หมออนามัย องค์กรชุมชน


หมออนามัย องค์กรชุมชน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

 

องค์กรชุมชน  องค์กรชุมชนทั้งระดับชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน จะเป็นกลไกหลักในการทำงานและการจัดการ ทั้งนี้เพราะชุมชนเป็นเจ้าของปัญหาและรู้ความต้องการของตนเอง และมีพลังอย่างหลากหลายเช่นการออมทรัพย์ช่างชุมชน  
 องค์กรชุมชน คือ การรวมตัวกันของคนในชุมชนที่ต่างคนต่างอยู่แต่มารวมกันบนฐานปัญหาร่วมกัน  ก่อเกิดการค้นหาคิดค้นวิธีการในการแก้ไขและจัดการ  โดยในการรวมตัวกันนั้นต้องมีกระบวนการจัดการให้ผู้คนหรือสมาชิกนั้นๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม และมีส่วนร่วม  เกิดความตระหนักร่วมยึดเหนี่ยวและรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน  เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างลุล่วง

บทบาทหน้าที่  มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการจัดการตนเองโดยเป็นความต้องการของชุมชน   ที่ต้องการจัดการตนเองให้สัมพันธ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่  ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่  ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาและการจัดการจึงต้องเกิดจากฐานชุมชน  ไม่ได้เกิดจากกลไกของรัฐมาทำให้การจัดการใดๆ   ที่เกี่ยวพันกับชีวิตจึงต้องมีชุมชนเป็นแกนหลัก  มีชาวบ้านเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น

องค์กรชุมชน ประกอบด้วย กลุ่มต่างๆในชุมชนที่มีการรวมตัวมีกิจกรรมเคลื่อนไหวมีสมาชิกเข้าร่วม คณะทำงานหรือคณะกรรมการองค์กรชุมชน คณะทำงานกลุ่มย่อยหรือคณะกรรมการกลุ่มคณะกรรมการโซน สมาชิกที่มีส่วนร่วม

กระบวนการเตรียมตัวในการทำงานขององค์กรชุมชน

   - สำรวจรวบรวมและจัดระบบข้อมูล (ทั้งภายในและภายนอกองค์กรหน่วยงานต่างๆ)
   - สำรวจคนทำงาน/ครอบครัวผู้เดือดร้อนข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ
   - สำรวจที่ดิน  ขนาดที่ดิน  ผังเมือง  แผนที่ทางอากาศ  ที่ตั้งชุมชน  ขอบเขตที่ดินทั้งเก่าและใหม่ที่มี(อยู่ในพื้นที่แก้ไขปัญหาและศึกษาระเบียบของเจ้าของที่ดิน)
   - การรวมกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้มีเป้าหมายทิศทางแผนการดำเนินงานร่วมกัน
   - สร้างความเข้าใจกระตุ้นให้เห็นความสำคัญให้เกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง
   - ชุมชนจัดบทบาทการทำงาน/การแบ่งกลุ่มย่อยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างมีส่วนร่วม
   - การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย
   - ตั้งคณะทำงานชุมชนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น  หน่วยงานภาคีในชุมชน (คณะกรรมการชุมชน)
   - จัดทำผังเก่า/ผังใหม่/ออกแบบระบบสาธารณูปโภค/ออกแบบบ้านและจัดผังชุมชนร่วมกับท้องถิ่น
   - วิเคราะห์แยกประเภทผู้เดือดร้อน/การพิจารณาและรับรองสิทธิ (รายชื่อผู้รับผลประโยชน์)
   - เตรียมเอกสารเพื่อเสนอโครงการในการขอใช้ที่ดิน(แต่ละประเภทของที่ดิน)
   - การดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์ (นิติบุคคล) เพื่อทำสัญญาเช่า

การขับเคลื่อนกลไกชุมชน

   - เป็นการสร้างและยกระดับชุมชน ตามขบวนการของบ้านมั่นคง โดยมีรูปธรรม กาเปลี่ยนแปลงอย่างบ้านมั่นคงที่ชุมชนลงมือจัดการเอง
   - จากรูปธรรมความสำเร็จต่างๆ   ทำให้ชุมชน มีสถานภาพและฐานะทางสังคมที่ได้รับการยอมรับมีที่อยู่ที่ยืนทางสังคม   ก่อเกิดเวทีการขยายผลที่ทำให้เกิดการร่วมมือเชื่อมร้อย เครือข่ายเชื่อมร้อยหน่วยงาน   เชื่อมกับท้องถิ่นก่อเกิดพลังในการทำงานในระดับที่สูงขึ้น
   - เกิดการขยับจากเรื่องบ้านสู่กระบวนการวางแผนร่วมกัน  เพื่อจัดการชุมชนทั้งระบบอย่างรอบด้าน เราไม่ได้ทำแค่เรื่องบ้านเท่านั้น แต่เราจะร่วมกันวางแผนจัดการทั้งชีวิต

การแก้ไขปัญหาทั้งชุมชน  เหตุผลและความจำเป็น

   - ชุมชนสามารถกำหนดรูปแบบการแก้ปัญหาได้หลากหลาย  เช่น  สามารถแก้ไขทั้งที่เดิมและที่ใหม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ  คือเหตุผลท้องถิ่นผู้อยู่และความคุ้มทุน
   - ใช้ปริมาณเป็นพลังในการต่อรองกับหน่วยงานรัฐ  เช่น  กรมที่ดินกรมธนารักษ์รวมถึงสามารถผลักดันสู่ระดับนโยบายได้
   - เชื่อมโยงสู่การสร้างเครือข่ายชาวบ้านโดยใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือ
   - เป็นการเติมเต็มกันระหว่างช่องว่างของชุมชนและท้องถิ่น
   - เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาและการดำเนินงานอย่างเป็น  พลวัตร
   - การแก้ไขปัญหาชุมชนไม่สามารถแก้ไขได้ถ้าทำเพียงชุมชนเดียวจะไม่มีเพื่อนในการร่วมต่อสู้ต้องรวมกลุ่มกันและพัฒนาทั้งเมือง
   - ภาคีกรรมการเมืองต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน   และหลากหลายเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาเมืองทั้งระบบไม่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง
   - การแก้ไขปัญหาทั้งชุมชน จะทำให้คนในชุมชนรวมพลังร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหาทั้งหมดการทำงานวางอยู่บนแนวคิดการได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
   - การพัฒนาท้องถิ่นควรมองให้เป็นระบบและมองระยะยาวไม่ควรมองเป็นบุคคล  

เป้าหมายสำคัญของชุมชน

เป้าหมายทางสังคม มุ่งสร้างทุนทางสังคมโดยอาศัยการพัฒนาการเรียนรู้จัดสวัสดิการชุมชนการพัฒนาคนรุ่นใหม่และศูนย์เรียนรู้ชุมชน

เป้าหมายทางเศรษฐกิจ มุ่งพัฒนาศักยภาพในระดับครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

เป้าหมายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม การสร้างชุมชนภาคพลเมืองบนฐานความร่วมมือหลายฝ่าย  ภาคประชาชน ความร่วมมือชุมชน องค์กรท้องถิ่น 

 

กระบวนการ ประชุมชุมชนที่มีปัญหาทั้งหมด สำรวจข้อมูล จัดระดับความสำคัญของปัญหาชุมชน
วางแผนการแก้ปัญหาตามลำดับความเร่งด่วนของปัญหา จัดบทบาทของคณะกรรมการชุมชนโดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้งแล้ววางบทบาทที่สอดคล้องกับ

ปัญหา
   - เอาปัญหาทั้งหมดเสนอกับนายกองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อเข้าสู่สภาแล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาตัวอย่างเช่นใช้คลองในการแก้ไขปัญหาแล้วเชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาทั้งระบบ 

องค์กรชุมชน  คือส่วนสำคัญ หากองค์กรชุมชนเข้มแข็งชัดเจนเกาะเกี่ยวรวมกันเป็นขบวนที่ชัดเจนเห็นปัญหามีเป้าหมายความร่วมมือจากภาคีท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องยากและสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและแก้ไขปัญหาต่างๆโดยเอาฐานล่างเป็นตัวตั้งเป็นตัวขับเคลื่อนงานพัฒนาจัดการโดยชุมชนเป็นแกน

หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนระดับกลไกชุมชน  การขับเคลื่อนกลไกชุมชนคือกระบวนการทำงานของชุมชนที่ชาวบ้านเดินร่วมกัน

   - เป็นการทำงานที่เชื่อมโยงคนกลุ่มหน่วยงานและศักยภาพที่หลากหลายเพื่อร่วมกันวางแผนและดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
   - เห็นเป้าร่วมกันทำแล้วต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการวางแผนร่วมกันของทั้งชุมชนทำให้ชุมชนสามารถกำหนดและจัดวางแผนของชุมชนอย่างสอดคล้องกับแผน ของชุมชนสามารถกำหนดทิศทางในการจัดการชีวิตตัวเองและชุมชนได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามแผนของชุมชน
   - ไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการขยายผล
   - ยกระดับพัฒนาและสร้างการเรียนรู้ของคณะกรรมการสมาชิกที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาสุขภาพและอนามัย ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามเศรษฐกิจและสังคมที่มี

ความสลับซับซ้อนมากขึ้น ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพ  เสี่ยงสูง ขึ้น มีแนวโน้มการตายจากโรคไม่ติดต่อสูงขึ้น เกิดภาวะเครียด ปัญหาสุขภาพจิต โรคจากปัญหาอาชีวอนามัยสิ่งแวดล้อม โรคอุบัติใหม่ และโรคติดต่อร้ายแรง พบว่าการให้บริการสุขภาพของ  หมออนามัย ด้วยรูปแบบการปฏิบัติงานแบบเดิม ๆ ถือเป็นการตั้งรับ ปล่อยให้เจ็บป่วยแล้วค่อยมารักษา เป็นระบบการให้บริการ

รูปแบบเดียวกันทุกที่ ไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เป็นการให้บริการที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงการให้ บริการสุขภาพ ที่ปรับเปลี่ยนจากการตั้งรับมาเป็น

เชิงรุก เดินหน้าเข้าหาเพื่อแก้ไขปัญหารวมทั้งมีทัศนะต่อสุขภาพและความเจ็บป่วย โดยเน้นการส่งเสริมและป้องกันโรคมากกว่าการรักษาหรือซ่อมสุขภาพ บนฐานความเชื่อที่ว่าการเจ็บป่วยเกิดจากเหตุปัจจัยที่หลากหลายทั้งจากคนและจากปัจจัยที่อาจเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่าง ๆ   ภายในร่างกายเอง ทั้งด้านจิตใจ จิตวิญญาณ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดล้วนเป็นหลักคิดที่หมออนามัยได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานโดยมีเป้าหมายคือ ประชาชนมีสุขภาพดี บทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมาของ หมออนามัย ได้มีการค้นพบว่างานพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชน เป็นการทำงานที่ยึดแนวนโยบายของรัฐบาลด้วยระบบการทำงานที่มีการสั่งการ มีตัวชี้วัดด้วยข้อจำกัดทางนโยบายที่เร่งวัดผลงานเชิงปริมาณตามตัวที่วัดที่กำหนดไว้ ทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ กันทุกปี เหมือนไม่มีวันจบ ยิ่งทำงานมากยิ่งหาความสุขจากการทำงานไม่ได้แม้ตั้งใจทำงานก็เหมือนเดินเข้าหาทางตัน รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่ายการทำงานตาม นโยบาย หรือ การสั่งการ จากคนนอกอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์กับสังคมหรือชุมชน ไม่สามารถทำให้ชุมชนจัดการดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างแท้จริง ประชาชนได้ประโยชน์น้อยมาก แต่ละชุมชนย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย และมีฐานที่แตกต่างกันการนำนโยบายจากส่วนกลางลงสู่การปฏิบัติ โดยใช้นโยบาย ปูพรม ทำเหมือนกันในทุก ๆพื้นที่ย่อมไม่ได้ผล เราจึงจำเป็นต้องหาแนวทางการทำงาน หาทิศทาง และหาเป้าหมายการทำงานใหม่ด้วยตัวของเราเอง ชุมชนมีสิ่งของดี ๆ และความคิดดี ๆ ไม่ได้มีแต่ปัญหา หรือส่วนขาดที่ต้องการแก้ไข แต่ทุกชุมชนมีของดีมีศักยภาพของชุมชนเอง หมออนามัยไม่ได้รู้ไม่ได้เก่งไปทุกอย่างเป็นเพียงเครื่องมือของชุมชนที่เข้าไปช่วยให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการชุมชนของเขาเอง ภายใต้บริบทของเขาเอง ชุมชนเป็นครูและเป็นแหล่งเรียนรู้ของเรา นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่าจากการมองปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา    ไม่ต่ำกว่า 4 - 5 ปี ปัญหาที่พบ คือชุมชนขาดความสนใจปกป้องบ้านตนเอง ชาวบ้านไม่รู้จักตัวเอง รู้แต่เรื่องไกลตัว ขาดการมีส่วนร่วม จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมคิด และกำหนดนโยบายของตนเองได้ คิดเพื่อบ้านตนเองได้ต้องมีเอกภาพไม่ใช่เปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐ ซึ่งเปลี่ยนไปตามนโยบายของพรรคการเมือง ทำอย่างไรจึงจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้ อีกจุดหนึ่งคือ รัฐมีแผน ท้องถิ่นมีแผน แล้วชาวบ้านทำไมถึงจะมีแผนเป็นของตัวเองไม่ได้ ในเมื่อบ้านก็เป็นบ้านของตนเองสำหรับวิธีทำแผนเริ่มต้นจากกระดาษเพียงแผ่นเดียวให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหาของบ้านตน ปัญหาของชุมชน กระบวนการนี้ถือเป็นส่วนร่วมของชุมชน และถือว่ารวมใจของคนในหมู่บ้านและสนองตอบปัญหาของชุมชนได้ ในการทำแผนจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนเรียกว่าปัญหาในหมู่บ้านมีอะไรบ้าง เรื่องรายรับรายจ่าย หนี้สินครัวเรือนต่าง ๆ กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นทุนทางสังคมรวบรวมแล้วเปิดเวทีอีกครั้งให้ชาวบ้านรู้สภาพที่แท้จริงของบ้านตน ชุมชนของตน เอาข้อมูลที่ได้ทำเป็นตาราง และให้ชาวบ้านมาระดมช่วยกันคิดหาสาเหตุของปัญหา หาแนวทางแก้ไข จนไปสู่การยกร่างแผน ซึ่งก่อนจัดทำแผนอาจจะพาแกนนำไปดูชุมชนต้นแบบในสภาพที่ใกล้เคียงกับปัญหาของชุมชน เพื่อดูว่าเขาแก้ปัญหากันอย่างไร เป้าหมายหลักของการทำแผนคือต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ว่า อนาคตของชุมชนต้องพัฒนาและส่งเสริมไปด้วยตนเองหมออนามัยกับการสร้างนโยบายสาธารณะท้องถิ่น ได้มีการจัดทำข้อ-เสนอแนะต่อนโยบายสาธารณะไว้ 3 ประการด้วยกันคือ

1. สนับสนุนให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆด้านการสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่

2. ให้มีการขยายผลนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่

3. ผลักดันให้มีหลักสูตรท้องถิ่นที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านนำเข้าสู่ระบบการศึกษา    โดยมีเงื่อนไขความสำเร็จอยู่ 6 ข้อคือ

1. เกิดภาพพจน์การทำงานเชิง-บูรณาการในพื้นที่

2. ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำและบูรณาการแผนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 3. มีเวทีประชาชนเพื่อการแลกเปลี่ยน-เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

4. ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้น

5. มีการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและจุดแข็งในพื้นที่มาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม

6. ค้นพบคนที่มีใจอาสาเพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องมี

แนวทางขับเคลื่อนงานที่เป็นเอกภาพ คือ องค์กรภาครัฐ เอกชน หมออนามัยท้องถิ่น ชุมชน ร่วมกันจัดทำเป็นสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ ตามด้วยการเปิดเวทีสาธารณะ คือ จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายธรรมนูญสุขภาพเพื่อกำหนดข้อตกลงในการจัดทำแผนงาน โครงการและการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งหมดนี้จะถูกนำเสนอให้ผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้ใช้เป็นแนวทางในการ

พัฒนาสุขภาวะ และกำหนดทิศทางสุขภาพเพื่อสร้างสุขที่ยั่งยืนให้คนไทย ทั้งประเทศต่อไปฐานคิดการทำงานชุมชนของหมออนามัยกับการสร้างนโยบายสาธารณะท้องถิ่นทำให้เกิดบทเรียนร่วมกันภายในของชุมชนที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนด้วยท่าทีการทำงานของหมออนามัยที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือจากการบอกแจ้งให้ทราบ สั่งให้ทำมาเป็น จุดประกาย ตั้งคำถามตั้งโจทย์ สมมติปัญหา โยนประเด็น กระตุ้น ปลุกเร้า ให้ชุมชนช่วยกันตอบโจทย์ต้องช่วยกันคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองยึดหลักการผสมผสานสิ่งที่ดี ๆ นำนโยบายของรัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์เรียกว่าทำให้ชุมชนรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และจัดการตัวเองให้เป็นโดยยึดหลักการสำคัญในการทำงานร่วมกันคือ การให้ชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง หมออนามัยเป็นเพียงผู้ประสาน กระตุ้นให้เกิดการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน มีเวทีการพูดคุยหาต้นตอสาเหตุของปัญหา แนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวชุมชนเอง หมออนามัยเป็นเพียงคนนอกมีหน้าที่คอยประสานและสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ อำนวยความสะดวกและจัดกระบวนการให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เรื่องของชุมชนบ้านของเขาเองผลลัพธ์สุดท้ายที่ชุมชนจะได้รับ คือ ความสุขแบบพอดีตามวิถีพอเพียงของชุมชนนั้น ๆ และเป็นความสุขในนิยามของชุมชนเองเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่จับต้องได้ ไม่ใช่ความสุขที่คิดคาดเดา แล้วกำหนดมาเป็นตัวชี้วัดจากคนข้างนอก

 

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 487533เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท