การทำให้พนักงานเกิดความรักในงาน (Employee work passion) (ตอนจบ)


วันนี้ผมจะขอเขียนเรื่องราวต่อจากเมื่อคราวที่แล้ว เกี่ยวกับงานวิจัยของ Ken Blanchard ซึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับการสร้างความรักในการทำงานของพนักงาน (Employee Work Passion) ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้พนักงานรู้สึกรักในการทำงานของตนเอง ซึ่งเมื่อคราวที่แล้วผมได้เขียนเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านองค์กร ว่า องค์กรจะต้องบริหารจัดการในเรื่องอะไรบ้างที่จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกรักที่จะทำงาน http://wp.me/pBmlU-K2

วันนี้ก็มาต่อในเรื่องของปัจจัยของตัวงานมันเองบ้างว่า เขาวิจัยกันว่าอย่างไรในเรื่องของตัวงานมันเองที่จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกรักที่จะทำงาน

  • Meaningful work พนักงานต้องรู้สึกว่างานที่เขาทำอยู่นั้น มีความหมายต่อความสำเร็จของหน่วยงาน และองค์กรด้วย นั่นแปลว่าหัวหน้างานจะต้องสร้างความรู้สึกนี้ให้กับพนักงานให้ได้ ทุกงาน ทุกตำแหน่งล้วนแต่มีความหมายทั้งสิ้น อยู่ที่ตัวหัวหน้าจะสื่อความอย่างไรให้กับพนักงานรู้สึกได้ว่างานที่เขาทำอยู่นั้นมันมีความหมายต่อความสำเร็จของหน่วยงานและองค์กร เมื่อพนักงานรู้สึกเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะรักในงานที่ทำมากขึ้น ก็เพราะเขารู้สึกว่างานของตนเองนั้นมีความสำคัญต่อคนอื่น และหัวหน้างานก็ยังให้ความสำคัญต่องานนี้ด้วยเช่นกัน
  • Autonomy คือพนักงานจะต้องได้รับอิสระพอสมควรในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างานในการทำงานนั้นๆ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำอะไรก็ต้องถูกสั่ง และถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา หรือจะทำอะไรก็ต้องไปขออนุมัติอยู่เรื่อยไป ถ้าลักษณะงานเป็นไปในลักษณะที่ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการที่จะคิด หรือทำ ได้เองบ้าง เขาก็คงจะไม่รู้สึกอยากทำงานนั้น และสุดท้ายก็คือ ไม่มีความรักที่จะทำงานนั้นเลย
  • Feedback พนักงานต้องการให้หัวหน้าของตนเองให้ Feedback เกี่ยวกับการทำงานของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยพูดคุยกันถึงผลของงานที่ผ่านมาเลย การที่พนักงานอยากได้ Feedback ก็เพื่อที่จะได้รับทราบว่าตนเองต้องพัฒนาในเรื่องอะไรบ้างที่จะทำให้งานของตนเองดีขึ้น รวมทั้งได้รับการชื่นชมจากหัวหน้าถ้าผลงานออกมาดีด้วย การให้ Feedback ที่ถูกต้องเหมาะสมจะทำให้พนักงานไม่รู้สึกเคว้งคว้างในการทำงาน และยังทำให้พนักงานรู้สึกถึงความใส่ใจของนายอีกด้วยนะครับ
  • Workload Balance คือปริมาณงานที่ได้รับมอบหมายจะต้องไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป มากเกินไปก็ทำให้เกิดความเครียดในการทำงานมาก เพราะมีแต่แรงกดดัน ทำงานแล้วไม่สนุก ก็เลยไม่รู้สึกรักที่จะทำงาน แต่ถ้าปริมาณงานน้อยเกินไป ก็ทำให้ว่าง ไม่มีอะไรทำ เหมือนตัวเองไร้คุณค่าในการทำงาน ก็ทำให้ไม่รักในงานที่ทำอีก ดังนั้นเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่จะต้องจัดสรรปริมาณงานให้กับพนักงานแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ลำเอียง เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่ได้ปริมาณงานมากมักจะเป็นคนที่ทำงานเก่งกว่า นายก็เลยเชื่อมั่นให้ทำ แต่มากเกินไปคนเก่งก็ล้าได้เหมือนกันนะครับ
  • Task Variety งานที่ทำมีความหลากหลายทั้งในแง่ของลักษณะงาน และความซับซ้อนของงาน ไม่ใช่เป็นงานที่ทำอยู่อย่างเดียวซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความท้าทายใหม่ๆ หรือมีแง่มุมในการพัฒนางานใหม่ๆ เกิดขึ้น ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการทำงาน และขาดความรักในการทำงานไปในที่สุด

นี่ก็คือ ปัจจัยที่จะสร้างความรักในการทำงานให้กับพนักงาน ซึ่งต้องสร้างทั้ง 2 มุมหลักๆ ก็คือ ในมุมขององค์กรเอง และในมุมของตัวงานเอง ถ้าสองอย่างนี้เข้าล็อคได้ พนักงานก็จะเกิดความรักที่จะทำงานให้กับองค์กรครับ

จากเกณฑ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็น่าเอามาพิจารณากับงานในบริษัทของเราเองเหมือนกันนะครับ ว่ามีอะไรที่เรายังขาดไป และต้องสร้างขึ้นมา เพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีในการทำงาน เพราะการที่พนักงานเข้ามาทำงานกับองค์กรนั้น สิ่งที่องค์กรจะต้องทำก็คือ สร้างบรรยากาศในการทำงานเพื่อให้ดึงเอาศักยภาพ และความสามารถของพนักงานออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผลงานของพนักงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งก็จะส่งผลต่อผลงานของหน่วยงาน และต่อองค์กรตามลำดับครับ

คำสำคัญ (Tags): #รักในงาน
หมายเลขบันทึก: 486567เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2012 06:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท