ธุรกิจการศึกษา


ธุรกิจการศึกษา

ติวเตอร์ (ธุรกิจ)สถานที่เรียนพิเศษเด็กไทยในยุคโลกาภิวัตน์

 

                                                                                                                                         ชุติมา  เมฆวัน

 

บทความชิ้นนี้มุ่งหวังสะท้อนปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในมุมมองบางมุม และหวังสร้างการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งคงสามารถเปิดบางมุมของสังคมที่ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจนได้  อีกทั้งผู้เขียนยังหวังด้วยว่าบทความชิ้นนี้น่าจะเข้าถึงส่วนเสี้ยวของความจริงที่อยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้ และร่วมไตร่ตรอง  และตระหนักกับสถานการณ์ของการศึกษาไทยที่นับวันจะกลายเป็นธุรกิจที่เกิดการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายมากขึ้น

ธุรกิจ  มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า การงานประจําที่เกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สําคัญ และที่ไม่ใช่ราชการ; (กฎ) การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรมการบริการ หรือกิจการอย่างอื่นเป็นการค้า

ส่วนศึกษา  ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542     มีความหมายคือการเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม

แต่ปัจจุบันคำสองคำนี้มีความผูกโยงกันจนแทบแยกกันไม่ออก  เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย  การศึกษาเพื่อความรู้หรือเพื่อความเก่งถึงต้องจ่ายมากมายกว่าจะได้มา

                ธุรกิจการศึกษา  หรือติวเตอร์สถานที่เรียนพิเศษในปัจจุบันถูกเปิดขึ้นอย่างมากมายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  เพื่อตอบสนองค่านิยมส่งลูกหลานเข้าเรียนพิเศษทั้งช่วงปิดเทอม  หลังเลิกเรียน หรือเสาร์อาทิตย์   เพื่อความเก่ง  (แม้ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายแสนแพงที่เพิ่มขึ้น ) พ่อแม่หรือผู้ปกครองบางคนส่งลูกเรียนพิเศษตั้งแต่อยู่อนุบาล

จริงหรือที่การเรียนในระบบโรงเรียนไม่เพียงพอกับความรู้  หรือแค่ไม่เพียงพอกับการแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง   ธุรกิจการศึกษาจึงเกิดขึ้นมากมายในยุคปัจจุบันทั้งสถานที่เรียนพิเศษ  สถานที่ติวเตอร์ ที่ต้องจ่ายสตางค์เพื่อให้ได้มาแม้เอกสารสักแผ่น  ทั้งที่อดีตการศึกษาของไทยจัดแค่ในวัด  แหล่งที่สอนให้คนได้ทั้งความรู้  และความดี  ซึ่งแทบไม่มีค่าใช้จ่าย  แต่สามารถสร้างคนที่มีความรู้  ความดี  และมีภูมิปัญญาให้คนรุ่นหลังให้ระลึกถึงจวบจนปัจจุบัน  

นโยบายเรียนฟรี  15  ปีของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนจึงสวนทางกับค่านิยมการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งที่โรงเรียนในระบบมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกบทิศทางและนโยบายทางการศึกษาของชาติโดยจัดการศึกษาในวันและเวลาราชการและในโรงเรียนบางแห่งยังมีการจัดสอนเสริมให้กับนักเรียนอยู่แล้ว  แต่ที่เรียนพิเศษ   สถานที่ติวเตอร์  ที่ทำธุรกิจการศึกษาก็ยังสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

จากข้อมูลในwww.bangkokbiznews.com (ค้นเมื่อ 10  มกราคม  2553) ที่สะท้อนให้เห็นจำนวนของสถานที่เรียนพิเศษหรือสถานที่ติวเตอร์ ที่มีในจังหวัดขอนแก่นนับ 100 แห่ง ซึ่งนับว่ามีเป็นจำนวนมากโดยในช่วงซัมเมอร์ จากยอดคาดการณ์พบว่าน่าจะมีนักเรียนไม่น้อยกว่า 10,000 มาเข้าเรียนพิเศษหรือติวเตอร์ ซึ่งแต่ละคนน่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท/คนซึ่งในช่วงดังกล่าวคาดจะมียอดเงินสะพัดกว่า 100 ล้าน เลยทีเดียว 

จากข้อมูลดังกล่าวเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นยอดเงินที่มากมายทีเดียว  ปรากฏการณ์เหล่านี้คงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นค่านิยมทางการศึกษาของผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี  และคำถามบางคำถามที่สะท้อนค่านิยมทางการศึกษาของผู้ปกครอง เช่น ปีนี้สอบได้ที่เท่าใหร่ ?  สอบได้คะแนนเกรดไหน?   ซึ่งคำถามเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อลูกหลาน  ผู้ถูกปลูกฝังให้แก่งแย่ง  แข่งขันความรู้เพื่อความเก่งมาตั้งแต่ต้น  แม้ว่าทิศทาง  หรือนโยบายทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาประเทศไทย  ฉบับปัจจุบันจะมีแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคน  ให้เก่ง  ดี  มีสุข  แต่ค่านิยมทางการศึกษาในปัจจุบันกลับสวนทางเด็กเก่งถึงสอบเรียนต่อในโรงเรียนชื่อดังได้  คนเก่งถึงจะได้สอบทำงานดีๆได้  เด็กเก่งถึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต  คำเหล่านี้เป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดกรอกหูเด็กมาโดยตลอด  ทั้งที่สภาพปัญหาในปัจจุบันเรากลับพบว่าเด็กเก่งเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเอาตัวรอดได้ หนำซ้ำบางทีเด็กเก่งกลับสร้างปัญหาและภาระให้สังคมด้วยซ้ำ  เด็กเก่งหลายคนไม่สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ได้  ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  เขาถูกปลูกฝังให้ต้องเป็นที่หนึ่ง  ต้องแข่งขัน  ลบลืมการแบ่งปัน  เด็กเก่งจึงฆ่าตัวตายเมื่อพ่ายแพ้  ให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งให้เราพบเห็นกันอยู่เนื่องๆ 

ค่านิยมการศึกษาของไทยในปัจจุบันมาถูกทางแล้วเหรอ  เรามองเป้าหมายของการศึกษาไปในทิศทางใด  มองการศึกษาเพื่อพัฒนาคน  หรือแค่สร้างคนให้เป็นคนเก่ง  แต่เอารัดเอาเปรียบ  และแก่งแย่ง  แข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง   หรือเรามองการศึกษาเป็นเครื่องชี้นำทางในการสร้างและพัฒนาคน เพื่อมาช่วยกันสร้างชาติ  และไม่สร้างภาระให้สังคม

คำสำคัญ (Tags): #ธุรกิจการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 487458เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ค่านิยมสังคมที่มุ่งทางวัตถุคงยากที่จะไม่แข่งขันเรื่องวัตถุ จึงต้องหาความร่ำรวยแข่งกัน หากเปลี่ยนค่านิยมนี้ไม่ได้ การศึกษาก็คงเป็นแบบนี้ต่อไป

ออกเป็นกฎหมายบังคับเลย เกี่ยวกับการศึกษา ให้เด็ก/เยาวชน เรียนในพื้นที่ภูมิลำเนา จนกว่าจะจบการศึกษาชั้นสูงสุดในพื้นที่นั้นๆ ค่อยไปเรียนต่อที่อื่นได้ และ เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา/โรงเรียนเอกชนต่างๆทั้งหมด รวมทั้งผู้สอนพิเศษด้วย  อีกทั้งปลูกสร้างค่านิยมให้แก่ลูกหลานเยาวชน ให้เดินทางสู่บั้นปลายชีวิต ด้วยความเป็นจริงของชีวิต ไม่ใช่สร้างภาพส่งเสริมคุณค่าทางวัตถุมากกว่า จริยธรรมในใจ  อย่างน้อย การบังคับใช้กฎหมาย น่าจะช่วยได้มาก 

ออกเป็นกฎหมายบังคับเลย เกี่ยวกับการศึกษา ให้เด็ก/เยาวชน เรียนในพื้นที่ภูมิลำเนา จนกว่าจะจบการศึกษาชั้นสูงสุดในพื้นที่นั้นๆ ค่อยไปเรียนต่อที่อื่นได้ และ เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา/โรงเรียนเอกชนต่างๆทั้งหมด รวมทั้งผู้สอนพิเศษด้วย  อีกทั้งปลูกสร้างค่านิยมให้แก่ลูกหลานเยาวชน ให้เดินทางสู่บั้นปลายชีวิต ด้วยความเป็นจริงของชีวิต ไม่ใช่สร้างภาพส่งเสริมคุณค่าทางวัตถุมากกว่า จริยธรรมในใจ  อย่างน้อย การบังคับใช้กฎหมาย น่าจะช่วยได้มาก 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท