คำถามที่ไม่ต้องการแค่คำตอบ


คนเราควรตายได้กี่ครั้ง? คำถามสั้นๆที่หลายคนอาจจะลังเลก่อนจะตอบ แต่การเดินทางในครั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองพอจะได้คำตอบอยู่บ้าง แม้จะไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งเสียทีเดียว

คำถามที่ไม่ต้องการแค่คำตอบ

 คนเราควรตายได้กี่ครั้ง? คำถามสั้นๆที่หลายคนอาจจะลังเลก่อนจะตอบ แต่การเดินทางในครั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองพอจะได้คำตอบอยู่บ้าง แม้จะไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งเสียทีเดียว

ช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ข้าพเจ้าได้รับโอกาสดีๆ เข้ามาหาความหมายของชีวิต ร่วมกับเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) รุ่นที่ 2 และในช่วงนี้เองที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานมูลนิธิพุทธฉือจี้

“ดูงานอีกแล้วหรือ? ”

ข้าพเจ้าเริ่มต้นตั้งคำถามลึกๆกับตัวเอง อาจเป็นเพราะการดูงาน เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้า รับรู้และพบเห็นจนชินชา ทั้งในแวดวงราชการ ไปกระทั่ง องค์กรท้องถิ่นต่างๆ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าได้ยินเสียงพูดเหน็บแนบจากชาวบ้านตาดำๆ ไปกระทั่งไกด์ทัวร์ของบริษัท หลายคนสะท้อนว่า “การดูงาน มันไม่ใช่การดูงานหรอก หากมันเป็นการผลาญงบประมาณเสียมากกว่า” เสียงสะท้อนดังกล่าว ตอกย้ำให้ข้าพเจ้าไม่ ตื่นเต้น กระตือรือร้น ไปกับการดูงานต่างๆมากนัก แม้จะรับรู้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะไปศึกษาดูงานที่ มูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่หลายๆคนพูดถึงมากมายก็ตาม

ได้เห็นและเริ่มเรียนที่จะรู้

ในช่วงแรกๆของการเดินทาง คณะดูงานได้พาข้าพเจ้าไปดูงานสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย ซึ่งแม้สถานที่นี้จะดูน่าสนใจ เพราะมีการนำเสนอผลงานและกิจกรรมต่างๆของสถานี แต่สิ่งที่สะดุดความคิดของข้าพเจ้ามากที่สุดกลับเป็นคำพูดง่ายๆแต่สวยงาม ที่หลั่งไหลออกมาจากไกด์และวิทยากรแต่ละท่าน

“อยากให้ร่ำรวย ให้ทำบุญเยอะๆ เพราะบุญจะรักษาเงินอยู่”

“อยากมีสติปัญญา ต้องเข้าไปร่วมกับเหตุการณ์จริงๆ เข้าไปทำจริงๆ”

“อยากมีสุขภาพดี แข็งแรง ต้องไปช่วยคนลำบาก”

ฯลฯ

 

  

วันรุ่งขึ้น คณะดูงานได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลซินเตี้ยนฉือจี้และสถานีรีไซเคิล คำสั่งสอนซื่อๆ ง่ายๆแต่สวยงาม ยังคงผ่านเข้ารูหูข้าพเจ้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ

“ผู้ป่วย คือคนทุกข์ แม้ผู้ป่วยเพียงหนึ่งคนก็อาจจะทำให้ครอบครัวยากจนลงได้”

“รอยยิ้มที่สวยงามที่สุดคือรอยยิ้มของผู้ป่วย”

“ฉันจะทำให้ดีที่สุดเพื่อคนอื่นๆ”

 

กระทั่งวันต่อๆมา คณะดูงาน ได้เดินทางไปโรงพยาบาลฉือจี้ เพื่อดูงานของเหล่าจิตอาสา คำสอนดีๆยังคง ทยอยมาอีกเรื่อยๆ

“โลกที่มีความรัก เราใกล้กัน”

“เราห้ามไม่ให้ผู้ป่วยตายไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้ผู้ป่วยมีความสุขสมหวังก่อนตายได้”

ฯลฯ

“เรามาดูงานเพื่ออะไร”

ข้าพเจ้ารีบตั้งคำถามนี้กับตัวเอง เพราะเกรงว่าหากตั้งคำถามช้าไปกว่านี้ ข้าพเจ้าอาจจะสำลักความดื่มด่ำของคำสอนเหล่านี้ จนอาจจะมองข้ามสิ่งอื่นๆไปเสีย

“เรามาดูงานเพื่อตั้งคำถามดีๆ ไม่ใช่มาหาคำตอบ” อาจารย์ใหญ่ที่เคารพ เตือนสติให้ข้าพเจ้าได้ฉุกคิด

“อย่าคิดว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร ให้คิดว่าอีกห้าปี เราอยากเห็นอะไร?” อาจารย์วิชัย อาจารย์ที่ข้าพเจ้าเคารพอีกท่านหนึ่ง ให้สติข้าพเจ้าอีกครั้ง

ตายอย่างมีค่า จากลาอย่างมีเกียรติ

 

ชีวิตของข้าพเจ้าผ่านเรื่องราวการจากลาอย่างกะทันหันของบุคคลอันเป็นที่รักหลายต่อหลายครั้ง จากเสียใจ โหยหา ในช่วงแรกๆ กลายเป็นความเข้าใจ ถึงการจากพราก และเป็นความชินชาในที่สุด แต่ในโอกาสที่คณะดูงานได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยฉือจี้ ข้าพเจ้าได้เห็นทั้งภาพ เสียงและเรื่องราวของบรมครูผู้ไร้เสียง มันทำให้ข้าพเจ้า สะดุด หยุดคิด และตั้งคำถามกับชีวิต

“ชีวิตมิใช่มีเพียงลมหายใจ ชีวิตมิใช่จบแล้วก็สิ้นไป เราไม่มีสิทธิที่จะครอบครองเรือนร่าง แต่เรามีสิทธิที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์” คำพูดง่ายๆแต่ได้ใจความของวิทยากร อธิบายความหมายของชีวิตได้อย่างดี

ภาพและเรื่องราวของเหล่าบรมครูที่ บอกกล่าวถึงความตั้งใจที่จะอุทิศเรือนร่างของตนเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์ แก่การศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ทำให้ข้าพเจ้าศรัทธาและชื่นชมในการเสียสละอันใหญ่หลวงของบรมครูแต่ละท่านมาก นอกจากนี้ เรื่องราวของแต่ละท่าน ยังสะท้อนถึงความกล้าหาญอันยิ่งใหญ่ ที่กล้าทวนกระแสวัฒนธรรมของเชื้อชาติจีนที่ไม่นิยมการบริจาคศพลงได้

“เรายินดีให้คุณหมอกรีดเรือนร่างคุณพ่อได้หลายครั้ง แต่ถ้าเรียนจบแล้ว ไม่อยากให้คุณหมอกรีดผิด แม้แต่หนึ่งครั้ง” คำพูดสั้นๆของลูกบรมครูผู้อุทิศเรือนร่าง ตอกย้ำถึงคุณค่าของบรมครูได้อย่างดี

อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ? ข้าพเจ้าคงไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนถูกต้องได้ทั้งหมดในเวลานี้ แต่ภาพการให้เกียรติบรมครู ภายหลังการจากลา ทั้งพิธีกรรม การเคารพ เทิดทูญ ในสิ่งดีงามที่เหล่าบรมครูได้ทิ้งไว้ รวมทั้งพลังการดำเนินการอย่างมีระบบ เป็นระเบียบของเครือข่ายฉือจี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าน่าจะมีส่วนอยู่บ้าง

แต่ที่ชัดเจนที่สุดในสายตาของข้าพเจ้าคือ พลังของคนที่จากลาไปแล้ว ยังสามารถส่งผลยังคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะ “มนุษย์สามารถส่งต่อความรัก ความดีงามได้ แม้กายจะจากลา”

 

 คำถามที่ไม่ต้องการแค่คำตอบ

ท่ามกลางคำถามภายในใจของข้าพเจ้า ที่ผุดขึ้นมาเป็นช่วงๆ ตลอดการดูงาน ข้าพเจ้าพยายามทบทวนชีวิตตนเองว่า เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตข้าพเจ้ามันจะเป็นเช่นไร

กิจกรรมก่อนการเดินทางมาดูงาน ของ Core Module 1: การเดินทางของชีวิตกับเวลาน้อยนิดที่เหลืออยู่ ผนวกกับการได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของเหล่าบรมครูผู้ไร้เสียงยิ่งทำให้ข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำหลายๆสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะทำ แต่ยังไม่ได้ลงมือเสียที

“การรวมพลังเครือข่ายในจังหวัดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีงาม”

“การเปิดพื้นที่สื่อสาธารณะในจังหวัด”

“การกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อสร้างสิ่งดีงาม แผ่ขยายไปรอบข้าง เพื่อให้เกิดสังคมที่ดีงาม”

ฯลฯ

คนเราควรตายได้กี่ครั้ง?

คำถามสั้นๆที่หลายคนอาจจะลังเลก่อนจะตอบ แต่การเดินทางในครั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองพอจะได้คำตอบอยู่บ้าง แม้จะไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งเสียทีเดียว

ข้าพเจ้าคิดว่า คนเราตายได้แค่หนึ่งครั้ง นั่นคือสิ่งที่เหมาะสมและเพียงพอแล้ว เพราะมันจะทำให้เราเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท แต่สิ่งที่มากกว่าคำตอบคือ หากเราเห็นคุณค่าของชีวิตแล้ว เราจะทำอย่างไร จะนั่งดื่มด่ำกับคุณค่าของชีวิต หรือลุกขึ้นมากทำสิ่งที่เป็นคุณค่าแก่ตนเองและผู้คนรอบๆข้าง แผ่ขยายออกไปในสังคม

 

ขอบคุณสำหรับโอกาสตลอดเส้นทางการดูงานในครั้งนี้ เพราะนอกจากมันจะทำให้ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของครูบาอาจารย์ เพื่อนร่วมเส้นทาง ตลอดจนสิ่งดีงามต่างๆที่อยู่รอบๆตัวแล้ว เรื่องราวของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้ากล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้เริ่มทำเสียที

 ภาณุโชติ ทองยัง

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

หมายเลขบันทึก: 486177เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท