มิตรภาพ เมตตา และท่าที….. ความในใจของญาติคนไข้


วันนี้ฉันมาถึงโรงพยาบาลช้า เกือบสี่โมงครึ่ง บัตรนัดในมือเขียนไว้ว่าพบหมอตอน 5 โมงเย็น และได้คิวลำดับที่ 35 ตอนนี้นาฬิกาข้างฝา บอกเวลาว่าอีก 10 นาที จะหนึ่งทุ่ม ถ้าโชคดี คนรอรับยาไม่มากนัก ฉันและแม่คงได้กลับบ้านก่อนสองทุ่มครึ่ง แต่ถ้าโชคร้าย ก็คงนานกว่านั้น……

 

มิตรภาพ  เมตตา และท่าที….. ความในใจของญาติคนไข้

 

แดดยามเย็นสีหมากสุก ส่องอาบไล้บริเวณทางเดินเชื่อมระหว่างตึกในโรงพยาบาลสองฟากฝั่งม้านั่งเต็มไปด้วยญาติกับคนไข้ที่รอพบหมอ แต่ละคนสีหน้าหม่นหมอง อมทุกข์  

..... ฉันไม่ชอบแสงแดด และเวลาเย็นๆ แบบนี้เลย บรรยากาศที่แวดล้อม ก็ยิ่งทำให้หดหู่ และห่อเหี่ยวใจมากขึ้น 

วันนี้ฉันมาถึงโรงพยาบาลช้า เกือบสี่โมงครึ่ง บัตรนัดในมือเขียนไว้ว่าพบหมอตอน  5 โมงเย็น   และได้คิวลำดับที่   35    ตอนนี้นาฬิกาข้างฝา บอกเวลาว่าอีก 10 นาที จะหนึ่งทุ่ม ถ้าโชคดี คนรอรับยาไม่มากนัก ฉันและแม่คงได้กลับบ้านก่อนสองทุ่มครึ่ง แต่ถ้าโชคร้าย ก็คงนานกว่านั้น……

 

แม่อายุ 74 ปีแล้ว ปกติอาศัยอยู่กับครอบครัวของพี่ชายที่จังหวัดชุมพร    สุขภาพไม่แข็งแรงนักเพราะเป็นคนอ้วน มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง  ซึ่งคงทำให้เกิดเป็น ภาวะ หัวใจโต ในเวลาต่อมา  และแม่ก็ยังมีภาวะความจำเริ่มเสื่อมถอย  หลงๆ ลืมๆ  กินข้าวเช้าเสร็จ พอสายหน่อยถามว่า กินข้าวกับอะไรบ้างก็จำไม่ได้   เหตุการณ์หนักสุด คือ ถอดสายไฟกาน้ำร้อน โดยดึงจากสายฝั่งที่เสียบกับตัวกาน้ำร้อนออก แทนที่จะดึงสายออกจากปลั๊กไฟ   นอกเหนือไปจากการต้มไข่โดยลืมปิดเตาแก๊ส จนทำให้น้ำแห้ง  หม้อไหม้และกลายเป็นไข่ระเบิดแทน     

 

 การมาพบหมอที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ  ทุกๆ  3 เดือน จึงเป็นไปเพื่อดูแลและติดตามอาการของสองโรคนี้เป็นหลัก และถือเป็นโอกาสที่จะได้มาเยี่ยม อยู่กับลูกหลานที่กรุงเทพฯ ได้นานขึ้นนับเดือน แทนการให้ลูกกลับบ้านซึ่งจะอยู่ด้วยกันได้ไม่กี่วัน

 

 แต่ปรากฏว่า สองปีที่ผ่านมา พัฒนาการของโรคไม่ดีขึ้น และมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อน  แม่ต้องเข้านอนโรงพยาบาลบ่อยขึ้น  ปีที่แล้วถึง 5 ครั้งด้วยอาการ ความดันเริ่มขึ้นสูง เพ้อ พูดไม่รู้เรื่องและมีการชักประกอบด้วย หมอยังหาสาเหตุไม่พบ เพียงตรวจเจอก้อนเนื้อขนาดหัวไม้ขีดในสมองแต่ยังไม่เป็นอันตราย จึงให้ติดตามสังเกตการเติบโตของก้อนเนื้อ    นอกจากนี้แม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และตรวจพบ แคลเซียมในเลือดสูงซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้ชัก จึงต้องมาตรวจการทำงานของต่อมพาราธัยรอยด์เพิ่มเติมว่าผิดปกติทำให้เกิดภาวะแคลเซียมสูงหรือไม่

 

 ซ้ำร้าย คือ ปลายปีที่แล้ว แม่มีเลือดออกทางช่องคลอดเหมือนมีประจำเดือน ทั้งๆ ที่เลยวัยทองมานานแล้ว  หมอที่ชุมพรตรวจภายในแล้วบอกว่ายังไม่มีเนื้อร้ายแต่ให้หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อติดตามอาการ

 

ต้นปีที่ผ่านมา  แม่ต้องเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินที่จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยอาการความดันสูง  คล้ายๆ กับทุกครั้งที่เป็น  ประกอบกับการมีไข้หมอได้วินิจฉัยว่า เกลือแร่ต่ำ มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร   และติดเชื้อในกระแสเลือดในโรงพยาบาลซ้ำ จึงต้องอยู่ที่นั่นนานถึงครึ่งเดือน  โดยลดปริมาณยาความดันกว่าครึ่ง เนื่องจากพบภาวะเส้นเลือดตีบในสมองเพิ่มเติม

 

การมาพบหมอในกรุงเทพฯ วันนี้ นอกจากเพื่อติดตามอาการหลังออกจากรพ. ได้หนึ่งสัปดาห์แล้ว  จึงยังคาดหวังคำแนะนำจากหมอประจำเพื่อเริ่มต้นสูตรยาใหม่ว่าจะคงปริมาณเดิมหรือลดลง

                                          …………................

 

ฉันเริ่มต้นด้วยการเล่าข้อมูลประวัติอาการ ที่เข้ารพ.เมืองกาญจน์ฯ ข้อมูลแวดล้อมที่เข้าโรงพยาบาลชุมพรบ่อยครั้งในปีที่แล้ว พร้อมกับอาการเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และเอาใบที่เขียนสรุปขึ้นเองว่า แม่ได้รับยาอะไรบ้าง ซึ่งมีมากกว่า 15 ตัว กินในปริมาณเท่าใดและจำนวนเม็ดยาที่เหลือเปรียบเทียบกับข้อมูลยาที่ได้รับของทั้งสองโรงพยาบาลมากางให้หมอดู ด้วยความหวังว่า จะเป็นประโยชน์กับหมอ ไม่ต้องกลับไปพลิกประวัติการรักษาใหม่ทั้งหมด

 

หมอมีสีหน้าค่อนข้างเหนื่อยล้า อาจเพราะตรวจคนไข้มาจำนวนมากแล้ว  เขาลุกขึ้น แล้วใช้หูฟัง มาตรวจการเต้นของหัวใจแม่ วัดความดันซ้ำระหว่างฟังข้อมูลจากฉันไปด้วย   แล้วซักถามพฤติกรรม/อาการของแม่เล็กน้อย  เพียงแค่ประมาณห้านาที  จากนั้นหมอก็สรุปการรักษา

 

“คุณยายอาการดีขึ้นแล้วนี่ ผมให้ยาไปตามขนาดเดิมนะ แล้วนัดมาเดินสายพานตรวจหัวใจดูสักหน่อย เพราะตรวจครั้งสุดท้าย นานหลายปีแล้ว”

 

“แต่คุณหมอคะ รพ.ที่เมืองกาญฯ ลดปริมาณยาลง หลายตัวเขาไม่ได้ให้กินค่ะ   เช่น แอสไพริน  และในช่วงเวลาหนึ่งอาทิตย์หลังออกจากรพ.  แม่ก็อาการดีขึ้นนะคะ  เขาไม่เซื่องซึม และแจ่มใสขึ้นค่ะ  เทียบกับก่อนหน้านิ้  ผิดกันเยอะ  เป็นไปได้ไหมคะว่าจะขอลดยาบางตัวลง”

 

“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเขางดยาตัวที่ผมสั่งไป ใบสรุปการรักษาเขาก็เขียนอ่านไม่ออก ไม่ละเอียด   ไม่ได้ช่วยอะไรเลย คุณต้องเอาข้อมูลการรักษาที่ละเอียดมาให้ผม จึงจะวินิจฉัยได้ คุณไปขอมาใหม่ให้ผมแล้วกันนะ แล้วอาทิตย์หน้า เอามาให้ผมดูอีกที ส่วนเรื่องลดยา........”     หมอนิ่งไปชั่วอึดใจ  พร้อมกับกล่าวต่อว่า

 

  “คุณจะเอาอย่างนั้นก็ได้นะ แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยง ถ้าจะเกิดอะไรขึ้น”

 

หมอหันไปแก้ไขใบสั่งยา  โดยแค่เพียงตวัดสายตาผ่านๆ  ใบสรุปรายการยาที่ฉันตั้งใจทำมาให้

 

ฉันไม่รู้ว่า  หมอเห็นไหมว่า  มีรายการยาบางตัวที่เหมือนกัน แต่ปริมาณต่างกัน ซึ่งหมอไม่ได้บอกว่าจะให้กินสูตรไหน   ซึ่งฉันเองมาค้นพบภายหลังกลับถึงบ้านว่า ปริมาณที่แม่ได้รับตอนอยู่เมืองกาญ เพียงแค่ เศษหนึ่งส่วนสี่ จากที่หมอให้……

 

ฉันไม่รู้ว่า  หมอสั่งยาอะไรบ้าง  เพราะเมื่อเขียนใบสั่งยาเสร็จแล้วไม่ได้ให้ฉันดูรายละเอียดและไม่มีแม้แต่คำอธิบาย

 

ฉันรู้เพียงแต่ว่า  หมอกำลังจะยุติการสนทนาด้วยการปิดแฟ้มประวัติ    โอกาสสุดท้ายที่จะได้อยู่ในห้องมาถึงแล้ว

แต่ฉันยังไม่รู้เลยว่า จะทำอย่างไรกับปริมาณการกินยาลดความดันที่หมออายุรกรรมเป็นผู้สั่งซึ่งวันนี้ไม่ได้พบเพราะหมอป่วยกระทันหัน  ทำให้ได้เจอเฉพาะหมอหัวใจ

 

“คุณหมอคะ เมื่อกี้ที่เรียนไปว่า วันนี้ไม่ได้เจอหมออายุรกรรมเพราะหมอป่วย กว่าจะนัดได้วันเสาร์หน้าซึ่งก็อีก 5 วัน จะกินยาลดความดันในสูตรไหนดีคะ เหมือนเดิม หรือลดลง คุณหมอสั่งให้ได้ไหมคะ ”

 

“ผมสั่งให้ไม่ได้หรอก หมอคนไหนให้ยาอะไร ก็ต้องเป็นคนนั้นดูแล   คุณต้องไปคุยกับหมอ

อายุรกรรมเองว่าจะกินแบบไหน  ตอนนี้ยังมียาเก่าอยู่ใช่ไหมล่ะ  ก็กินไปก่อนแล้วกันไม่กี่วันเอง”

 

 หมอตอบสวนอย่างทันควัน  พร้อมๆ กับการเอี้ยวตัวไปด้านข้าง เพื่อเอาแฟ้มประวัติไปกองรวมไว้ที่โต๊ะด้านหลัง ก่อนพยาบาลจะเอาไปทำนัดหมายครั้งต่อไป   แล้วเตรียมจะลุกขึ้นจากเก้าอี้

 

ฉันอึ้ง.... คำว่ากินไปก่อนของหมอ  .... แปลว่าอะไร

 

หวนนึกถึงหมอเจ้าของไข้ตอนอยู่รพ.ที่เมืองกาญ ซึ่งอธิบายหลังจากฉันสงสัยว่าทำไมให้ยาลดความดันน้อยลง  ขณะที่ระดับความดันของแม่ไม่นิ่ง ขึ้นๆลงๆแบบค่อนข้างสูงกว่าปกตินิดหน่อย   หมอที่โน่นบอกว่า เนื่องจากมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบร่วมด้วย จึงไม่ต้องการให้ยามากเกินไป เพื่อให้ความดันสูงขึ้นบ้างและเลือดจะได้ไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ

 

เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าแม่ยังกินในปริมาณมากเท่าเดิม จะมีภาวะเสี่ยงเรื่องเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอหรือเปล่านะ …..

 

ความกังวลที่อยู่ในความคิดทำให้ฉันรีบถามหมอหัวใจซ้ำอีกครั้ง   แล้วก็ได้คำตอบว่า  เมื่อกินสูตรของรพ.เมืองกาญฯแล้วดี ก็ใช้สูตรนั้นก็ได้

 

            คำถามเกิดขึ้นในใจต่อทันทีว่า   ถ้าคำแนะนำเป็นแบบนี้  ทำไมต้องรอให้ญาติถาม  แล้วถ้าไม่ถาม จะได้คำตอบหรือไม่ ???

 

            นึกได้ว่า  แม่มีเรื่องภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ที่หมออายุรกรรม สั่งตรวจการทำงานของต่อมพาราธัยรอยด์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา  ซึ่งฉันยังไม่รู้เลยว่า มันเป็นโรคเกี่ยวกับอะไร รู้แต่ หมออายุรกรรมบอกผ่านพี่ชายที่เป็นคนพาแม่ไปหาเมื่อวันก่อนว่า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการชักได้

 

“คุณหมอคะ ขอความรู้หน่อยได้ไหมคะ ว่า การทำงานของต่อมพาราธัยรอยด์ที่ผิดปกติ และภาวะแคลเซียมสูงในเลือดที่จะทำให้ชักเนี่ย มันหมายถึงอะไร และจะมีผลยังไงกับอาการของแม่คะ”

 

หมอชะงักค้างไว้ในท่าที่จะลุกขึ้น  แล้วกลับลงนั่งใหม่  ก่อนจะตอบคำถาม

 

“คุณถามลึกแบบนี้ ตอบยาก ผมตอบไม่ได้หรอก ผมเป็นหมอหัวใจ ผมก็จะรู้เรื่องหัวใจ เรื่องอาการอื่นๆ ก็ต้องไปถามหมอเฉพาะทาง  คุณเข้าใจหรือเปล่า  ......ถ้าคุณอยากรู้เรื่องธัยรอยด์ ผมจะส่งไปหาหมอธัยรอยด์  ถ้าคุณถามผมเรื่องเลือดออกในกระเพาะ ผมก็จะส่งไปหาหมอกระเพาะ   แต่ถ้าคุณถามผมเรื่องเลือดออกทางช่องคลอด  ผมก็จะส่งไปหาหมอสูติ   เอาไหม”

 

ฉันชะงักไป อีกครั้ง   กับคำตอบที่ได้รับ.....

 

หมอคงสังเกตอาการและท่าทางของฉันได้ จึงปรับท่าทีใหม่  สีหน้าผ่อนคลายลงเล็กน้อย พร้อมกับพูดต่อว่า

 

“คุณก็จะเจอเขาอยู่แล้วนี่ เดี๋ยวไว้ถามรายละเอียดเขาอีกครั้งแล้วกันนะ”

 

สมองฉันหมุนจี๋อย่างรวดเร็ว  ความคิดสับสนไปหมด  กำลังมึนงงกับคำตอบที่ได้รับ และคิดต่อไม่ออกว่าจะทำอะไรเป็นลำดับต่อไป   ใจจดจ่อเรื่องยาที่แม่จะต้องกินจึงได้แต่พูดโดยสติไม่อยู่กับตัวเท่าไหร่ เปลี่ยนประเด็นไปว่า

 

“งั้นสรุปเฉพาะเรื่องที่มาหาหมอเกี่ยวกับหัวใจแล้วกันนะคะว่า ลดปริมาณยาลงตามสูตรเมืองกาญจน์ฯ ส่วนยาที่หมออายุรกรรมสั่งก็........” 

 

ฉันพูดค้าง  พร้อมกับเหลือบสายตาไปมองหน้าหมอ เหมือนจะขอความมั่นใจจากเขาอีกครั้ง หมอเห็นท่าทีลังเลใจของฉัน   ก็ส่ายหน้าเล็กน้อย และพูดว่า

 

“ผมตอบไปแล้ว   คุณก็ถามอีก”

 

เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย   ทำให้ทุกคำถามและข้อสงสัยในใจของฉัน สิ้นสุดลง

 

สิ้นสุด ไม่ใช่เพราะได้รับคำตอบที่ต้องการ

 

แต่สิ้นสุด   เพราะรู้สึกว่า  ไม่มีความหวัง   ไม่สามารถค้นหาสิ่งใดๆ ได้จากที่นี่  

ไม่สามารถได้อะไรจากหมอคนที่นั่งอยู่ตรงหน้า อีกต่อไป  

 

ความรู้สึกเดียวที่เกิดขึ้นคือ  ทำอย่างไร จะออกจากห้องนี้ให้ได้เร็วที่สุด  ก่อนจะระเบิดอารมณ์ด้านร้ายออกมา

 

บทสนทนา  จึงจบลง  ด้วยการลุกขึ้นยืนของฉัน พร้อมๆ กับการกล่าวด้วยน้ำเสียงค่อนข้างแข็งและใบหน้าไร้รอยยิ้ม

 

“งั้นไม่เป็นไรค่ะ ขอบคุณมาก” 

 

ฉันยกมือไหว้ลาอย่างเสียไม่ได้ คอแข็ง  ไม่คิดจะก้มหัวให้ด้วยซ้ำ  แล้วประคองแม่ซึ่งเดินได้ไม่มั่นคงนัก มานั่งรถ  เข็นออกจากห้องตรวจโรคแผนกหัวใจ  ด้วยความผิดหวัง  ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัวและโกรธเคือง การพบหมอวันนี้  ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นในใจอย่างมากมาย……

 

            สิ่งเดียวที่สรุปได้ในความคิดก็คือ  ไม่เป็นไร ในเมื่อไม่รู้คำตอบจากหมอ ฉันก็ต้องช่วยตัวเองก็ได้  แต่ฉันตัดสินใจว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จะให้แม่กินยาในปริมาณที่ลดลง

 

            สติเริ่มมา ระหว่างขับรถกลับบ้าน   ความโกรธลดลง แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พยายามมองอย่างเข้าใจในมุมของหมอ และสิ่งที่เขาตอบในวันนี้

 

ฉันเข้าใจว่า หมอก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่อาจรู้รอบได้ทุกเรื่อง  ไม่เป็นไรเลย ที่หมอจะไม่รู้ในบางเรื่องหรือหลายเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ความผิด

 

หมออาจจะเหนื่อยจากงานตรวจคนไข้นอกเวลา เกือบ 50 คนในสามชั่วโมง (แลกกับค่าวิชาชีพแพทย์ คนไข้รายละ 300 บาท ที่ต้องจ่ายแพงกว่าคนไข้รักษาในเวลาราชการ) กับการตรวจรักษาคลีนิคนอกเวลา นอกเหนือไปจากงานระหว่างวัน

 

หมออาจรู้สึกว่าฉันซักถามมากไป

หมออาจเป็นห่วงคนไข้รายอื่นๆ ที่กำลังรอคิวข้างหลัง  ถ้าใช้เวลากับฉันมากเกินไป

แต่สิ่งที่เป็นคำถามคือ  จำเป็นแค่ไหน ที่จะต้องตอบกลับญาติคนไข้ ด้วยท่าทีแบบนั้น 

 

            คนไข้ มาหาหมอ ด้วยความคาดหวัง   ด้วยคำถาม   ด้วยความไม่รู้   ไม่มั่นใจ   และด้วยความกลัว

 

 หมอคือคนที่มีความหมาย  คือคนที่ญาติกับคนไข้ คิดว่า จะมีความรู้มากกว่า และให้สิ่งที่สำคัญที่สุดได้คือ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษา   คำแนะนำที่จะกลับไปทำได้ต่อ  อย่างน้อยที่สุดก็คือการรับฟัง อย่างเข้าอกเข้าใจ

 

 ฉันเชื่อว่า แม้ในบางครั้ง  หมออาจไม่ได้ช่วยอะไรเลย  แต่ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร นั่นก็จะเป็นยาขนานเอกในการรักษาและเยียวยาใจของคนไข้ กับญาติ ในภาวะวิตกกังวล แบบนี้ได้เป็นอย่างดี

 

แต่ฉันหาไม่ได้จากที่นี่... จากหมอคนนี้  คนที่ได้ชื่อว่า เป็นอาจารย์หมอ ที่ต้องสอนลูกศิษย์ลูกหาอีกมากมายเพื่อมาเป็นแพทย์รักษาคนไข้  คนที่ถูกคาดหวังว่า น่าจะมีความอารี มีน้ำใจ และพร้อมแบ่งปันความรู้ไปสู่คนอื่น

 

คำว่า “เมตตา” และหัวใจของความเอื้ออาทรในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันคงหล่นหายไประหว่างทางที่ยาวนานของการประกอบอาชีพ “แพทย์” เสียแล้วกระมัง

 

………………………………………….

 

            นึกเปรียบเทียบย้อนไปถึงอีกครั้งหนึ่งที่แม่ต้องนอนในรพ.เดียวกันแบบฉุกเฉิน เพราะมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง  ระหว่างเตรียมตัวจะขูดมดลูกเพื่อรักษาอาการเลือดออกผิดปกติในวัยหมดประจำเดือน  ครั้งนั้นแม่ถูกส่งตัวมายังแผนกสูตินารีเวช  ยังไม่ทันจะได้รักษา ก็มีไข้ต่ำๆ และความดันสูงผิดปกติ หมอจึงตัดสินใจ ไม่ขูดมดลูก

 

            หลังจากหมอหนุ่มสาว 3 คน กับพยาบาลอีก 5 คน มะรุมมะตุ้มช่วยกันกู้วิกฤตให้แม่ผ่านพ้นจากภาวะ เกร็งและชักจากไข้ขึ้นสูงกระทันหัน โดยใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งอาการเพ้อ หนาวสั่นบรรเทาลง บรรดาคุณหมอๆ ที่เห็นหน้าก็รู้ว่า ยังไม่แก่พรรษาในการรักษาคนไข้สักเท่าไหร่ และอายุน้อยกว่าฉันแน่ๆ ก็ได้มีจังหวะมาคุยกับญาติ คือฉันที่ยืนดูเหตุการณ์ตรงหน้า ที่ข้างเตียงด้วยความหวาดหวั่นใจ   กลัวว่าแม่จะเป็นอะไรไป

 

“สงสัยต้องให้คุณยาย พักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลนะครับ   ผลเลือดที่เจาะมาตรวจ มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อในกระแสเลือด แต่เดี๋ยวต้องให้คุณหมอด้านการติดเชื้อดูอีกที ตอนนี้ก็ให้นอนพักไปก่อน  ส่วนผลการตัดชิ้นเนื้อในมดลูกไปตรวจ ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย ก็เท่ากับว่า ตอนนี้ เรื่องสูติ จบแล้ว รอให้ไม่มีไข้ และรักษาอาการนี้ให้ดีขึ้นก่อน  คุมความดันได้ ค่อยมาขูดมดลูก  ไว้เรานัดกันอีกที   แล้วเดี๋ยวพยาบาลก็จะตามให้หมออายุรกรรมเขามาดูเรื่องความดัน กับภาวะชักด้วยนะครับ   ”

 

“อ้อ.... ส่วนที่ปวดขา เดินไม่ได้ เดี๋ยวผมประสานให้หมอ ข้อและกระดูก เขามาดูเพิ่มให้ด้วยนะครับ” หมอกล่าวเพิ่มเติม

 

            พยาบาลวัยกลางคน ที่ยืนข้างๆ ถามหมอว่าจะต้องส่งคนไข้ต่อไปแผนกอายุรกรรมหรือไม่ เพราะการรักษาด้านสูตินารีเวชจบแล้ว

 

            หมอหนุ่ม หันไปปรึกษากับหมอรุ่นพี่ ที่เรียกมาช่วยด่วนในช่วงที่แม่วิกฤติ คุยกันอยู่สักครู่แล้วหมอรุ่นพี่ก็สรุปว่า 

 

            “ให้คนไข้อยู่ที่นี่แหละ ไม่ต้องย้าย เตียงยังว่าง ให้หมอเขาเดินมาหาเอา คุณยายจะได้ไม่ลำบาก ลงไปที่โน่น (อายุรกรรม) ก็ไม่รู้ว่าจะมีเตียงหรือเปล่า” หมอสั่งพยาบาล   พร้อมหันมาพูดกับฉันว่า

 

            “โชคดีหน่อยนะเพราะตอนนี้คนไข้ไม่เยอะ ให้นอนที่นี่ก็พอไหว ยังไง จะได้ดูแลกันทั่วถึงหน่อย”

 

            หมอรุ่นพี่ คุยกับฉันต่ออีกพักใหญ่ เพื่อให้ภาพรวมของอาการที่เกิดขึ้นกับแม่ ว่าจะต้องรับการรักษาอย่างไรต่อไปและมีหมอด้านไหนมาเกี่ยวข้องบ้าง พร้อมๆ กับการซักประวัติก่อนเข้ารพ.เพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ หมอเป็นคนเล่าและคุย ในขณะที่ฉันแทบจะไม่ได้เป็นคนถามอะไรเลย

            แต่ประโยคปิดท้ายของการพูดคุย    ทำให้ฉันต้องอึ้ง  รู้สึกเหมือนมีก้อนแข็งๆ มาจุกอยู่ที่ลำคออย่างกะทันหัน

 

            “มีอะไรจะถามหมออีกไหม ?”

 

            ฉันไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้ยินคำถามนี้จากหมอ หลังจากเขาใช้เวลาอยู่กับคนไข้นานนับชั่วโมง และคุยกับฉันนานกว่า 15 นาที เพื่อให้ข้อมูลอย่างละเอียดเท่าที่จะทำได้ แล้วยังมีแก่ใจถามว่า มีสิ่งที่คั่งค้างหรือสงสัยอยู่ในใจอีกหรือไม่

 

ถ้อยคำสั้นๆ เพียงประโยคเดียว แต่มีความหมายเหลือเกินสำหรับญาติ หัวใจที่แห้งผากจากความหวั่นวิตก หดหู่และกังวลก่อนหน้านี้  เหมือนได้รับหยาดน้ำทิพย์มาชะโลมให้ชุ่มฉ่ำขึ้นได้อย่างทันทีทันควัน

 

            ฉันเงียบไปชั่วอึดใจ ก่อนจะตอบว่า  “ตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ หมออธิบายได้ชัดเจนมาก”

 

            “งั้นต่อไป ถ้าสงสัยอะไร ก็ถามได้นะ ไม่ต้องเกรงใจ”    หมอรุ่นพี่กล่าวต่อในเชิงสัพยอก แล้วเดินจากไป   ทิ้งให้ฉันอยู่กับรอยยิ้มที่ผุดขึ้นบนริมฝีปาก และเป็นยิ้มแรกหลังจากผ่านพ้นนาทีวิกฤตในชีวิตของแม่ตลอดวันที่ผ่านมา

 

………………………………………………..

 

            เกือบสองอาทิตย์ที่แม่ต้องนอนรพ. แผนกสูตินารีเวช  แต่การรักษาหลักคือด้านอายุรกรรม  หมอหนุ่มเจ้าของไข้ แวะเวียนมาดูแลทุกวัน สลับกับหมอรุ่นพี่ที่ตรวจเตียงข้างๆ แต่มีน้ำใจถามไถ่อาการวันละสองเวลาไม่เว้นเสาร์อาทิตย์  ทำให้ฉันรู้สึกอุ่นใจ

 

 แม้จะงุนงง กับระบบในรพ. อยู่บ้าง  เพราะนอกจากหมอเจ้าของไข้แล้ว ยังมีหมอเฉพาะทางด้านอื่นๆ ที่หมุนเวียนกันมาซักถามอาการโดยเฉพาะในช่วงแรกถี่ยิบ แล้วแต่ว่าคนไหนอยู่เวร เมื่อเปลี่ยนเวรเป็นคนใหม่ก็ถามใหม่   จนทำให้ฉันซึ่งเฝ้าไข้ต้องเวียนหัวกับการตอบคำถามซ้ำๆ  จากหมอแต่ละคน  ไม่นับรวมกลุ่มนักศึกษาแพทย์  ที่ถูกส่งตัวขึ้นมาฝึกการซักประวัติคนไข้ คนแล้ว คนเล่า  เกิดความคิดขำๆ ว่า  พวกหมอๆ เขาไม่มีการส่งต่อเวร หรืออ่านแฟ้มประวัติคนไข้กันหรืออย่างไร  แต่ก็ไม่เคยมีสักครั้ง ที่ฉันจะรู้สึกหงุดหงิด หรือรำคาญใจกับการตอบคำถาม  เพราะคิดเสมอว่า ยิ่งให้ข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการรักษาแม่เท่านั้น  และยิ่งเห็นท่าทางของนศ.แพทย์เด็กๆ ที่ยังดูกริ่งเกรงใจคนไข้  กล้าๆ กลัวๆ ในการคุย ก็ยิ่งเกิดความรู้สึกเอ็นดู คิดแต่เพียงว่า เราคือส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาเป็นหมอที่เก่งขึ้นในอนาคต ก็ยิ่งมีกำลังใจจะชวนคุย 

 

ในระหว่างการรักษา ฉันถามพยาบาลว่า ในเมื่อมีหมอหัวใจและอายุรกรรมที่มาหาเป็นประจำอยู่แล้ว แถมอยู่ในรพ.เดียวกันทำไมไม่แจ้งให้หมอคนดังกล่าวขึ้นมาดูคนไข้ แทนที่จะเป็นหมอเวร ผลัดเปลี่ยนกันมา  ซึ่งต้องเริ่มต้นใหม่ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า     คำตอบที่ได้รับคือ  เป็นระบบของรพ. ที่ออกแบบไว้อย่างนี้  อาจารย์หมอนอกเวลา จะไม่ขึ้นมาตรวจคนไข้บนตึก เขาแยกส่วนกัน  แต่เดี๋ยวตอนได้กลับบ้าน  เขาก็จะนัดให้ได้เจอหมอประจำต่อไปเองนั่นแหละ

 

ฉันก็ได้แต่.... อ้าว....... แล้วไหงต้องให้คนไข้เจอหลายหมอด้วยล่ะ  ในเมื่อรักษาอาการเดียวกัน และมีประวัติอยู่แล้ว  ......

 

คำตอบที่ได้รับ แม้ไม่สามารถเข้าใจหรือยอมรับในตรรกะ การรักษาแบบนี้ได้  แต่ก็จำต้องยอมรับโดยไร้ข้อต่อรอง

.........................................................................................

 

ฟ้าด้านนอกมืดสนิท  ถนนว่างและโล่ง  รถแล่นสวนไปมาประปราย   อาจเป็นเพราะตอนนี้ เป็นเวลาเกือบสามทุ่ม  ฉันเพิ่งขับรถพาแม่ออกจากโรงพยาบาล หลังจากรับยาเพิ่มตามที่หมอโรคหัวใจสั่งให้   แอร์เย็นฉ่ำในรถและความรู้สึกที่ว่า ภารกิจวันนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวและโกรธเคือง ที่เกิดขึ้นจากท่าทีไม่ยี่หระคนไข้ของหมอเริ่มคลี่คลายลง  เหลียวมองไปดูที่นั่งข้างตัว  แม่นั่งคอเอียง หัวพิงกระจกหน้าต่างรถ  หลับไปแล้วด้วยสีหน้าที่อ่อนเพลีย  ขนาดฉันที่ว่าแข็งแรง ก็ยังรู้สึกเหนื่อย แล้วแม่อายุขนาดนี้ ต้องมานั่งแกร่วรอเจอหมอนานหลายๆชั่วโมง   จะเป็นอย่างไร 

 ฉันคิดในใจว่าก่อนถึงบ้านจะไปแวะตลาดโต้รุ่งที่ไหนดี เพื่อหาโจ๊ก หรือเครื่องดื่มร้อนๆ  ให้แม่กิน  พรุ่งนี้จะได้ให้เขาตื่นสายหน่อย ชดเชยที่นอนดึก

 

 แสงไฟส่องทางบนถนน  มืด สว่าง  มืด สว่าง เป็นจังหวะตามความเร็วที่รถแล่นผ่าน  เฉกเช่นชีวิตคนเรา  ต้องมีมุมที่เจอกับเรื่องราวด้านมืด และมุมของด้านดีหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป 

 

“ไม่เป็นไร ครั้งต่อๆไป ก็คงจะมีคราวที่ดีบ้าง”   ฉันรำพึงออกมาเบาๆ ก่อนจะเร่งเครื่อง เพิ่มความเร็วของรถขึ้นอีกนิด ทิ้งโรงพยาบาลและความขุ่นมัวไว้เบื้องหลัง

..................................................

น.ส.โสภิต หวังวิวัฒนา

คศน. 038 

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

คำสำคัญ (Tags): #คศน.#ผู้นำ#NewLeader
หมายเลขบันทึก: 486839เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท