ถอดบทเรียนเพื่อการป้องกันกรณีระเบิดโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-ยกระดับคุณภาพแรงงานเทคนิคเพื่อความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม


ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดและก๊าซรั่วของโรงงานอุตสาหกรรมภายในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งผมได้แสดงความเห็นวิเคราะห์ส่วนตัวไปในบทความที่แล้วนั้น ผมได้รับการติดต่อจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยท่านผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะให้ช่วยเขียนบทความที่แสดงความคิดเห็นเชื่อมโยงเพื่อหาทางป้องกัน เพื่อลงในคอลัมน์ สกว ชวนคิด ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/trfcolumn/) ซึ่งผมเองก็ไม่ปฏิเสธที่จะลงมือถอดความคิดเห็นของตนเองอีกครั้งโดยพยายามให้บทความดังกล่าวมีกลิ่นไอของบทความที่เชิงวิชาการ ตามประสาคนเป็นนักวิจัย บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่ผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวข้างต้นในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาภายใต้ชื่อบทความว่า "ยกระดับคุณภาพแรงงานเทคนิคเพื่อความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม" ลองอ่านดูครับ เผื่อเราจะช่วยล้อมคอกอะไรในอนาคตได้บ้าง

เหตุการณ์ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 กลายเป็นอีกเหตุการณ์อุบัติภัยหนึ่ง

ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ที่ทำงานและผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความเคลือบแคลงสงสัยในแง่มุมของ ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี และการผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายในเขตพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

ภายใต้ความคลุมเครือถึงสาเหตุของการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีเพียงข้อมูลที่กล่าวอ้างถึงการลุกติดไฟของสารโทลูอีน (Toluene : สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ใช้เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ของบริษัทที่เกิดระเบิดและเพลิงไหม้) และความผิดพลาดของคนงานซ่อมบำรุงในระหว่างการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานเท่านั้น ที่สามารถนำมาใช้เป็นฐานการวิเคราะห์เชื่อมโยงสู่ต้นตอของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงทั้งในเชิงระบบ และตัวบุคคล จากมาตรการความปลอดภัยที่ใช้ในช่วงระหว่างปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ที่มักจะมีผู้รับเหมาช่วงจำนวนหลายบริษัทเข้ามาทำงานภายในโรงงาน รวมถึงการทำงานบนความประมาท หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพนักงานภายนอกที่เข้ามาทำงานหรือซ่อมบำรุงภายในพื้นที่เฉพาะที่ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ 

ทางแก้ไข จึง จำเป็นต้องสร้างระบบความปลอดภัยที่ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ ในช่วงระหว่างการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ และที่สำคัญ คือ การเพิ่มคุณภาพแรงงานทางเทคนิค ทั้งภายในระบบที่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาจากระบบอาชีวศึกษา และแรงงานนอกระบบที่เรียนรู้จากประสบการณ์ อันจะเป็นกุญแจสำคัญของการช่วยลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากตัวบุคคล และยกระดับการทำงานที่มีประสิทธิภาพภายใต้สภาพความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมได้

ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนการทำงานของชุดโครงการประสานงานวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดระยอง และได้ให้ทุนการสนับสนุนโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางการจัดการระหว่างสถาบันการศึกษากับหน่วยงานในภาคเอกชนในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง” โดยการดำเนินงานของกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อถอดรูปแบบแนวทางการสร้างแรงงานทางเทคนิคที่มีคุณภาพผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาคสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชนภายในพื้นที่จังหวัดระยอง

จากการศึกษาวิจัยได้พบประเด็นที่น่าสนใจและสามารถนำมาขยายผลต่อในเชิงปฏิบัติเพื่อเพิ่มคุณภาพแรงงานทางเทคนิค อาทิเช่น

๐ องค์ประกอบสำคัญเพื่อการพัฒนาแรงงานทางเทคนิคที่มีคุณภาพที่นอกเหนือจากประสบการณ์การทำงานแล้ว ทักษะเฉพาะในวิชาชีพ และความรู้ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด

๐ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของแรงงานที่มีคุณภาพ ได้แก่ 1. จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ 2. ความมุ่งมั่น ขยัน อดทน 3. ความใฝ่รู้ 4. มีความเป็นผู้นำ 5. มีความรับผิดชอบ 6. ทักษะทางสังคม 7. การควบคุมอารมณ์ 8. จิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย

๐ การเพิ่มพูนทักษะ และความรู้ที่เท่าทันวิทยาการ และโลกปัจจุบันให้กับแรงงานทั้งที่ผ่านระบบการศึกษา และไม่ได้ผ่านระบบการศึกษา ซึ่งกำลังทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม อย่างเป็นระยะๆ และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการอัพเดท และพัฒนาตนเองของแรงงานอยู่ตลอดเวลา

๐ กระบวนการถ่ายทอดความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ และความรู้ให้กับแรงงาน จำเป็นต้องอาศัยกลไกการสื่อสารแบบสองทาง ระหว่างผู้รับการถ่ายความรู้ และผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งจะสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจและทักษะเชิงวิพากษ์ที่สามารถนำสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงาน

โครงการวิจัยดังกล่าวยังให้แง่มุมความสำเร็จของการสร้างแรงงานคุณภาพภายในระบบ โดยการถอดองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษากับภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมภายในพื้นที่ อันจะเป็นส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพแรงงานทางเทคนิคที่ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยหวังลึกๆ ถึงสิ่งที่ได้จากงานวิจัยที่อาจเชื่อมโยงสู่การอุดช่องโหว่ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากตัวบุคคลของแรงงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ด้วยเพราะ เชื่อว่าแรงงานทางเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาทักษะเฉพาะทางวิชาชีพ และได้รับการเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลาจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในขณะที่สำนึกเรื่องของความปลอดภัย จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการปลูกฝังควบคู่ไปกับการเริ่มต้นพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้กับแรงงานทั้งในและนอกระบบ ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งมิใช่การพยายามสื่อสารเพียงฝ่ายเดียวของผู้ให้ความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมระหว่างผู้เรียน และผู้ถ่ายทอดความรู้ ผ่านการวิพากษ์ที่เชื่อว่าเป็นกลไกการฝังความรู้สู่จิตสำนึกอย่างเป็นระบบ สำนึกเรื่องของความปลอดภัยจึงจะฝังรากลึกลงในจิตใจของแต่ละบุคคล หากพยายามทำได้เท่านี้ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากตัวบุคคลในระหว่างการทำงาน และเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมในเรื่องของความปลอดภัยขึ้นได้ไม่น้อยแล้ว จริงไหมครับ

ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

พฤษภาคม 2555

หมายเลขบันทึก: 488906เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท