คุณหมอผู้ “ใจดี...”


 

วันนี้เป็นโอกาสพิเศษที่คุณหมอมาอยู่วัด มาพักปฏิบัติธรรมหลายท่านหลายคน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีทั้งอาจารย์หมอ คุณหมอใหญ่ คุณหมอกลาง หมอจิตแพทย์สำหรับผู้ใหญ่ หมอจิตแพทย์สำหรับเด็ก ๆ คุณหมอผ่าตัดสมอง คุณหมอเอ็กซเรย์...

Large_tt574

การเป็นคุณหมอนี้เป็นอาชีพที่เป็นบุญเป็นกุศล อย่างคุณหมอจิตแพทย์ เป็นคุณหมอ ที่ช่วยเหลือทางจิตทางใจ รักษาระบบประสาท ช่วยเหลือทั้งทางกายช่วยเหลือทั้งทางจิตใจ


ส่วนใหญ่คนเรามีปัญหามากมันเนื่องมาจากจิตใจ มาจากระบบสมองระบบความคิด มาจากระบบของสติปัญญา มีความคิดความเข้าใจไม่ถูกต้อง บางทีวิตกกังวลมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียด


พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกพระภิกษุและญาติโยมทั้งหลายว่า ใครได้ปฏิบัติดูแลภิกษุ ป่วยไข้ไม่สบายมีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธเจ้า


คนเราทุกคนต้องการความรักความเมตตา เพราะความเมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก


เพราะทุกคนที่เกิดมาต่างก็มีความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ทุกข์ทั้งการประกอบอาชีพ ทุกข์กับพี่น้องพ้องบริวาร ทุกข์กับลูกกับหลานและวงศ์ตระกูล
ผู้ที่มีความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจจึงต้องได้รับการดูแลรักษาบำบัด

 

Large_dracaenaloureirigagnep04


พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมบำเพ็ญบารมีมา ประการแรกที่ท่านเมตตาสั่งสอนคือ “การเสียสละ”


เพราะคนเราที่เกิดมามันชอบเป็นผู้เอา มันจึงมีการเวียนว่ายตายเกิด


การเสียสละคือการตัดกรรม ตัดการเวียนว่ายตายเกิด


ถ้าเราเสียสละอย่างที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็มีความสุข ได้ทั้งการงานที่ดี ได้ทั้งความดี ได้ทั้งคุณธรรม เราก็มีความสุข ผู้เกี่ยวข้องกับเราก็มีความสุข


การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ให้เรามีความสุขกับการทำงาน เพราะชีวิตของเราส่วนใหญ่ต้องอยู่กับการทำงาน

Large_tt558

 


พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความสุขกับการทำงาน เราเป็นหมอ เราอยู่กับคนป่วย เราอยู่กับคนทุกข์กายทุกข์ใจ พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราเจริญอาปานสติ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ฝึกหายใจสบายไว้เพื่อคลายเครียด เพื่อผ่อนคลาย


การเจริญอานาปานสติ หายใจเข้าสบายออกสบายเราอาจจะทำทุก ๆ ๑๕ นาที หรือคิดได้เมื่อไรก็เจริญอานาปานสติเพื่อให้ร่างกายของเราได้รับความสมดุลทางออกซิเจน


ในชีวิตประจำวันในการทำงานของเรา เราต้องทำจิตใจให้มีความสุข ทำจิตใจให้เบิกบาน เพราะการทำใจดีใจสบาย ทำใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทำใจอยู่กับอานาปานสตินั่นคือตัวสติ ตัวสมาธิ


คนเราถ้าใจไม่มีความสุข ไม่มีสมาธิ มันจะมีความทุกข์ ใจมันรุ่มร้อน ร้อนรน
สมาธิจึงเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันของเรา เราจะทำอะไรอยู่ก็ให้ใจของเราอยู่กับ สิ่งเหล่านั้น ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว


สำหรับที่เรานั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรานั่งให้สบาย จะนั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้ทำงาน หรือนั่งบนรถตอนเดินทางไกล พระพุทธเจ้าท่านให้เราเจริญอานาปานสติ ฝึกหายใจเข้าสบายออกสบาย ฝึกรู้ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออก ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น เดี๋ยวใจของเรามันสงบเอง

Large_tt572

 


ถ้าเราต้องการให้มันสงบมันจะไม่สงบ…


หลักการของการนั่งสมาธิมันเหมือนกับการที่เราแบกของที่มันหนัก ๆ แล้วเราเสียสละ เราละ เราวาง


สมาธิแปลว่าเสียสละ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ปราศจากนิวรณ์ ไม่ว่าเรื่องอดีต เรื่องอนาคต เสียสละแม้ปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราก็ปล่อยวางหมด ไม่เอามาคิดมาปรุงแต่ง เราทำลักษณะนี้เขาเรียกว่า “การทำสมาธิ”


มันจะสงบหรือไม่สงบ ปวดแข้งปวดขาเราก็อย่าไปสนใจมัน เรื่องของกายก็ให้มัน เป็นเรื่องของกาย เรื่องของกายมันมีโน่นนี่อะไรต่าง ๆ เรื่องของใจมันเป็นของสงบ แต่ใจเรา มันไปรับเอาอารมณ์ของกาย เรามันเลยยุ่ง


การทำสมาธินี้ ตอนเรามีเวลาว่างเราก็ทำ เช่นการนั่งสมาธิหลับตานี้นะ เราก็ทำตอนค่ำ ตอนก่อนนอน สมาธิเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกมันไม่ได้ มันไม่เป็น เมื่อเวลาเราไม่สบายทางกาย เราตื่นเต้น เราผิดหวังอะไรต่าง ๆ เราจะได้รู้จักทำใจให้สงบ

 

Large_tt550


พระพุทธเจ้าท่านทำสมาธิเป็นตั้งอายุ ๗ ขวบ (ตอนแรกนาขวัญ)


พระพุทธเจ้าเวลาพักผ่อนท่านพักผ่อนด้วยสมาธิสมาบัติ เช่น ฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านต้องการพักผ่อนก็เข้าสมาธิสมาบัติ เสวยวิมุติสุขเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน สมองได้พักผ่อน


พระพุทธเจ้าท่านเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านก็เข้าสมาธิ เข้าฌานที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ กลับไปกลับมาท่านถึงปรินิพพาน


สมาธิจำเป็นสำหรับทุก ๆ คน...


คนเราเวลาป่วยไข้ไม่สบาย จะด้วยไม่สบายเพราะแก่เฒ่า จะด้วยเจ็บป่วยจากโรคภัย เราต้องฝึกเข้าสมาธิ ให้ใจของเรามีสมาธิ


เราเป็นคนเก่งคนฉลาดในการทำการทำงาน ถ้าเราไม่เก่งในการเข้าสมาธิ มันก็ไม่มีความสุข “ใจมันไม่ดี...”

 

Large_tt573


คนเรามีบ้านเพื่อพักอาศัยทางร่างกาย บ้านพักทางจิตใจเพื่อให้สงบคือการทำสมาธิ


ที่เขาเป็นโรคกระเพาะหรือเครียด เป็นโรคประสาท เป็นโรคจิตก็เพราะเขาไม่รู้จัก การทำใจให้สงบ ให้หยุด ให้ว่าง ไปวิ่งตามอารมณ์ตามความคิดจนความสุขมันไม่มี


คนเราจะแข็งแรงต้องออกกำลังกาย อานิสงส์ของการออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง สติสัมปชัญญะดี เชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ทำให้ไม่แก่เกินวัย

 

พระพุทธเจ้าท่านออกำลังกายทุกวันคือการเดินจงกรม
พระพุทธเจ้าท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่ได้เดินจงกรมทำความเพียร แต่เดินจงกรมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง การเดินจงกรมนี้คือการออกกำลังกายของพระพุทธเจ้า อย่างพระอรหันต์ ท่านก็เดินจงกรมกัน ในวัดท่านก็มีที่ข้างกุฏิไว้เดินจงกรม

 

Large_tt548


การออกกำลังกายนี้เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง
การทำจิตใจสงบมีสมาธิก็ทำให้จิตใจของเราแข็งแรง

 

 


เรามองดูความสมบูรณ์ของเรา ส่วนใหญ่เราคิดเก่ง ปรุงแต่งเก่ง แต่การทำจิตใจสงบมีน้อย ปัญญามากไป สมาธิกับปัญญาจึงไม่สมดุลกัน


“ชีวิตจิตใจของเราไม่มีพลัง...” เพราะว่าใจของเราไม่มีสมาธิ ใจไม่ได้อยู่กับตัวกับตัว มันโดนดึงไปหมด ดูดไปหมด


ทุก ๆ คนต้องเพิ่มสมาธิให้กับตัวเอง สมาธิเป็นตัวสงบตัวดับทุกข์ระดับกลางก่อนที่จะไปดับทุกข์อย่างถาวรในระดับปัญญา การดับทุกข์อย่าถาวรนี้ก็ต้องอาศัยสมาธิไปหนุนส่งปัญญา ให้กลมกลืนกัน


การทำสมาธินี้เราต้องทำไปเรื่อย ๆ เหมือนน้ำบ่อทรายที่มันซึมมา มันจะนำความสงบร่มเย็นมาเลี้ยงจิตใจเรา หล่อเลี้ยงใจของเรา เหมือนรถคันหนึ่งต้องอาศัยน้ำมันเป็นเครื่องหล่อลื่น


Large_tt547


พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำอย่างนี้นะ ชื่อเราเมตตาตนเอง นำตนเองมาหาการประพฤติปฏิบัติธรรม ร่างกายของเรามันเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอากาศธาตุ ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร มันเป็นที่อยู่อาศัยของเราเพื่อให้ได้สร้างบารมี ความดี คุณธรรม


พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ธรรม ได้รับถวายหญ้าคาจากนายโสตถิยะ ๘ กำ ท่านได้รับถวายข้าวมัทธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อพระองค์เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านก็เอาถาดทองคำมาอธิษฐานจิตว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอให้ถาดทองคำไหลทวนน้ำ ทวนกระแส ถาดทองคำก็ไหลทวนน้ำ ทวนกระแสไป


จากนั้นท่านก็มานั่งสมาธิขัดบัลลังก์บนหญ้าคา ๘ กำที่นายโสตถิยะนำมาถวาย พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานอีกว่า “แม้หนังเอ็นกระดูกเท่านั้นจักเหลืออยู่ เนื้อและเลือด จะเหือดแห้งไปก็ตามที ถ้าข้าพเจ้าไม่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมลุกจากอาสนะที่นั่งนี้


พระพุทธเจ้าท่านทรงไม่ตามอารมณ์ไป ไม่ตามนิมิตไป สุดท้ายพระพุทธเจ้าท่านก็ได้เข้าฌาน ๑ ฌาน ๒ จนระลึกชาติได้ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก ที่สุดก็ได้ตรัสรู้ธรรมสิ้นอาสวะ เป็นผู้ไม่ตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านเป็นผู้ไม่มีกิเลสสิ้นอาสวะ มีความสุขมาก เสวยวิมุติสุขด้วยการนั่ง ๗ วัน ยืน ๗ วัน เดิน ๗ วัน จนครบ ๔๙ วัน


คนเราถ้าปล่อยวางได้มันเป็นสุข เพราะการยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์ มันเครียด...

 Large_tt571

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
ให้กับคณะคุณหมอและญาติโยมที่มาพักปฏิบัติธรรม
ค่ำวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 487890เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท