รู้และเข้าใจการสอน อีกมุมหนึ่ง 1 ชาตรี สำราญ


ถามต่อว่า ครูสังเกตอะไร แบบใด มีเกณฑ์การสังเกตอย่างไรบ้าง รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ไม่มีการบันทึกเอาไว้ ทุกอย่างอยู่ในหัวใจครูผู้สอนเจ้าของแผนการเรียนรู้เพียงผู้เดียว ก็เท่านั้นเอง

หนังสือเรื่อง “ รู้และเข้าใจการสอนอีกมุมหนึ่ง” เล่มนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อประกอบการบรรยายเรื่องการวัดและประเมินผลสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  เมื่อบรรยายแล้วเห็นว่าน่าจะพิมพ์เผยแพร่ด้วย  จึงจัดพิมพ์เผยแพร่แก่ผู้รับฟังการบรรยายของผม

หวังว่าหนังสือเล่มนี้ คงมีคุณค่าต่อคุณครูผู้อ่านนะครับ

 

                                                       ชาตรี  สำราญ

79  ถ.คุปตาสา อ.เมือง จ.ยะลา  95000

                                                            01-957-6136,073-215-454

Fax : 073-215-454

 

 

บทที่  ๑

 

 

                ถ้าเราเข้าใจกฎของอิทัปปัจจยตา และหรือกฎของปฏิจจสมุปบาท  เราก็จะเข้าใจความสืบเนื่องเชื่อมต่อของสรรพสิ่งทั้งหลายทางธรรมชาติภายในโลกนี้  ดังคำที่กล่าวไว้ว่า  “เพราะสิ่งนี้มี   สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” ทั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

                ถ้าเราเพ่งพิศให้ดีแล้ว  เราจะเห็นว่า ในแผนการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนนั้น  จะมีความสืบเนื่องเชื่อมต่อระหว่างจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง  ซึ่งร้อยรัดกันดั่งเป็นสายโซ่ที่เชื่อมโยงจากประเด็นหนึ่งไปสู่อีกประเด็นหนึ่ง  และไม่สามารถทำให้ขาดช่วงหรือผิดร่องรอยแตกกลุ่ม  แตกพวกออกไปได้  มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ถ้าทุกอย่างไม่ต่อเนื่องกัน

                หัวข้อต่าง ๆ ในการจัดทำแผน (การจัดกิจกรรม) การเรียนรู้  แต่ละข้อเฉกเช่น ภพ  ชาติ  ในปฏิจจสมุปบาท ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จากจุดเริ่มต้น คือ จุดประสงค์การเรียนรู้สู่การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ดังนี้

                จุดประสงค์การเรียนรู้คือ เป้าหมายหลักของคุณครูผู้สอน  ที่จะเป็นเครื่องชี้ทำนำทางพาศิษย์เดินไปด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้   ดังนั้น ในจุดประสงค์การเรียนรู้คุณครูจะต้องวิเคราะห์แยกย่อยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

  1. ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใด เพียงใด
  2. ต้องการให้ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการเรียนรู้ใด หรือต้องการให้ผู้เรียนทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น
  3. ต้องการให้ผู้เรียนเกิดคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยม หรือเกิดความรู้สึกนึกคิดในด้านใด เพียงใด

ประเด็นที่แตกย่อยทั้ง  3   ข้อนี้  ถ้าหากครูผู้สอนระบุไว้ชัดเจนเห็นได้ชัดก็จะง่ายต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งเป็นโซ่ร้อยเชื่อมต่อข้อต่อไป คือ การวัดและประเมินผล

                การวัดและประเมินผล  เมื่อก่อนนี้คุณครูผู้สอนมักจะนิยมเขียนกันง่าย ๆ  พอได้ชื่อว่าเขียนแนวทางการวัดและประเมินผลไว้ในแผนการสอนหรือแผนการเรียนรู้แล้วว่า

  1. ครูสังเกต
  2. ครูสัมภาษณ์
  3. ครูตรวจแบบฝึกหัดหรือผลงาน
  4. ครูตรวจข้อทดสอบ

แต่ถ้าถามต่อว่า  ครูสังเกตอะไร แบบใด  มีเกณฑ์การสังเกตอย่างไรบ้าง  รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ไม่มีการบันทึกเอาไว้  ทุกอย่างอยู่ในหัวใจครูผู้สอนเจ้าของแผนการเรียนรู้เพียงผู้เดียว ก็เท่านั้นเอง แต่ถ้าคุณครูผู้สอนเข้าใจถึงกฎของอิทัปปจจยตาหรือ ปฏิจจสมุปบาทแล้ว คุณครูผู้สอนจะสามารถเชื่อมโยงการวัดและประเมินให้ร้อยรัดกับจุดประสงค์การเรียนรู้ได้อย่างเหมาะเจาะงดงาม  ดั่งภาพที่พอจะมองเห็นได้ในขณะนี้ คือ

ตารางที่  1   ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้

 

สิ่งที่จุดประสงค์ต้องการ

สิ่งที่ผู้วัดและประเมินผล

ต้องค้นให้พบ

1.  สามารถสำรวจระบบนิเวศน์ภายในชุมชนได้

1. สังเกต วิธีการวางแผน การสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชน (P)

2.  สังเกตวิธีการร่วมคิดสร้างประเด็นแหล่งที่จะสำรวจ และประเด็นคำถามที่จะสืบค้นหาคำตอบในการสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชน (A )

3.  สังเกตวิธีการสำรวจว่าดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ (ในข้อ 2 ) มาก-น้อยเพียงใด มีสิ่งใดที่ควรจะเพิ่มเติมบ้าง (P)

4. อ่านบันทึกผลการสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชน (K)

5. ฟังการนำเสนอผลการสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชน (K)

 

สิ่งที่จุดประสงค์ต้องการ

สิ่งที่ผู้วัดและประเมินผล

ต้องค้นให้พบ

 

6.  สัมภาษณ์ / ซักถามประเด็นที่ต้องการรู้เพิ่มเติมและความรู้สึกจากการสำรวจระบบนิเวศน์ในชุมชน (K,A)

( สำหรับเกณฑ์การประเมินผลและรายละเอียดในการสัมภาษณ์ ซักถามดูภาคผนวก)

 

 

 

 

ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดและประเมินผลได้อย่างกระชับ สอดคล้องกันดั่งภาพที่นำเสนอเป็นตัวอย่างในตอนต้นนี้แล้ว  เชื่อได้ว่ามาตรฐานการเรียนรู้ของผู้เรียนจะต้องพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้เด่นชัด  เพราะทุกย่างก้าวที่ผู้เรียนกำลังดำเนินการเรียนรู้นั้น  จะถูกควบคุมด้วยระบบการวัดและประเมินผลที่ครูผู้สอนและนักเรียน  ผู้เรียนได้ร่วมกันจัดทำขึ้นมาเพื่อร่วมกันวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ให้เดินทางสู่จุดประสงค์ที่วางไว้อย่างตรงและมีความน่าเชื่อถือได้

การวัดและประเมินผลนั้น  นอกจากคุณครูผู้สอนจะต้องสานสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้แล้ว   ครูผู้สอนจะต้องรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้เรียนที่จะแสดงออก  เมื่อผู้เรียนสามารถบรรลุพฤติกรรมการเรียนรู้นั้นได้  ถ้าคุณครูผู้สอนรู้และเข้าใจถึงตัวชี้วัดของพฤติกรรมการแสดงออกของผู้เรียนได้ชัดเจน    คุณครูผู้สอนก็จะสามารถออกแบบ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

              อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 486916เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท