ความสามัคคี คือ หนทางอันประเสริฐ...


ความสามัคคี คือ หนทางอันประเสริฐ...

Large_cpac09

การประพฤติปฏิบัติธรรมให้ทุกท่านทุกคนให้พากันเข้าใจ เพราะว่าร่างกายของเรามันเป็นธรรมะ มันเป็นธรรมชาติ มันเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันไม่มีอะไรเป็นตัวของตัวเอง มันเกิดขึ้นมาได้เวียนว่ายตายเกิด มันก็เกิดขึ้นเพราะเรามีความหลงนะ...

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาตรัสสอนข้อวัตรข้อปฏิบัติ ได้แก่ หนทางอันประเสริฐ ๘ ประการ ได้แก่ มรรรคมีองค์ ๘ ก็มี ๑. ความเห็นชอบ ๒. ความดำริชอบ ๓. การพูดจาชอบ ๔. การทำการงานชอบ ๕. การเลี้ยงชีวิตชอบ ๖. ความพากเพียรชอบ ๗. ความระลึกชอบ และ ๘. ความตั้งใจมั่นชอบ...

ชีวิตของเราในชีวิตประจำวันมันจะเกี่ยวข้องกับ ๘ เรื่องนี้แหละ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง

Large_cpac18

ถ้าเราคิดถูกต้องเราก็ทำดี ถ้าเราคิดไม่ถูกต้องเราก็ทำผิด...

คนเรามันคิด มันนึก มันตรึกซะก่อน... บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้มันจึงเกิดจากความคิดของเรา เกิดจากเจตนาของเรา

บางทีเราคิดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เรื่องเก่า ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ถ้าเราคิดสิ่งไม่ดี บาป อกุศล มันก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราคิดในสิ่งที่ดี มันก็เพิ่มบุญเพิ่มกุศล

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาเน้นที่ใจที่ความคิด...

ใจของเรา ใครไม่รู้ความคิดของเรา เราก็รู้เอง “ใครไม่รู้ว่าเราคิดไม่ดี เราก็เป็นบาป ใครไม่รู้ว่าเราคิดดี เราก็เป็นบุญ”

คนเรามันก็คิดย่างนี้แหละทุก ๆ วัน มันเป็นเรื่องจำเจในชีวิต มันเป็นเรื่องสะสมบุญ สะสมบาป

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสในท้ายพระปาฏิโมกข์ไว้ว่า “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง”

เราก็ดี คนอื่นก็ดี ต้องพัฒนาความคิดของตนเอง คือพัฒนาความคิดความเห็นนี้แหละ

การศึกษาหาความรู้ตามหนังสือ ตำรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ ก็เพื่อที่จะพัฒนาความคิดความเห็นนะ

บางทีคนเรามันคิดไม่ได้ มันก็ต้องอาศัยหนังสือตำรับตำรา ต้องอาศัยท่านผู้รู้ ผู้ที่มีประสบการณ์มากมาบอก มาสั่ง มาสอน

Large_tonkla077

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาบอกเรา ถ้าอันไหนมันไม่ดี จิตของเรามันคิดขึ้นมา มันผุดขึ้นมา ก็ให้เราหยุดมัน เปลี่ยนความคิดใหม่ บอกไปว่ามันคิดไม่ได้ มันเป็นอกุศล เหมือนอาหารอย่างหนึ่งที่มันเป็นยาพิษ ถ้าเราบริโภคเข้าไป ร่างกายของเราต้องมีปัญหาแน่ ต้องได้รับอันตรายแน่

ความคิดของเราก็เหมือนกัน บางอย่างก็เป็นยาพิษ บางอย่างก็เป็นธรรมะโอสถ...

สิ่งไหนมันเป็นไปไม่ได้ เราก็อย่าไปคิดมัน เสียเวลา เสียสมองเปล่า ๆ เช่นเราอยากได้ดวงอาทิตย์ อยากได้ดวงจันทร์ อยากได้ดวงดาว เราก็อย่าไปคิดมัน เพราะคิดไปแล้วมันก็ไม่ได้

เราคิดไม่อยากให้มันแก่ คิดไม่อยากให้มันเจ็บ คิดไม่อยากให้มันตายอย่างนี้ “เราคิดแล้วมันก็ ไม่เป็นไปตามความคิด เราคิดแล้วมันไม่ได้อะไร แล้วเราจะไปคิดไปทำไม...?”

เราคิดอยากให้เรารวย มันก็ไม่ได้ เราก็ได้ตามอัตภาพ ตามการงาน

เราคิดอยากได้วันละพัน มันก็ไม่ได้ อยากได้มากก็ต้องเพิ่มกิจการงานขึ้นอีก
ไม่ใช่คิดไปให้ตัวเองเป็นทุกข์ ถ้าเราคิดไม่เป็นมันก็ทำร้ายตัวเอง หาความทุกข์ให้กับตัวเอง อยู่ดี ๆ ก็หาเรื่องหาราวให้กับตัวเอง

ลักษณะในการคิด พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดอย่างนี้...

การงานก็ให้ทำการงานที่ชอบ เป็นการงานที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน

Large_tonkla078

ปกติคนเราในชีวิตประจำวัน มันก็ทำแต่สิ่งที่เก่า ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ มันต้องนอน ต้องมีที่อยู่ที่นอน มันต้องจัดที่นอน ดูแลที่อยู่ที่นอน ดูแลห้องน้ำห้องสุขา ทำอย่างนี้ทุกวัน พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความสุขในการทำการทำงานอย่างนี้

เวลาเรากวาดบ้านก็ดี ทำอะไรทุกอย่างก็ดี ก็ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ใจของเรา อยู่กับการกระทำสิ่งนั้น เราทำช้า ทำเร็ว ก็ให้ใจเรามีสติ แล้วแต่เวลามันจะเร่งรัด

ให้เราเอาสติ เอาสมาธิ เอาการกระทำของเราเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม ลงรายละเอียดให้กับตัวเองให้มากขึ้น

เราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ...

เราทำอะไรอย่าไปหวังผลตอบแทน อย่าไปหวังคำว่าขอบคุณ มันมีความทุกข์ถ้าเราหวังผล มันมีความทุกข์ถ้าเราหวังคำว่า “ขอบคุณ...”

Large_2201201105

ให้เราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ จิตใจของเราจะได้สงบ จิตใจของเราจะได้เย็น อยู่กับการทำงาน

คนส่วนใหญ่ไม่รู้นะว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม การทำงานคือการทำความดี การทำงาน คือการเสียสละ การทำงานคือการฝึกตัวเอง ฝึกสติ

เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่นมันแค่ขั้นตอนหนึ่ง แต่ชีวิตของคนเรามันมีหน้าที่ที่มองเห็นเป็นหลักใหญ่ ๆ ตั้ง ๘ อย่าง

ยังมีคนเข้าใจผิดเยอะว่าไม่มีเวลารักษาศีล ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย...! อันนี้ก็เพราะว่าเรา ไม่เข้าใจเรื่องพระศาสนา ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรม

ในทุกหนทุกแห่งในโลกนี้นั่นคือการปฏิบัติธรรม...

เราปฏิบัติธรรมในที่ทำงาน เราปฏิบัติธรรมในที่บ้านของเรานั่นแหละ เราอย่าไปมีข้อแม้ว่า อยู่ในที่ทำงานปฏิบัติไม่ได้ มันมีแต่เรื่องวุ่นวาย

Large_2101201103

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาตรัสบอกพวกเราว่า ถ้ามันไม่มีสิ่งวุ่นวายต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราจะรักษาศีลไปทำไม เราจะมีโอกาสทำใจของเราให้มันสงบหรือ เราจะมีโอกาสทำใจของเราให้มันเย็นหรือ...?

ในบ้านในสังคมมันต้องมีทั้งคนดีคนไม่ดี เราจะได้มาปรับที่ใจ ปรับที่การกระทำ ปรับที่คำพูดของเรา

เราจะไปรอให้ปัญหาต่าง ๆ ให้มันหมด มันก็ไม่หมด เพราะมันเป็นโลก เป็นวัฏฏะสงสาร พอเรื่องเก่าจบ เรื่องใหม่ก็มาอีก เหมือนกับตัวเรานี้แหละ วันนี้ก็ทานอาหาร วันต่อไปก็ต้องทานอีก มันไม่จบ...

เราอย่าไปทุกข์ไปร้อนกับสิ่งต่าง ๆ ว่า สิ่งนี้มันก็ไม่ดี สิ่งนั้นมันก็ไม่ดี เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎของธรรมชาติ

Large_td5410

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรายึดเราถือ สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาทางตาทางหู ถ้าเราเอามาแบกมายึดมาถือ มันก็ทุกข์มาก ทุกข์จากขันธ์ ๕ มันก็ทุกข์มากอยู่แล้ว ทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจของเรามันก็มากอยู่แล้ว เราก็ยังเอาทุกข์ของคนอื่นมาแบกอีก

ที่เรามีปัญหา ที่เรามีความทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเรายังไม่รู้จัก เราเที่ยวไปแบกเอาทุกข์ของเขา ไปคิดแทนเขา เราเข้าไปมีส่วนร่วมหมด อย่างนี้เขาเรียกว่า “เป็นผู้เกิดมาแบกโลก...”

เรื่องเมตตานี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเราทุกคนต้องเจริญเมตตามาก ๆ เพราะทุกคนที่อยู่ ในครอบครัว อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในสังคม เขาก็มีทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งการดำรงชีวิตอยู่ เขาจะผิดบ้าง เราก็ต้องรู้จักสงสารเขา ให้ความเมตตาให้กำลังใจกัน อย่าไปซ้ำเติมกัน

เรานี่คิดผิดนะ...!

เราเผาตัวเองยังไม่พอ เรายังไปเผาคนอื่นอีก อย่างนี้แสดงว่าเราตกหม้อนรกตั้งแต่ยังไม่ตายนะ ถ้าตายแล้วก็ต้องตกหม้อใหม่อีก

เรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวใกล้ตัวอย่าไปมองข้าม...

เรื่องคำพูดนี้สำคัญมาก มีประโยชน์มาก ถ้าพูดดีก็เจริญ เจริญทั้งด้านจิตใจ เจริญทั้งหน้าที่การงาน ส่วนใหญ่แล้วเราได้รับอิทธิพลจากพ่อจากแม่ จากเพื่อนฝูง จากสังคมต่าง ๆ ในเรื่องการพูด

พระพุทธเจ้าท่านให้เราระวังตัวเองในเรื่องความคิดกับเรื่องคำพูด...

ปัญหาต่าง ๆ ที่เรามองเห็น ที่มันเกิดการขัดเคือง เกิดการแตกแยก เกิดความไม่สามัคคีนั้น มันเกิดมาจากคำพูด

ยกตัวอย่างเช่น โคนันทิวิศาล สมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคนามว่า นันทิวิสาล เป็นโคมีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่งได้เลี้ยงและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทนบุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ในวันหนึ่งจึงได้พูดกับพราหมณ์ว่า

Large_0502201105

"พ่อ จงไปท้าพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเราสามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้ พนันด้วยเงินหนึ่งพันกหาปณะเถิด"

พราหมณ์ได้ไปที่บ้านเศรษฐีและตกลงกันตามนั้น นัดเดิมพันกันในวันรุ่งขึ้น
ในวันเดิมพัน พราหมณ์ได้เทียมโคนันทิวิสาลเข้าที่เกวียนเล่มแรก เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่ม ที่ผูกติดกันซึ่งบรรทุกทราย กรวดและหินเต็มลำ แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า

"ไอ้โคโกง ไอ้โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้" ฝ่ายโคนันทิวิสาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น ก็คิดน้อยใจว่า "พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง ว่าโกง เรียกเราผู้ไม่โง่ ว่าโง่"

โคนันทิวิศาลจึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว ดังนั้นพราหมณ์จึงแพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ ปลดโคแล้ว ก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน ส่วนโคนันทิวิสาลเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า

"พ่อ ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม เคยเหยียบใครๆ เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่ เพราะเหตุใดท่านจึงเรียกเราว่า โคโกง โคโง่ ครั้งนี้ถือเป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของฉัน บัดนี้ ขอให้ท่านไปเดิมพันใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยเงิน สองพันกหาปณะ ขออย่างเดียว ท่านอย่าได้เรียกฉันว่า โคโกง โคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา ฉันจะไม่ทำให้ท่านเศร้าเสียใจ"

Large_0502201106

ดังนั้น พราหมณ์จึงได้ทำตามที่โคนันทิวิสาลบอก ในวันเดิมพัน พราหมณ์จึงพูดหวานว่า

"นันทิวิสาลลูกรัก เจ้าจงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด"

โคนันทิวิสาลได้ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยการออกแรงลากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไปตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่ ทำให้พราหมณ์ชนะพนันด้วยเงินสองพันกหาปณะ

พระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า คำหยาบ ไม่เป็นที่ ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน"

แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในกาลใดๆ เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลได้ลากสัมภาระอันหนักได้ ทั้งยังทำให้พราหมณ์ผู้นั้นได้ทรัพย์อีกด้วย ส่วนตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย" (ที่มาของชาดก “โคนันทิวิศาล http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt317.php)

 

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเจ้าของโคไม่ฉลาดในการใช้คำพูด...

อย่างเรานี้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคุณพ่อคุณแม่ เวลาใช้คำพูดกับลูก ใช้คำพูดกับผู้บังคับบัญชา ก็ขาดความเคารพ ขาดความยำเกรง พูดตรงไปตรงมา พูดขวานผ่าซาก น้ำเสียงก็ไม่ไพเราะ บางครั้งก็พูดดีอยู่แต่พูดมากเกินไป

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้พูดมากเกิน ถ้าใครพูดมาก ก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ๆ ให้บริกรรมว่า “หายใจเข้าก็อย่าพูดมาก หายใจออกก็อย่าพูดมาก”

ลูกเราโตพอสมควรก็รู้จักพูดให้กำลังใจ ยกยอปอปั้นให้เขาได้กำลังใจ เราจะเอาแต่ว่า เอาแต่บ่นเขามันไม่ได้

Large_tonkla080

ส่วนใหญ่มันร้อนรน กลัวลูกหลานทำออกมาไม่ได้ดี พ่อแม่บางคนนี้บ่นเก่งยิ่งกว่าพระสวดมนต์อีก พระสวดเก่ง ๆ ยังสู้พ่อแม่บ่นไม่ได้

เราต้องพัฒนาตนเองเรื่องคำพูด เด็กมันจำจากพ่อจากแม่ เพราะยิ่งพ่อแม่ใช้คำศัพท์ที่กลุ่มผู้ดี เขาฟังไม่ได้ เด็กมันติดนะ ศัพท์ต่าง ๆ นี้เราต้องมาดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์กับบุคคลที่อยู่รอบข้างเรา

เราทุกคนส่วนใหญ่มันพกระเบิดแต่ไม่รู้ว่าตัวเองพก บางคนพกตั้งหลายลูก ระเบิดมันอยู่ที่ปาก จึงเรียกว่า “ปากระเบิด...”

เช่นเราพูดไม่ดี พูดไม่เพราะ คนที่พูดแบบนี้เป็นลักษณะของเปรต ของยักษ์ ของมาร ของอสุรกาย ที่มันมาอยู่ในตัวของเรา

ความรู้เรื่องการพูดนี้ก็สำคัญ...

คนที่พูดดีมีประโยชน์ ถ้าเราพูดดีนี้ ผู้บังคับบัญชาก็เคารพรักนับถือ เพื่อนฝูงก็รัก ลูกน้องบริวารก็รัก ที่เราเรียนจบ ด๊อกเตอร์มา ถ้าเราพูดไม่ดี ไม่ถูกต้อง เราก็ปกครองใครไม่ได้ ปกครองได้ก็ไม่กี่คน เพราะถึงแม้เราจะมีความรู้มากแต่ในใจเขารับไม่ได้

คนบางคนเป็นคนที่เก่ง เป็นคนฉลาด มีความสามารถ พูดจาฉะฉาน แต่ว่าอาภัพเพราะเป็นคน ที่ไม่ระมัดระวังเรื่องคำพูด คบค้าสมาคมกับใคร ๆ ไม่กี่ปีเขาก็พากันตีตัวออกห่าง มันเพราะอะไร..? ก็เพราะคำพูดนะ

ถ้าพูดด้วยความเมตตาออกจากใจ พูดด้วยความปรารถนาดี ผู้ฟังก็ฟังออก มันรับได้ “คำพูดมันเหมือนกัน อันหนึ่งมันออกจากปาก อันหนึ่งมันมาจากใจแล้วถึงออกจากปาก ...”

Large_td075

พระพุทธเจ้าท่านให้พัฒนาเรื่องคำพูด สิ่งที่แล้วก็แล้วไป เช่นเราเป็นเจ้านาย เราก็ชอบหลงตัวเอง ใครพูดใครแตะต้องก็ไม่ได้

ให้เราเอาอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านพูดดี พูดเพราะ พูดอ่อนน้อมถ่อมตนสมกับที่ ทุกคนต้องกราบไหว้ คำพูดใดพูดเพื่อที่จะให้เกิดความสามัคคีเราก็เอาความสามัคคีเป็นหลัก ถ้าอันไหน มันจะแตกแยก ให้เราหยุด ให้เรานิ่ง ถึงแม้ใครจะมาพูดหาเสียง หาคะแนน เราฟังแล้วก็แล้วไป

คนเรามันต้องการความรัก ต้องการเครดิต เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น เราไปอยู่ที่ไหนต้องมีบุคคลประเภทนี้อยู่ทุกหนทุกแห่ง

พระพุทธเจ้าท่านให้เราจิตใจหนักแน่น จิตใจไม่หวั่นไหว อย่าเป็นคนหูเบา ถ้าหูเบาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้ เป็นคุณพ่อคุณแม่ได้

เรื่องใหญ่ก็ให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเล็กก็ให้เป็นเรื่องเล็ก เพราะสิ่งต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

เรื่องความสามัคคีต้องมีในครอบครัวของเรา ต้องมีในที่ทำงานของเรา...

ครอบครัวที่มันล่มสลายก็เพราะพ่อแม่ชอบทุ่มเถียงกัน อย่างนี้เขาเรียกว่า “เผาครอบครัว” ถ้าเป็นโรงเรียน เป็นที่ทำงาน ก็ให้พากันรู้ไว้ว่า “พากันเผาบ้านเผาเมือง...”

พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้ไว้ว่ามันเป็นบาปใหญ่ เป็น “มหาบาป” ถึงแม้คิดไว้ในใจมันก็เป็นบาปอยู่แล้ว

Large_td069

ยกตัวอย่างเช่นในครั้งพุทธกาล ในวัดแห่งหนึ่ง ณ เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูปเป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่า “พระวินัยธร” อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า “พระธรรมกถึก”

อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำแล้ว ออกมาเจอพระธรรมกถึก จึงถามว่า “ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผม”

พระธรรมกถึกรับว่า “ใช่ มีอะไรหรือ”

“ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือเปล่า” พระวินัยธรกล่าว

 

“โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ” พระธรรมกถึก ยอมรับและยินดี “ปลงอาบัติ”

พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติ แล้วก็เดินจากไป

เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ภายหลังพระวินัยธรกลับไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธรก็ไปพูดกับลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกว่าอาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้

เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก จึงต่อว่าพระวินัยธรว่า “สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ ว่าต้องอาบัติ พระวินัยธร ก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน”

เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยม ทั้งสองฝ่าย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราบ แต่ทั้งสองฝ่าย ต่างก็ไม่ยอมเชื่อฟัง

พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ในป่าตามลำพัง โดยมีช้างปาลิเลยยกะ เฝ้าปรนนิบัติ

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรมไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันต่อต้านพระภิกษุเหล่านั้น โดยการไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไป พวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระภิกษุเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์ ครั้นออกพรรษาแล้วพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อขอขมา พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาทและอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคี แก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น...

Large_maekhanriver02 


 

เรามองดูแต่ละประเทศที่มันมีสงคราม ที่มันมีปัญหา อย่างประเทศเราทุกวันนี้ที่มันเดินขบวน กันบ่อย ๆ นั้น “มันกำลังเดินทางเข้าสู่อนันตริยกรรม มันเป็นกรรมหนัก...”

ถ้าเราจะเอาความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว มันไม่จบเรื่อง

วิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องทะเลาะกัน ต้องเอาความเมตตากัน สงสารกัน

ระเบียบก็ดี วินัยก็ดี มันเป็นการจัดสรรหมู่มวลมนุษย์ให้เกิดความสงบสุข
คนมีกิเลสมาก มีความโลภมาก มันต้องมีระเบียบวินัย แต่บางคนก็หาช่องโหว่ในระเบียบวินัย มาทะเลาะกัน

เรื่องความสามัคคีนี้สำคัญ บางที่พ่อบ้านแม่บ้านมองหน้ากันไม่ได้ มันต้องกลับไปแก้ตัวใหม่ หรืออย่างในที่ทำงาน คนอื่นเขาทะเลาะกัน เราก็ต้องรู้จักเฉย ๆ ไว้ เพราะไม่อย่างนั้นมันไม่จบ “ปัญญามันใกล้เคียงกัน...!”

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความสามัคคีทำให้องค์กรเราเจริญ ทำให้ประเทศชาติเราเจริญ เหมือนกับนิ้วมือหลายนิ้วนี้ช่วยกันทำประโยชน์ได้

ที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เพื่อจะปรับปรุงตัวเรานะ เมื่อเรากลับไปบ้าน กลับไปที่ทำงาน เราก็ต้องเอาใหม่ เราจะได้ละบาป และบำเพ็ญบุญใหม่...



 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันศุกร์ที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8022/

หมายเลขบันทึก: 486340เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2012 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท