การศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


คณะศึกษาดูงานออกจากโรงแรมพนมรุ้งปุรี ด้วยความตั้งใจ ที่จะไปศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือโรงเรียน “นอกกะลา” ตามที่ “ครูใหญ่” คุณครูวิเชียร ไชยบัง เรียกขานโรงเรียนของท่าน และไปดูกิจกรรมของโรงเรียนตั้งแต่แรกเริ่ม

การศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

 

คณะศึกษาดูงานออกจากโรงแรมพนมรุ้งปุรี ด้วยความตั้งใจ ที่จะไปศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือโรงเรียน “นอกกะลา” ตามที่ “ครูใหญ่” คุณครูวิเชียร ไชยบัง เรียกขานโรงเรียนของท่าน และไปดูกิจกรรมของโรงเรียนตั้งแต่แรกเริ่ม

ก้าวแรกที่เริ่มเข้าสู่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา   ความรู้สึกแรกที่พวกเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรยากาศไม่เหมือนโรงเรียนตามความคุ้นเคยของพวกเรา แต่บรรยากาศคล้ายบ้านหลังใหญ่ ที่อยู่ท่ามกลาง ต้นไม้ที่ร่มรื่นและอบอุ่น มองไปตามทางเดินเล็กๆ ที่สะอาดตา สนามหญ้าสองข้างทาง แม้จะไม่ได้ถูกตัดจนเรียบเหมือนสนามหญ้าในสวนสาธารณะ แต่ก็เขียวชอุ่มและเป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง หย่อมพุ่มไม้เรียงรายเป็นระยะตามทางเดิน โผล่พ้นพุ่มไม้ไกลออกไป มองเห็นตึกชั้นเดียว บริเวณหน้าตึกมีเสาเคารพธงชาติตั้งตระหง่านอยู่

 

          เมื่อก้าวเข้าภายในบริเวณตึก มองตามผนังเห็นบอร์ดแสดงผลงานของนักเรียนจัดเรียงไว้มากมาย และสวยงาม ตึกนี้ประกอบด้วยห้องเรียน 4 ห้องเรียน อีกครั้งหนึ่งที่เห็นว่าห้องเรียนเหล่านี้ แปลกไปจากห้องเรียนที่พวกเราคุ้นเคย ลักษณะโครงสร้างของห้องเรียนเกือบเป็นรูปวงกลม โต๊ะเรียน ถูกจัดเรียงไว้เป็นระเบียบรอบๆ ห้อง พื้นที่ตรงกลางว่างและโล่ง (เหตุผลที่จัดห้องลักษณะนี้ ทราบในภายหลังว่าเพื่อให้ครู-นักเรียน มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง จึงไม่มีคำว่า หน้าชั้นเรียนหรือหลังชั้นเรียน) ส่วนหลังคาห้องเรียนสูงโปร่ง ลักษณะเป็นทรงกลม ตกแต่งและระบายสี ด้วยวัสดุที่ทำคล้ายดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ในระบบสุริยะจักรวาล บรรยากาศเหมือนขณะที่เรากำลัง แหงนมองขึ้นดูท้องฟ้า

          ตอนเช้าของทุกๆ วัน ผู้ปกครองจะมานั่งคุยกับลูกๆ และเพื่อนๆ ของลูก ในห้องเรียน ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนอย่างหนึ่ง โดยผู้ปกครองจะมา  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องหรืองานของตนเองที่ถนัดและสนใจกับครูและนักเรียน ตึกเรียนนี้เป็น ตึกเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษา ดังนั้นเวลามองออกไปนอกหน้าต่าง ไปยังสนามหน้าตึกเรียน จึงยังคงเห็นนักเรียนเด็กเล็กหลาย ๆ กลุ่ม วิ่งเล่นส่งเสียงดังกันอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่า นักเรียนทุกคนให้ความเคารพคุณครูทุกคนและแสดงความรัก  ด้วยการสวมกอดคุณครูเมื่อพบกันตอนเช้า นักเรียนที่เล็กกว่าจะเรียกนักเรียนที่โตกว่าว่าพี่ทุกคน หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรียน นักเรียนทุกคนจะเรียกเครื่องใช้เหล่านี้ โดยมีคำนำหน้าว่า”พี่” ทุกสิ่งทุกอย่าง....พี่เก้าอี้ พี่โต๊ะ พี่แก้วน้ำ.... คุณครูชาญซึ่งเป็นคุณครูผู้นำเยี่ยมชมศึกษาดูงานโรงเรียนแห่งนี้ บอกว่าการกระทำอย่างนี้ เพื่อเป็น การปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกในการให้ความเคารพผู้อื่น  หรือแม้กระทั่งเคารพสิ่งของ นับเป็นจุดประสงค์  การเรียนรู้อย่างหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มีสอดแทรก อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในบ้านเราน้อยมาก

ในขณะที่พวกเรา กำลังเพลิดเพลินกับการเยี่ยมชม บางคนก็กำลังเก็บภาพกิจกรรมของนักเรียน ผู้ปกครอง และครูอยู  เราก็เริ่มรู้สึกตัวว่าเสียงพูดคุยและเสียงนักเรียนที่เล่นส่งเสียงดังอยู่เมื่อสักครู่ ค่อยๆ เงียบลง พวกเราเงยหน้ามองดูนาฬิกา ซึ่งคุณครูใหญ่บอกว่ามีแขวนประจำอยู่ทุกตึก ในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนหัดดูเวลา ตัวเลขที่นาฬิกาบอกเวลา 8 โมงตรง ไม่มีเสียงระฆัง กระดิ่ง หรือออด ที่พวกเราคุ้นเคย แต่เมื่อมองไปที่สนามหญ้าหน้าตึกเรียนอีกครั้งหนึ่ง พวกเราเห็นเด็กๆ ทุกคน ยืนเข้าแถวพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบตามลำดับชั้น เนื่องจากสนามหญ้า ถูกจัดวางไว้ให้ลดหลั่น เป็นขั้นบันได ทำให้สามารถมองเห็นนักเรียน ที่ยืนเข้าแถวอยู่ทุกๆ คน ตั้งแต่แถวหน้าจนกระทั่งถึงแถวหลัง พวกเราเผลอเข้าไปยืนใกล้ๆ ที่เด็กนักเรียนกำลังยืนเข้าแถวอยู่ คุณครูชาญจึงหันมากระซิบ ให้พวกเรายืนห่าง เด็กนักเรียนออกไปเล็กน้อย เพราะเกรงว่าเด็กๆ จะทำกิจกรรม  อย่างไม่เป็นธรรมชาติ สักครู่พวกเรามองเห็นเด็กนักเรียนรุ่นพี่ที่อยู่ชั้นโตกว่าออกมา เชิญธงชาติ และเด็กนักเรียนทุกคนก็ร่วมกัน ร้องเพลงเคารพธงชาติ และสวดมนต์โดยไม่มีผู้นำการร้องเพลงและสวดมนต์ ไม่มีไมโครโฟน มีเพียงคุณครูประจำชั้นที่ยืนอยู่ข้างๆ ลูกศิษย์ของตนเอง กระบวนการนี้ใช้เวลาทั้งหมด 5 นาที และทุกคนก็แยกย้ายเข้าห้องเรียนของตนอย่างเป็นระเบียบ

 

           หลักการของกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน “นอกกะลา” เป็นไปตามหลักสูตรของ สพฐ. โดยยึดหลักให้ผู้เรียน “เก่ง ดี มีความสุข” (และช่วยเหลือสังคม) เป้าหมายของการศึกษา เน้นในเรื่องปัญญา สังคม อารมณ์ความรู้สึก และจิตวิญญาณ แต่มีความแตกต่างใน แนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยในการประเมินของโรงเรียน “นอกกะลา” จะเน้นที่ คุณภาพของงานตามศักยภาพของนักเรียน คุณครูใหญ่ให้ข้อคิดว่า ถ้าใครสนใจวัดการประเมินแบบใด ทุกคนก็จะสนใจและมุ่งเน้นที่จะทำตามแบบนั้น แต่นักเรียนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จะไม่มีการสอบ National test เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษา

          แนวทางการพัฒนาครู เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่คุณครูใหญ่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนานักเรียน และองค์กร  นอกจากการพัฒนาครูในโรงเรียน “นอกกะลา” แล้วยังมีการจัดอบรม พัฒนาครูในสถานศึกษาอื่นๆ อีกด้วย โดยริเริ่มและได้รับความสำเร็จมากคือ โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น และกำลังจะขยายไปที่จังหวัดระยองและจันทบุรี ครูใหญ่ให้ คติประจำใจสำหรับครูทุกคนว่า “ในโลกนี้ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องค้นหาสิ่งที่ดีกว่า” และการส่งเสริม การปลดปล่อยศักยภาพครู โดยการสะท้อนกิจกรรมที่คุณครูคิดและออกแบบ แต่จะไม่สะท้อน ที่ตัวคุณครูเองว่าทำผิดหรือถูก

           นึกย้อนกลับไปคืนวันแรกที่พวกเรามาถึง ครูใหญ่ได้กรุณาเข้ามาร่วมเสวนาและแนะนำ โรงเรียน “นอกกะลา” เพื่อปูพื้นความเป็นมาของโรงเรียนก่อน ครูใหญ่เล่าว่า เริ่มแรกเมื่อประมาณปี 2537 คุณเจมส์ คลาร์กชาวอังกฤษ ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร และมีนโยบาย ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนโดยเฉพาะในภาคอีสาน ต่อมาในปี 2546 ครูใหญ่จึงได้ดำริ ตั้งโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา ขึ้นที่ ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยใช้เวลา พัฒนาครูในช่วง 6 เดือนแรก โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่มีการเสียค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายประมาณ 37,000 บาท ต่อนักเรียน 1 คน ต่อปี (เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณของ สพฐ. ประมาณ 43,000 ต่อนักเรียน 1 คน ต่อปี ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2552) โดยมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 240 คน การคัดเลือกรับนักเรียนโดยการจับฉลากเท่านั้น

          ทุกๆ วัน หลังเคารพธงชาติ ตารางกิจกรรมในแต่ละวันหรือที่พวกเราเรียกว่า “ตารางสอน” ของทุกชั้นเรียน จะประกอบด้วยกิจกรรมของนักเรียน 3 ช่วง คือ ช่วงเช้าเป็นการพัฒนาความฉลาดทาง ด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ (EQ และ SQ) ช่วงสายเป็นช่วงพัฒนาทางด้านปัญญา (IQ) และช่วงบ่ายเป็นช่วงพัฒนาทางด้านร่างกาย (PQ) ในตอนเช้าคุณครูจะเริ่มต้น การเรียนการสอน ด้วยการพัฒนาทางด้านจิตใจ เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมที่จะเริ่มการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในแต่ละวัน กิจกรรมเหล่านี้จะแตกต่างกันไป ในแต่ละระดับชั้นเรียนโดยคุณครูจะเป็นผู้พัฒนากิจกรรม ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียน เช่น ถ้าเป็นระดับอนุบาลคุณครู จะให้ฝึกใช้การเคลื่อนไหว ของมือและนิ้ว การนับเลข ถ้าเป็นเด็กประถมศึกษาคุณครูจะให้ทำกิจกรรม เพื่อฝึกสมาธิ เช่นการส่งต่อสิ่งของ เป็นต้น ในช่วงสายกระบวนการเรียนรู้ จะเป็นการเรียนการสอน ตามหลักสูตรโดยมีวิชาบังคับ 3 รายวิชา คือ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ครูสอนเป็นครูชาวไทย) ส่วนวิชาอื่นๆ จะเป็นการผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้หรือโครงงานต่างๆ   กิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ครูจะมีการชักนำเข้าสู่กระบวนการทักษะการเรียนรู้ ให้เด็กฝึกทักษะ การคิด โดยตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้จนได้สาระครบหรือสูงกว่า มาตรฐานกลาง ความสำคัญในการสอนทักษะกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และทักษะในการคิด ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของแนวคิดของโรงเรียน “นอกกะลา”

          พวกเราศึกษาดูงานกันจนถึงช่วงเวลาพักกลางวัน คุณครูชาญพาพวกเราไปที่โรงอาหารสำหรับครู และนักเรียน โดยการจัดโต๊ะอาหารสำหรับคุณครูจะจัดอยู่รอบๆ โต๊ะอาหาร ของนักเรียนทุกชั้นเรียน เมื่อถึงเวลาเที่ยงพวกเราเห็นนักเรียนเดินเข้าแถวกันอย่างเป็นระเบียบมีคุณครูเดินนำแถวเข้ามา หลังจากที่ นักเรียนเดินไปรับถาดอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้านั่งประจำที่ที่โต๊ะอาหารของแต่ละห้องเรียน พร้อมกันแล้ว คุณครูและนักเรียนจะพนมมือและกล่าวขอบคุณผู้ที่มีพระคุณในการที่ให้พวกเขา ดำรงชีวิตและมีอาหารรับประทานจนทุกวันนี้ เสร็จแล้วจึงเริ่มรับประทานอาหารพร้อมๆ กัน เมื่อทุกคน รับประทานอาหารเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำภาชนะของตนเองไปล้างและเก็บเข้าที่อย่างเรียบร้อย

 

          พวกเราได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องสมุด และห้องสวัสดิการของโรงเรียน ซึ่งมีหนังสือ เรื่องเล่า หลักสูตรการเรียนการสอน แผ่นซีดีและโปสการ์ด ซึ่งจัดทำโดยครูใหญ่ ครู และนักเรียนของโรงเรียน “นอกกะลา” ครูใหญ่เล่าว่ากิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของครูใหญ่ คือการตื่นเช้าตอนตีสามทุกวันเพื่อเขียนหนังสือและเรื่องเล่าของโรงเรียน “นอกกะลา” ตลอดจน แนวความคิดเรื่องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และคุณครูใหญ่จะมาถึงโรงเรียนตอนหกโมงเช้า เพื่อพบกับครู และนักเรียนทุกวัน ครูใหญ่ยึดหลักว่าต้องปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียนให้มากที่สุด

          ร้านสวัสดิการของโรงเรียน มีนโยบายอย่างหนึ่งเพื่อที่จะหารายได้มาสนับสนุนงบประมาณของโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนพึ่งตนเองได้ พวกเราจึงช่วยกันสนับสนุนหนังสือ เสื้อยืด และสิ่งต่างๆ กัน หลังจากนั้นจึงร่วมกันสรุป และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อนเดินทางกลับ

  

จุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้ไม่ใช่การที่ครูใหญ่ซึ่งเป็นทั้งผู้นำและนักพัฒนาอย่างเดียวเท่านั้น แต่การ ที่ครูทุกคนมีอุดมการณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การขยาย การดำเนินการของโรงเรียน “นอกกะลา” ไปสู่การเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี 2554 แม้ว่าทางโรงเรียน “นอกกะลา” กำลังประสบปัญหาเรื่องของการสิ้นสุด การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิของคุณเจมส์ คลาร์กในปี 2557 นี้ ครูใหญ่ ก็ยังตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อ โดยมีแนวคิดว่าเด็กนักเรียนที่เก่งจะสามารถ แข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อตามความตั้งใจของตนเองได้ แต่จะต้องมีโรงเรียนที่รองรับเด็กที่ไม่เก่ง หรือด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นประกอบอาชีพตามความถนัดของตนเองและอยู่ ในสังคมได้

“การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ก็ไม่เป็นการยากที่จะเริ่มต้น”

 

ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว  (คศน 026 )   

                    

ขอบคุณ คุณครูใหญ่ (อ.วิเชียร ไชยบัง) คุณครูชาญ และคุณครูทุกท่าน ผู้ปกครองและ นักเรียนทุกคนที่ให้โอกาสเข้าไปศึกษาเรียนรู้และได้แนวคิดที่ดีๆ ในเรื่องระบบการศึกษา

ขอบคุณ พี่จิ๋ว น้องมิ้นท์ น้องเบญ น้องแจง และทุกคนที่ช่วยประสานงานรวมทั้ง เสนอโครงการการไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแห่งนี้

ขอบคุณ คุณหมอเฮาส์ คณบดีประวิตหมอติ๊ก หมอจิ๋ม หมอราม หมอปุง น้องแจง คุณทนายทอม คุณธีระ คุณอิท และผู้ติดตามทุกท่าน ที่เริ่มต้นโครงการนี้ และร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทย

 

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

คำสำคัญ (Tags): #คศน.#ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 487007เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท