พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ปู่โคอิ จุดเกาะเกี่ยวกับหนึ่งรัฐ หรือนานารัฐ ?


ปู่โคอิ จุดเกาะเกี่ยวกับหนึ่งรัฐ หรือนานารัฐ? บทความเพื่อเสนอต่อวงเสวนา โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรในประเทศไทย : ตอนวิเคราะห์การจัดการสิทธิให้แก่คนดั้งเดิมที่อาศัยติดแผ่นดินไทยผ่่านกรณีปู่โคอิแห่งอำเภอแก่งกระจาน ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล

 

ปู่โคอิ จุดเกาะเกี่ยวกับหนึ่งรัฐ หรือนานารัฐ ?

โดย พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์[1]

เอกสารประกอบการเสวนา โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรในประเทศไทย : ตอนวิเคราะห์การจัดการสิทธิให้แก่คนดั้งเดิมที่อาศัยติดแผ่นดินไทยผ่านกรณีปู่โคอิแห่งอาเภอแก่งกระจาน ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล

 

จุดเกาะเกี่ยว สัมพันธภาพระหว่างคน กับ รัฐ

หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และประชากร โดยทฤษฎีการแสดงอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือประชากรนั้น ย่อมผ่านทางจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลกับรัฐ จุดเกาะเกี่ยวจึงเป็นข้อเท็จจริงอันเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล[2] กับรัฐ เข้าไว้ด้วยกัน และจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติ และรัฐเจ้าของภูมิลำเนาย่อมส่งผลให้รัฐดังกล่าวกลายเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของบุคคลนั้น

                ทั้งนี้การพิจารณาจุดเกาะเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลธรรมดา กับรัฐสามารถแบ่งโดยอาศัยช่วงเวลาของการเกิดจุดเกาะเกี่ยวได้ กล่าวคือ

                จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐในขณะที่บุคคลเกิด  โดยบุคคลธรรมดาอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐได้โดยพิจารณาผ่าน 3 สถานะ คือ 1) รัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด ซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักดินแดน 2) รัฐเจ้าของตัวบุคคลของบิดา เพราะบิดาอาจจะเป็นคนสัญชาติของรัฐ หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวร ซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักบุคคล 3) รัฐเจ้าของตัวบุคคลของมารดา เพราะมารดาอาจจะเป็นคนสัญชาติของรัฐ หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวร ซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักบุคคล

                จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐที่ได้มาภายหลังการเกิด โดยบุคคลธรรมดาอาจจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐภายหลังการเกิดได้จาก 2 สถานะ คือ 1) รัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สมรส 2) รัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาดังกล่าว โดยข้อเท็จจริงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริง ก็คือ (1) การมีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐนั้นเป็นระยะเวลานานจนมีความกลมกลืนกับสภาพสังคมของรัฐ (2) มีครอบครัวเป็นบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐนั้น (3) ทำคุณประโยชน์ให้กับรัฐ (4) อาศัยอยู่ในดินแดนที่รัฐได้มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตแห่งรัฐ

 

ปู่โคอิ กับจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย

                จากการรับฟังข้อเท็จจริงโดยการเกิดของปู่โคอิ พบว่า สถานที่เกิด[3]ของปู่โคอิ คือ ต้นน้ำภาชี ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย ประกอบกับพยานหลักฐานที่ออกโดยรัฐไทยให้กับปู่โคอิในปี พ.ศ.2531  คือ ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านหรือ ท.ร.ชข[4] [5] แสดงว่าปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด ตามหลักดินแดนกับประเทศไทย ส่งผลให้รัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดของปู่โคอิ

                นอกจากนี้หากรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าปู่โคอิ เกิดจากบิดามารดา ที่เป็นชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมติดผืนแผ่นดินไทย คือ เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ย่อมรับฟังได้ว่าปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยตามหลักบุคคลเช่นเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต

                ส่วนจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิดกับรัฐไทยนั้น แม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านางนอตะกี ภรรยาของปู่โคอิ มีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทย อันจะทำให้ปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยเพิ่มเติมโดยเหตุว่ามีภรรยาเป็นคนสัญชาติไทย แต่เมื่อพบข้อเท็จจริงที่ว่าปู่โคอิตั้งบ้านเรือน ประกอบอาชีพ[6] อยู่บริเวณบ้านบางกลอยบน จังหวัดเพชรบุรี ประกอบกับเคยได้รับการสำรวจทะเบียน ท.ร.ชข เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2531 ซึ่งมุ่งที่จะสำรวจและเก็บข้อมูลประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ย่อมแสดงให้เห็นว่าปู่โคอิเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยภายหลังการเกิด ในสถานะที่เป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน

                นอกจากนี้ การกระทำของรัฐไทยโดยสำนักทะเบียนแก่งกระจาน ที่สำรวจและบันทึกชื่อปู่โคอิ[7]ลงในทะเบียนราษฎรไทย ประเภททะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ทร.38 ก) ยังเป็นการยืนยันถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐไทยกับปู่โคอิ โดยหลักดินแดน

 

ปู่โคอิ กับจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่า

ถ้าสถานการณ์ข้อเท็จจริงปรากฎขึ้นใหม่และพิสูจน์ได้ว่า บิดามารดาของปู่โคอิเป็นชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเดินเท้าเข้ามาจากประเทศพม่า ซึ่งอาจจะมีจุดเกาะเกี่ยวประการใดประการหนึ่งกับประเทศพม่า ก็จะทำให้ปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐพม่าโดยอาศัยหลักบุคคลจากการสืบสายโลหิตจากบุพการี

หรือแม้กระทั่ง สถานที่เกิดของปู่โคอินั้น ถ้าเป็นพื้นที่ทับซ้อนของประเทศไทยและประเทศพม่า ทั้งรัฐไทย และรัฐพม่าก็แสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว ส่งผลให้ทั้งรัฐไทยและรัฐพม่าต่างเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดของปู่โคอิไปพร้อมกัน ปู่โคอิก็มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักดินแดนกับทั้งสองรัฐ

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ซึ่งยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์เป็นที่ยุติได้ว่า บิดามารดาของปู่โคอิ เป็นชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากประเทศพม่าหรือไม่ และไม่เกิดประเด็นโต้แย้งว่าปู่โคอิเกิดในพื้นที่ทับซ้อน จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่า ปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศพม่า โดยอาศัยหลักบุคคลผ่านทางบุพการี และหลักดินแดนแต่อย่างใด

เช่นเดียวกัน เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้ว่า ปู่โคอิเคยอยู่อาศัย หรือตั้งบ้านเรือนในประเทศพม่า ในลักษณะที่ประสงค์จะอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนั้น ไม่เฉพาะแค่การเดินทางเข้าออกชั่วคราวเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า ก็ย่อมไม่สามารถสรุปได้ว่า ปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าในสถานะที่เป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนได้

ประกอบกับ เมื่อข้อเท็จจริงของภรรยาของปู่โคอิ ยังไม่ปรากฎแน่ชัดว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าหรือไม่ นอกจากจะทำให้ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้ว่าภรรยามีสถานะคนสัญชาติพม่าหรือไม่แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถสรุปได้ว่าปู่โคอิมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าผ่านทางภรรยาซึ่งอาจจะมีสถานะเป็นคู่สมรสตามกฎหมายในอนาคตได้

 

ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มิใช่ประเทศกะเหรี่ยง

คำว่า “กะเหรี่ยง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น ไม่ปรากฎว่ามีประเทศกะเหรี่ยงอยู่บนโลก ประกอบกับตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การถือสัญชาติของประเทศใดก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าบุคคลนั้นต้องมีข้อเท็จจริงเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของประเทศดังกล่าว และเมื่อไม่ปรากฎว่ามีประเทศไทยกะเหรี่ยงในโลกแล้วจึงไม่อาจเกิดสถาการณ์การใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อกำหนดสัญชาติกะเหรี่ยงได้

 

บทสรุป จากข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ขณะนี้ว่า ประเทศไทยเป็นทั้งถิ่นที่เกิดและอยู่อาศัยโดยข้อเท็จจริงของปู่โคอิ ปู่โคอิจึงมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยทั้งขณะเกิดและภายหลังการเกิดตามหลักดินแดน ในสถานะที่เป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด และรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน

ประกอบกับเมื่อไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างปู่โคอิกับประเทศพม่า ปู่โคอิจึงไม่ได้มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่า

ดังนั้น เมื่อปรากฎว่ารัฐไทยเป็นรัฐอธิปไตยเดียวที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับปู่โคอิ ปากาเกอะญอ ไร้สัญชาติ ซึ่งถูกถือเป็นคนต่างด้าวสำหรับทุกรัฐบนโลก ทำให้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหนือตัวบุคคลของปู่โคอิ และโดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เราเรียกรัฐไทยว่าเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของปู่โคอิ

สัมพันธภาพอันนำไปสู่การแสดงอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยต่อปู่โคอิ ทำให้รัฐไทยไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ที่จะ

พยายามขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้กับปู่โคอิได้

               

 



[1] นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยทางวิชาการ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิจัยและทนายความวิชาชีพประจาบางกอกคลินิก กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] "จุดเกาะเกี่ยว" "องค์ประกอบต่างด้าว" และ "ลักษณะระหว่างประเทศ" มีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2553 : สืบค้นทาง http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=533&d_id=532

[3] ปกาเกอะญอโคอิ ผู้มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน (สยาม-กะเหรี่ยง) โดยดรุณี ไดศาลพาณิชย์กุล ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2555 (ปรับแก้จากฉบับวันที่ 23 มกราคม 2555)

[4] ระบุว่านายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปี พ.ศ.2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย พ่อชื่อ มิมิ แม่ชื่อพินอดี ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และนับถือผี : อ้างอิงจาก “มอง 100 ปี กฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล : สืบค้นทาง  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/775/105/original_2554-11-29-100yearKoai-Siam-Karen-Darunee.doc-update.pdf    และคำฟ้อง ศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 ระหว่างนายโคอิ หรือคออิ้ มีมิ, นายแจ พุกาด, นายหมีหรือคิตา ต้นน้ำเพชร, นายบุญชู พุกาด, นายกื้อ พุกาด และ นายดูอู้ จีโบ้ง หรือดุ๊อู จีบ้ง ผู้ฟ้องคดี กับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดี

[5] ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527)

[6] ข้อมูลการสอบข้อเท็จจริงปู่โคอิ และนอแอะ โดยคณะทำงานของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ (ไม่ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554 : จาก มอง 100 ปี กฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล : สืบค้นทาง  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/775/105/original_2554-11-29-100yearKoai-Siam-Karen-Darunee.doc-update.pdf  

[7] อ้างอิงจาก คำฟ้อง ศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 ระหว่างนายโคอิ หรือคออิ้ มีมิ, นายแจ พุกาด, นายหมีหรือคิตา ต้นน้ำเพชร, นายบุญชู พุกาด, นายกื้อ พุกาด และ นายดูอู้ จีโบ้ง หรือดุ๊อู จีบ้ง ผู้ฟ้องคดี กับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดี

หมายเลขบันทึก: 490614เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดค่ะ ความเห็นแรก รัฐไทยเท่านั้นที่เป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของปู่โคอิ เพราะมีจุดเกาะเกี่ยวทั้งโดยการเกิดและภายหลังการเกิดกับประเทศไทยเท่านั้น เอาล่ะซิ ผลของเรื่องนี้ รัฐไทยมีอำนาจหน้าที่อย่างไรต่อปู่โคอิล่ะ ? แล้วปู่โคอิล่ะมีสิทธิหน้าที่อย่างไรต่อรัฐไทย ? หินก้อนแรกของการเสวนาเปิดฉากแล้วค่ะพี่น้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท