3. หลากหลายภาษา หนึ่งเดียวอินเดีย


ภาษาเป็นกุญแจไขไปสู่ประตูใจ

 

หลากหลายภาษา หนึ่งเดียวอินเดีย

 

“นมัสเต”  สวัสดีภาษาฮินดี

“วันนะกัม”  สวัสดีภาษาทมิฬ

            นี่เป็นตัวอย่างคำทักทายเพียงสองภาษาที่เป็นภาษาที่เก่าแก่ของอินเดีย ภาษาฮินดีส่วนใหญ่พูดกันทางภาคเหนือ ส่วนภาษาทมิฬพูดในรัฐทมิฬ นาฑูทางภาคใต้ของอินเดีย

            ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติที่ไปออกภาคสนามที่อินเดีย เมื่อไปถึงพื้นที่ สิ่งหนึ่งที่ควรต้องสอบถามคือคำทักทายในภาษาของเขา ขอบคุณ ฯลฯ ที่เราค่อยๆ เรียนรู้ และฝึกใช้ซึ่งจะเป็นกุญแจที่เปิดใจเจ้าของภาษาว่าเราสนใจและสามารถพูดภาษาเขาได้ เจอใครที่ทมิฬ นาฑูก็ทักก่อนเลย   “วันนะกัม” หรือ “นมัสเต” กับชาวเกรลาพร้อมยกมือไหว้เขา (รู้จักไม่รู้จักทักไปเถอะ) คนส่วนใหญ่ทักทายตอบ แสดงว่าเขามีไมตรี บ้างก็ชอบใจยิ้มกว้างให้เลย บ้างก็ออกอาการทึ่งนิดๆ และชมว่าพูดภาษาทมิฬได้ด้วย!!!

            เนื่องจากประเทศอินเดีย หรือแดนภารตะมีความหลากหลายทั้งภาษาและผู้คน แต่ละรัฐก็มีภาษาประจำรัฐ มีภาษาถิ่น ภาษาของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมากมาย จะว่าไปแล้วเขาก็สื่อสารกันยากหากไม่มีภาษากลางคือภาษาอังกฤษสำหรับให้คนแต่ละรัฐติดต่อกัน เช่น คนจากเดลีมาธุระทางภาคใต้ก็ไม่รู้ภาษาทมิฬ หรือในทางกลับกันคนจากทางใต้ไปทำธุระทางเหนือก็อาจจะไม่รู้ฮินดี ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษากลางสำหรับการสื่อสารของคนสองภาค ดังนั้นเขาจึงไม่ต่างจากเราที่เป็นคนต่างชาติ หากเราไม่รู้ภาษาอะไรเลยนอกจากอังกฤษเราก็ใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อกับชาวอินเดียทั่วไปเป็นหลัก  ชาวอินเดียคุยกันด้วยภาษาอังกฤษก็เหมือนกับเขาคุยกับเราที่เป็นคนต่างชาติ แต่ถ้าเราเรียนรู้ภาษาฮินดี หรือทมิฬก็ควรฝึกใช้ปนๆ ไปกับภาษาอังกฤษก็ยังดีกว่าไม่กล้าสื่อสารเลย

            ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยมีทักษะการใช้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษา เพราะภาษาเขามาจากรากเหง้าเดียวกันคือสันสกฤต จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะฝึกใช้ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับเขา

            คนไทยโดยทั่วไปไม่มีทักษะการใช้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษา เพราะเราชอบอ้างว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร หรืออ้างว่าลิ้นแข็ง! นั่นเป็นข้อแก้ตัวมากกว่า และไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาอื่น นอกจากภาษายอดฮิตเพื่อการค้า ทำอย่างไรเราจะฝึกเยาวชนของเราให้สามารถพูดคุย เจรจา ต่อรอง ซักถาม โต้แย้งกับผู้อื่น (อย่างมีเหตุผล) ทั้งภาษาไทย และอย่างน้อยด้วยการใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารกับคนต่างวัฒนธรรมให้ได้ซึ่งในอีกไม่กี่ปีก็จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว หากจะให้ดีไปกว่านั้น คนไทยควรศึกษาภาษาเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกก็จะเป็นประโยชน์ต่อการรวมตัวในฐานะประชาคมเดียวกันต่อไป ภาษาจะเป็นกุญแจไขไปสู่ประตูใจของเจ้าของภาษาและประตูความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ อีกมากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 489755เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท