สัมมาปฏิปทา... (๑/๒)


พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ให้เรายึดมั่นถือมั่นปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติ

เปรียบเสมือนเราจะข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร เราจะข้ามวัฏฏะสงสารก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมียานมีข้อวัตรข้อปฏิบัติ ถ้าเราจะข้ามมหาสมุทร ถ้าเราจะไปปล่อยเรือ เราก็จมน้ำตาย เราจะไปว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ได้ การที่เราจะไป พระนิพพาน เราจะต้องมีข้อวัตรปฏิบัติที่ขลังศักดิ์สิทธิ์ มันจะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทุกท่านทุกคนตั้งใจประพฤติปฏิบัติกัน

 


ยกตัวอย่างเช่นเราเดินทางไกลกลับมาเหนื่อย ๆ แล้วก็ปล่อยวางไม่ทำข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์บอกว่า เราทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย ไม่ถูกต้อง มันชอบอ่อนแอ ชอบตามใจตนเองคนเรานี่
ต่อจากนี้ไป เราก็ต้องพยายาม ถ้าไม่พยายามไม่ได้ ที่ผ่านมาหลายปี ก็รู้ว่าตัวเองว่ายังไม่ขลังไม่ศักดิ์ ไม่สิทธิ์ ชอบตามใจ ชอบฟรีสไตล์ มันฉลาดจริง มันเก่งจริง แต่ว่ามันยังใช้ไม่ได้นะ ทีแรกก็คิดว่าตัวเองฉลาด คิดว่าสัมมาปฏิปทา ทางสายกลาง แต่คิดไปคิดมาแล้ว มันไม่ใช่สายกลาง มันต้องแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง


ตอนเช้าตีสามมันยังอ่อนแอ ยังง่อนแง่นคลอนแคลน มันยังไม่สู้ ยังไม่ปรับปรุงตัวเอง เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มันยังเป็นคนขี้ขลาด มันยังเป็นคนกลัวอยู่มาก อยากเจริญ อยากก้าวหน้า แต่ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ มันเก่ง มันหลีกเลี่ยงแก้ตัวเก่ง มันฉลาดมาก มันมารยาสาไถย พระพุทธเจ้าบอกเรา ข้อวัตรปฏิบัตินี่เป็นสิ่งที่สำคัญ


ท่านอย่าเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเรารักตนเอง เมตตาตนเอง ต้องทำข้อวัตรปฏิบัติเข้มแข็ง...


พระพุทธเจ้าท่านรักเรา เมตตาเรา สงสารเรา เห็นเราเหน็ดเราเหนื่อยในการสู้ทนทำความเพียร ในการประพฤติปฏิบัติ


การปฏิบัติมันยากมันลำบาก แต่ด้วยเหตุจำเป็น สิ่งที่ยากลำบากมากกว่านั้นก็คือ “การเวียนว่าย ตายเกิดในวัฏฏะสงสาร” ท่านจึงเมตตาสงสารพวกเรา ถึงจะเหน็ดถึงจะเหนื่อยก็พากันประพฤติปฏิบัติ


เมื่อพระพุทธเจ้าเมตตาเรา เราก็ต้องเมตตาเราเอง ทุกท่านทุกคนให้เพิ่มความหนักแน่น ความเข้มแข็งให้กับตนเอง ให้กับปฏิปทาของตัวเอง “การปฏิบัติมันไม่ใช่ของง่าย มันไม่ใช่ของกล้วย ๆ มันต้อง แลกด้วยชีวิต...”

 

 


ทำความดีมันต้องแลกด้วยชีวิต ทำไมถึงว่าอย่างนั้น...?


ก็เพราะเราต้องสู้ ต้องอด ต้องทน ต้องบากบั่น ถ้ามันจะตาย ก็ให้มันตายด้วยการทำความดี อย่าให้ตัวเองต้องติเตียนตนเองว่า ตัวเองนี้มันแย่ แค่นี้ก็ยังไม่ออกไปนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ ให้มันตายไปเลย “ตายในการทำความดี...”


อย่าถืออภิสิทธิ์ว่าตัวเองเดินทางไกล อย่าไปถืออภิสิทธิ์ว่าตัวเองทำงานสงฆ์ ทำกิจสงฆ์ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะได้อย่างหนึ่ง มันก็เสียอีกอย่างหนึ่ง


ความเคยชินที่พวกเราและท่านปฏิบัติมา แสดงว่ามันอ่อนแอ แสดงว่ามันไม่รอบคอบ มันเลยจะไป ในร่องเก่า ไปในทางเก่า แม้แต่ถืออภิสิทธิ์ว่าเรานี้มันบวชมาหลายพรรษา มันทำมามากแล้วก็ต้องให้โอกาสผมบ้าง “ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี่มันไม่ได้ให้โอกาสเราหรอกนะ...”


ครูบาอาจารย์ให้เราถือขลัง ให้ศักดิ์ให้สิทธิ์ในเรื่องอย่างนี้ จะแสดงถึงความแข็งแรงแข็งแกร่ง เป็นหลักเป็นเกณฑ์ให้พระรุ่นน้อง หรือผู้บวชมาภายหลังว่า พระเค้าไม่อ่อนแอกันเน๊อะ เค้าไม่ขี้เกียจ ไม่เอาสิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้มาเป็นที่อ้าง


คนที่ฉลาดมันบกพร่องในส่วนนี้ มันมีปัญหาในส่วนนี้ มันมีเหตุมีผล ที่แท้จริงงานนี้เราแพ้เสียแล้ว เราเสียรู้มาตั้งหลายปีแล้ว เอาชีวิตถวายต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระสงฆ์ อย่าได้ติดสุขติดสบาย อย่าได้พากันหลง มันจะได้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเราพากันหลง หลงทางมันเสียเวลา “ทุก ๆ ท่านทุก ๆ คน ต้องผ่านในเรื่องนี้ ความผิดพลาดก็ถือว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเรา ถ้ามันไม่โง่ มันก็ไม่ได้ฉลาด…”


พระพุทธเจ้าท่านให้เราลงรายละเอียดทางจิตทางใจ เราอย่าไปคิดว่าเราแย่แล้ว เราตายแน่ “มันจะไปพระนิพพานหรือว่ามาทำทุกกรกิริยากันแน่เนี่ย..”


ความคิดอย่างนี้แสดงว่าอาการของจิตของใจเรามันอ่อนแอ เมื่อร่างกายของเรามันไม่สบาย เราต้องทำใจของเราสบาย เราพยายามมาแก้ที่จิตที่ใจของเรา


เราแก้อย่างไร? ก็ต้องแก้ที่ใจของเรา ที่มันทุกข์มันยาก มันลำบากเพราะใจของเรามันฝืน เพราะใจของเรามันต่อต้าน เพราะมันไม่พอใจ มันเคยบริโภคแต่อารมณ์ทางโลกียะ บริโภคแต่อารมณ์ ของสวรรค์ เมื่อจะให้มันบริโภคอารมณ์ของพระนิพพานคือสิ่งที่ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ คือจิตคือใจที่มีแต่ความสงบ ไม่ปรุงแต่ง ไม่วุ่นวาย “ถ้าเราเอาแต่ความสุข ทางเนื้อทางหนัง ทางอยู่ทางกินนี้ล่ะก็ มันไม่ใช่ที่สุดแห่งกองทุกข์...”


เราเดินจงกรมทั้งวัน ถ้าเราไม่ปรุงแต่งเราจะทุกข์มั๊ย? เราก็ไม่ทุกข์


เรานั่งสมาธิทั้งวัน ถ้าเราไม่ปรุงแต่งเราจะทุกข์มั๊ย? มันไม่ทุกข์




มันมีแต่ความสงบ มันมีแต่ความดับทุกข์ ถ้ามันเจ็บมันก็แค่ตาย ให้เรารู้จักรู้แจ้ง ยอมรับสภาพ ตามความเป็นจริง เราไม่ต่อต้าน ไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งนั้น ความทุกข์จะมาจากไหน? ลักษณะความคิดแบบนี้ทำให้ตัวเองเกิดสัมมาทิฐิ เกิดความฉลาด


สักกยทิฐิคือการถือตัวถือตนของเรานี้มันมีมาก พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาร่างกายของเราเยอะ ๆ มาก ๆ แยกออกเป็นชิ้น ๆ เหมือนอะไหล่รถยนต์จนหมด แล้วก็ประกอบใหม่ นักปฏิบัติต้องทำอย่างนี้บ่อย ๆ ทำทุกวัน มันจะได้บรรเทาทิฐิมานะ อัตตาตัวตน พยายามฝึกปล่อยฝึกวางสลับกันไปนะ


เราทำอย่างนี้ดูเหมือนจะไม่ได้อะไร ไม่เกิดประโยชน์ แต่การประพฤติปฏิบัติแบบนี้มันเกิดสาระมาก เกิดประโยชน์มาก ทำไปเรื่อย ๆ ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องใจร้อน มันต้องอาศัยระยะเวลาเพื่ออบรม บ่มอินทรีย์บารมีของเราให้แก่กล้า เราปฏิบัติของเราไปเรื่อย ๆ ใครจะรู้ใครจะเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร


การให้สติเรื่องความอ่อนแอที่จะได้ปรับปรุงปฏิปทาที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ได้มอบหมาย ให้มาบรรยายนี้ดีมาก เรื่องปฏิปทานี้สำคัญ พระรูปไหน เณรรูปไหน โยมคนใดที่จะก้าวหน้านั้นชี้ขาด ได้เลยว่า “ปฏิปทา” ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เป็นพระอริยเจ้า ก็ขึ้นอยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติ ขึ้นอยู่ที่ปฏิปทา


เราก็ดูหลาย ๆ ท่าน หลาย ๆ องค์ น่าจะไปได้ดี น่าจะโด่งดัง แต่มีความประมาท ย่อหย่อน อ่อนแอ อนุโลมปฏิโลมให้กับธาตุกับขันธ์ ให้กับญาติกับโยม ก็เลยประพฤติปฏิบัติไม่ถึงจุดหมายปลายทางซักที ไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ตัวเองตั้งไว้ ที่ตัวเองคิดไว้


พระพุทธเจ้าท่านไม่ประมาท ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านไม่ประมาทท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์ ท่านไม่มีอ่อนแอเลยนะ แม้แต่วาระจิตก็ไม่รู้สึกอ่อนแอหวั่นไหวเลย


นักปฏิบัติทุกท่านทุกคนต้องมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว อย่าไปสนใจความสุขในสวรรค์ ความสุขทางเนื้อหนัง ความสุขในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความเอร็ดอร่อย ความสุขในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสิ่งนี้มันอันตราย มันอร่อยมากแต่ว่าสิ่งนี้มันอันตรายมาก “นักปฏิบัติของเราถ้ามาติดสุขติดสบายนี้มันแย่มาก มันใช้ไม่ได้...”


หนทางสายนี้ทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คนต้องผ่าน แล้วก็ต้องผ่านได้ ต้องอาศัยความอด ความทน ความพาก ความเพียร ความตั้งมั่นใจปฏิปทาของเรา หนทางอื่นไม่มี มันมีทางนี้ทางเดียว


“เอโก มรรคโค” มรรคคือข้อปฏิบัติ ท่านจะไปพระนิพพาน ถ้าท่านไม่ละ ถ้าท่านไม่ปล่อย ถ้าท่านไม่วาง ใครจะมาละ ใครจะมาปล่อย มาวางให้ท่าน 
ท่านจะหนีไปไม่ได้นะ ท่านคิดว่าจะหนีไปได้เหรอ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ท่านจะหนีไม่ได้ เมื่อเราหนีไม่ได้ เราจะหนีมันทำไม เราต้องผ่านด่านนี้ให้ได้นะ


เราต้องอดทนต้องทนยึดมั่นถือมั่นในข้อวัตรอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าท่านมอบไว้ให้เรา

 


เราประพฤติปฏิบัติข้อวัตรก็ให้สบายใจให้มีความสุข ไม่ว่าเราจะทำวัตรสวดมนต์ก็ให้ใจมันมีความสงบ ก็ให้ใจมันมีความสุข ไม่ว่าเราจะเดินจงกรมก็ให้มีความสุขความสงบ ไม่ว่าเราจะนั่งสมาธิภาวนาก็ให้ใจ มันมีความสุขความสงบ 
อนาคตที่จะรุ่งเรืองสดใส มันอยู่ที่ปัจจุบันนี้ เมื่อปัจจุบันมันดี อนาคตมันก็ดี เมื่อปัจจุบันใจมันมีนิพพาน อนาคตใจก็มีพระนิพพาน เมื่อจิตใจมันย่อหย่อน มันตกต่ำ มันยินดีแต่ความสุขทางเนื้อทางหนัง ทางลาภยศสรรเสริญ จิตใจมันก็ตกต่ำ ครั้งแรกมันสวรรค์หรอกต่อไปมันก็ลงนรก


พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่าจิตวาระสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไปเกิด

ท่านถึงให้เราคิดแต่สิ่ง ที่ดี ๆ พูดแต่สิ่งที่ดี ๆ ทำแต่สิ่งที่ดี ๆ เราต้องมีความดีที่ก้าวหน้าออกไป ให้ไปข้างหน้า นี่คือการสร้างบารมีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า ไม่ใช่มาอาลัยอาวรณ์ วันนี้ก็คิดดี พูดดี ทำดี พรุ่งนี้ก็มาอาลัยอาวรณ์ เดี๋ยวมันก็เดินหน้า เดี๋ยวมันก็ถอยหลัง อย่างนี้มันจะได้อะไร...!


ขึ้นชื่อว่าความผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิด แม้แต่เราคิดก็ยังไม่ได้ เพราะว่าพระนิพพาน มันเรื่องจิต เรื่องใจ เราปกปิดคนอื่นได้ แต่เราปกปิดตัวเองไม่ได้ อินทรีย์บารมีของเรายังอ่อน ยังไม่แก่กล้า ให้เราถือนิสัยถือวินัยของพระพุทธเจ้าไว้ ให้มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าไว้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าพาเราทำอย่างนี้อย่างนี้ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ถึงได้เป็นพระอรหันต์


ให้ทุกท่านทุกคนตั้งใจดี ๆ อธิษฐานจิตให้ดี ๆ ให้มีหลักให้มีเกณฑ์ แล้วก็บังคับตัวเอง อย่าให้คนอื่นบังคับ การบังคับตัวเองเค้าเรียกว่าศีล เมื่อศีลเข้าถึงจิตถึงใจ ถึงเจตนา สมาธิที่มันเป็นธรรมชาติ ที่มันเป็นกฎของธรรมชาติ มันจะเกิดขึ้นมาเอง ปัญญาตัวที่ดับทุกข์ที่แท้จริงมันถึงจะเกิด ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


อาการที่มันรักษาศีล อาการที่มันนั่งสมาธิ อาการที่มันทำข้อวัตรปฏิบัติก็กลัว นี้ก็คือ “อาการของกิเลสที่มันกลัว” มันกลัวที่จะหมดภพหมดชาติ มันกลัว มันอาลัยอาวรณ์ มันไม่อยาก ไปพระนิพพาน มันอยากจะขออยู่ต่อ


เหมือนเราเกิดมานี้ ถึงจะทุกข์ยากลำบากด้วยการดำรงธาตุดำรงขันธ์ การทำมาหากิน ทุก ๆ คน มันก็ไม่อยากตาย กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันก็ไม่อยากตายเหมือนกัน มันติดอดีต ติดภพ ติดชาติ มันติดพ่อ ติดแม่ ติดลูก ติดหลาน มันติดสมบัติข้าวของเงินทอง มันติดมาก ติดจริง ๆ


นี้คือเรื่องอวิชชา เรื่องความหลง เรื่องตัวเรื่องตน เรามันถึงเป็นคนอ่อนแอ มาบวช มาปฏิบัติ มันก็ไม่ยอมปฏิบัติ เค้าแต่งตั้งให้เป็นพระก็ไม่ยอมเป็นพระ อุปัชฌาย์ กรรมวาจา คณะสงฆ์สวดจนเหนื่อยนะ


ถ้าเราคิดดูดี ๆ นะ “เราก็ยังชื่อว่าเป็นพระแต่งตั้งหรือว่ายังเป็นพระปลอมอยู่” มันเป็นพระ ที่ตัวหนังสือ แต่ไม่ได้เป็นพระที่จิตที่ใจ มันยังมาต่อต้านคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็มาละเมิดคำสอน ของพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “ในอนาคตจะมีบุคคลที่มาเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่ทำมาหากิน ด้วยการสมัครรับแต่งตั้งว่าจะเป็นสุปฏิปันโน” ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติดีผู้ปฏิบัติชอบเพื่อสิ้นอาสวะ แต่แล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติทำตามที่ให้สัจจะคำมั่นสัญญาไว้ จะด้วยเจตนาก็ดี จะด้วยไม่เจตนาก็ดี จะด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี

 

 


ขอให้ทุกท่านได้พิจารณาตัวเองว่าตัวเองได้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตรงต่อพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้วหรือยัง ถ้ายังพวกเราและท่านให้ยกระดับจิตใจให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มิฉะนั้นเราจะได้ชื่อว่า เป็นพระปลอมทางจิตทางใจ เดี๋ยวนี้ท่านกำลังเป็นแค่พระจริงทางกาย

 

 


เรานี่แหละที่ยังเป็นพระหนุ่ม ๆ หรือว่าเป็นพระแก่ ๆ เรานี่แหละจะเป็นครูบาอาจารย์ “เมื่อจิตใจของเราไม่เป็นพระ เราจะเอาอะไรไปเป็นครูบาอาจารย์เล่า...!”


ปฏิปทาที่เข้มแข็ง หนักแน่น เด็ดเดี่ยว ทุกท่านทุกคนต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้แล้ว ถ้าเราไม่ตั้งใจแล้ว เราสมควรแล้วหรือที่จะบริโภคอาหารปัจจัยสี่ของประชาชน มันสมควรแล้วหรือที่จะให้ประชาชน เค้ากราบเค้าไหว้


เค้าไหว้พระนะ...! พระก็พระจริง ไม่ใช่พระปลอม พระปลอมคือพระอลัชชี พระไม่มีความละอาย ต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ละเมิดพระวินัย เมื่อละเมิดพระวินัยแล้วก็ละเมิดธรรม ถึงจะห่มผ้าเหลืองโกนหัว มันก็เป็นได้แต่เพียงพระแต่งตั้ง เราที่เป็นพระสมมุติด้วยกันก็ไม่อยากกราบ โยมก็ไม่อยากกราบอยากไหว้ กราบไหว้ตามโลกสมมติ มันก็ฝืนใจ... สัมมาปฏิปทา... (๒/๒)

หมายเลขบันทึก: 487330เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 08:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท