ไม่มีอะไรที่จะอันตรายเท่ากับความประมาท...


 

วันนี้เป็นวันเสาร์ เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นวันพักผ่อน วันนี้จึงเป็นวันพิเศษ โอกาสพิเศษ ที่ญาติโยมมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม มาทำบุญวันหยุด มาประพฤติปฏิบัติธรรมสร้างบารมี สร้างความดี สร้างคุณธรรม ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ

 


พระพุทธเจ้าท่านเมตตาเรา มีความเป็นห่วงเรา แม้วาระสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านตรัสโอวาทสุดท้ายว่า “ให้ภิกษุทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”


ภิกษุนี้แปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร” ไม่ได้เป็นนักบวชอย่างเดียว


พวกเราทุกคนที่เกิดมานี้อยู่ในท่ามกลางอันตราย อันได้แก่ภัยแห่งการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพราก “ถ้าใครมาเห็นโทษเห็นภัยที่จะเกิดอย่างชัดเจน คนนั้นเป็นภิกษุผู้รู้จักรู้แจ้ง...”


ไม่มีอะไรที่จะอันตรายเท่ากับความประมาท...


คนเรามันประมาททางความคิด มันมีใจมันก็ไม่ได้สำรวมใจ เพราะบาปทั้งหลายทั้งปวง เกิดจากความคิด กายนี้เป็นวัตถุอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับใจ


ความคิดนี้สำคัญมากนะ... อันไหนมันไม่ดีอย่าไปคิดมัน มันต้องอดทน รู้จักเบรกตัวเอง ในความคิดที่ไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านให้พัฒนาความคิดความเห็นของตัวเอง แม้แต่คิดดี ๆ ถ้ามากไป ท่านก็ให้รู้จักหยุดคิด เปิดโอกาสให้ใจมันได้สงบบ้าง

 


ไม่ให้ประมาทในเรื่องคำพูด... คนเรานี้มันพูดตามความเคยชิน พูดจำจากเพื่อน จากพ่อแม่ จากการเรียนหนังสือ คำพูดนี้มันประมาทไม่ได้ คำพูดมีคุณประโยชน์มาก และมันก็มีโทษมาก ที่เรามีปัญหาทุกวันนี้จากเรื่องพูดนี้เยอะ


การทำบาปทางคำพูดเป็นรองมาจากทางความคิด เพราะทางกายมีโอกาสน้อยกว่าความคิด และคำพูด ทุกท่านทุกคนต้องพัฒนาทางคำพูด ถือว่าเรามาเดินตามรอยตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


ไม่ประมาททางการกระทำ... การกระทำที่บาป ที่เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าท่านให้เราหยุด ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง

 


การทำบาปนี้ ใหม่ ๆ มันก็ยังละอายเกรงกลัวบ้าง แต่ถ้าทำบ่อย ๆ ทำจนเคยชินมันก็ไม่ละอาย กลายเป็นเห็นดี เห็นงาม เห็นชอบในการที่เราทำไม่ดี ไม่ถูก ไม่ต้อง สุดท้ายเลยกลายว่าเป็นเรื่องปกติไป เพราะมองไปรอบข้างทุกทิศทุกทางมีแต่คนทำไม่ดี ไม่ถูก ไม่ต้อง ถ้าเราไปประมาทนิดหน่อย มันก็เป็นเรื่องมีปัญหา


คนเราชอบประมาทในเรื่องเล็กน้อย ชอบนอนตื่นสาย ไม่บังคับตัวเองตื่นแต่เช้า เมื่อไม่ตื่นเช้า ทำอะไรก็ไม่เต็มที่ ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่เต็มร้อย ทำอะไรรีบ ๆ ร้อน ๆ ขับรถก็ไปแซงหน้าแซงหลัง บ้านก็สกปรก ไม่มีเวลาทำ หุงหาอาหารให้ลูกก็ไม่ทันเวลา เพราะตื่นสาย สมองมันรวนไปหมด


พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราไม่ประมาท ให้เตรียมตัวให้พร้อม อย่าไปนอนดึกแล้วมาตื่นสาย


“เดี๋ยวนี้บรรดาพวกแก่เรียนทั้งหลาย กำลังเป็นโรคนอนดึกแล้วตื่นสาย”


ตอนหัวค่ำพากันเล่นอินเตอร์เนท ดูหนังดูละคร ไม่พากันหลับกันนอน เพราะว่าพากันติด มันติด มันเลยนอนไม่ได้ นอนไม่หลับ มันไม่มีการบังคับตัวเอง


พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาต่อเรา ท่านเห็นว่าเรายังตั้งอยู่ในความประมาท เมื่อถึงเวลานอน ต้องบังคับตัวเองนอน ถึงเวลาตื่นต้องบังคับให้ตัวเองตื่น การทำความดีต้องฝืน ต้องอด ต้องทน ต้องมีความกระตือรือร้น

 


ถ้าเราตกอยู่ในความประมาท ชีวิตของเรามันก็กระท่อนกระแท่น ครอบครัวของเราก็ไม่มีความสุข ไม่มีความอบอุ่น อยู่ที่ทำงานเพื่อนก็ไม่รัก เจ้านายก็ไม่รัก


เรามาอยู่วัดปฏิบัติธรรมต้องตั้งใจให้ดี ตั้งใจไว้ เมื่อเรากลับไปบ้าน เราจะเอาใหม่ ตั้งใจใหม่ ตั้งใจละบาป ละกรรม ละอกุศล ถ้าเราทำอย่างเก่า ปฏิบัติอย่างเก่า ไม่แก้ไขตัวเอง มันจะแย่ไปทุกวัน


เราแก่แล้ว โตแล้ว ก็ไม่มีใครมาสอนเรานะ เพราะเราเลยวัยที่จะต้องให้ผู้อื่นสอนแล้ว


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าตัวเองมีความสามารถนะ ถ้าเราคิดอย่างนี้จะทำให้เราเป็นคนมีทิฐิมานะมาก ทำให้เราเห็นแก่ตัว


ท่านให้เราเอาอย่างเหมือนพระอานนท์...


พระอานนท์เมื่อครั้งที่เขาจะทำสังคายนา หลังจากที่เขาทำสังคายนากัน เขาต่อว่าพระอานนท์ ว่าไม่อาราธนาให้พระพุทธเจ้าอยู่นานถึงหนึ่งกัลป์ ทั้ง ๆ ที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นนัยกับอานนท์ ตั้งหลายครั้ง


เมื่อสงฆ์กล่าวโทษพระอานนท์เช่นนั้น พระอานนท์ก็ขอโทษขออภัย ไม่มีอะไรเถียง ไม่มีอะไรคัดค้าน


ถ้าเราเป็นคนแก้ตัวเก่ง อะไรเก่ง เรานั้นก็ตั้งอยู่ในความประมาท...


สังเกตดูคนที่แก้ตัวเก่งอะไรเก่ง มีเหตุผลเยอะก็เป็นโรคจิตโรคประสาทเยอะ ครอบครัว ก็ไม่มีความสุข ปัญหาก็เยอะ ทำให้มีแต่ยักษ์แต่มารอยู่ในหัวใจ


คนเรานี้ถ้ามาคิดดี พูดดี เปรียบเสมือนมีเทวดามาอยู่ในหัวใจของเรา พระพรหมก็มาอยู่ในหัวใจของเรา หัวใจเรามีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราก็จะเป็นคนงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด


พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาให้เราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ชีวิตของเราจะได้เจริญงอกงามเจริญขึ้น

 


ความประมาทเป็นสิ่งที่ไม่ดี...


อย่างเช่นพระภิกษุ ทุก ๆ ๑๕ วันต้องลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ ถ้าแปลเป็นไทยแล้ว การฟังพระปาฏิโมกข์นี้เป็นคำถามแต่ละข้อว่า ท่านทำผิดข้อนี้ไหมเพื่อที่จะได้แก้ไข เพื่อตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

 


คนเรานี้ต้องแก้ไขตัวเองให้ดี ให้เจริญขึ้นทุก ๆ วัน


ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าท่านให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท กลับมาแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง มันยังไม่สาย ที่มันสายเพราะเรามันเรามันนอนตื่นสาย


วันนี้ก็ให้มันแล้ว ๆ ไป ให้เราตั้งใจใหม่ มากตัญญูกตเวทีต่อตัวเอง ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ประเสริฐแล้ว มนุษย์นี้ถือว่าเป็นบุคคลที่ประเสริฐ

“ธรรมะเรื่องการกตัญญูกตเวที คือธรรมะที่กลับมาหาตัวเอง เป็นธรรมะที่ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมะของคนดี”


ให้เรามาเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าทุกท่านทุกคนยังอ่อนแออยู่ ยังไม่เข้มแข็ง ต้องเพิ่มให้มากกว่านี้...

 

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 487783เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 05:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท