ความหมายของความฉลาดทางจริยธรรม (Moral Quotient)


ความฉลาดทางจริยธรรม หมายถึง ระดับการรับรู้และเข้าใจ รู้จักรับผิดชอบชั่วดีแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิดออกจากกัน จะเลือกประพฤติตนให้สอดคล้องกับความถูกต้องด้วยความตั้งใจและเจตนาที่ดีงามในทุกสถานการณ์ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เคารพให้เกียรติและมีความยุติธรรม ให้สอดคล้องกับความดีงาม

ความหมายของความฉลาดทางจริยธรรม (Moral Quotient)

       ความฉลาดทางจริยธรรมหรือ MQ ย่อมาจาก Moral Quotient หมายถึงระดับสติปัญญาทางศีลธรรม เป็นความสามารถทางจริยธรรมหรือการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ด้วยการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม คำว่า MQ (Moral Quotient) เป็นคำที่ถูกคิดค้นโดยโรเบิร์ต โคลส์ (Robert Coles) เป็นจิตแพทย์เด็กจาก Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา (ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์. มปป : 2) ความฉลาดทางจริยธรรมนั้นไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ขณะที่บุคคลเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว เหมือนดังคำโบราณของไทยที่ว่า "สันดอนนั้นขุดได้ แต่สันดานนั้นขุดไม่ได้" การที่บุคคลคนหนึ่งจะมี ความฉลาดทางจริยธรรมระดับดี ต้องเริ่มปลูกฝังในวัยเด็กจึงจะได้ผล อาศัยปัจจัย 3 อย่างด้วยกันคือ

1. การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก

2. การถ่ายทอดทางศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้กับเด็ก

3. ความรักและวินัย

            อริยะ สุพรรณเภษัช (2545 : 32) กล่าวว่า ความฉลาดทางจริยธรรม หมายถึง ระดับความฉลาดทางจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งเป็นความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้และปฏิบัติตนในด้านจริยธรรมและศีลธรรมตามกรอบประเพณีที่ดีงามของศาสนา วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ทั้งสามารถปฏิบัติต่อบุคคลอื่นภายใต้ข้อบัญญัติที่ดีงามเหล่านั้นด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตา มีความประพฤติที่ชอบธรรม มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่ดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีจิตสงบวางเฉยไม่ยินดี ไม่ส่งเสริมต่อสิ่งที่จะทำลายคุณธรรมที่ดีงาม รู้จักนำหลักธรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสำหรับตนและบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาจิตใจ ด้วยการปฏิบัติทางจิตให้สงบเป็นสมาธิสำหรับตนเองและชักชวนบุคคลอื่นให้ร่วมปฏิบัติอีกด้วย โดยแบ่งแยกองค์ประกอบของความฉลาดทางจริยธรรมและศีลธรรม ไว้ 4 ประการ ได้แก่ 1) กรอบประเพณีของศาสนาวัฒนธรรม และค่านิยมของสังคม 2) ระดับของจริยธรรมและศีลธรรมของครอบครัวและถานศึกษาที่ทำการกล่อมเกลา 3) การฝักใฝ่ในการฝึกฝนพัฒนาตนทางด้านจริยธรรมและศีลธรรมและ 4) ความสามารถทางด้านการพัฒนาจิตใจและสมาธิ

    เอกชัย แสงอินทร์ (2546 : 14) กล่าวว่า ความฉลาดทางจริยธรรม หมายถึง ระดับคุณธรรมซึ่งรวมไปถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ

นันทา ติงสมบัติยุทธ์ (http://gotoknow.org/blog/www-doae/27125) กล่าวว่า ความฉลาดทางจริยธรรม หมายถึง ระดับความเห็นแก่ตัวด้วย การมีความฉลาดทางจริยธรรม ย่อมส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ไม่เห็นแก่ตัว คิดดี ทำดีและพูดดีด้วย มีความเมตตาปรานีและรู้จักให้อภัย

     โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg. 1976 : 67) กล่าวว่าจริยธรรมคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานของความประพฤติโดยบุคคลจะพัฒนาขึ้นจนกระทั่งพฤติกรรมเป็นของตนเอง โดยสังคมจะเป็นผู้ตัดสินว่าผลของการกระทำที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องตัดสินว่าการกระทำนั้นผิดหรือถูก การเลี้ยงลูกให้มีคุณธรรมไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาตั้งแต่เด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถพัฒนาพื้นฐานจริยธรรม ของตนเองขึ้นมาให้ฝังลึกลงไปในจิตใจของเขาและรอเวลาที่จะได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง โดยการอบรม สั่งสอนฟังธรรมและวิธีอื่น ๆ แต่ถ้าคนเหล่านั้นไม่มีจริยธรรม อยู่ในจิตสำนึกดั้งเดิมแล้วไม่ว่าจะได้รับการกระตุ้นอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้คน ๆ นั้นกลายเป็นคนที่ดีขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่อยากได้ลูกที่เติบโตเป็นคนเก่งที่เห็นแก่ตัวก็ควรปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกเสียแต่เล็ก จะดีกว่ารอตอนโตเพราะถึงตอนนั้นอาจสายเกินไป เพราะคุณธรรมไม่ได้ปลูกฝังกันได้ชั่วข้ามคืนแต่ต้องใช้เวลาความต่อเนื่องความสม่ำเสมอในการสอน ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องทำให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง(กองบรรณาธิการ. 2550 : 1)

       เลนนิกและไค (Lennick and Kiel. 2005 : 5) ให้คำนิยาม ความฉลาดทางจริยธรรม หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ ประพฤติปฏิบัติตนและพิจารณาตัดสินใจต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ตามมาตรฐานความดี ความไม่ดี ข้อควรประพฤติปฏิบัติและกฎเกณฑ์ในการแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิดของสังคมออกจากกันและความเอาใจใส่ต่อชีวิต มนุษยชาติและธรรมชาติความเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ที่ดี สังคม เศรษฐกิจ เคารพต่อทรัพย์สินผู้อื่น ความเอาใจใส่ต่อการสื่อสารที่เปิดเผยและซื่อสัตย์และความเอาใจใส่ต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเป็นสิ่งที่บุคคลต้องเรียนรู้และได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

   สรุปได้ว่า ความฉลาดทางจริยธรรม หมายถึง ระดับการรับรู้และเข้าใจ รู้จักรับผิดชอบชั่วดีแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิดออกจากกัน จะเลือกประพฤติตนให้สอดคล้องกับความถูกต้องด้วยความตั้งใจและเจตนาที่ดีงามในทุกสถานการณ์ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เคารพให้เกียรติและมีความยุติธรรม ให้สอดคล้องกับความดีงาม ความฉลาดทางจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเด็กได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่เด็ก บุคคลนั้นก็สามารถพัฒนาพื้นฐานความฉลาดทางจริยธรรมของตนขึ้นมาในระดับหนึ่ง (มากน้อยแล้วแต่การปลูกฝัง)และความฉลาดทางจริยธรรมนี้ก็จะปลูกฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้นและจะรอเวลากระตุ้นอีกครั้ง โดยการอบรมสั่งสอน การฟังธรรม แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีความฉลาดทางจริยธรรมอยู่ในจิตสำนึกแล้ว ไม่ว่าโตขึ้นจะได้รับการกระตุ้นอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นคนดี

 

อ้างอิง

กองบรรณาธิการนิตยสารรักลูก.  “MQ Delivery คุณธรรมร้อนๆ..มาแล้วจ้า” นิตยสารรักลูก  24 (288) : 1 ; มกราคม, 2550.

ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์.  MQ เด็กกับสติปัญญาทางศีลธรรมทางรอดของมนุษยชาติ.   กรุงเทพฯ : รามาการพิมพ์, มปป. 

นันทา ติงสมบัติยุทธ์MQ ความฉลาดทางจริยธรรม.  สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม  2553  จาก  http://gotoknow.org/blog/www-doae/27125.

Kohlberg,L.  Moral  Stages and Moraliztion : the Cognitive  Developmental Approach. In  Lickona (ed)   and Moral Development and Behavior : Theory Research and Social  Issues. New York : Holt Rinehart & Winston,  1976.

Lennick, D. and F. Kiel. Moral Intelligence: Enhancing Business Performance And  Leadership Success. New Jersy: Pearson Education, Inc, 2005.

หมายเลขบันทึก: 486882เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 04:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • "คุณธรรมนำความรู้"นะครับอาจารย์เพ็ญศรี 
  • เชียงยืนฯ เปิดเทอมหรือยังครับ?
  • ขอบคุณความรู้ครับ

เป็นจุดยืนที่จะพัฒนาในศตวรรษที่21 ค่ะ อ.ธนิตย์ เปิดแล้วค่ะ อ.ธนิตย์ ปีนี้นักเรียนมากเกินเป้า กำลังเปิดวงPLC(ค่อนข้างหนักใจเพราะเป้าตั้งไว้ 15 คน นี้ตั้ง 45คน) กลัวไม่ได้ดั่งหวังแม๊ะ อ.ธนิตย์ ชี้แนะหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท