ฟังให้เข้าใจก่อนที่จะพูดอะไรออกมา


 

ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคลนั้น สิ่งที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญก็คือ เรื่องของการสื่อความระหว่างคนสองคน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ระหว่างคู่รัก ลูกพี่ลูกน้อง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัยการสื่อความที่ดี เพื่อที่จะเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

แต่พอเราพูดถึงเรื่องของการสื่อความ ทักษะแรกที่เราจะต้องคิดถึงก่อนก็คือ ทักษะการพูดนั่นเอง เรามักจะคิดเสมอว่าเราจะต้องพูดอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจ หรือเราจะต้องพูดอย่างไรให้คนอื่นประทับใจ และรู้สึกดีกับเรา พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เวลาเราสื่อความด้วยการพูดนั้น เรามักจะพยายามสื่อและพูดในเรื่องของตัวเราเอง ให้คนอื่นเข้าใจเราว่าเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร เรามักจะพยายามทำให้ตนเองเป็นคนสำคัญ เพื่อให้คนอื่นยอมรับเรา แต่เชื่อมั้ยครับ ยิ่งเราพยายามจะพูดว่าเราสำคัญเท่าไหร่ เราจะได้รับการยอมรับจากคนอื่นน้อยลงเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน พยายามที่จะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเรากำลังเข้าใจเขา และเขาเป็นคนสำคัญของเรา เราจะได้รับการยอมรับจากคนผู้นั้นทันที โดยที่เราไม่ต้องโฆษณาตัวเองเลยสักนิดเดียว ดังนั้นในการสื่อความที่ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องของการพูดในสิ่งที่เรารู้ แต่เป็นเรื่องของการฟังอย่างเข้าใจฝั่งตรงข้ามมากกว่า

ลองตอบคำถามนี้ดูนะครับว่าถ้าเพื่อน หรือคนรู้จักมาปรึกษาเราว่า ตอนนี้เขากำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการทำงานกับเจ้านาย เนื่องจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของงบประมาณที่ใช้ในการทำงาน แล้วเพื่อนก็ถามว่าควรจะทำอย่างไรดี ท่านจะตอบข้อใด

ก.  “เจ้านายน่ะหรอ อย่าไปสนใจเลย คนแบบนี้ไม่ค่อยฟังเหตุผลเราสักเท่าไหร่หรอก ทนไม่ได้ก็ลาออกเลยดีกว่า”

ข.  “เราว่านายน่าจะอดทนมากกว่านี้สักหน่อยนะ อย่าเพิ่งใจร้อนเลย ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากันจะดีกว่านะ”

ค.  “อ้าวหรอ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นล่ะ ทำไมถึงมีปัญหากันได้”

ท่านตอบข้อใดครับ??

เท่าที่ผมเคยสอบถามจากผู้เข้าสัมมนาในคำถามนี้ ส่วนใหญ่ตอบข้อ ก และ ข ซึ่งจริงๆ แล้วสองข้อนี้เป็นคำตอบที่เรากำลังบังคับให้เขาทำอย่างที่เราต้องการ และเราไม่ได้กำลังจะทำความเข้าใจในปัญหาที่เขามาปรึกษาเราเลย ซึ่งผลก็คือ คนที่มาปรึกษาเราอาจจะงงๆ ว่า เรายังไม่ทันเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดเลย กลับตอบมาให้เราทำแบบนั้นแบบนี้ ดังนั้นคำตอบที่จะช่วยให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกว่าเรากำลังเข้าใจเขาอยู่ก็คือ ข้อ ค ครับ

การตอบข้อ ค นั้นเป็นการตอบแบบที่ไม่ได้บังคับให้คนอื่นต้องคิดแบบเรา แต่เรากำลังสอบถาม และทำให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับเขา การที่เขามาปรึกษาหารือกับเราแปลว่าเขาก็ยอมเปิดใจรับฟังเราบ้างอยู่แล้ว แต่ถ้าเราตอบข้อ ก หรือ ข บางทีอาจจะทำให้เขารู้สึกว่า เราไม่เคยเข้าใจเขาเลย ไม่เคยที่จะสอบถามถึงรายละเอียดก่อนเลย มีแต่ด่วนสรุป และคิดไปเองว่าเราควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผลก็คือ ครั้งต่อไปเขาก็จะไม่ค่อยมาปรึกษาหารือกับเราแล้ว เพราะเขาไม่คิดว่าเรากำลังจะเข้าใจเขาอยู่นั่นเองครับ

บางคนยิ่งไปกว่านั้นอีก ชอบพูดตลอดเวลาว่า "เข้าใจ เข้าใจ" แทรกขึ้นมาระหว่างที่คนอื่นกำลังพูดอยู่ ซึ่งผมสงสัยจริงๆ ว่าเข้าใจเขาจริงๆ หรือเปล่า ผมเคยลองแหย่กลับนะครับระหว่างที่พูดๆ อยู่ พอเขาพูดออกมาว่า "เข้าใจ เข้าใจ" ผมก็เลยถามกลับไปว่า เข้าใจว่าอย่างไรช่วยอธิบายหน่อย ปรากฎว่า สิ่งที่เขาเข้าใจกับสิ่งที่เรากำลังพูดนั้น ไปกันคนละเรื่องเลยก็มีครับ

เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้เราได้รับการยอมรับจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็น เพื่อน แฟน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งนายของเราเอง ก็คือ การฟังอย่างเข้าใจ พยายามทำความเข้าใจในความรู้สึกของเขาก่อนที่จะรีบด่วนสรุป และอย่ายัดเยียดความคิดของเราให้กับผู้อื่น เพราะส่วนใหญ่เราจะมีแนวโน้มทำอย่างนั้นมากกว่า

เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจคนอื่นอย่างแท้จริงแล้ว คนอื่นก็จะเข้าใจ และยอมรับเราโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศว่าเราเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ หรือประกาศว่าเรา "เข้าใจ เข้าใจ"  เขาจะรู้เองครับว่าเราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ผลสุดท้ายเราจะได้รับการยอมรับมากขึ้นครับ

คำสำคัญ (Tags): #ฟังอย่างเข้าใจ
หมายเลขบันทึก: 490271เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 05:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ สำหรับคำถาม..และคำตอบสามข้อ..ชวนคิด..และเทคนิค ฟังอย่างเข้าใจ ไม่ด่วนสรุป และไม่ยัดเยียดความคิดของเราให้เค้า ..พยายามฝึกปฏิบัติเมื่อมีโอกาสค่ะ :-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท