รองเท้าเปียกกับสุนทรียภาพของชีวิต


“ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร”

รองเท้าเปียกกับสุนทรียภาพของชีวิต

 เวลาบ่ายคล้อย รถตู้พาสุรพลกับเพื่อน ๆ   มาถึงบนยอดดอยแห่งหนี่งในจังหวัดเชียงราย ข้างทางก่อนรถจอดมีป้ายชื่อว่า “มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา” เขาก้าวลงจากรถเดินผ่านไปในละอองหมอกฝนที่หนาวสะท้านเขานึกขัดแย้งในใจว่าเวลานี้คือปลายเดือนมีนาคม

สุรพลเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพ สองปีมานี้เขาแสวงหาคำตอบอะไรบางอย่างในชีวิตและสังคม หลังจากที่เขาเข้าไปเป็นตัวแทนบุคลากรเพื่อทำงานในสภาคณาจารย์ เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่เขาเป็นทั้งเคยเป็นนักศึกษาใหม่เมื่อ 20 ปีก่อนที่มีความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่แต่ตอนนี้แทนที่ด้วยอาคารสูงมากมายพร้อมกับพื้นปูนที่ร้อนระอุทั่วมหาวิทยาลัย มิตรภาพภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่เขาเคยเห็นก็ถูกแทนที่กฎระเบียบการทำดัชนีตัวชี้วัดและการนับชั่วโมงภารงาน การเกื้อกูลระหว่างผู้บริหารกับบุคลากรกลายเป็นการร้องเรียนกันไปมา และไม่นานมานี้เองอาจารย์ท่านหนึ่งก็ถูกสภามหาวิทาลัยเห็นดีเห็นงามให้ออกจากราชการตามคำแนะนำของผู้บริหารเพราะการเขียนบทความวิชาการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสรรหาอธิการบดี สุรพลได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยแต่ก็เป็นผล  การได้มาบนยอดดอยครั้งนี้จึงเป็นการได้ทบทวนและหาคำตอบถึงการทำงานและการต่อสู้กับระบบที่เป็นอยู่ที่ผ่านมา

แต่ทว่าการขึ้นมายอดดอยครั้งนี้สุรพลต้องเผชิญกับการต่อสู้ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ต่อสู้กับความอยุติธรรมกับใครที่ไหน หากกำลังต่อสู้กับความสับสนภายในห้วงความคิดของตนเองกับเฉกเช่นเดียวกับการต่อสู้ของหมอกฝนที่หนาวเหน็บกลางบรรยากาศฤดูร้อนบนยอดแห่งนี้

“เราจะเริ่มเข้าสู่หมู่บ้านทางประตูผี” เสียงของจะแฮ เจ้าของบ้านที่พาพวกเรามาที่แห่งนี้  และนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สุรพลได้เดินชมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชนเผ่าบนยอดดอยแบบนี้ เขาเดินผ่าน บ้านลักษณะต่าง ๆ ทำด้วยไม้ใผ่บ้าง ไม้กระดานบ้าง ที่จั่วมีกาแลที่ตกแต่งบ้างไม่ตกแต่งบ้าง ผ่านไปยังประตูของผู้นำชนเผ่าที่มีเสาของแต่ละคน บ้างมีลวดลายบ้างธรรมดา จนมาถึงเสาชิงช้าสถานที่ศักสิทธิ์ของชาวบ้านที่มีความเคารพต่อผีผู้ที่ถูกเชื่อว่าเป็นผู้สร้างพวกเขาขึ้นมา สถานนี้เหล่านี้ห้ามไม่ให้พวกเราสัมผัสแตะต้อง  จะแฮ พาขึ้นไปเดินชมบ้านชาวบ้าน บ้านหลังแรกเป็นบ้านไม้ไผ่  เราเดินขึ้นบันไดทะลุผ่านห้องนอนไปถึงห้องครัวที่มืดทึบเห็นมีกองไฟอยู่กลางห้อง ที่มุมห้องครัวมีเด็กหญิงวัยรุ่นยืนพูดคุยด้วยที่มุมนั้นมีผ้าม่านเล็ก ๆ กั้นเป็นห้องส่วนตัวของเธอด้วย  ก่อนจะค่ำสุรพลได้มีโอกาสเยี่ยมบ้านหลังที่สอง หลังนี้เป็นไม้กระดานแน่นหนา บนบ้านมีเครื่องนอนและเครื่องมือทำไรทำสวนอยู่สองสามชิ้น เจ้าของบ้านเป็นผู้นำหมู่บ้านกำลังชงน้ำชา เพื่อต้อนรับพวกเรา พวกเรานั่งล้อมวงคุยกับเจ้าบ้านพร้อมได้จิบน้ำชาร้อน ๆ รสชาติเข้มข้น เป็นชาที่อร่อยมากเป็นจะแฮบอกว่าเป็นชาที่เจ้าของบ้านปลูกเอง เจ้าของบ้านตอบคำถามคณะผู้มาเยือนอย่างไม่เบื่อหน่าย

ตะวันลับขอบฟ้ายอดดอยไปแล้ว สุรพลเดินออกจากหมู่บ้านแต่ใจเขายังอยู่ติดค้างอยู่ที่หมู่บ้าน เกิดคำถามในใจว่าชีวิตคนคนหนึ่งที่เรียกว่าเป็นชีวิตที่ดีที่เต็มเปี่ยมเป็นอย่างไร ชาวเขาที่เกิดที่นี่ตายที่นี่เขามีมีชีวิตที่ดีที่เต็มเปี่ยมเหมือนกับคนพื้นราบหรือไม่ เป็นความรู้สึกสับสนในใจของอาจารย์ผู้นี้ เขารู้สึกประหลาดใจว่าจริงแล้วเขาต้องการขึ้นมาหาคำตอบต่อชีวิตและสังคมต้องการมาความหมายของคำว่าสุนรียภาพในชีวิตจากโจทย์ของการหลักสูตรที่อบรมที่พาเขามายังที่แห่งนี้   แต่คำถามกลับผลุดลอยมาในความคิด

 

“ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร”

“ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร”

“ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร”

 

คำถามวนเวียนอยู่ในห้วงลึกของจิตใจของสุรพลอาจารย์เขารับรู้การมีอยู่ของมัน เขาไม่ได้คิดว่าจะหาคำตอบได้ในวันนี้พรุ่งนี้ เขาต้องการเพียงการขึ้นมาครั้งนี้ได้ดื่มด่ำกับขุนเขา ยอดดอยและป่าไม้ที่สวยงามที่อยู่รายรอบในที่แห่งนี้

อาหารเย็นมื้อแบบพื้นบ้านในค่ำคืนนี้ช่างมีรสมีชาติชนิดที่ไม่อยากนึกถึงอาหารที่กินที่โรงแรมแบบมาตรฐานหลายดาวเมื่อสองวันก่อนราคาก็แพงกว่าแต่เขากลับไม่รู้สึกว่าอยากกินอีก หลังจากดื่มด่ำกับรสชาติอาหาร จะแฮผู้เป็นเจ้าภาพพาคณะผู้มาเยือนไปชมการแสดงดนตรีของเด็ก ๆ  นักเรียนนักศึกษาที่เป็นชาวเขาชนเผ่าต่าง ๆ  มีเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดประกอบคำร้อง การเต้นและการแสดงประกอบสะท้อนวิถีชีวิตและการได้รับความไม่เป็นธรรมการแสดงทำให้หลายคนน้ำตาซึมการเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดและความประทับใจในฝีมือการแสดงความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็ก ๆ  เขาอดไม่ได้ที่จะเปรียบการแสดงของเด็ก ๆ ชุดนี้กับการแสดงที่ได้จัดไว้ให้ชมที่พื้นราบก่อนขึ้นมา ที่สำคัญเมื่อการแสดงจบผู้ชมได้เข้าไปพูดคุยซักถามกับเด็ก ๆ เหมือนได้สัมผัสกับศิลปินอย่างใกล้ชิด ได้ลองจับลองเล่นเครื่องดนตรีเป็นเหมือนเด็กน้อยได้ของเล่นใหม่

คืนนี้แม้เขาจะอยู่ท่ามกลางสนามหญ้าบนยอดเขาแต่ก็ไม่มีดาวให้เห็นเพราะเมฆฝนที่ลอยไปมา เขาเลือกนอนในเต้นท์ผ้าใบแม้ว่าจะเสี่ยงต่อฝนตกที่จะตกมากลางดึก  สุรพลใช้ฟูกบาง ๆ ปูบนพื้นดินที่เอียงลาดเล็กน้อย เขานอนฟังเสียงเม็ดฝนที่ตกลงมาปะทะกับหลังคาเต้นท์ผ้าใบเสียงดัง แปะ แปะ แปะ ท่ามกลางความมืดมิดในคืนฟ้ามีแต่เมฆหมอกไร้แสงใด ๆ  ในห้วงความคิดกับสิ่งที่ผ่านมาในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในวันนี้ ความงามของทิวเขาและป่าไม้ วิถีชีวิตชาวเขาชนเผ่า อาหารเย็นมื้อที่แสนอร่อย เสียงดนตรีและการแสดงที่ซาบซึ้ง ที่นอนที่อบอุ่นกลางลานหญ้า เสียงเม็ดฝนที่ได้ยินตอนนี้ก้องสะท้อนมายังภวังค์ก่อนหลับว่า “ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร”  

ที่ระเบียงด้านหลังศาลา สุรพลนำกล้องถ่ายรูปมาถ่ายภาพยามเช้าเหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ พระอาทิตย์สีแดงสดค่อย ๆ เคลื่อนขึ้นจากขอบฟ้า เลื่อนไหลสลับกับเมฆที่เคลื่อนย้ายบ้างหยุดบ้างเหมือนกำลังเล่นซ่อนหากันบางทีก็โผลแต่แสงประกายออกมาไม่เห็นดวง บางทีก็เห็นเป็นจุดแดง ๆ สักพักจึงโผล่พ้นเมฆออกมาเป็นลูกไฟแดงสดลอยอยู่เหนือยอดดอยที่เรียงรายสูงต่ำจะแฮบอกว่ารูปทรงเหมือนจระเข้นอนทอดอยู่

ศาลาแห่งนี้เป็นที่ที่สุรพลได้สัมผัสความสวยงามของชีวิตบนยอดดอยมาตั้งแต่เมื่อคืน เช้านี้ทำให้เขาได้เห็นศาลานี้ชัดเจนขึ้นว่ามีสองชั้นชั้นล่างเหมือนจะลงไประดับใต้ดินมีห้องพักและห้องน้ำ ทางเข้าด้านหน้ามีต้นอโศกต้นใหญ่ขึ้นอยู่ด้านหน้า ด้านหลังหันไปทางทิศตะวันออกเป็นพื้นระเบียงมีเสากั้นเป็นที่ชมพระอาทิตย์และทิวทัศน์บนยอดดอย มันเป็นแหล่งค้นหาสุนทรีภาพของผู้คนโดยแท้

สุรพลนั่งบนเก้าอี้ที่ระเบียงพร้อมดินสอและกระดาษวาดเขียน เขามองข้ามรั้วระเบียงของศาลาออกไปยังทิวเขา เขาวาดรั้วระเบียงลงบนกระดาษก่อนที่จะค่อย ๆ วาดต้นไม้และต้นไผ่ที่อยู่นอกกำแพงและไกลออกไปยังยอดดอยรูปจระเข้ตัว เมื่อวาดเสร็จแล้วก็พบว่ารั้วระเบียงในภาพมันใหญ่มาก ใหญ่กว่าดอยเขารูปตัวจระเข้เสียอีก ทำให้หวนคิดถึงอิทธิพลการจัดวางความไกลความใกล้ของสิ่งต่าง ๆ ในศิลปะการวาดรูปกับอาจารย์เทพศิริและจัดแสงในการแสดงละครเงา ห้วงความคิดก็ติดตามมา  “ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร”

การขึ้นดอยมาครั้งนี้หากไม่ได้พบกับครูแดงหรือคุณเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิการมาครั้งนี้ก็คงไม่สมบูรณ์และในความเป็นจริงสุรพลก็ได้ประจักษ์กับใจตัวเองชนิดที่เขาไม่ได้คาดคิด ตอนนั้นเป็นเวลาสาย ๆ คณะผู้เดินทางนั่งล้อมวงเพื่อสนทนากับครูแดง และเป็นเจ้าของหนังสือ “แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน” หนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานจิตอาสาให้หลาย ๆ คน ล่าสุดครูแดงทำงานเป็นวุฒิสมาชิก สุรพลเคยได้ยินว่าคุณเตือนใจ เคยพูดในปาฐกถาโกมล คีมทองด้วย เขาดีใจมากที่จะได้เจอ ครูแดงใส่เสื้อคอปิดสีเรียบร้อยนั่งตัวตรงดูสง่ากับพื้นรองด้วยฟูกเตี้ย ๆ ครูแดงนั่งติดกับเก้าอี้ที่มีอาจารย์หมอวิชัย โชควิวัฒน์ ผู้อาวุโส เดิมจัดให้ครูแดงนั่งเก้าอี้ด้วยแต่ท่านขอนั่งที่พื้น การพูดคุยเริ่มด้วยกล่าวแนะนำครูแดงโดยอาจารย์หมอวิชัย ท่านกล่าวยกย่องครูแดงโดยพูดถึงเรื่องราวของเจ้าหญิงอัตสึที่ฉายในทีวีไทยเป็นผู้หญิงซึ่งปรับเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นในยุคก่อน  และพูดถึงการเป็นคนพูดจริงทำจริงของครูแดง และครูแดงได้เล่าเรื่องราวของการทำงานเพื่อพัฒนาชาวเขาตั้งแต่จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาเป็นบัณฑิตอาสาจนกระทั่งถือกำเนิดเป็นมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา บรรยากาศในศาลาขณะนั้นอยู่ท่ามกลางหมอกเมฆแห่งความหนาวเย็นที่พัดผ่านกลางวงสนทนาเหมือนพวกเราคุยกันในก้อนเมฆ อากาศรอบ ๆ เย็นมากจนหลายคนต้องเอาผ้าห่มมาคลุ่มให้มิดชิด การได้ฟังเรื่องเล่าบนบรรยากาศเช่นนี้ทำให้สุรพลจำไปได้อีกนานเมื่อ เข้าใจคำว่าหนาวของครูแดงในช่วงที่ท่านทำงานกับชาวบ้านที่นี่เมื่อ 20 กว่า ปีก่อน

ความหนาวสะท้านทำให้สุรพลต้องค่อย ๆ เดินออกจากวงสนทนาเพื่อมาเข้าห้องน้ำข้างล่าง ขณะเดินมาก็พบว่า ครูแดงเดินตามหลังมาจะเข้าห้องน้ำอยู่ชั้นล่างเช่นกัน เมื่อสุรพลเดินมาถึงทางเข้าพบว่าบนพื้นหน้าทางเดินเข้าห้องน้ำ มีรองเท้าแตะสำหรับเปลี่ยนเข้าห้องน้ำ  วางอยู่สองคู่ คู่หนึ่งเปียก และอีกคู่หนึ่งแห้ง สุรพลเลือกที่เดินเท้าเปล่าไม่ใส่รองเท้าเพื่อที่จะเหลือคู่ที่แห้งไว้ให้ครูแดง แต่เมื่อเดินกลับออกมาก็ไม่เห็นร้องเท้าทั้งสองคู่บนพื้นที่เดิม แต่กลับเห็นรองเท้าคู่ที่เปียกตั้งขึ้นทั้งสองข้างที่ผนังหน้าห้องน้ำ เห็นรอยน้ำซึมออกจากรองเท้ารอบ ๆ  สุรพลแว๊บในใจทันทีกับคำถามที่เกิดขึ้นบนดอยแห่งนี้ “ชีวิตที่ดีงามคืออะไร สุนทรียภาพคืออะไร” แล้วเขาก็ก้าวเท้าเดินกลับไปยังวงสนทนาด้วยปลื้มปิติในใจ

… ในวงสนทนาสุรพลหวนจินตนาการถึงวินาทีที่ครูแดงจะว่าไปแล้วก็มีตำแหน่งเป็นถึงวุฒิสมาชิกเป็นผู้สร้างมูลนิธิแห่งนี้และเป็นอีกหลาย ๆ ตำแหน่ง กำลังก้มตัวลงเอามือหยิบรองเท้าคู่ที่เปียกมาตั้งพิงที่ผนังข้างห้องน้ำเพื่อให้มันแห้งไว้รองรับคนที่จะเข้าห้องน้ำคนต่อไป

ผู้เขียนจึงไปเอากล้องมาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกในช่วงขณะของความทรงจำ

หลังจากคนเก็บตั้งรองเท้าที่เปียกกลับออกไปแล้ว

 

นพ. สุธีร์ รัตนะมงคลกุล

คศน. 027

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

คำสำคัญ (Tags): #คศน.#ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 486752เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท