นครโตเกียวปัจจุบัน


นครโตเกียวปัจจุบัน

นครโตเกียวปัจจุบัน

ศุภธิดา  นันต๊ะภูมิ

ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในทีมงานคณะนักวิจัยในสาขาญี่ปุ่นศึกษาเขตภาคเหนือ ประเทศไทย ที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ศตวรรษที่ 21 ในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม และได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่หลายแง่หลายมุมสำหรับครั้งนี้จะขอกล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในนครโตเกียวซึ่งเป็นเมืองที่หลายๆ ท่านคุ้นหูและรู้จักเป็นอย่างดี  

นครโตเกียวเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล และเป็นเมืองที่ชาวไทยฝันใฝ่อยากจะไปเยี่ยมชมสักครั้ง ซึ่งครั้งนี้ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยี่ยมชมย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน เดินกันอย่างขวักไขว่ อย่างเช่น ย่านชินจูกุ,ฮาราจูกุ,ชิบุยะ และกินซ่า เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศในยามค่ำคืนในย่านดังกล่าวมีแสงสีระยิบระยับดึงดูดสายตา  พอเดินออกจากกลางกรุงนครโตเกียว สิ่งที่ได้พบเจอคือความสะดวกสบายแทบไม่ต้องวิ่งไปหาที่ไหนไกล เช่นย่านซื้อของ ร้านเหล้าบาร์ ร้านคาราโอเกะ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และแม้หากไปทางไหนก็จะเจอกับสถานีที่มียวดยานพาหนะไฮเทคโลยีที่ก้าวล้ำทันสมัยกว่าประเทศไทยหลายสิบเท่า นครโตเกียวช่างเป็นเมืองที่แสนจะสะดวกสบายเสียจริง นอกจากเป็นเมืองที่มีความก้าวล้ำทันสมัยแล้วนครโตเกียวยังมีแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมเก่า คือ ละครคาบูกิ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าชมละครคาบูกิเรื่อง “Touryuuoguri-hangan”(โทริวโอกุริ-ฮันกัน)ที่โรงละคร “Shinbashienbuchou”(ชิมบะชิเอนบุโช) บทพูดของละครคาบุกิที่ได้ยินนั้นจะใช้ภาษาพูดของคนในสมัยก่อน ดังนั้นจึงไม่ค่อยเข้าใจมากนั้น แต่หากดูท่าทางและการแสดงของนักแสดงคาบุกิแต่ละคนก็พอที่จะเข้าใจขึ้นมาได้บ้าง ในความคิดของข้าพเจ้าที่มีต่อละครคาบุกินั้น คือ ชุดที่สวมใส่ในการแสดงมีความหรูหรา และงดงามเป็นอย่างมาก รวมทั้งอุปกรณ์,ฉาก และดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนั้นมีมนตร์สะกดท่านผู้ชมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากใหญ่ๆ เช่น ฉากบ้าน,ศาลเจ้าชินโต และทะเล เป็นต้นนั้น มีการเปลี่ยนฉากใหญ่ๆ ได้อย่างรวดเร็วอย่างน่าแปลกใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวญี่ปุ่นยังให้ความสนใจ และชื่นชอบละครคาบุกิอันเป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่ของพวกเขา

จะเห็นได้ว่านครโตเกียวมีค่านิยมแบบใหม่ และแบบดั้งเดิมอยู่ แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้วนครโตเกียวปัจจุบันเหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า คงไม่เหมาะที่จะไปอยู่อาศัยในระยะเวลานานหลายปี หากลองคิดดูดีๆ แล้วว่า ทุกครั้งที่เดินผ่านชาว“เอะด๊กโกะ” หรือ ชาวนครโตเกียวนั้น รู้สึกได้ทันทีว่าพวกเขาเหล่านั้นมีหน้าตาไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส  และเดินกันอย่างเร่งรีบ  อีกทั้งไม่สนใจผู้คนรอบข้าง บางคนเดินดูโทรศัพท์มือถือไปด้วยเดินไปด้วย  นอกจากนี้นครโตเกียวเป็นเมืองที่มีความศรีวิไลก็จริงแต่สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบได้เห็นคือมีกลุ่มคนไร้บ้านกระจายอยู่ไปทั่ว หรือกระจุกอยู่แถวๆสถานีรถไฟ กลุ่มคนเหล่านี้คือคนที่ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง จะอาศัยนอนอยู่ตามพื้นสถานีรถไฟ สิ่งที่มีอยู่ติดตัวของกลุ่มคนเหล่านี้คือกระเป๋าเป้สะพาย และเครื่องนอนเท่านั้น  บางแห่งเห็นคนแต่งตัวมอซอกำลังคุ้ยเขี่ยหาอะไรบางอย่างในถังขยะข้างถนน ทำให้ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่าที่นครโตเกียวมีปัญหาแบบนี้ด้วยหรือ

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากกล่าวถึง คือ สถานการณ์ปัจจุบันของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นและการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูบูรณะ วิทยากรชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า หลังจากเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ดังกล่าวทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการเร่งฟื้นฟูบูรณะในเขตที่ได้รับผลกระทบหนัก และคอยเฝ้าระวังป้องกันในเขตที่อยู่ข้างเคียง เหตุการณ์ในครั้งนี้เนื่องนครโตเกียวที่อยู่ห่างไกลจุดเกิดเหตุนับหลายกิโลเมตรจึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ดังนั้น นครโตเกียวในฐานะเป็นเมืองจุดศูนย์กลาง และครบครันไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แม้ว่าจะเกิดภัยธรรมชาติแล้ว ยังมีไฟฟ้า น้ำประปา สัญญานโทรศัพท์ที่ยังใช้ได้อยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำให้ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ต่างถิ่นแห่แหนย้ายเข้ามาอยู่ที่นครโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองแห่งความเจริญ และได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติภัยธรรมชาติน้อย  ประชากรก็คงหนาแน่นขึ้นกว่าเดิมที่มีมากอยู่แล้ว  นอกจากจากปัญหาในนครโตเกียวแล้ว อยากจะขอกล่าวถึงปัญหาใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นอีกหลายประการ อาทิเช่น อัตราการเกิดของเด็กทารกลดลง ตรงกันข้ามกันอัตราประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้น และจากการเกิดปัญหาดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าผู้สูงอายุจะไม่ได้รับเงินสนับสนุน หรือเงินบำนาญจากรัฐบาลแล้ว นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวบางครอบครัวได้รับเงินสนับสนุน  บางครอบครัวก็ไม่ได้ หรือบางครอบครัวอยากย้ายออกไปอยู่ที่อื่น บางครอบครัวก็ไม่อยากย้ายออกจากเขตที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ดังนั้นคณะรัฐบาลที่ปุ่นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะสำเร็จได้หรือไม่ข้าพเจ้าขอเป็นกำลังใจให้ฝ่าวิกฤติไปโดยเร็ววัน

 

หมายเลขบันทึก: 490165เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท