ยุทธการผักล้อมเมือง ให้คนเมืองปลูกผักกินเอง ลดรายจ่าย ปลอดภัยจากสารพิษ


ให้คนเมืองปลูกผักกินเอง ลดรายจ่าย ปลอดภัยจากสารพิษ

ความมั่นคงทางอาหารไม่ได้หมายความว่ามีพืชผักอาหารเพียงพอต่อการบริโภคเท่านั้น หากแต่พืชผักที่บริโภคต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย

            เข้าสู่ปีที่ 3 สำหรับโครงการสวนผักคนเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อมุ่งส่งเสริมให้กลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร สถานศึกษา โรงพยาบาล โรงแรม และหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเรื่องการทำเกษตรในเมือง

            ล่าสุด โครงการสวนผักคนเมือง จัดกิจกรรม “เติมพลังนัก (หัด) ปลูกผัก” ที่โรงเรียนนรรัตน์รังสฤษดิ์ ในหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือสมาชิกนักปลูกผักมือใหม่ให้ได้มาพบปะเพื่อทำความรู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งหลายคนกำลังเผชิญปัญหาหลังเริ่มลงมือปลูกผักไปได้ระยะหนึ่ง การมาร่วมงานครั้งนี้จะทำให้ได้หารือขอคำแนะนำในเชิงเทคนิคจากเหล่า “กูรู” ผู้รู้จริงเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 80 คน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่รับทุนสนับสนุนจากโครงการ อีกส่วนเป็นคนที่สนใจอยากหาความรู้เรื่องการปลูกผักกินเอง

            กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ตอนสายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังจากพูดคุยกันพร้อมหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมแยกย้ายกันเข้ากลุ่มย่อย เพื่อทำความรู้จักอย่างเป็นกันเองมากขึ้น รวมถึงการใช้กิจกรรม “กระถางของฉัน” ที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ทบทวนความคิด ความฝัน ความหวังของตัวเอง พร้อมบอกเล่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่แต่ละคนต้องเผชิญในการปลูกผัก

            ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม “พบกูรู” ซึ่งได้ผู้รู้ อาทิ “ปริ๊นซ์” นคร ลิมปคุปตถาวร และ ชูเกียรติ โกแมน จากศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองสุวรรณภูมิ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนะนำเทคนิควิธีต่างๆ ในการแก้ปัญหาสำหรับคนปลูกผักในเมือง ทั้งเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน ป้องกันแมลงต่างๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมสวนผัก “ลุงดิ๊ด” ธนัช  พุ่มเพ็ชร สมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง ซึ่งทำแปลงผักในชุมชนหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง

           

              เทวธิตา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังไม่ได้ร่วมโครงการกับ สสส.แต่ติดตามมาอบรมกับโครงการสวนผักคนเมืองแล้วหลายครั้ง บอกว่าความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมช่วยแก้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมาตลอดของตนเอง ซึ่งคิดว่ากลางเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่สามารถปลูกพืชผักเป็นอาหารได้

            “เคยทดลองปลูกแล้วไม่ได้ผล แต่พอมาฟังถึงรู้ว่าพืชผักแต่ละอย่างมีบุคลิกที่แตกต่างกัน เราเป็นมือใหม่ก็ต้องค่อยๆ ใช้เวลาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับนิสัยของผักชนิดต่างๆ” 

            ขณะที่ สุกัญญา คงศิริ อาสาสมัครชุมชนบ้านกล้วย เขตคลองเตย บอกว่าหลังจากร่วมโครงการสวนผักคนเมืองมาเกือบครึ่งปี ตอนนี้คนในชุมชนตื่นตัวหันมาปลูกผักกินเองกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายของครัวเรือน ยังทำให้เด็กๆ ลุกขึ้นมารับประทานผักกันเพิ่มขึ้นด้วย

            “เดิมเด็กหลายคนไม่ชอบกินผัก แต่พอเด็ดผักที่ปลูกไว้ไปผัดให้กิน รสชาติมันหวานอร่อย ไม่เหมือนผักจากตลาดที่ต้นอวบ เขียว แต่มีรสขม เด็กๆ ก็มาตื๊อให้พ่อแม่ทำให้กินอีก”

            สุภา ใยเมือง กรรมการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้รับผิดชอบโครงการสวนผักคนเมือง กล่าวถึงการดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อต่อสังคมคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร  

            “เมืองพึ่งตนเองไม่ได้ในเรื่องอาหาร แต่แนวโน้มการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการที่คนอพยพเข้าเมือง และชนบทกลายเป็นเมือง คนในชนบทมีวิถีชีวิตเหมือนคนเมืองมากขึ้น แม้จะผลิตอาหารได้เอง แต่กลับต้องซื้อหาอาหาร เพราะรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”

            การที่เมืองผลิตอาหารเองไม่ได้ถือเป็นความเสี่ยง สุภายกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือช่วงน้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมา เมื่อเส้นทางถูกตัดขาด อาหารจากชนบทไม่สามารถส่งมาเลี้ยงคนในเมืองส่งผลให้เกิดวิกฤต ขณะที่คนซึ่งปลูกผักกินเองสามารถเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง

            “ชนบทยังคงต้องทำหน้าที่หลักในการผลิตอาหาร และเมืองคงไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่อย่างน้อยการปลูกผักก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพึ่งตนเอง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเมืองใหญ่” กรรมการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวทิ้งท้าย

หมายเลขบันทึก: 488034เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท