“ความคิดเชิงลบ (Negative Thinking)” เราจะพัฒนาให้เป็นพลังสร้างสรรค์เชิงบวกได้อย่างไร


ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกหมุนเร็วเช่นนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าการคิดและทำอย่างสุขุมนุ่มลึกเป็นเรื่องที่ล้าสมัย เพราะจะไม่ทันเวลา หากเรากลับลืมนึกไปว่า เราได้ใช้เวลาสูญเสียไปกับเรื่องราวไร้สาระมากมายเพียงใดในแต่ละวัน ดังนั้น การคิดและทำให้ช้าลง จะเป็นเครื่องมือคัดกรองสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อจะได้ทุ่มเทให้กับสิ่งที่สำคัญที่สุดเท่านั้น ให้เวลากับมันอย่างเต็มที่ และทำออกมาให้ประณีตรุ่มรวยที่สุด

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

รายการวิทยุ "รู้ใช้เข้าใจเงิน" FM96.5

 

1. คิดให้ช้าลง

ความคิดเชิงลบ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดโดยตัวเอง เพราะตราบใดที่ชีวิตยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การระแวดระวังเตือนภัยก็ยังคงคุณค่าสำคัญ

สิ่งที่เป็นปัญหา ก็คือ ความคิดเชิงลบที่มากล้นเกินกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่อมวลชน ที่ข่าวร้ายเพียง 1 ชิ้น ก็สามารถเวียนซ้ำไปเผยแพร่ได้ในหลายช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต แม้ว่ามันสมองและสติปัญญาของเราจะเข้าใจว่ามันเป็นข่าวชิ้นเดียวกัน แต่สัญชาติญาณระวังภัยที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจของเราก็ได้สะสมความเครียดเข้า ไปโดยไม่รู้ตัว ตามจำนวนครั้งที่ได้รับข่าวสารเลวร้ายนั้น

วิวัฒนาการของมนุษย์หลายแสนปี ที่ต้องต่อสู้และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติซึ่งโหดร้าย ได้ส่งมอบมรดกของการตอบสนองกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ข่าวอาชญากรรมจะขายดีเป็นที่สุด แม้แต่ข่าวดาราและการบันเทิงก็ต้องเป็นเรื่องฉาวโฉ่คาวโลกีย์

การรับมือกับความคิดเชิงลบที่ผ่านเข้ามาจากสื่อที่หลากหลาย หรือแม้กระทั่งการต่อสู้แข่งขันในชีวิตจริงที่โหดร้าย จึงไม่ใช่การบังคับตัวเองให้พยายามมองทุกอย่างในแง่บวกไปทั้งหมด หากเป็นการปล่อยให้ข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีเวลาย่อยสลาย มีเวลาใคร่ครวญทั้งด้านดีและร้าย เพื่อให้เกิดการตกผลึกเป็นความจริงของโลก ไม่ใช่ความจริงในสิ่งที่เชื่อตามกันมา หรือความจริงที่เราต้องการให้เป็น หรือแม้กระทั่งความจริงที่เราไม่อยากให้เป็น

การคิดให้ช้าลง ทำให้น้อยลง แต่ลุ่มลึกมากขึ้น พูดให้น้อยลง แต่ไตร่ตรองมากขึ้น ย่อมช่วยให้เราสามารถเก็บรายละเอียดของชีวิตได้ลึกล้ำกว่าเดิม หยั่งเห็นสิ่งละอันพันละน้อยที่เคยละเลยไป ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงส่งกว่าเดิม

ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกหมุนเร็วเช่นนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าการคิดและทำอย่างสุขุมนุ่มลึกเป็นเรื่องที่ล้าสมัย เพราะจะไม่ทันเวลา หากเรากลับลืมนึกไปว่า เราได้ใช้เวลาสูญเสียไปกับเรื่องราวไร้สาระมากมายเพียงใดในแต่ละวัน ดังนั้น การคิดและทำให้ช้าลง จะเป็นเครื่องมือคัดกรองสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อจะได้ทุ่มเทให้กับสิ่งที่สำคัญที่สุดเท่านั้น ให้เวลากับมันอย่างเต็มที่ และทำออกมาให้ประณีตรุ่มรวยที่สุด

2. อย่าปิดกั้นความคิดทั้งบวกและลบ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่สร้างสรรค์

การพยายามหลีกหนีความคิดทั้งบวกและลบ หรือพยายามบังคับฝืนใจตนเองให้ต้องคิดในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์อย่างที่สุด ดังนั้น จึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการขจัดความเครียดที่เป็นผลมาจากการคิดลบซึ่งเรา กำลังเผชิญอยู่

เมื่อใดที่เรามองเรื่องราวหนึ่งในเชิงบวก จงพยายามหาแง่มุมที่เป็นลบมาประกอบด้วย หรือเมื่อใดที่เรามองเชิงลบ จงพยายามหาแง่มุมที่เป็นบวกเข้ามาประกอบด้วย ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในโลกความจริงมีความซับซ้อนกว่านั้น บางทีไม่ใช่มีเพียงมุมลบหรือบวกเท่านั้น หากยังมีมุมมองที่ 3 และ 4 มุมมองที่พิจารณาตามบริบท เวลา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองในขณะนั้น

การเปิดใจเพื่อสัมผัสประสบการณ์และความรู้ที่หลากหลายซึ่งผ่านเข้ามา จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการวิเคราะห์ความจริงได้ลึกล้ำกว่าเดิม ความจริงที่ไปพ้นจากด้านบวกและลบซึ่งเป็นเพียงผิวเผินฉาบฉวยเท่านั้น

Steve Jobs เคยไปฝึกฝนกับนักบวชและอาจารย์ Zen ซึ่งก็บ่มเพาะให้ผลิตภัณฑ์ของ Apple มีความโดดเด่นแบบเรียบง่าย แม้แต่เรื่องการซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน Steve Jobs ก็ยังต้องถกเถียงกับภรรยาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบและดีไซน์ นี่จึงเป็นที่มาความคิดสร้างสรรค์ซึ่งไม่มีวันหยุดนิ่ง

จงอย่าปล่อยให้ความคิดของเราติดกับแค่ความคิดบวกหรือลบเท่านั้น หากยังต้องขยายมุมมองออกไปเรียนรู้ในสิ่งที่กว้างขว้าง ไม่ติดจำกัดกับสาขาอาชีพ ไม่ติดในกรอบคิดที่ชอบตัดสินอะไรล่วงหน้า

มนุษย์มีเวลาและความสามารถที่จำกัด การจะไปเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การเลือกที่จะตอบสนองกับเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

กลยุทธ์ในการเลือกจึงเป็นสิ่งที่จะตัดสินชะตาชีวิตเรา หากทว่าถึงที่สุดก็ไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรจะดีที่สุด แม้กระทั่งตัวเราเองที่เป็นเจ้าของชีวิตก็ตาม

เราอาจต้องลองทำตามหัวใจของตัวเราบ้าง ทำในสิ่งที่ชอบ เพื่อค้นหาในสิ่งที่ใช่ หากทว่าเมื่อชีวิตพาเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเบื่อหน่าย ก็อย่าพึ่งปฏิเสธด้วยกลยุทธ์ “คิดเร็ว” ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 บางทีอาจจะมีสิ่งที่ดีซุกซ่อนอยู่ หรือแม้กระทั่งเป็นลายแทงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ได้

ชีวิตไม่เคยเดินทางเป็นเส้นตรง การเดินทางเข้าหาสิ่งที่รักโดยทันที อาจไม่มีวันไปถึงได้ หากต้องผ่านสิ่งที่เกลียด สิ่งที่เลวร้าย สิ่งที่มัวเมาลุ่มหลง สิ่งที่ออกนอกเส้นทางไปไกล เพื่อจะกลับมาใหม่อย่างมีวุฒิภาวะ

แต่เมื่อไม่ค้นพบเหตุผลที่จำต้องทนแล้ว ก็จงรีบละทิ้งโดยเร็ว เพราะยังมีเรื่องตื่นเต้นเร้าใจมากมายซึ่งรอให้เราไปกระทำ

หากสิ่งใดทำแล้วได้ผลดี ทำแล้วมีความสุข แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสาขาที่เราร่ำเรียนมาหรือเชี่ยวชาญเลย ก็จงทำต่อไป เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งที่ใช่ก็ได้

สิ่งสำคัญคือ ต้นทุนเวลาและต้นทุนทรัพยากร เราต้องรู้จักบริหารจัดการให้เหมาะสม อย่าได้เสียเวลากับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป เพราะสำหรับสิ่งที่ใช่แล้วนั้น เราจะสัมผัสได้จากหัวใจว่า การทุ่มเททำงานของเราจะมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง ทำน้อยแต่ได้ผลงานมาก นั่นคือ สิ่งที่ธรรมชาติได้ประทานให้เราแล้ว

นอกจากการฟังเสียงหัวใจของเราแล้ว ยังต้องพยายามปล่อยวางตัวตนเพื่อที่จะได้ยินเสียงที่ไพเราะที่สุดของธรรมชาติอีกด้วย

3. คิดในสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศสร้างสรรค์ ท่ามกลางมิตรสหายที่ดีเลิศ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ป้อนข้อมูลเข้ามาแล้วจะได้คำตอบเหมือนเดิมทุกครั้ง ดังนั้น การเปลี่ยนสถานที่ในการคิด เปลี่ยนบรรยากาศในการใคร่ครวญ ก็อาจทำให้ปัญหาที่ดูเหมือนตีบตันนั้นได้คลี่คลายออกมา จนกระทั่งค้นพบคำตอบที่ยิ่งใหญ่

นอกจากสถานที่แล้ว บุคคลที่แวดล้อมเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งคนรัก ก็ยังมีอิทธิพลกับความคิดของเราได้ ดังนั้น การจะเป็นคนที่สร้างสรรค์ คนที่ฉลาดเฉียบแหลม ก็ย่อมต้องรู้จักเลือกเฟ้นบุคคลรอบข้างให้หลากหลาย ให้เป็นพลังเสริมประสานเราในการพัฒนาศักยภาพตัวเองไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต

หากยังรู้สึกว่าชีวิตมืดมิดอยู่ ก็จงจุดเทียนเล่มน้อยขึ้นอ่านหนังสือดีๆสักเล่ม

เพราะบางทีวิธีโบราณแบบนี้ ก็อาจให้คำตอบตัวเราได้ดียิ่งกว่าเทคโนโลยีล้ำยุค

หมายเลขบันทึก: 491258เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วผมจะกลับมาอ่านตอนดึกๆ ครับอาจารย์

เรียน อาจารย์ครับ....

ตอนดึกนอนหลับไปเลยจนเช้าครับ...

เสียดายที่ผมไม่ได้ฟัง และไม่รู้ว่าที่บ้านจะมีคลื่น FM 96.5 เปล่า...

ผมกำลังเริ่มศึกษาธรรมะ...พบว่า...เมื่ออ่านบันทึกนี้ของอาจารย์

เป็นการนำหลักธรรมะมาเขียนและถ่ายทอดในการเข้าใจชีวิตที่ดีมาก

ชีวิตที่มีความพลวัต...ซับซ้อน...รุ่มรวยด้วยสิ่งห่อหุ้มภายนอก

แต่เหี่ยวแห้ง...ภายในใจ...

อ่านแล้วเข้าใจ และแต่ละบทย่อย

อาจารย์ทิ้งท้ายด้วยแง่มุมที่กลับไปคิดต่อ

มาเขียนที่นี้เรื่อยๆ นะครับ

ผมจะรออ่านครับ...

ขอบคุณครับ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท