หมออนามัย ประวัติชีวิต


หมออนามัย ประวัติชีวิต

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

 

ประวัติชีวิต  การศึกษาประวัติชีวิต คือ เครื่องมือที่ทำให้เห็นรายละเอียดชีวิตของผู้คน สร้างความเข้าใจในเรื่องราวของชาวบ้าน และเกิดมุมมองที่มีมิติความเป็นมนุษย์มากขึ้น เมื่อไปศึกษาชีวิตผู้คนอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว เราจะได้เรียนรู้และเข้าอกเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น การศึกษาประวัติชีวิตมีความสำคัญตรงที่ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากยิ่งขึ้น ได้เห็นว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา มีความสุขก็ดีใจ มีความสุขก็ร้องไห้ มีชีวิติที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ มีความล้มเหลว และมีความใฝ่ฝันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ผิดไปจากเรา ประวัติชีวิตของบุคคลจึงเป็นยาถอนพิษที่ดีของการมองคนไข้แบบเห็นแต่ไข้ไม่เห็นคน เป้าหมายของการทำประวัติชีวิตอยู่ที่การเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่การรวบรวมประวัติบุคคลเพื่อเก็บในระบบเอกสารหรือรายงานราชการ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องตั้งเป้าหมาย ทำให้ครบ หรือให้ครอบคลุมประชากรเป็นจำนวนร้อยละเท่าไหร่ ควรเน้นการทำประวัติชีวิตเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ จึงอาจมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ 4 กลุ่ม คือ

1.                   คนจนและคนทุกข์คนยาก การทำประวัติชีวิตคนจนและคนทุกข์ยากนั้นเราต้องไปหาคนเหล่านี้ให้เจอเพราะคนจนและคนทุกข์คนยากนั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ การพัฒนาสุขภาพ โดยเฉพาะงานสุขภาพเชิงรุก แต่กลับเป็นกลุ่มที่เรารู้จักเรื่องราวชีวิตของเขาน้อยที่สุด นอกจากนั้นเราจะสามารถเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุดโดยการศึกษาความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนทุกข์คนยากมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ ความทุกข์ของตัวเราเองลดลงด้วย และพึงเตือนตัวเองอยู่เสมอว่างานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิต้องไม่ทอดทิ้งคนจนคนทุกข์ยาก

2.                   คนป่วย จำเป็นต้องทำประวัติจำเป็นต้องทำประวัติอย่างละเอียดเอาไว้โดยเฉพาะกรณีสลับซับซ้อน หรือกรณีผู้ป่วยเรื้อรังการทำประวัติทำให้เราเข้าใจชีวิตของชาวบ้าน เข้าในสาเหตุและปัญหาอันเกิดจากการเจ็บไข้ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอันมีผลต่อสุขภาพผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น การที่เราเข้าใจชีวิตของชาวบ้านได้หนึ่งคนนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ตัวเราเองก็จะเป็นคนดีขึ้นที่ละนิดด้วย เพราะเราจะมองชาวบ้านด้วยความอาทรและเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าเรารู้จักประวัติผู้ป่วยมากเท่าไรจิตใจของเราก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ไม่มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติหรืออะไรที่จะได้ผลดีและเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของคนได้ดีเท่ากับการเรียนรู้และเข้าใจเพื่อนมนุษย์

3.                   ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มบุคคลที่เราควรให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติชีวิต เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลประวัติส่วนตัวแล้วเรายังได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของชุมชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เพราะคนสูงอายุเหล่านี้เคยผ่านช่วงเวลาในอดีต รวมทั้งบางคน อาจเป็นแหล่งข้อมูล ด้านสุขภาพที่สำคัญ เพราะเคยเป็นหมอยาพื้นบ้านมาก่อน ที่การแพทย์สมัยใหม่เข้ามาถึง จะมีความรู้ด้านสมุนไพรต่างๆเป็นอย่างดี ดังนั้น การศึกษา ประวัติควรให้ความสำคัญ กับกลุ่มคนสูงอายุ ในประเด็นที่หลากหลาย คลอบคลุมทั้งชีวิตส่วนตัวและบทบาทต่อชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกจะได้ข้อมูลประวัติส่วนตัวแล้ว

4.                   กลุ่มผู้นำ ทั้งผู้เป็นทางการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้นำไม่เป็นทางการ การศึกษาประวัติผู้นำจะสามารถช่วยให้เราเข้าใจผู้นำคนนั้นได้ดี ว่าเขาเป็นผู้นำที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ หรือเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมขนาดไหนในทัศนะของชาวบ้าน เพราะบางที่ผู้นำของชาวบ้านที่ไม่เป็นทางการอาจได้รับการยอมรับมากกว่าผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ เพราะมีเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การศึกษาประวัติผู้นำและรายละเอียดชีวิตเขายังช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ในชุมชนมากขึ้น เช่น ชาวบ้านคุ้มนั้นให้ความร่วมมือกับชาวบ้านมากกว่าอีกคุ้มหนึ่ง อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่บ้านเป็นเครือญาติกับคุ้มบ้านแรก ส่วนอีกคุ้มบ้านหนึ่งเคยส่งคนลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแต่ไม่ได้รับเลือก ชาวบ้านคุ้มนั้นเลยไม่ชอบผู้ใหญ่บ้านคนนี้ การสอบถามประวัติผู้นำจึงช่วยให้เราเข้าหรือการทำเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น

 

ประโยชน์ การทำประวัติชีวิตช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อและเป็นเครื่องมือที่นำไปรู้จักมิติความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน และเป็นเครื่องมือที่สามารถทำได้ในหลายโอกาสไม่จำเป็นต้องเข้าไปในหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว อาทิเช่น นั่งคุยข้างเตียงผู้ป่วยที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย เขียนลงบนกระดาษวันละนิดละหน่อย แล้วนำไปใส่ท้ายแฟ้มประจำครอบครัว เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ หากมีเวลาก็ลองกลับมาพลิกอ่านดู แล้วจะเกิดความเข้าใจและให้บริการด้วยความรู้สึกอ่อนโยนมากขึ้น และการทำประวัติชีวิตจะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นหากในการประชุมวิชาการ ของโรงพยาบาลมีการนำเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตผู้คน เช่น ชีวิตของคนทุกข์คนยากคนป่วยเรื้อรัง มาอภิปราย พูดคุยกันบ้างเพื่อชีวิตของผู้คนจะได้เข้ามามีส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตการดูแลผู้ป่วย ไม่ใช่ประชุมวิชาการแต่เฉพาะเทคนิคการรักษาพยาบาล เช่นการทำแผลหรือผ่าตัดเล็กเท่านั้น การเขียนประวัติชีวิตของคน เป็นยาถอนพิษ ของวิธีคิดแบบลดส่วน แยกส่วน กลไกที่ติดตัวเราเพราะความที่เป็นวิชาชีพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข เคยชินเฉพาะจะมองหาโรคมากกว่าที่จะเข้าใจคน การใส่ใจเรื่องราวชีวิตของคนทำให้สามารถนำเอาความเป็นมนุษย์ของเราเข้าไปสัมผัสกับความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย หรือคนที่เราไปศึกษาได้ เราจะเป็นคนดีขึ้นคือมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์หรือเรียกว่ามีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

หมายเลขบันทึก: 489973เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท