เมล็ดครูพันธุ์ศตวรรษที่ 21


ครูยุคศตวรรษที่ 21

เมล็ดครูพันธุ์ศตวรรษที่ 21

นางสาวพัสนี   ผกากรอง

รหัสนักศึกษา  5555709021

ป.โท การจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา

ในปัจจุบันวิกฤติในวงการครูทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังมีปัญหาและปัญหาหลัก ๆ จะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การที่คนดีคนเก่งไม่สนใจเข้าเรียนครูเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วส่วนหนึ่งจะไม่ประกอบอาชีพครู  ทำให้ไม่สามารถบำรุงรักษาครูดี ๆ ไว้ได้  ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งเนื่องมาจากค่าตอบแทนของครูต่ำมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ความตั้งใจและทุ่มเทต่อการเรียนการสอนของครูก็ลดต่ำลงประกอบกับการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครูมุ่งสอนเนื้อหามากกว่าให้คิดวิเคราะห์และปฏิบัติ  การสอนไม่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ดังนั้นครูในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงขาดความเชี่ยวชาญในการสอนทั้งทางวิชาการและคุณลักษณะความเป็นครู  ความเอาใจใส่ต่อเด็กลดลง ความนิยมยกย่องของสังคมต่อครูจึงลดลงทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลง  รวมทั้งในต่างประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติครูดังกล่าวข้างต้นต่างก็พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาของครู เช่นเดียวกันซึ่งประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่งซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างให้เป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของครู  โครงสร้างการบริหารจัดการเกี่ยวกับครูและระบบโรงเรียน  ศักดิ์ศรีการยอมรับในวิชาชีพครูที่ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ยั่งยืน  ประโยชน์เกื้อกูลและการส่งเสริมพัฒนาบทบาทวิชาชีพครูทั้งตนเอง  ระบบการศึกษาและการบริหารจัดการโดยรวมที่สอดคล้องสัมพันธ์กับโครงสร้างด้านอื่นเช่นเศรษฐกิจ  สังคม การดำรงชีพ วัฒนธรรม  วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  และจิตวิทยา

ความเป็นครูในสังคมไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้ารอบด้าน  แต่ปัญหาใดก็ไม่เท่ากับวิกฤติศรัทธาในวิชาชีพครู   ประกอบกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นกระแสใหม่ทั่วโลก  เพราะในยุคที่โลกกำลังก้าวหน้าเข้าสู่ศตวรรษที่  21  สภาพของโลกนี้เปลี่ยนไปเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี  เป็นสังคมโลกที่สลับซับซ้อนเชื่อมโยงและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  สังคมโลกกลายเป็นสังคมความรู้ (Knowledge Society)หรือสังคมแห่งการเรียนรู้(Learning Society)  ครูบุคลากรทางการศึกษาและองค์การทางการศึกษา  จึงต้องปรับตัวให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)   “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องมุ่งไปเพื่อการศึกษาของปวงชน (Education for All)  และขณะเดียวกันทุกภาคส่วนของสังคมต้องทุ่มเทให้กับการศึกษา (All for Education)

กระแสความเปลี่ยนแปลงมีประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุผลและความเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการพัฒนาครูรุ่นใหม่การพัฒนาครูรุ่นใหม่และวิชาชีพครู ประเด็นแรก  เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ก่อให้เกิดกระแสการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้  การปรับปรุงบทบาทและการปรับพฤติกรรมการสอนของครู  ให้เป็นครูยุคใหม่ที่มีทั้งศาสตร์ (Science)  คือความลุ่มลึกจัดเจนในเนื้อหา ( Subject Matters)  มีศิลปะการสอน (Methodology)  คือมีเทคนิควิธีการถ่ายทอดการจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีความสุขและตระหนักผลที่เกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ

ประเด็นที่สอง  ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  และการมีผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)  ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับและเน้นการวิจัยชั้นเรียน  กระบวนการเหล่านี้เป็นกระแสสำคัญต่อการปฏิรูปบทบาทของครูให้เป็นผู้นำทางวิชาการที่ใช้พันธกิจและทิศทางเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ปรากฏและนำไปสู่การเป็นนักแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและปรับปรุงกำหนดตำแหน่งเป็น  ครูมืออาชีพ  เป็นครูต้นแบบ  เป็นครูผู้เชี่ยวชาญ  เป็นครูนักวิจัย  เป็นครูผู้นำทางวิชาการ  เป็นครูนักเปลี่ยนแปลง  โดยใช้ผลงานศึกษาวิจัยเป็นเครื่องชี้วัดและประเมินผลคุณภาพการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ประเด็นที่สาม กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization Currently)  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านวิสัยทัศน์  สังคม  สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  การเมือง  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการสื่อสาร  ทั้งทางบวกและทางลบ  แนวคิด  ค่านิยม  ความเชื่อได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการดำรงชีวิต  การเรียนรู้ สังคมความรู้ สังคมปราชญ์และผลกระทบในการพัฒนาครู  การพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพครูอย่างสำคัญ (โณทัย   อุดมบุญญานุภาพ, 2543)

คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร

ตัวบ่งชี้คุณลักษณะครูตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาด้านปัจจัยเพื่อประเมินภายนอก 4 มาตรฐาน 12  ตัวบ่งชี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ดังนี้

  1. มาตรฐานด้านมีวิญญาณความเป็นครู  มีคุณธรรมจริยธรรม  ประกอบด้วย

ตัวบ่งชี้  1  ครูมีความเอื้ออาทร  เข้าใจและเอาใจใส่ผู้เรียนทุกคนอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียมกัน

ตัวบ่งชี้  2  ครูมีมนุษยสัมพันธ์  ควบคุมอารมณ์ได้และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

ตัวบ่งชี้  3  ครูมีความรับผิดชอบ  ซื่อสัตย์  ตรงต่อเวลา  อุทิศตนให้กับการพัฒนาผู้เรียน

ตัวบ่งชี้  4  ครูวางตนเหมาะสม  เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความประพฤติและบุคลิกภาพ

ตัวบ่งชี้  5  ครูมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครู

2.  มาตรฐานด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ประกอบด้วย

ตัวบ่งชี้  1  ครูรู้เป้าหมายของหลักสูตรและเป้าหมายการจัดการศึกษา

ตัวบ่งชี้  2  ครูมีความรู้ความสามารถในการประเมินผลการเรียนการสอน  จัดทำแผนและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ตัวบ่งชี้  3  ครูมีความรู้ความสามรถในการเรียนการสอนและการนำผลการประเมินมาใช้พัฒนาคุณภาพ

3.  มาตรฐานด้านความสามารถในการแสวงหาความรู้ คิดวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนประกอบด้วย

ตัวบ่งชี้  1  ครูมีนิสัยรักการแสวงหาความรู้และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนสอน

ตัวบ่งชี้  2  ครูมีความสามารถในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน

ตัวบ่งชี้  3  ครูมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขสถานการณ์ได้

  1. มาตรฐานด้านคุณวุฒิ  ความรู้  ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ

ตัวบ่งชี้  1  ครูมีคุณวุฒิ  มีความถนัด  มีความเชี่ยวชาญตรงกับงานที่ปฏิบัติการสอน

(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543ก)

คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ที่สำคัญและเป็นจุดเด่นในศตวรรษที่ 21 ควรมีคุณลักษณะดังนี้

1.  มีความสนใจเสาะแสวงหาความรู้  กระตือรือร้นที่อยากเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

2.  มีความรอบรู้ด้านปรัชญาการศึกษา  นโยบายทางการศึกษา  กฎหมายการศึกษา  มาตรฐานวิชาชีพครู  มาตรฐานการศึกษา  จิตวิทยาการศึกษาและหลักสูตรการสอนทั่วไป

3.  มีความรอบรู้ความสามารถที่ทันสมัย  ทันเหตุการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลง  โดยสามารถเชื่อมโยงสภาพท้องถิ่นเข้ากับมาตรฐานสากลในลักษณะสหวิทยาการ

  1. มีความรู้ความสามารถในวิธีการแสวงหาความรู้
  2. รู้จักและเข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน
  3. มีความรู้และทักษะในวิชาชีพที่สอนอย่างลุ่มลึก  ชัดเจน  สามารถสอนแล้วผู้เรียนเข้าใจมี

ความสามารถเรียนรู้ได้และสนุกกับการ  เรียนรู้  สอนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเต็ม ความสามารถ  เต็มเวลา  และเต็มหลักสูตร

7.  มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้และมีความสุข สนุกในการเรียนการสอนมีความสามารถในการสังเกตและรู้จักแก้ไขพฤติกรรม การเสริมแรงและการลงโทษที่เหมาะสม

8.  มีทักษะในการสอนอย่างเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์การเรียนรู้จนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยปลุกเร้าให้ผู้เรียนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ เน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนองผู้เรียนเป็นสำคัญ

             9.  มีความรู้และความเข้าใจในเป้าหมายและวิธีการของหลักสูตรและการสอน

10. มีความสามารถในการออกแบบ  วางแผนการสอนการบริหารจัดการชั้นเรียน วิจัยและพัฒนาการสอน  มีความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถวัดผลประเมินผลพัฒนาการของการเรียนรู้ได้หลายวิธีได้อย่างเหมาะสม  สม่ำเสมอ

11.  มีความรัก  ศรัทธาที่จะเป็นครู  มีความเมตตากรุณาและเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์

12. มีจริยธรรม มีกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย วางตนอยู่ในศีลธรรมอันดีเปี่ยมด้วยคุณธรรมฝึกหัดปฏิบัติตนยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพครูโดยชี้แนะทางถูกต้องแก้ไขสิ่งผิดและยึดมั่นตามหลักศาสนา

13.  มีบุคลิกภาพดีเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กและสาธารณในด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม 

และการดำรงชีวิต

14.  มีความรับผิดชอบในหน้าที่มุ่งมั่นในการทำงานทำงานเป็นระบบและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

15.  มีความสามารถในการปลูกฝังวินัย คุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่ดี และถูกต้องต่อผู้เรียน

16. ความสามารถในการจัดระเบียบเนื้อหาสาระการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการผู้เรียนและมีความสามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้ตรงความต้องการของท้องถิ่น

ครูรุ่นใหม่ในศตวรรษที่  21 เป็นบุคลากรวิชาชีพ  ซึ่งทำหน้าที่หลักทั้งทางด้านการเรียนการสอน  และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งในสถานศึกษาของรัฐ  และเอกชน  โดยมีองค์ประกอบคุณลักษณะที่เพียบพร้อมในด้านความรอบรู้ในวิทยาการในฐานะครูและพลเมืองที่มีคุณภาพ  มีความสามารถและทักษะในด้านการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์การเรียนรู้  สมกับเป็นบุคลากรในวิชาชีพชั้นสูง  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และบุคลิกภาพสมกับความเป็นครู  และมีความรู้อย่างลึกซึ้ง  กว้างขวางในศาสตร์สาขาที่สอน  (Subject  Matter) อันนำไปสู่บุคลากรวิชาชีพ  ผู้ซึ่งสมควรได้รับใบประกอบวิชาชีพครู  ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่สภาวิชาชีพครูจะกำหนด ไม่เพียงแต่ที่กล่าวมาแล้วครูในยุคศตวรรษที่ 21 จะต้องเป็นคนทันสมัยรู้ลึกรู้จริงในเรื่องเทคโนโลยีด้วยไม่เช่นนั้นก็จะตามนักเรียนไม่ทันต้องประยุกต์ใช้สิ่งที่เด็กชอบเด็กมีเด็กใช้มาเป็นสื่อการเรียนการสอนให้ได้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นครูยุคศตวรรษที่ 21

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ศตวรรษที่ 21
หมายเลขบันทึก: 491688เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท