หมออนามัย โรคที่มากับฝน


หมออนามัย โรคที่มากับฝน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

 

โรคที่มากับฝน การดูแลสุขภาพปีนี้ฝนมาเยือนแบบไม่ทันตั้งตัวจากพายุดีเปรสชั่นต่างๆ ต่อไปก็จะเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่สดใหม่และมีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด รวมถึงได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จะมีสุขภาพดีพอที่จะรับมือกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบกับโรคที่มากับฝน ทุกวัยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพื่อพร้อมสำหรับอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ โดยหลีกเลี่ยงที่จะโดนละอองฝนและลมที่พัดแรง ซึ่งอาจมีเชื้อโรคบางชนิด ฝุ่นละอองปะปนมาด้วย การทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าที่แห้ง สะอาด ไม่อับชื้น หากเปียกฝนควรรีบล้างเท้าและสระผมให้สะอาดทุกครั้ง ไม่ควรปล่อยให้ผมและร่างกายอับชื้น
โรคที่พบบ่อยในฤดูฝน ได้แก่ ตาอักเสบ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู และเชื้อราบริเวณผิวหนัง นอกจากนี้เด็กที่เป็นโรคหืดในช่วงฤดูฝนผู้ปกครองต้องเพิ่มความระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาการหอบหืดจะกำเริบได้บ่อย ควรมีการตระเตรียมยาไว้ด้วย

ตาอักเสบในช่วงฤดูฝนตาอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อจากการใช้มือ กระดาษ ผ้าที่ไม่สะอาด เช็ดหรือขยี้ตา จากฝุ่น ละออง เกสรหญ้าดอกไม้ ผู้ใช้เลนส์สัมผัส เป็นต้น อาการและอาการแสดงมีตาแดง ระคายเคืองตา คัน น้ำตาไหล มีขี้ตา อาจพบมีอาการปวดตาและเปลือกตาบวมได้ คำแนะนำ ให้ผู้ที่ใช้เลนส์สัมผัสต้องถอดเลนส์ออกทันทีถ้ามีตาอักเสบ ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการอยู่ ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคตาอักเสบ ล้างมือให้สะอาดทันทีที่สัมผัสผู้ป่วย ตาอักเสบ และดูแลล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ผู้ที่เป็นโรคตาอักเสบ ไม่ควรลงสระว่ายน้ำ และในช่วงที่มีการระบาดของโรคตาอักเสบ ไม่ลงเล่นน้ำในสระ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละออง เกสรหญ้า ในช่วงที่มีแสงแดดจัดควรสวมแว่นตากันแดดด้วย การรักษา ไม่แนะนำให้ซื้อยารักษาเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการแนะนำและรักษาที่ถูกต้อง
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ สามารถติดต่อกันได้ โดยการหายใจเอาเชื้อโรคซึ่งฟุ้งกระจายอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอหรือจามออกมา ในระยะห่างไม่เกิน 1 เมตร ที่สำคัญเชื้อไวรัสอาจปนเปื้อนติดอยู่ที่มือ ของผู้ป่วยอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ โรคนี้จะแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ได้ในที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันมาก ๆ อากาศไม่ถ่ายเท อาการของไข้หวัดจะเริ่มด้วยการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ สําหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้นจะมีอาการรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะและเวียนศีรษะ ปวดตามกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างมาก และมักมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ระยะแรกของโรคจะไม่ค่อยมีอาการหวัดน้ำมูกไหลคัดจมูกไอ
คำแนะนำ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ให้มาก ๆ รับประทานอาหารมีประโยชน์ งดรับประทานของเย็นจัดสามารถ รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัวได้ โดยปกติโรคนี้ หายได้เองในเวลา 2-7 วัน แต่ถ้ามีอาการมาก เช่น ไข้สูงติดกันหลายวัน ไอมาก อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อยมาก หรือมีอาการหายใจเร็ว หายใจไม่สะดวก ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบได้ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น ผู้ป่วยไม่ไอหรือจาม ใส่ผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้มือ หรือกระดาษปิดปากและจมูก และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

การป้องกัน ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกําลังกาย อย่างสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นและไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโดยเฉพาะเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ในที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ บนรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจํานวนมาก โดยเฉพาะในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนปีละครั้ง

 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ อาจเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อซึ่งฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกมา หรือติดต่อกันโดยใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย มีระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน โรคนี้คุณหมอย้ำว่าเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีโดยเฉพาะเด็กแรกเกิด โรคปอดบวมมักเกิดตามหลังโรคหวัด 2-3 วัน โดยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบมักจะหายใจเร็ว ถ้าเป็นมากมักหายใจแรงจนชายโครงบุ่ม สําหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าป่วยหนักมักจะซึมไม่ดื่มนม ไม่ดื่มน้ำ ถ้าไข้สูงอาจชัก บางรายหายใจเสียงดัง ปาก เล็บ มือ เท้าเขียว และกระสับกระส่าย บางรายอาจไม่ชัดเจน อาจไม่ไอ แต่มีอาการซึม ดื่มนมหรือน้ำน้อยลง ถ้ามีอาการเช่นนี้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาล ถ้ารักษาช้าหรือได้รับยาไม่ถูกต้องอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ ฝีในปอดจำเป็นต้องใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลนานและอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้ แนะนำว่าสามารถป้องกันได้เช่นเดียวกับไข้หวัดและ ไข้หวัดใหญ่ และปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคปอดบวมบางชนิดแล้ว

โรคอุจจาระร่วง หรือโรคท้องเดิน  ในช่วงฤดูฝนน้ำและอาหารอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับลมและฝนได้ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีการปกคลุมดีพอ ภาชนะและมือที่ ใช้ปรุงอาหารมีการปนเปื้อน ผู้บริโภคใช้มือหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาด ล้วนก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เกิดอาการท้องเดินหรืออุจจาระร่วง ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง อุจจาระอาจพบมีมูกเลือดปน อาจมีไข้ ปวดท้อง ท้องอืดร่วมด้วย ถ้ามีไข้สูง ถ่ายอุจจาระมีมูกชัดเจนหรือมีมูกเลือด อาเจียนรุนแรง อาเจียนบ่อย ถ่ายบ่อยครั้ง ร่างกายจะเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้ ควรไปพบแพทย์  คำแนะนำ เมื่อเริ่มมีอาการให้รับประทานน้ำผสมเกลือแร่น้อย ๆ บ่อย ๆ (มีจำหน่ายในท้องตลาด ชนิดน้ำสำเร็จรูปและชนิดผง ซึ่งต้องผสมน้ำสะอาดเองและต้องผสมตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ ข้างซอง ห้ามผสมโดยใช้น้ำน้อยกว่าที่กำหนดไว้เด็ดขาด) เด็กที่ รับนมมารดาให้นมได้ตามปกติ
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบระบาดในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 2-10 ปี ความรุนแรงของโรคพบได้ตั้งแต่มีอาการน้อยจนถึงรุนแรง และอาจทำให้เลือดออกและมีอาการช็อก เสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ต้องเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานของท่านให้ดี คอยระวังไม่ให้ยุงกัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ เด็งกี่ กับชิกุนคุนยา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออก และส่วนใหญ่ออกหากินในเวลากลางวัน ยุงลายชนิดนี้ชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่ง ๆ สะอาดที่อยู่ในตุ่ม น้ำ กระป๋อง กะลา และหลุมที่มีน้ำขัง หรือจานรองขาตู้กับข้าว แจกัน อ่างบัว โรคไข้เลือดออก ที่มีอาการรุนแรง หรือช็อกจะเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้เป็น3ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง เด็กจะมีไข้ขึ้นทันที ไข้สูงลอยตลอดเวลา (39-40 องศาเซลเซียส) หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ซึม เบื่ออาหาร ปากแห้ง และอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา มีผื่นแดงขึ้น (ไม่คัน) ในวันที่ 3 ของไข้ ตามแขนขา ลำตัว ผื่นนี้อาจมีจุดเลือดออกเป็นจุดแดงเล็ก ๆ อาการไอพบได้น้อย ระยะที่ 1 ใช้เวลา 4-7 วัน ถ้าโรคไม่รุนแรงไข้ก็จะค่อยๆลดลงและเด็กจะแจ่มใสขึ้น
ระยะที่2ระยะช็อกและมีเลือดออกพบในผู้ป่วยที่มีอาการมากบางราย จะพบในช่วงไข้ลดประมาณวันที่ 3-7 ของโรค ไข้ที่สูงจะลดลงอย่างรวดเร็ว พบอาการปวดท้องมากขึ้น กดเจ็บเล็กน้อยตรงใต้ชายโครงขวา ตัวเย็น ซึม เหงื่อออกตามตัว ปัสสาวะน้อย ผู้ป่วยกระวนกระวาย และอาจมีจุดแดง ๆ เหมือนมีเลือดออกตามผิวหนัง มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระสีดำ ได้ และจะพบแรงดันเลือดลดลง ถ้ามีอาการมากอาจพบมีเลือดออกมาก แรงดันเลือดลดลงมากจนเกิดภาวะช็อกได้

ระยะที่3ระยะพักฟื้น พ้นระยะที่ 2 เด็กจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน เด็กจะเริ่มรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้และจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน2-3วัน
การป้องกันและการรักษา แนะนำให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ปิดฝาตุ่ม ใส่ทรายอเบท ลงในน้ำป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ ที่หล่อขาตู้กับข้าว ทำลายกระป๋อง กะลา หรือยางรถที่มีน้ำขัง อยู่ สำหรับเด็กที่นอนกลางวันควรนอนในมุ้งหรือมีมุ้งครอบเพื่อป้องกันยุงกัด ในระยะไข้สูงควรเช็ดตัวลดไข้ ให้ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ มาก ๆ ห้ามไม่ให้ยาลดไข้แอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น ควรให้พาราเซตามอลเท่านั้นในช่วง 1-2 วันแรก ควรดูแลเรื่องอาหารเพราะควรให้อาหารอ่อนพวกข้าวต้ม นม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าเด็กมีอาการมาก เช่น อาเจียนมาก ไม่ยอมรับประทาน ซึมมาก ร้องปวดท้อง มีเลือดออก ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

โรคฉี่หนู เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อออกมาทางปัสสาวะ ของหนู แมว สุนัข ที่ปนเปื้อนเมื่อเวลาฝนตกมีน้ำท่วมขัง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราทางบาดแผลหรือรอยถลอกโดยเฉพาะบริเวณเท้าและขาขณะเดินลุยน้ำโดยไม่มีการป้องกันที่ดี เชื้ออาจเข้าทางเยื่อบุตาหรือจมูกก็ได้ โรคนี้พบในเขตชนบทมากกว่าในเขตเมือง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง ตาแดง ปวดท้อง มีอาการดีซ่าน อาเจียน ถ่ายเหลว และมีผื่นคัน ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงโดยจะพบมีดีซ่าน ไตทำงานผิดปรกติ ปอดอักเสบ การไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโดยไม่เดินย่ำน้ำเท้าเปล่า ให้ใส่รองเท้าบู๊ต ไม่ลงเล่นน้ำในช่วงที่มีน้ำท่วม มีการเก็บและกำจัดขยะอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู ถ้ามีอาการสงสัยเป็นโรคนี้ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

โรคเชื้อราบริเวณเท้า ในช่วงฤดูฝนการเดินย่ำน้ำให้เท้าเปียกชื้นบ่อย ๆ เป็นบ่อเกิดการติดเชื้อราบริเวณเท้าได้ โดยเฉพาะบริเวณง่ามเท้า โดยจะพบเกิดเป็นตุ่มใส มีผิวหนังลอก และจะมีอาการคัน พบทั่วทั้งเท้าได้และอาจพบเป็นหย่อม ๆ ได้ และอาจลุกลามเกิดเชื้อราที่เล็บได้ มีเชื้อราหลาย สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ท่านที่สงสัยเป็นโรคนี้ต้องระวังไม่ให้เท้าเปียกชื้น ให้เท้าแห้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังจากเดินย่ำน้ำต้อง รีบล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง โรคนี้วินิจฉัยไม่ยาก รักษา โดยใช้ยาฆ่าเชื้อราทาถ้าเป็นมากอาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย
 อย่างไรก็ตาม การรับมือกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ให้ร่างกายเปียกชื้นนานตามคำแนะนำที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่สำคัญไว้ว่านอกจากดูแลสุขภาพตัวเองแล้วควรดูแลใส่ใจสุขภาพของคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุซึ่งอาจจะมีภูมิต้านทานโรคน้อยกว่าคนในวัยทำงาน ทั้งนี้ การป้องกันทำได้ง่ายและประหยัด ค่าใช้จ่ายมากกว่าการรักษาเมื่อกลายเป็นโรคร้ายดังที่กล่าวมาทั้งหมด

 

คำสำคัญ (Tags): #ฝน
หมายเลขบันทึก: 488124เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท