สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน...


สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน... โดย วินทร์ เลียววาริณ
                 สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน... โดย วินทร์ เลียววาริณ
                       น่าแปลกที่จะมีหนังสือสักเล่มที่อ่านครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่รู้สึกเบื่อ หนึ่งในจำนวนหนังสือเหล่านั้นคือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” เล่มที่อยู่ในมือนี้ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนจัดเป็นหนังสือเก่าเก็บ เพราะมีอายุยาวนานเป็นหลัก 10 ปีขึ้นไปแล้ว หนังสือถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ (South East Asian Writers Awards) นั่นเอง และนี่ก็เป็นหนังสือซีไรต์เล่มที่ 2 ของ วินทร์ เลียววาริณ หลังจากเขานำ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ออกสู่สายตานักอ่าน และได้รับรางวัลซีไรต์ในปีพ.ศ.2540 หลังจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนเผยโฉมสู่สาธารณะชนในนามหนังสือรางวัลซีไรต์ เกิดกระแสตอบรับที่ดีในปีนั้นอย่างที่คาดไว้ ยิ่งตอกย้ำความเป็นกวีซีไรต์ของวินทร์ให้โด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขามีความสามารถในการเขียนหนังสือมากเพียงใด โดยเฉพาะหนังสือแนวสะท้อนสังคมนั้น เขาถือว่าเป็นแนวหน้าคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว
              ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ ต้องการสื่อเรื่องราวของสังคมมนุษย์และการตีแพร่ความจริงเบื้องลึกในจิตใจของคน หรือ “มนุษย์” ที่ถือว่าตนเป็นสัตว์ผู้มีปัญญาฉลาดล้ำกว่าผู้ใด ความขัดแย้งในระบบสังคมที่บ่มเพาะและขัดแย้งในตัวของมันเอง และยังเชื่อมโยงไปถึงความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวมนุษย์เองด้วย สิ่งเร้าภายในและภายนอกทำให้มนุษย์ต้องดิ้นหรือหลบหลีกจากความรู้สึก และบางครั้งมนุษย์ก็ตกอยู่ภายใต้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่มีศีลธรรม จริยธรรม เป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงออกมา จนกลืนกลายตัวตนของตนไป
               นอกจากภาษาที่สละสลวย เรียบง่าย แต่ดู..จริง..ในความรู้สึก วินทร์ เลียววาริณ ยังพยายามสอดแทรกความเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ให้กับผู้อ่าน โดยไม่ได้ยึดติดกับขนบการเขียนแบบเดิมมากจนเกินไป สังเกตจากเนื้อหาบางส่วนที่เขาเปลี่ยนลักษณะการเขียนให้แตกต่างออกไป เช่น การสร้างงานเขียนที่ใช้ ‘คำ’ แทนการเขียนในรูปประโยคธรรมดาๆ และใช้เครื่องหมาย ‘/’ ในการแบ่งแยกคำแต่ละคำออกจากกัน หรือจะเป็นการใช้การ ขีดฆ่า ตัวอักษรก็ตามที สิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบของงานเขียนสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็ให้ความคิดและความรู้สึกอะไรบางอย่างกับผู้อ่าน นอกจากนี้การนำบทความและเรื่องสั้นตัดสลับกันในระหว่างเรื่องของทุกๆเรื่อง ก็ถือเป็นความชาญฉลาดของผู้เขียน ซึ่งทำให้ผู้อ่านมองเห็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้ชัดเจนขึ้น เกิดการตั้งคำถามในขณะอ่านเนื้อเรื่องและเกิดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่ออ่านจบ ความร่วมสมัยอย่างหนึ่งที่ยังคงอยู่ คงจะเป็นเนื้อหาในเรื่องการสะท้อนปัญหาในด้านต่างๆทางสังคม ความเกี่ยวพันธ์ของชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติรอบๆข้าง ซึ่งเขาทำได้ดีเยี่ยม
               สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เป็นทั้งบทความที่ดี และเรื่องสั้นที่น่าสนใจ เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราได้อะไรจากการอ่านวรรณกรรมเล่มนี้ แต่วรรณกรรมเล่มนี้เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนตัวตน และเป็นเสียงบอกเล่าเสียงหนึ่งที่เชื่อมโยงความคิดของเรากับสังคมที่เรายืนอยู่ เมื่ออ่านจบ..เราจะรู้เองว่าเราได้อะไรจากมุมมองใหม่ๆของหนังสือเล่มนี้...

 

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 486601เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2012 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท