ตำนานพระธาตุ


พระธาตุนี้มีที่มา

         เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียน   ได้เห็นข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านในจังหวัดแพร่  เมื่อได้อ่านรายละเอียดในข่าวพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของผู้เขียนเอง  กล่าวคือมีการขุดดินลูกรังบริเวณหมู่  บ้านมหาโพธิ์   ตำบลป่าแมต  อำเภอเมืองแพร่  จังหวัดแพร่  เพื่อนำดินไปสร้างถนนสายแพร่-อ.ลอง และบ่อดังกล่าวได้กลายเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ชาวบ้านใน อ.เมืองแพร่ และอำเภอใกล้เคียงที่ทราบข่าวบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ต่างพากันเดินทางมาจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนตักน้ำไปดื่ม ทา และอาบ เป็นยารักษาโรคได้สารพัด

       หลังจากมีข่าวแพร่สะพัดปรากฏมีผู้ที่ยืนยันว่าได้นำน้ำในบ่อดังกล่าวไปใช้แล้ว พบ ว่าหายจากโรคร้ายที่โรงพยาบาลรักษาไม่หาย เช่นโรคผิวหนังเรื้อรัง  ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามไปยังญาติพี่น้องซึ่งต่างก็บอกว่าได้นำน้ำดังกล่าวไปชโลมบริเวณหัวเข่าคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่เป็นโรคข้อเสื่อม  ทำให้อาการของโรคดีขึ้นและหายได้    ประชาชนที่สนใจต่างทยอยกันมาตักน้ำทั้งคนในหมู่บ้านและจากที่อื่น

       ชาวบ้านที่เดินทางมาตักน้ำต่างเชื่อว่าน้ำในบ่อที่เป็นยารักษาโรคได้เกิดจากอำนาจของผีที่เคยมีอิทธิฤทธิ์ในสมัยที่บริเวณนี้เป็นป่า คือ เจ้าพ่อจำแดง เป็นผีป่าที่รักษาห้วยจำแดง ในอดีตเป็นพื้นที่ที่น่ากลัว ซึ่งเมื่อผู้เขียนเป็นเด็กก็ไม่เคยไปบริเวณนั้น   เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าหากไปแล้วอาจทำให้เจ็บป่วยกลับมาได้  และหากใครที่เข้ามาในบริเวณดังกล่าวจะเกิดฟ้าฝนรุนแรงและบางครั้งก็จะเดินหลงในป่าจนไม่สามารถออกไปจากป่าได้ แต่ถ้ามีใครเจ็บป่วยมาเลี้ยงผีเจ้าพ่อจำแดงก็จะทำให้หายป่วยได้ เหตุการณ์ความน่ากลัวและความเชื่อในการรักษาโรคดังกล่าวเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานานและขณะนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าพ่อจำแดงออกมาแผลงฤทธิ์อีกครั้ง ให้เห็นถึงอำนาจลี้ลับของป่าโดยกลับมาช่วยเหลือคนให้หายจากอาการเจ็บป่วย ความเชื่อนี้มีมาแต่ช้านานแล้ว 

        ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูด้วยตัวเอง  พบว่ามีชาวบ้านในหมู่บ้านมหาโพธิ์ และหมู่บ้านใกล้เคียงพากันเดินทางมาเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อดังกล่าว น้ำบ่อที่ว่านี้มีความเย็น   น้ำมีสีเขียวใส  เมื่อสอบถามชาวบ้าน  ต่างบอกว่ามาเอาหลายครั้งแล้ว  เมื่อเอาไปอาบรู้สึกว่าจะหายปวดเมื่อยตามลำตัว หากเอามาลูบที่แผลที่เป็นผื่นคัน  แผลเหล่านั้นก็จะหาย  ผู้เขียนจึงเก็บข้อมูลต่างๆแล้วนำมาวิเคราะห์ตามทฤษฎีคติชน  สันนิษฐานว่า เกิดจากความเชื่อ  จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าทำไมถึงเชื่อว่าน้ำศักดิสิทธิ์จริง  ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เขาทำพิธีเข้าทรงมีเจ้าพ่อในป่าแห่งนี้แสดงอิทธิฤทธิ์มาโปรดชาวบ้านในช่วงเวลาหนึ่ง  แต่หลังจากนี้เจ้าพ่อองค์นี้จะไปโปรดชาวบ้านที่อื่นต่อไป  เรื่องความลี้ลับของป่าบริเวณดังกล่าวนั้น  ผู้เขียนเคยได้ฟังญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ชื่อยายจันฟอง  คล่องแคล่ว  ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว  เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กมักจะไปฟังท่านเล่าเรื่องอดีตต่างๆนาๆ  ถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับประวัติหมู่บ้าน  รวมทั้งบริเวณที่พบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย  และท่านเล่าให้ฟังว่าแต่เดิมหมู่บ้านมหาโพธิ์มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัดคำกลิ้ง  ส่วนรายละเอียดอื่นๆนั้นผู้เขียนก็จำไม่ได้เสียแล้ว  ผู้เขียนจึงไปศึกษาประวัติของวัดมหาโพธิ์  จากหนังสือที่ระลึกพิธีอบรมสมโภชพระประธานและพุทธาภิเษก(๒๕๔๔)[1]    ซึ่งเจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ได้จัดพิมพ์แจกจ่าย  พอผู้เขียนอ่านข่าวดังกล่าวจึงต้องนำหนังสือเล่มนี้มาอ่านประวัติอีกครั้ง

          ในประวัติกล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๓ ตรงกับศักราช๑๒๐๑ เป็นแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓  แห่ราชวงค์จักกรี  ณ เมืองโกศัย (แพร่) มีพระมหาเถระองค์หนึ่ง  ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่สำเร็จญาณสมบัติชั้นสูง  มีนามว่า มหาเถร  หรือครูบาสูงเม่น ได้กลับจากการไปศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิปัสนากรรมฐานจากประเทศพม่า  การกลับจากประเทศพม่าของพระมหาเถรหรือครูบาสูงเม่นครั้งนี้  ท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนี้มาถวายแก่เจ้าผู้ครองเมืองโกศัย  ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าหลวงอินทวิชัย  เจ้าผู้ครองนคร  เมื่อได้รับธาตุจากมหาเถรแล้ว  ก็ได้นำไปพระนคร  และได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะนั้นทรงพระนามว่า  เจ้าฟ้ามงกุฎ  เพราะยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ   และได้กราบทูลเรื่องราวที่ได้พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์ธาตุจากพระมหาเถรให้ทรงทราบ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโกษทองคำที่บรรจุพระธาตุกลับคืนเมืองโกศัย  แล้วก็ได้ออกแสวงหาสถานที่สำหรับสร้างพระเจดีย์บีจุโกษพระธาตุแสวงหาอยู่หลายวัน  ก็มาพอใจสถานที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำยม  อันอยู่ตรงข้ามกับตัวเมือง  เป็นป่าใหญ่ที่ร่มเย็น  มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน

ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีลักษณะถูกต้องตามพระราชดำรัสของพระจอมเกล้าทุกประการ  เจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงมีคำสั่งให้ชาวบ้านหมู่หนึ่ง  ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากสถานที่ที่จะสร้างเจดีย์ประมาณ ๘๐๐ เมตร   ชาวบ้านหมู่นี้มีประชากรประมาณ ๑๐๐ คน  ได้ถูกเกณฑ์เข้าแผ้วถางตัดฟันป่าใหญ่ครั้งนี้   พอตัดฟันแผ้วถางไปจนถึงที่ที่จะสร้างเจดีย์  ชาวบ้านก็พบงูเหลือมตัวหนึ่ง  ซึ่งอาศัยดุจเจ้าของที่  ชาวบ้านหมู่นี้จึงพากันฆ่างูตัวนั้นและนำไปย่าง  การย่างงูตัวนั้นเหมืนกับการย่างหมูเพราะทันอุดมด้วยมันมากนัก  บางคนก็เอาไปแกงกิน  บางคนก็เอาไปยำ  พอพวกชาวบ้านกินเนื้องูเข้าไปก็พากันมึนเมาเหมือนเมาเหล้า แล้วก็พากันล้มตายด้วยการกินเนื้องูตัวนั้น  พวกที่รอดตายเพราะไม่ได้กินเนื้องู  ก็พากันกลัวว่าจะเกิดอุบาทว์  หรืออาเพศ  ก็พากันอพยพออกจากหมู่บ้านนั่น  ก็ทำให้หมู่บ้านนั้นกลายเป็นหมู่บ้านร้างไป  เจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงได้เกณฑ์ชาวบ้านหมู่อื่นเข้าแผ้วถางตัดฟันแทน  จนสถานที่นั้นโล่งเตียนเรียบราบงามดีแล้ว  เจ้าหลวงอินทะวิชัยก็พาพระมเหสีองค์หลวง  มีชื่อว่า  แม่เจ้าสุพรรณวดี  สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุโกษขึ้น  โดยลงมือขุดองค์เจดีย์เมื่อวันอาทิตย์  เดือน ๔ เหนือ ออก ๘ ค่ำปีไก้(กุน) ศักราช ๑๒๐๑ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๘๒    

          พอถึงวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ  ยามพระเจ้าตรัสรู เจ้าหลวงอินทะวิชัยก็ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์ธาตุนั้นซึ่งได้บรรจุไว้ในพานทองคำ  จำนาน ๑๑๖ องค์(เม็ด/ลูก)  แล้วได้นำเอาโกษทองคำบรรจุไว้ในโกษเงิน แล้วนำเอาโกษเงินบรรจุในโกษทองสัมฤทธิ์  แล้วได้นำเอาโกษทองสัมฤทธิ์ขึ้นตั้งบนหลังช้างซึ่งเจียระไนด้วยแก้วหิน  แล้วเอาช้างแก้วบรรจุโกษพระธาตุนี้ขึ้นใส่ในปราสาทไม้สัก ซึ่งมีความกว้าง ๓ ศอก ยาว ๑๐ ศอก แล้วเอาอิฐก่อเป็นเจดีย์ครอบแล้วหลูบด้วยทอง  จั๋งโก๋ ๑๐๐๕ แผ่น  แล้วลงรักปิดทองคำเปลว ๒ แสนใบ  แล้วล้อมองค์พระธาตุด้วยรั้วเหล็ก ๔ ด้าน มี ๓๖๔ เล่ม พอลุล่วงถึงศักราช๑๒๐๒  ตรงกับ พ.ศ.๒๓๘๓ ที่ทำการฉลอง  โดยเจ้าหลวงอินทะวิชัยได้ป่าวร้องบอกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วเมืองโกศัยมาร่วมทำการฉลอง เมื่อสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุเรียบร้อยแล้ว  ไม่มีชาวบ้านเอาใจปรนนิบัติพระเณร เพราะบริเวณรอบๆที่พระธาตุตั้งอยู่นั้นเป็นป่า  ไม่มีหมู่บ้านและชาวบ้านอาศัยอยู่  เจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านทุ่งโฮ้งจัดการเป็นเวรยาม  เจ้าหลวงอินทวิชัยได้มีการจัดงานให้มีการนมัสการพระธาตุทุกๆเดือน ๗ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำของทุกปี และครั้งใดที่เจ้าหลวงอินทะวิชัยได้จัดให้มีงานนมัสการพระธาตุก็ดี  ทำบุญใหญ่ๆก็ดี  ทอดกฐินหรือผ้าป่าก็ดี  ฝนจะตกหนักทุกคราว  ไม่ว่าจะเป็นฤดูใด   ยังความแปลกประหลาดมหัศจรรย์กับชาวเมืองโกศัยในสมัยนั้นมาก  พอสิ้นรัชกาลของเจ้าหลวง  อินทะวิชัยครองเมืองโกศัยแล้ว  การจัดเวรยามเฝ้าปฏิบัติรักษา  และงานขึ้นนมัสการพระธาตุก็สูญสิ้นไปตราบเท่าทุกวันนี้  และเมื่อวันที่  ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา พระอธิการ ดร.บุญเสริม  กิตตฺวัณณฺโณ ก็ได้ฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้านมหาโพธิ์อีกครั้งโดยการจัดงานประจำปีไหว้สาพระธาตุคำกลิ้งขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ไม่มีใครสืบทอกประเพณีนี้มาตลอดหลายสิบปี ซึ่งผู้เขียนเป็นคนท้องถิ่นนี้  แต่ไม่เคยเห็นมีการจัดงานนี้เลย  

            จากการศึกษาประวัติศาสตร์ดังกล่าวพบว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ เนื่องจากใกล้บริเวณนั้นมีวัดร้างเก่าแก่ มีสถูปเจดีย์ เชื่อว่าแต่เดิมเคยเป็นชุมชนหนึ่งที่มีวัฒนธรรมมาช้านาน  และบริเวณใกล้เคียงห่างไปประมาณ สิบกว่ากิโลเมตรมีการค้นพบเมืองโบราณ คือเมืองเชียงชื่น  ซึ่งเมืองเก่าที่พบนี้น่าจะเป็นเมืองเชียงชื่นที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ที่กรมพระปรมานุชิต ชิโนรส  ได้ทรงพระนิพนธ์ลิลิตยวนพ่าย ที่กล่าวไว้ว่าเป็นเมืองหน้าด่านนั้น  เวียงเชียงชื่นหรือเมืองลอง  อาจจะเป็นที่เดียวกันนี้  จึงน่าเชื่อว่าอาณาบริเวณดังกล่าวเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน

          นับตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้  ยายจันทร์ฟอง  คล่องแคล่ว  มักจะเล่าตำนานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  ซึ่งทานอยู่ในเหตุการณ์ด้วย และเรื่องเกี่ยวกับตำนานและที่มาของหมู่บ้านมหาโพธิ์และหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่ายายจันทร์ฟองได้อำลาโลกนี้ไปเมื่อหลายปีก่อนแล้ว  พอผู้เขียนเติบโตขึ้นมาก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อมาเห็นข่าวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้  ทำให้นึกถึงเรื่องที่ยายจันทร์ฟองเล่า  ซึ่งในหมู่บ้านมักจะมีความเชื่อทางคติชนมาแต่ช้านาน  และเมื่อผู้เขียนได้นำหลักการทางทฤษฎีคติชน  และการวิเคราะห์การแพร่กระจายเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านก็ได้หยิบหนังสือ เกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีไทยของ ผศ.ดร.สุภาพร  คงศิริรัตน์(๒๕๕๒) [2]ได้กล่าวถึงบทบาทนิทานพื้นบ้านต่อสังคมไว้ดังนี้
          ๑.     ให้ความเพลิดเพลิน  และช่วยให้เวลาที่ผ่านไปไม่น่าเบื่อหน่าย เมื่อว่างจากการทำงานคนในชุมชนมักมีเวลาว่างมานั่งพูดคุยกัน  โดยเฉพาะในฤดูหนาว  มีการจับกลุ่มกันผิงไฟ  และมักมาการเล่านิทาน  ตำนาน  หรือเรื่องเล่าต่างๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “นิยายก้อม”

           ๒.     ช่วยกระชับความสัมพันธ์  ซึ่งในสังคมชนบทส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร  จึงมักปล่อยให้เด็กอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ที่บ้าน  และ ผู้สูงอายุเหล่นี้มักมีเรื่องเล่าสนุกๆมาเล่าให้เด็กๆฟัง  เป็นการกระชับความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับเด็กซึ่งมีวัยแตกต่างกันมาก

            ๓.     นิทานให้การศึกษาและเสริมสร้างจินตนาการ การเล่านิทานให้เด็กฟังนอกจากเด็กจะได้รับความสนุกสนานแล้ว เด็กยังรู้จักจินตนาการถึงเรื่องที่ฟัง  วาดภาพตาม  รู้จักคิดคำถาม อยากรู้อยากเห็น  และมักตั้งคำถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น  ทำไมเป็นอย่างนี้  ซึ่งการอยากรู้อยากเห็น  อยากฟังต่อไปอีก  เป็นการเสริมสร้างจินตนาการของเด็ก

             ๔.     ปลูกฝังจริยธรรมและรักษาบรรทัดฐานของสังคม  ในตำนานการสร้างเจดีย์ของชาวบ้านมหาโพธิ์นี้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านโดยสอนให้รู้จักความสามัคคี

              ๕.     นิทานพื้นบ้านเป็นบ่อเกิดของพิธีกรรมและประเพณี  จากตำนานดังกล่าวจะเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการสร้างองค์พระธาตุ  และแสดงถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่นมีฝนตกหนัก  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาในองค์พระธาตุ  และเมื่อสร้างเสร็จมีการสมโภชน์เฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

            มีอยู่ครั้งหนึ่ง  ผู้เขียนอายุประมาณสิบกว่า ซึ่งจำความได้ว่าตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้  ผู้เขียนได้เดินออกมานอกชานเรือนซึ่งเป็นบันไดบ้าน  คนทางเหนือเรียก  หัวคันได(หัวบันได)  วันนั้นเป็นวันที่ฝนตกปรอยๆ  ผู้เขียนยืนมองดูฝนที่ตกลงมา  พลันสายตาก็มองไปเห็นเป็นลักษณะก้อนกลมๆจำได้ว่าเป็นสีเขียวอมฟ้าเข้มๆ  ลอบไปลอยมาที่ต้นลำไยหน้าบ้านตรงข้าม  ตอนนั้นผู้เขียนกลัวมากเพราะคิดว่าเป็นผีชนิดหนึ่งที่เรียกว่าผีพงที่ออกหากินหลังฝนตก  จึงรีบกลับเข้าบ้านด้วยใจระทึก  พอรุ่งเช้าก็เล่าให้ญาติพี่น้องฟัง  ญาติๆเห็นเป็นเรื่องปกติ  แล้วบอกกับผู้เขียนว่าเป็นเป็นธาตุ  ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจ ก็พยายามจะถามผู้รู้หลายท่านว่าธาตุคืออะไร  ทำไมต้องมีสีลอยไปลอยมา 
            ผู้เขียนได้นึกย้อนไปหาเหตุการณ์แล้วมาเชื่อมโยงกับการศึกษาตำนานประจำถิ่นเกี่ยวกับองค์พระธาตุจากงานวิจัยของสายป่าน  ปุริวรรณชนะ(๒๕๕๒ : ๑)[3] ได้ให้ความหมายของนิทานประจำถิ่น(mythical legend) หมายถึง เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ทั้งที่เป็นเทพเจ้า  คน  สัตว์  และวัตถุสิ่งของต่างๆ  อันเกี่ยวข้องกับความเชื่อพื้นบ้าน  แต่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นตำนานปรัมปรา(myth)   ในการศึกษาทางคติชนวิทยาของนิทานประจำถิ่นของชาวบ้านมหาโพธิ์นั้นเมื่อศึกษาข้อมูลแล้วน่าจะจัดเป็นเรื่องเล่า (narratives) ซึ่งระเบียบวิจัยหนึ่งท่าสามารถนำมาใช้จัดจำแนกได้แก่  การจัดแบบเรื่องของนิทาน สติธ  ทอมป์สัน(Stith Thompson)[4] ซึ่งได้อธิบายแบบเรื่องไว้ว่า แบบเรื่อง  คือ นิทานเรื่องหนึ่งๆ  ที่ดำรงอยู่อย่างอิสระ  นิทานนั้นๆสามารถนำมาเล่าได้ในฐานะเรื่องเล่าที่สมบูรณ์ในตัวเอง  และไม่ต้องอาศัยความหมายที่อ้างอิงจากนิทานเรื่องอื่นๆ  แน่นอนว่านิทานเรื่องที่ว่านี้อาจถูกนำมาเล่าพร้อมนิทานอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ความจริงที่ว่านิทานเรื่องนั้นสามารถปรากฏอยู่ได้โดยลำพังก็เป็นข้อพิสูจน์ความเป็นอิสระในตัวเองของนิทานเรื่องดังกล่าว  นิทานแบบเรื่องหนึ่งอาจประกอบด้วยอนุภาคเพียงอนุภาคเดียวหรือหลายอนุภาคก็ได้

          จากตำนานการสร้างเจดีย์ ของชาวบ้านมหาโพธิ์นั้น    ศิราพร  ณ  ถลาง. (๒๕๕๒ : ๑๙๐)  ได้กล่าวถึงอนุภาคของนิทานไว้ว่า  การแพร่กระจายของนิทานนั้นมีลักษณะการหยิบเอาอนุภาคที่เป็นที่นิยมไปผลิตซ้ำ  และแปลงสาร สร้างนิทานเรื่องใหม่[5]  ในประเพณีการถ่ายทอดนิทานแบบมุขปาฐะ  จะมีนิทานมากมายหลายร้อยเรื่องอยู่ในแต่ละท้องถิ่น  นิทานเหล่านี้ดำรงอยู่ราวกับว่ามีสังคมนิทานของตนเอง  เสมือนหนึ่งนิทานก็มีชีวิต  มีการแลกเปลี่ยน  หรือ หยิบยืมอนุภาคจากเรื่องหนึ่งไปใช้ในอีกเรื่องหนึ่ง  เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการปะทะสังสรรค์กันในสังคมของเรา  ดังนั้นจึงปรากฏว่าอนุภาคใดที่เป็นที่นิยมมากๆ  อาจไปปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของนิทานเรื่องต่างๆได้ 

          จากตำนานต่างๆของชาวบ้านมหาโพธิ์ได้นำเอาการวิเคราะห์ของศิราพร  ณ  ถลาง เกี่ยวกับอนุภาคการกินสัตว์เผือกแล้วทำให้เมืองล่ม เช่นตำนานปรัมปราของภาคเหนือ  คือตำนานสิงหนวัติกุมารได้กล่าวถึงกษัตริย์เมืองโยนกนคร  และราษฎรที่กินเนื้อปลาตะเพียนเผือกแล้วทำให้โยนกนาคนครล่ม  ตำนานเชียงแสนชาวเมืองกินปลาไหลเผือก  ตำนานหนองหาน  หรือตำนานผาแดงนางไอ่  ที่กล่าวถึงชาวเมืองที่กินเนื้อกระรอกเผือก  อนุภาคการกินเนื้อสัตว์เผือกแล้วทำให้เกิดเมืองล่มในตำนานโบราณ เป็นที่อยู่ในใจของผู้เล่านิทานและอยู่ในการรับรู้ของชาวบ้าน  ทำให้ถูกนำมาแปลงสารเป็นการกินสัตว์ชนิดต่างๆเพื่ออธิบายสภาพ หรือสาเหตุการเกิดของหนองน้ำต่างๆในท้องถิ่น

           การหยิบเอาอนุภาคที่เป็นที่รู้จักดีและเป็นที่นิยมไปแปลงสาร  หรือผลิตซ้ำ ในการเล่านิทานเรื่องอื่นๆเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ  เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้อนุภาคนั้นๆได้รับการสืบทอดให้มีชีวิตสืบต่อไป  ซึ่งในการแพร่กระจายของนิทานหรือในการถ่ายทอดนิทานด้วยการบอกเล่านั้น  ชีวิตของนิทานย่อมขึ้นกับผู้เล่าเป็นสำคัญ  หากผู้เล่าชอบนิทานเรื่องใด  หรือชอบอนุภาคใดเป็นพิเศษ  หรือถ้าผู้เล่าสังเกตว่าผู้ฟังชอบนิทานเรื่องใดหรือชอบอนุภาคใดเป็นพิเศษ ก็จะเล่านิทานนั้นบ่อยๆ  หรือแทรกอนุภาคนั้นๆเข้าไปในนิทานเรื่องต่างๆหรือนำไปแปลงสาร  หรือผลิตซ้ำ   มาถึงตอนนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงแม่จันทร์ฟองที่มักจะเล่าเรื่องตำนานวัดคำกลิ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ผู้เขียนฟัง หรืออาจกล่าวได้ว่าตำนานจึงเป็นสิ่งที่ใช้บอกอัตลักษณ์ของกลุ่มชนหรือชาติพันธุ์    จะเห็นว่าข้อมูลคติชนที่เป็นมุขปาฐะได้ช่วยทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้ประวัติความเป็นมา  และมีความภาคภูมิเกี่ยวกับรากเหง้าของตนเอง

              ดังนั้นนิทานจึงเป็นผลผลิตทางภูมิปัญญาของนักปราชญ์ ผู้รู้พื้นบ้าน สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งบันเทิง สาระความรู้ คติสอนใจ มีทั้ง  วรรณกรรมมุขปาฐะ ถ่ายทอดผ่านรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งจนแพร่หลายในสังคมจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่นนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย และวรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรม ตำนาน นิทาน คำสอนที่ปราชญ์บันทึกไว้เป็นต้นบทในการ ขับ อ่าน แสดง วรรณกรรมท้องถิ่นย่อมสัมพันธ์กับฉันทลักษณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมของท้องถิ่นนั้น ๆ และส่งต่ออิทธิพลให้กับสังคมรุ่นต่อ ๆ ไป



              [1] พระอธิการ ดร.บุญเสริม  กิตตฺวัณณฺโณ.  (๒๕๕๔).ที่ระลึกพิธีสมโภชพระประธานและพุทธาภิเษกพระประธานอินทรวิชัยวัดมหาโพธิ์.

              [2] สุภาพร  คงศิริรัตน์.  (๒๕๔๗).  เอกสารคำสอนคติชนที่เกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีไทย.  พิษณุโลก :  สาขาวิชาภาษาไทย คณมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร.

          [3] สายป่าน ปุริวรรณชนะ. (2552).  ตำนานประจำถิ่นริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลาง : ความสมานฉันท์ในความหลากหลาย.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

         [4] สติธ  ทอมป์สัน. (อ้าวอิงใน สายป่าน ปุริวรรณชนะ. (2552).  ตำนานประจำถิ่นริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลาง : ความสมานฉันท์ในความหลากหลาย.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.)

            [5] ศิราพร  ณ  ถลาง. (๒๕๕๒). ทฤษฎีคติชนวิทยา  วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน – นิทานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.)

 

หมายเลขบันทึก: 491722เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะได้คสามรู้เพิ่ม

พระครูพิศาลสรกิจ

อนุโมทนา..คุณครู...

ขอบคุณสำหรับเกร็คความรู้ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท