การคิดเชิงวิเคราะห์ 3/2 จบ โดยชาตรี สำราญ


การจัดกิจกรรมการคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสังเคราะห์นั้น ครูผู้สอนจะต้องหมั่นฝึกฝนให้ผู้เรียนคิดอยู่อย่างเนือง ๆ อย่าสอนแบบคิดครั้งเดียวผ่าน มิฉะนั้นจะมิบังเกิดผล

สำหรับตัวผู้เขียนเอง จะเห็นว่าในการจัดกิจกรรมการคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสังเคราะห์นั้น  ครูผู้สอนจะต้องหมั่นฝึกฝนให้ผู้เรียนคิดอยู่อย่างเนือง ๆ  อย่าสอนแบบคิดครั้งเดียวผ่าน  มิฉะนั้นจะมิบังเกิดผล  ควรประพฤติดั่งที่พระพุทธองค์ทรงชี้นำให้พุทธสาวกปฏิบัติ  คือ

1.  น้อมเข้ามาใส่ตน  นั่นหมายถึงว่า  พบเห็นสิ่งใดที่สะกิดใจก็น้อมนำมาคิดอยู่ในใจ  ตั้งคำถามย้อนคิดวิเคราะห์ค้นหาคำตอบ  คือ ต้องโอปนยิโก

2.  โยนิโสมนสิการ  หรือ น้อมคิดอย่างแยบคาย  คิดแล้วคิดอีก  คิดให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม  นี่แหละคือคิดวิเคราะห์  โดยนำข้อคิดสะกิดใจจากข้อ  1  มาคิดแยกแตกย่อย  ให้เห็นภาพหลากหลายข้อมูลก่อนจะสรุปเป็นคำตอบ

3.  จักทำในใจอย่างเนืองนิจ   ข้อนี้สำคัญมาก  หมายถึงว่า ไม่ใช่คิดครั้งเดียวแล้วเลิก   แต่ต้องฝึกฝนคิดอย่างเนืองนิจ  เห็นอะไรที่สะกิดใจต้องน้อมมาคิดพินิจพิจารณาในใจของตนอยู่เนือง ๆ

ผู้เขียนเองนั้น เวลาเดินตามห้างร้านหรือศูนย์การค้า  พอเห็นเสื้อผ้า  รูปแบบที่พอใจก็จะตั้งคำถามว่า

1.  เสื้อผ้าที่เรามีอยู่แล้วกับเสื้อผ้าชุดนี้ต่างกันตรงไหน

2.  จุดเด่นของเสื้อตัวนี้กับเสื้อตัวที่เรามีอยู่แล้ว เหมือน

      หรือต่างกันตรงไหน

3.  เรามีความจำเป็น มาก-น้อย เพียงใดที่จะต้องซื้อเสื้อตัวนี้เพิ่ม

4.  ถ้าเราไม่ซื้อเสื้อตัวนี้เพิ่มจะมีผลอย่างไรต่อตัวเรา

5.  ถ้าเราซื้อเสื้อตัวนี้เพิ่มจะมีผลกระทบต่อตัวเราอย่างไรบ้าง

6.  เสื้อตัวที่เรามีอยู่แล้วนั้น  มีความเพียงพอ ต่อการใช้ประโยชน์ของเราแล้วหรือไม่

7.  เมื่อซื้อแล้วเราจำเป็นจะต้องนำใช้กี่ครั้ง  คุ้มค่า  คุ้มราคา  คุ้มทุนมากน้อยเพียงใด

8.  ถ้าเราไม่ซื้อใหม่  แต่ปรับปรุงของที่เรามีอยู่แทนได้ไหม

 ความคิดเหล่านี้ส่งผลให้ผู้เขียนสามารถประหยัดเงินได้มาก  ได้โดยที่ไม่ส่งผลให้จิตใจผิดหวัง  แต่เป็นการอบรมจิตได้อย่างดีมาก  จิตจะสงบ  ไม่เต็มไปด้วยความอยากได้ใคร่มี  และจะไม่นำมาครุ่นคิดต่อไป

บ่อยครั้งที่ผู้เขียน  เจ็บไข้ได้ป่วย  แล้วจะนั่งสงบ  ยกอาการเหล่านั้นมาพิจารณา  โดยตั้งคำถามค้นหาคำตอบว่า

1.  ฉันมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวจะเป็นไข้ส่งผลให้ปวดเสียวที่ปลายนิ้วมือ                                  (ทุกข์)

2.  ทำไมฉันจึงมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว  แล้วรู้สึกปวดเสียวที่ปลายนิ้วมือ                                   (สมุทัย)

3.  สาเหตุแรกเริ่มที่ทำให้ฉันมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว แล้วปวดเสียวตามปลายนิ้วมือ นั่นเป็นเพราะเหตุใด    (สมุทัย)

4.  การที่ฉันมีอาการปวดเสียวที่ปลายนิ้วมือแล้วต่อมาเกิดความรู้สึกที่ปลายนิ้วมือนั้นเป็นเพราะเหตุใด           (สมุทัย)

5.  อาการชาที่ปลายนิ้วมือกับอาการครั่นเนื้อครั่นตัวมีส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง                      (สมุทัย)

6.  วิธีการที่ฉันจะรักษาอาการป่วยไข้ครั้งนี้ ฉันจะต้องทำอย่างไรบ้าง                             (มรรค)

7.  จะมีวิธีการใดบ้างที่ฉันจะรักษาอาการป่วยไข้ครั้งนี้ให้หายได้ด้วยตัวของฉันเอง                       (มรรค)

8.  เมื่อฉันรักษาอาการป่วยไข้ครั้งนี้ด้วยวิธีการที่ฉันคิดได้แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าฉันหาย                    (นิโรธ)

 

การคิดเชิงวิเคราะห์ครั้งนี้  เป็นการคิดแบบอริยสัจ  4   เข้าไปเชื่อมโยงอยู่ด้วย  โดยพิจารณาให้เห็น ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  ซึ่งผู้เขียนป่วยในตอนกลางคืน  แทนที่จะทุรนทุราย  กลับลุกขึ้นนั่งสมาธิ  พิจารณาธรรม (ชาติ)  ของตนที่หนีไม่พ้นการเกิด  แก่  เจ็บ   ตาย  ส่งผลให้จิตสงบ  และพบทางรักษาตนด้วยตนได้

                ยังมีคำถามที่ผู้เขียนถามตนเองเวลาที่จิตใจวุ่นวายเกิดเป็น ทุกขจิต  ขึ้นมา  ผู้เขียนจะนั่งดูด้านใน (ใจของตน) โดยตั้งประเด็นคำถามว่า

                1.  เรากลัดกลุ้มทุกข์ใจด้วยเรื่องใด   (ทุกข์)

                2.  ทำไมเราจึงต้องเป็นทุกข์       (สมุทัย)

                3.  ประเด็นหลักที่ทำให้เราเป็นทุกข์คืออะไร        (สมุทัย)

                4.  เรื่องราวหรือประเด็นเหล่านั้นมีกระบวนการเกิดขึ้นได้อย่างไร              (สมุทัย)

                5.  ประเด็นรองของเรื่องนั้น คืออะไร             (สมุทัย)

                6.  ประเด็นรองเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร    (สมุทัย)

                7.  ประเด็นรองกับประเด็นหลักมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง                ( สมุทัย)

8.  ผลของความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเรื่องเหล่านั้นเป็นอย่างไร                    (สมุทัย)

9.  ใครหรืออะไรที่เป็นต้นเรื่องให้เกิดเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมาได้                      (สมุทัย)

10. สิ่ง ๆ นั้น เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างไร                   (สมุทัย)

11. ทำไมสิ่งนั้นจึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านั้นด้วย                (สมุทัย)

12.  เราจะมีวิธีการแก้ไขเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างไร          ( มรรค)

13.  กระบวนการแก้ไข  เป็นอย่างไร              (มรรค)

14.  วงจรของกระบวนการแก้ไขดังกล่าวนั้นเป็นไปในรูปแบบใด                (มรรค)

15.  คาดว่าถ้าเราดำเนินการแก้ไขตามวิธีการนั้นแล้วจะเกิดผลอย่างไร             (นิโรธ)

16.  จะรู้ได้อย่างไรว่าผลที่เกิดแล้วนั้นใช่แล้ว               (นิโรธ)

 

                เขียนมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่า  การคิดเชิงวิเคราะห์และคิดเชิงสังเคราะห์นั้น  นอกจากผู้คิดจะได้ประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องราวทางโลกแล้ว ยังสามารถเรียนรู้ทางธรรมได้ด้วย  คือถ้าตั้งคำถามแบบโยนิโสมนสิการ  ด้วยการ โอปนยิโก  คือ  ถามแบบแยบคาย  แยกแยะ  รายละเอียดปลีกย่อย  ครุ่นคิดพินิจพิจารณาด้วยการน้อมนำมาใส่ใจตนอย่างเนืองนิจ  ก็จะทำให้รู้จักตนได้  นี่คือ อานิสงส์ของการคิดเชิงวิเคราะห์  ที่คิดเชิงสังเคราะห์ขั้นสูง  เพราะเป็นการยังประโยชน์ท่านและยังประโยชน์ตนด้วย

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 485919เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2012 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท