รู้และเข้าใจการสอน อีกมุมหนึ่ง 2/2 ชาตรี สำราญ


ถ้าคุณครูมีภาพจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจน จะช่วยให้คุณครูสามารถวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ชัดเจน ตรงเป้าหมายตามที่วางไว้ ในจุดประสงค์การเรียนรู้

เมื่อคุณครูสามารถค้นหาคำตอบมาตอบคำถามที่ว่า “วัดและประเมินผลทำไม” แล้ว คุณครูต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “วัดและประเมินอะไร”  นั่นหมายถึงว่าคุณครูต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่า “จะประเมินอะไรของผู้เรียน”  เพราะการจัดการเรียนรู้นั้น ในครั้งหนึ่ง ๆ  ผู้เรียนจะเกิดผลการเรียนรู้ อาจจะหลายด้านแต่เราผู้สอนจะประเมินด้านไหนของผู้เรียน  เช่น

                1.  ด้านสติปัญญาของผู้เรียนที่เกี่ยวกับความรู้  ความจำ  ความคิด การแก้ปัญหาต่าง ๆ

                2. ด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น ความสนใจ  ทัศนคติ ค่านิยม  คุณธรรม

                3.  ด้านทักษะกระบวนการและการปฏิบัติ เช่น การเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของกล้ามเนื้อ  วิธีการศึกษาเรียนรู้การนำทักษะการเรียนรู้ทักษะหนึ่งทักษะใดมาใช้ในการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่าวิธีการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้

                เมื่อคุณครูได้คำตอบชัดเจนแล้วว่าจะวัดและประเมินผลอะไร  คำถามที่ถามมาคือ  จะวัดและประเมินผลอย่างไร  นั่นคือ คุณครูต้องคำนึงถึง วิธีการ  ว่าจะดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างไร  คุณครูจะต้องคิดออกแบบเครื่องมือที่จะนำมาใช้วัดและประเมินผล  คิดถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการ รวมถึงวิธีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

               

                ขั้นสุดท้ายที่คุณครูจะต้องค้นหาคำตอบคือ จะต้องถามว่า “จะตัดสินด้วยวิธีใด”  นี่เป็นหัวใจของการวัดและประเมินผล เพราะข้อสำคัญของการประเมินผลนั้น คุณครูจะต้องตั้งเกณฑ์ การวัดประเมินผลให้ชัดเจน  พอที่ใครก็ตามมาตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  มาตีความหมายผลการวิเคราะห์สามารถนำผลการวิเคราะห์ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์กลุ่มหรือเกณฑ์ระดับความสามารถหรือระดับทักษะที่กำหนดไว้ได้อย่างเที่ยงตรง เชื่อถือได้

                ในบทที่  1   ผมได้นำ “ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้” มาให้ดู คุณครูอาจจะสงสัยว่า  ผมดึงจุดประสงค์การเรียนรู้ (นำทาง) ที่ผมเขียนว่า สิ่งที่จุดประสงค์ต้องการ นั้นมาจากไหน  ทำไม  ผมขอตอบว่า ผมดึงมาจากการวิเคราะห์มาตรฐานช่วงชั้น สู่ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง แล้ววิเคราะห์ต่อออกมาเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้  ตรงนี้ผมขอบอกว่า “เวลาวิเคราะห์มาตรฐานช่วงชั้นแต่ละรายข้อนั้น เราควรวิเคราะห์ออกมาให้เห็นภาพชัดเจนว่า มาตรฐานข้อนั้น ๆ ต้องการให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะด้าน

                1.  ความรู้ ความเข้าใจ ความจำ ความคิดและการแก้ปัญหาต่าง ๆ เรียกว่า ด้านสติปัญญา

            2.  คุณธรรม  จริยธรรม   ค่านิยม  ความสนใจ  ทัศนคติ ในด้านใดบ้าง มากน้อยเพียงใด เรียกว่า ด้านอารมณ์และความรู้สึก

                3.  ความสามารถในเรื่องอะไร มากน้อยเพียงใด วิธีการศึกษาเรียนรู้ การนำทักษะการเรียนรู้  ทักษะหนึ่งทักษะใดมาใช้แก้ปัญหาการเรียนรู้  เรียกว่า  ด้านทักษะกระบวนการและการปฏิบัติ

                เพราะข้อมูลทั้ง  3   ข้อนี้จะโยงใยสัมพันธ์ถึงการกำหนดรูปแบบการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่จะนำสอน  และจัดกิจกรรมการเรียนรู้  โดยที่คุณครูควรคิดคำถามขึ้นมาถามเพื่อค้นหาคำตอบ  เช่น

                1.  รัฐต้องการจะให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องอะไร (K)

                2.  รัฐต้องการจะให้ผู้เรียนปฏิบัติอย่างไรบ้าง (P)

                3.  รัฐต้องการจะให้ผู้เรียนเกิดนิสัยถาวรด้านใดบ้าง (A)

คำถามทั้ง  3  ข้อนี้  คุณครูนำไปค้นหาคำตอบจากมาตรฐานช่วงชั้น แล้วแยกออกให้ละเอียด แสดงไว้ในผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เมื่อคุณครูได้ภาพงาน (K,P,A )   ชัดเจนแล้ว  จะช่วยให้คุณครูนำเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ได้ชัดเจนเช่นกัน

                คำถามแต่ละคำถามที่ผมนำเสนอมาตั้งแต่บทที่  1   จนถึงตรงนี้  ผมเรียกว่า การตั้งคำถามซอยย่อย  ซึ่งคำถามเล็ก ๆ อย่างนี้จะสามารถ ตอกย้ำ ให้คุณครูรู้ลู่ทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ชัดเจน  เพราะคำตอบที่คุณครูสืบค้นมาได้นั้นคือทางที่จะนำคุณครูเดินไปสู่หลักชัยของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

                ถ้าคุณครูมีภาพจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจน  จะช่วยให้คุณครูสามารถวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ชัดเจน  ตรงเป้าหมายตามที่วางไว้ ในจุดประสงค์การเรียนรู้

                สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้  ถ้าคุณครูกรุณาเปิดอ่านทบทวนตั้งแต่บทที่  1  ถึง บทที่  2   อย่างพินิจพิจารณา จนเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วจะมองเห็นภาพงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วไม่ยากดั่งคิด              

                ถ้าหากว่าคุณครูมองให้ลึกลงไปอีก  เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สู่ครูผู้สอนและนักเรียนผู้เรียนอันเป็น วัฏฏะ ที่เวียนวนอยู่นั้น    คุณครูผู้สอนสามารถตั้งคำถามเพิ่มเติมขึ้นมาอีกสัก 4-5 ข้อ  เพื่อจะเป็นประเด็นของการสังเกตแบบเจาะลึก  ศึกษากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งคำตอบที่ได้มานั้นจะสามารถนำมาบันทึกหลังสอน ที่ได้สาระสมบูรณ์และมีประโยชน์ต่อผู้ศึกษาเรียนรู้มาก  กระทั่งสามารถนำสู่การวิจัยในชั้นเรียนได้อย่างดี ตัวอย่างคำถามที่ว่านี้ คือ

                1.  เมื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนวางแผนการสำรวจและออกไปเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว  นักเรียนจะมีวิธีการจัดการสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชนได้อย่างไร

                2.  ขณะที่นักเรียนคิดวางแผนการสำรวจและออกทำการสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชนนั้นจะมีพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างไร และมีผลต่อการเรียนรู้อย่างไร

                3.  การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันนั้น  นักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับกลุ่มการเรียน กลุ่มเก่ง – ปานกลาง – อ่อน จะมีความสุขต่อการเรียนรู้มาก-น้อยเพียงใด  และจะมีพฤติกรรมอย่างใดในขณะเรียนรู้บ้าง

                4.  มีอะไรเป็นปัจจัยช่วยให้นักเรียนสามารถสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชนได้ตามต้องการ และมีความสุขต่อการเรียนรู้

                5.  การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้ง  3  กลุ่ม (เก่ง – กลาง – อ่อน) ได้เรียนรู้ร่วมกัน  จะมีผลกระทบต่อการจัดการเรียนรู้ในด้านใด อย่างไรและทำไมจึงเกิดผลกระทบอย่างนั้นขึ้นมา

                จะเห็นได้ว่า  ถ้าคุณครูผู้สอนสามารถค้นหาคำตอบ   ตอบประเด็นคำถาม ทั้ง  5  ข้อนี้ได้อย่างละเอียดแล้วนำบันทึกผลหลังสอนในรูปแบบ เชิงคุณภาพ ที่สามารถช่วยให้ใครมาอ่านก็จะเห็น และเข้าใจบรรยากาศและวิญญาณการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนนั้น หรือกล่าวง่ายๆว่า เห็นภาพในห้องเรียนอย่างชัดเจน  เมื่อคุณครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้บ่อยครั้ง  บันทึกผลหลังสอนทุกครั้ง  เมื่อนำผลการบันทึกหลังสอนทั้งหมดมาประมวลเป็นองค์ความรู้แล้วจะมีคุณค่าเทียบเท่าตำราวิชาการสอนเล่มหนึ่งทีเดียว  เพราะเรื่องราวเหล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะคน เฉพาะชั้นเรียนหนึ่ง ๆ ของคุณครูคนนั้นหรือกลุ่มนั้นเท่านั้น จึงนับว่าเป็นศาสตร์เฉพาะ และถ้าหากว่ามีศาสตร์เฉพาะอย่างนี้มาก ๆ  แล้วคุณครูร่วมกันสังเคราะห์ให้เป็นทฤษฎีและเขียนเป็นตำราการเรียนการสอนก็จะดีมาก

 

                สำหรับการวิเคราะห์จุดประสงค์ทั้งจุดประสงค์ปลาย ทางและจุดประสงค์นำทางนั้น    ถ้าคุณครูผู้สอนสามารถวิเคราะห์เจาะลึกได้มากเท่าไร  จะช่วยให้สามารถวัดและประเมินผลได้ลึกซึ้ง  ข้อมูลที่ปรากฏจะน่าเชื่อถือ มีความเที่ยงตรงมากขึ้น  ถ้าคุณครูสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลที่เป็นสากล คือ

  1. มีความชัดเจนในเรื่องราวที่ต้องการ วัดและประเมินผล ถ้ามีคำถามก็ถามแบบชัดเจนไม่คลุมเครือ  ผู้ตอบอ่านคำถาม  เข้าใจง่าย
  2. มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการดำเนินการวัดและประเมินผล กำหนดเกณฑ์การให้ระดับคุณภาพหรือคะแนนชัดเจน
  3. มีแบบการบันทึกการสังเกต  การสัมภาษณ์ที่ชัดเจน

ความชัดเจนของสิ่งต่างๆ  ดังกล่าวข้างต้น เรียกว่า มีความเป็น ปรนัย

สำหรับความน่าเชื่อถือนั้น  คือ พฤติกรรมของผู้เรียนคนนั้น ถ้าการจัดกิจกรรมการเรียนแบบนั้น ผู้เรียนจะมีพฤติกรรมอย่างนั้นเสมอ  เพื่อนครูที่ร่วมสอนนักเรียนผู้นั้นก็ลงความเห็นตรงกัน  นี่คือความน่าเชื่อถือ หรือความเชื่อมั่น

 

วิเคราะห์ความต้องการของจุดประสงค์ได้ละเอียดมากเท่าไร  ก็จะสามารถสร้างเครื่องมือการวัดและประเมินผลได้ครอบคลุมมากเพียงนั้น

            อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 486928เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท