล้ำ เขมวิสาโล  รหัส ๕๑๑๐๕๔๐๑๑๑๐๗๖

ปี ๔ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาไทย


คำสำคัญ (Tags): #อาจจะมีต่ออีก
หมายเลขบันทึก: 491758เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท