ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

เมื่อพระทำหนังสั้นสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม


วันเดอร์แลนด์ตะลุยแดนธรรมะ หนังสั้นสุดเก๋ สื่อการสอนของ รร.พระปริยัติธรรม

นวัตกรรมใหม่ในโรงเรียนปริยัติธรรม

เมื่อพระทำหนังสั้นสอนวิชาวิทยาศาสตร์

 

                วิชาวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาสำหรับนักเรียนไทยหลายคน แต่สำหรับนักเรียนสามเณรประจำโรงเรียนพระเทพบัณฑิตวิทยาลัย โรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมสำหรับสามเณร วัดบึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด คงไม่รู้สึกเช่นนั้น เมื่อพวกเขาได้ออกแบบการเรียนการสอน ได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะเรียน ด้วยการเรียนรู้ผ่านหนังสั้น ที่พวกเขาได้ร่วมลงมือสร้างขึ้น

 

                การเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านการทำหนังสั้น เกิดขึ้นจากแนวคิดของ พระมหาเอนก อมรเวชโช ผู้อำนวยการโรงเรียนพระเทพบัณฑิตวิทยาลัย ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนด้วยสื่อภาพยนตร์ของโรงเรียนเทพบัณฑิตวิทยาลัย วัดบึงพระลานชัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยจัดทำมาตั้งแต่ปี 2553

                 พระมหาเอนก เล่าถึงที่มาที่ไปว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากทางโรงเรียนต้องการทำโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการเรียนการสอนสามเณร แต่โปรแกรมการสอนสำเร็จรูปถูกมองว่าล้าสมัยไปแล้ว จึงหันมาให้ความสำคัญกับสื่อที่มาแรงอย่าง ‘หนังสั้น’ ด้วยความที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า และสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้กว้างขวางเช่นกัน จากจุดนั้นจึงเริ่มหันมาศึกษาการผลิตหนังสั้น เพื่อนำไปสู่การเรียนการสอนรูปแบบใหม่

                 “อาตมาได้ดูตัวอย่างหนังสั้นของพระศรีญาณโสภณ วัดพระราม 9 กรุงเทพฯ เรื่อง “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” จึงเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ และคิดว่า หากสามเณรได้ร่วมกันผลิตและนำไปเป็นสื่อการสอนให้กับพระเณร หรือแม้แต่ฆราวาสก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี” พระมหาอเนกย้ำ

 

                ที่ผ่านมา โรงเรียนพระเทพบัณฑิตวิทยาลัยได้ผลิตหนังสั้นออกมาแล้ว 2 เรื่อง จาก 2 วิชา คือ วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาวิทยาศาสตร์ โดยวิชาวิทยาศาสตร์มีชื่อหนังสั้นว่า “วันเดอร์แลนด์ตะลุยแดนธรรมะ” เนื้อหามุ่งเน้นเกี่ยวกับการทดลอง เช่น ทำไมคนที่เดินบนตะปูจึงไม่ทะลุเท้า หรือ การทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ในหลากหลายรูปแบบ โดยมีความยาว 17 นาที

 

                พระมหาเอนกเล่าให้ฟังว่า การทำหนังสำหรับพระเณรเป็นเรื่องใหม่ และไม่น่าจะมาบรรจบกันได้ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะได้ถือโอกาสนี้ผสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีความสามารถด้านการผลิตหนังสั้นให้เข้ามาช่วยเหลือกัน โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การถ่ายทำ สอนวิธีการใช้อุปกรณ์ การตัดต่อ และความรู้ในเชิงเทคนิค จากอาจารย์โรงเรียนสตรีร้อยเอ็ด

                 เมื่อถามถึงกระบวนการผลิตหนังสั้น ผอ.โรงเรียนพระเทพบัณฑิตกล่าวว่า เริ่มต้นจากการประชุมกันในโรงเรียนว่าจะสร้างหนัง ต่อด้วยการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน ไล่ไปตั้งแต่ ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ สวัสดิการ ฝ่ายไฟ ฝ่ายฉาก รวมถึงนักแสดง โดยพระมหาอเนกและเณรได้ร่วมกันแสดง และเป็นทีมงานหลักในหนังสั้นเรื่องวันเดอร์แลนด์ตะลุยแดนธรรมะด้วย

                 “ถือว่าเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเรา แต่ได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือจากญาติโยม ทำให้งานลุล่วงด้วยดี เมื่อทำเสร็จแล้ว มีการประเมินผลจากนักเรียนในโรงเรียน ผลสรุปพบว่า มีความน่าสนใจ เพราะต่างได้เรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ไม่น่าเบื่อ อีกทั้งได้สอดแทรกคำสอนไปพร้อมกันด้วย” พระมหาอเนกกล่าว

 

                ในขณะที่ พระบุญเคน วรญาโณ ครูผู้สอน กล่าวถึงการผลิตหนังสั้นว่า มีโครงการที่จะผลิตออกเป็นซีดีเพื่อเผยแพร่ในยังโรงเรียนพระปริยัติธรรม 43 โรงเรียนทั่วประเทศ และคาดว่าในอนาคตอาจจะมีการผลิตหนังสั้นเพิ่มขึ้น หากมีการสนับสนุนต่อไป ถือว่าเป็นการสร้างการเรียนรู้ใหม่อีกรูปแบบหนึ่งให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

                 สำหรับข้อกังวลเรื่องการแสดงของพระเณรในหนังสั้น ที่อาจจะขัดกับกฎของสงฆ์หรือไม่นั้น พระบุญเคน กล่าวว่า เป็นข้อสังเกตเดียวกับการที่พระสงฆ์ดูโทรทัศน์ หรือคุยโทรศัพท์มือถือ กล่าวคือ หากเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในความเหมาะสม และมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าทำเพื่ออะไรในเชิงสร้างสรรค์ ถือว่าไม่ผิด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรหวือหวาเกินไป

                 “อย่างการใช้สื่อของพระเณรในปัจจุบัน ที่มีการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็ต้องดูว่าใช้เพื่ออะไร พระสงฆ์ก็ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน เพราะสามเณรที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็เรียนหลักสูตรเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ เพียงแต่เพิ่มภาษาบาลีเข้าไป การรู้ทันโลกจึงเลี่ยงไม่ได้” พระบุญเคนย้ำ

 

                ส่วนมุมมองของผู้ร่วมแสดงในหนังสั้นอย่าง สามเณรทัชภูมิ ทุมสวัสดิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกเล่าว่า ได้ร่วมแสดงหนังสั้น ทำให้เกิดความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ และนับเป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่สามารถผสมผสานเนื้อหาความรู้กับสื่อแบบใหม่ได้อย่างดี

                 “ข้อดีของสื่อหนังสั้นคือ สื่อได้ทุกเพศทุกวัย ถ้าให้มานั่งอ่านหรือเขียนอย่างเดียว อาจจะใช้ได้กับบางคนเท่านั้น แต่หนังสั้นเป็นทักษะที่เข้าถึงง่าย ดูง่าย หากเป็นไปได้อยากให้แต่ละโรงเรียนได้นำไปใช้และมีการบูรณาการกับการเรียนการสอนให้มากขึ้น” สามเณรทัชภูมิ บอกเล่า

 

                เพราะการเรียนไม่ได้จำกัดเพียงแค่การสอนในห้องสี่เหลี่ยม หากแต่หมายรวมถึงการมีส่วนร่วมในการสอนของครูและนักเรียน เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันนั่นคือ การเข้าใจเนื้อหาหลักของวิชานั้น ก่อนจะนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีคำตอบอยู่แล้วในสื่ออย่าง ‘หนังสั้น’

 

                ส่วนผู้ที่สนใจอยากจะชมฝีมือการทำหนังสั้นฝีมือพระสงฆ์วัดบึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด ลองติดตามได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=F9A17KMiXR8

หมายเลขบันทึก: 488683เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท