วิสัยทัศน์ คุณค่า และเป้าหมายของชีวิต


การทำทุกที่ให้เป็นโบสถ์ ประทับใจที่พวกเราสามารถสวดมนต์ ตั้งจิตอธิษฐาน ได้ในทุกๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นรอบเจดีย์ ใต้ต้นไม้ กลางสนามหญ้า หรือบนรถบัส ทำให้เราสามารถเนรมิตทุกแห่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเจริญในทางจิตใจได้ง่ายขึ้น

วิสัยทัศน์ คุณค่า และเป้าหมายของชีวิต
ณ พุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย – เนปาล


สิ่งที่ได้เรียนรู้ที่ได้รับจากการเดินทางครั้งนี้

การเดินทางไปกับคณะคศน. ได้เรียนรู้จากกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรอาวุโส ผู้นำ คศน. และผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ได้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความจริงใจในการทำงาน และการต่อสู้ในเรื่องต่างๆ ของหลายๆ คน ได้สัมผัสถึงอัจฉริยภาพของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกัลยาณมิตรอาวุโส ที่มีความรู้ความสามารถฉลาดหลักแหลม รวมทั้งเพื่อนๆ ผู้นำรุ่นเยาว์ที่อยู่ในวงการ “แพทย์ชนบท” ที่มีอุดมการณ์ในการทำงานที่จริงจัง และถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้เราถือปฏิบัติตาม

การเข้าร่วมกิจกรรมจาริกบุญ ไม่ว่าด้วยการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของพระพุทธเจ้า การสวดมนต์ การนั่งสมาธิหรือการเดินจงกรม ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ร่มเย็น การไปในสถานที่สำคัญ ทำให้สัมผัสถึงพลังอันยิ่งใหญ่ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงริเริ่มไว้ บนยอดเขาคิชกูฏ มีความเงียบสงบ มีทัศนียภาพที่กว้างขวาง ยิ่งใหญ่ ให้พลังของสมาธิและปัญญา ที่ต้นโพธิ์ในวัดพุทธคยา ในคืนเดือนเพ็ญแสงเรื่อเรือง มีประวัติศาสตร์แห่งการแสวงหา ความอดทน ความมุ่งมั่น ที่สัมผัสได้ ที่กุสินารา มีพระมหาปรินิพพานที่เป็นทั้งความทุกข์และความสุขในคราวเดียวกัน และที่ลุมพินี รูปปั้นเบบี้บุดดาได้สะท้อนการเกิดของชีวิตที่มีคุณค่าเพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์

การไปสัมผัส “ความเป็นคน” ของพระพุทธเจ้า ที่มีการเกิด มีการตัดสินใจครั้งสำคัญ มีการค้นพบ มีการเผยแพร่งานและความดีงาม มีความสำเร็จ มีความล้มเหลว มีศัตรู และมีผู้สนับสนุนและมิตรอันยิ่งใหญ่นั้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ไปในทิศทางเดียวกับพระพุทธเจ้า และทำให้สามารถยอมรับได้ง่ายขึ้นว่าเส้นทางที่ขรุขระมีขวากหนาม เป็นเส้นทางปกติที่ทุกคน แม้แต่พระพุทธองค์ก็ต้องผ่านพบเจอ แต่หากมีกัลยาณมิตรที่ดี มีครูที่ดี มีผู้ให้กำลังใจอย่างดี รวมทั้งมีตนเองที่จะต้องเป็นผู้ดูและประคับประคองตนไปให้ถึงฝั่งดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองทำให้ดู ก็เป็นสิ่งที่เราจะนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างไม่ย่อท้อ
การไป “พบถิ่นอินเดีย” ในภาพรวม ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากศึกษาชีวิตของคนอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศแห่งอารยธรรมที่มีความหลากหลาย สำหรับความรู้สึกสงสารเห็นใจในบางครั้งที่เกิดขึ้น อยากแปรให้เป็นการได้มีส่วนร่วมในการลดความทุกข์ของคนอินเดีย ที่เป็นสรรพสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่าย โดยการเผยแพร่ธรรมะของพระพุทธเจ้าให้คนอินเดียที่อยู่ใกล้แผ่นดินพุทธภูมิให้ได้สัมผัสสิ่งดีๆ ของพุทธศาสนามากขึ้น เพื่อให้เกิดความเบิกบานและการหลุดพ้นอย่างแท้จริง

ได้เรียนรู้ชีวิตชาวอินเดียว่ามีข้อขัดข้องในเชิงกายภาพมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเรื่องปัญหาความยากจน ที่ส่งผลกระทบถึงเรื่องสุขภาพและเรื่องการสาธารณสุขต่างๆ รวมทั้งปัญหาสังคม ที่อาจเป็นปัญหาเรื่องวรรณะ หรือเรื่องการกระจายความเจริญที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้สัดส่วน ทำให้เราได้เห็นคนวรรณะต่ำจำนวนมาก เป็นผู้ที่ด้อยโอกาส เมื่อเทียบกับคนในวรรณะที่ดีกว่า ที่มีโอกาสมากกว่า จากสายตาของบุคคลภายนอก ทำให้คิดถึงประเด็นเรื่องความเสมอภาคในโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ แต่เรื่องเหล่านี้ คงต้องพิจารณาจากมุมมองของคนอินเดียที่เราเกี่ยวข้องด้วยว่าเขารู้สึกเช่นนั้นหรือไม่ หากเขาเห็นว่าเป็นปัญหา และคนในประเทศช่วยกันจัดการแก้ไขปัญหาเองไม่ได้ ก็อาจมีความจำเป็นที่ความช่วยเหลือและความร่วมมือจากต่างประเทศต้องเข้าไปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีปัญหาวรรณะ ก็เชื่อว่าอินเดียก็ยังคงมีปัญหาดังกล่าวอยู่พอสมควร เพราะประชากรมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะจัดระบบการจัดการในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้เป็นธรรมได้ง่าย

ท่ามกลางข้อขัดข้องทางกายภาพ เราได้เรียนรู้ว่าคนอินเดียใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่กระทบกระเทือนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การมีห้องน้ำห้องส้วมที่จำกัด สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรที่จำกัด บ้านเรือนที่หลังเล็ก หลายแห่งสร้างเป็นบ้านดิน การรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์ การเบียดเสียดกันใช้รถ สะท้อนการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าและไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ เราจะเห็นพื้นที่สีเขียว ทั้งในส่วนทุ่งนาป่าไม้ และที่โล่ง ที่กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในประเทศพัฒนาแบบประเทศไทย
สิ่งที่สัมผัสในช่วงสั้นๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ที่ใช้เวลาขับขี่รถยนต์ ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้น้ำอุ่น เผาผลาญพลังงานไฟฟ้า พลังงานน้ำ น้ำมันในลักษณะต่างๆ เพื่อความสุขสบายส่วนตนค่อนข้างมากนั้น คงจะต้องกลับมาทบทวนใหม่อย่างจริงจัง และอาจจะต้องหาวิธีปรับแก้ไขพฤติกรรมตนเองให้รักษ์ธรรมชาติมากขึ้น และให้เป็นพฤติกรรมในลักษณะยั่งยืน ซึ่งไม่ง่าย

เกร็ดความรู้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ทีได้รับและเป็นประโยชน์จากการเดินทางครั้งนี้
- การทำทุกที่ให้เป็นโบสถ์ ประทับใจที่พวกเราสามารถสวดมนต์ ตั้งจิตอธิษฐาน ได้ในทุกๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นรอบเจดีย์ ใต้ต้นไม้ กลางสนามหญ้า หรือบนรถบัส ทำให้เราสามารถเนรมิตทุกแห่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเจริญในทางจิตใจได้ง่ายขึ้น
- การเผยแพร่พุทธธรรมโดยคนไทย ประทับใจการเผยแพร่พุทธธรรมโดยคนไทยในอินเดีย โดยเฉพาะของวัดกุสินารา ที่มีวิธีการชาญฉลาด เช่น การสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้แสวงบุญ หรือการเปิดโรงพยาบาลช่วยเหลือคนยากในพื้นที่ เพื่อให้วัดกลายเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่สร้างกัลยาณมิตรและสะพานแห่งความเอื้ออาทรระหว่างคนไทยและคนในพื้นที่
- ชื่นชมปัจเจกบุคคลที่สร้างผลงานยิ่งใหญ่ มนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระสาวกนางสุชาดา ทุกคนช่วยกันสร้างสังคมชาวพุทธให้ยิ่งใหญ่ให้เกิดการพัฒนาพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อย่างมีพัฒนาการ รวมถึงพระเจ้าอโศก พระธรรมปาละหรือบุคคลอื่นๆ ที่ช่วยสร้างเสาหลัก และเผยแพร่แผ่ธรรมะให้กว้างขวางมากขึ้น กระทั่งคนไทยเช่น อาจารย์กรุณา- เรืองอุไร กุศลาศัย หรือพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นคนเล็กๆ ในสังคมไทย ก็มีส่วนเผยแพร่ความคิดที่ยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษและชมพูทวีปให้คนไทยได้รู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และน่าดำเนินรอยตาม

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์

คศน. 017

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

หมายเลขบันทึก: 490149เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท