บันทึกแห่งท้องทะเลอันดามัน


ก้อนกวดที่อยู่บนดินจะเป็นกรวดที่มีเหลี่ยม มีความคม หากอยู่ในน้ำจะมีการกระทบทระทั้งกันบ้าง ทำให้เหลี่ยมคมนั้นหายไป กลายเป็นกรวดที่มีความมนสวยงาม

บันทึกแห่งท้องทะเลอันดามัน

          หลังจากที่ตรวจสอบสัมภาระเรียบร้อยแล้ว รถตู้ของโรงพยาบาลละงูได้พาเราออกจากสนามบินหาดใหญ่ มุ่งหน้าสู่จังหวัดสตูล สองข้างทางเต็มไปด้วยสวนยางพาราที่ปลูกไว้อย่างเป็นระเบียบ มีทั้งขนาดเล็กที่ปลูกได้ไม่เกินหนึ่งปี จนถึงขนาดที่สามารถขายต้นได้แล้ว นานๆจะเห็นต้นปาล์ม เงาะ ทุเรียน ลองกอง สลับกับต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่าอยู่เป็นป่าทึบ แหงนคอตั้งบ่ากว่าจะเห็นยอด ความเขียวชะอุ่มทำให้อดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า พื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่มีฝนตกมากกว่าครึ่งปี ทำไมปลูกแค่พืชเศรษฐกิจ น่าจะปลูกพืชอาหารอื่นบ้าง จะได้ทำให้มีอาหารหล่อเลี้ยงผู้คนมากขึ้นกว่านี้ ขณะเดียวกัน ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย มีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีความต้องการสูงในขณะนี้ ทำให้ยางมีราคาดี หากวันหนึ่งจีนเกิดมีความต้องการซื้อน้อยลงด้วยเหตุผลใดก็ตามผลกระทบจะมีมากมายเพียงใด ซึ่งหากถึงเวลานั้นจริง ยางพาราจะล้นตลาด ในขณะที่อาหารกำลังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

          ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่ในความคิด รถตู้ได้นำคณะของเรามาหยุดอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลละงูคุณหมอหมู่กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้ยืนคอยต้อนรับคณะของเราด้วยรอยยิ้ม มิตรภาพได้เริ่มขึ้นพร้อมช่อดอกไม้เล็กๆที่สร้างความประทับใจ ระหว่างทางที่เดินไปห้องประชุมเห็นเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานอย่างขะมักเขม้น แต่ก็ไม่ลืมที่จะหันมายิ้มทักทาย

         

กลางห้องประชุมที่โอ่อ่าดูทันสมัย มีโต๊ะตั้งหันหน้าเข้าหากันพร้อมที่จะเป็นสนามแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นต่างๆ คุณหมอหมู่กล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการอีกครั้งพร้อมแนะนำบุคคลากรเจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนรวม ในกิจกรรมของโรงพยาบาลที่มีทั้งป้าขายผัก พี่นักมวย และพี่ชบาผู้ไม่เคยยอมแพ้โชคชะตา คุณหมอปี๊ดแนะนำผู้ร่วมเดินทางคณะของเรา หลังการแนะนำจบลงบรรยากาศดูเงียบลงชั่วขณะ สังเกตฝ่ายตรงข้ามเริ่มไม่กล้าสบสายตาพวกเราแล้ว พอรู้ว่าพวกเราเป็นใคร มาจากไหน และกำลังทำอะไรอยู่ จนหมอหมู่ต้องทำลายความเงียบอีกครั้ง ทำให้บรรยากาศเริ่มอบอุ่น และการสนทนาก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นกันเอง

         ละงูเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสตูล ที่มีความหลากหลายผสมผสานวัฒนธรรม ทั้งไทยพุทธและมุสลิมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ผู้นำศาสนาจะมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของวิถีชีวิตผู้คน โรงพยาบาลระงูแห่งนี้เปรียบเสมือนกลจักรที่สำคัญ ที่คอยเติมเต็มให้ชีวิตของคนที่นี่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ผักปลอดสารพิษที่ปลูกโดยชาวบ้าน โรงพยาบาลจะรับซื้อเพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่า ผลการตรวจเลือดของเกษตรกรมากกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ มีสารเคมีจากยาฆ่าแมลงปนอยู่ในเลือด

          พี่นพพร นักมวยร่างกำยำเป็นผู้ป่วยเอชไอวีมานานกว่าสิบปีเล่าให้เราฟังว่า ช่วงวัยหนุ่มได้ใช้ชีวิตอย่างประมาทขาดการยั้งคิด และได้พบกับช่วงต่ำสุดของชีวิตที่เข้าใกล้ความตายมาแล้ว แต่ความรู้สึกที่ไม่ยอมแพ้ของความเป็นเลือดนักสู้ ก็ได้ลุกขึ้นสู้กับชีวิตที่แสนเลวร้ายอีกครั้ง เริ่มทบทวนชีวิตที่ผ่านมา มีสติมากขึ้น และใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท จนปัจจุบัน เป็นเจ้าของค่ายมวย สร้างนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคนขึ้นชกเวทีดังๆ อยู่ในชั้นแนวหน้าของเมืองไทย “เอดส์ทำให้ชีวิตผมยืดยาวได้ เพราะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไม่ประมาท” พี่นพพรพูดกับเราอย่างภูมิใจ

          พี่ชบา ผู้ที่ได้รับโอกาสจากพระเจ้า ได้อุทิศตนเป็นผู้ให้ ทำหน้าที่คอยให้ความรู้และให้ความช่วยเหลือหญิงมุสลิมด้วยกันที่ได้รับเชื่อเอชไอวีจากสามี ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ชาวมุสลิมถือว่า หญิงที่ได้รับเชื่อเอชไอวีจากสามีนั้นเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่ผู้กระทำจึงไม่ผิดต่อพระเจ้า ผู้นำศาสนาท่านหนึ่ง ที่ทุกคนเรียกว่าพี่หม่าม เล่าให้พวกเราฟังว่า ในพื้นที่นี้มีกลุ่มยุวมุสลิมคอยให้ความช่วยเหลือ และใช้หลักศาสนาบำบัดหลังติดเชื่อ ทำให้หญิงเหล่านั้นได้รับโอกาส สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และที่สำคัญมีการใช้หลักศาสนาบำบัดโดยมีโครงการ “มัสยิดส่งเสริมสุชภาพ ” มีการส่งเสริมให้มีการรักษาความสะอาดร่างกาย บ้านเรือน เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อร่างกายสะอาดก็จะมีความแข็งแรง การเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะลดลง หลังจบการทำพิธีละหมาดแล้ว จะมีการออกกำลังกายต่อทุกเช้า อิหม่ามจะเป็นผู้เผยแผ่คำสอน และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้ได้ผลดีมาก เพราะชาวบ้านจะมีความศรัทราในตัวผู้นำศาสนาเป็นทุนอยู่แล้ว และด้วยความตั้งใจของผู้นำศาสนา บอกว่า การให้ใจเป็นสิ่งสำคัญ เป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชน “ผู้นำท้องถิ่นมีอำนาจทางกาย ผู้นำศาสนามีอำนาจทางใจ ”

          อาหารกลางวันถูกจัดไว้บนโต๊ะอย่างเรียบง่าย เมื่อสมาชิกพร้อม เครื่อยย่อยอาหารก็เริ่มทำงานทันทีแบบอัตโนมัติ บรรยากาศเงียบลงชั่วขณะ มีแต่เสียงอุปกรณ์ช่วยย่อยกระทบกันดังเคร้ง เบาบ้างแรงบ้าง แล้วแต่สปีดของแต่ละคน เมนูยอดฮิตสำหรับมื้อนี้คงต้องยกให้ แกงเหลืองก้านบอนปลากระพง ที่มีสีสันและรสชาติได้ใจจริงๆ

          การสนทนาได้เริ่มอีกครั้งในห้องประชุม คราวนี้มีสมาชิกใหม่มาเพิ่ม ทั้งหัวหน้าอุทยานตะรุเตา หัวหน้าอุทยานเภตรา และเอ็มจีโอในพื้นที่ที่คอยติดตามการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อมูลกับเรา การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารานี้เป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นเหตุผลที่คณะของเราเดินทางมาในครั้งนี้ เราได้รับทราบข้อมูลจากเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลว่า ท่าเรือน้ำลึกที่จะดำเนินการก่อสร้างบริเวรท่าเรือปากบาราในปัจจุบันนั้น มีเนื้อที่ประมาณสามร้อยสนามฟุตบอลเรียงต่อกัน ซึ่งจะเป็นการถมทะเลทั้งหมด ต้องใช้หินจำนวนมหาศาล จากการระเบิดภูเขาหลายลูก และต้องขุดลอกร่องน้ำลึก เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่เข้าได้ ร่องน้ำลึกดังกล่าว มีแนวอยู่ระหว่างเกาะไข่กับเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทั้งปะการัง ปลาการ์ตูน หาดทรายที่ขาวสะอาด น้ำทะเลสีฟ้าใส สิ่งเหล่านี้คงทนไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารที่กำลังจะเกิดขึ้น

          ย้อนกลับมาบนฝั่ง อำเภอละงูมีแหล่งน้ำจืดที่สำคัญคือคลองละงู มีจุดเริ่มต้นจากภูเขาและไหลลงทะเลบริเวณปากบารา ลำน้ำสายนี้ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวละงูมาช้านาน ก็จะพลอยได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกด้วยเช่นกัน แทบไม่ต้องประเมินผลกระทบก็พอจะบอกได้ว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารานี้ มีผลเสียอย่างมหาศาล ไม่ใช่แค่ชาวละงู ชาวสตูลหรือภาคใต้ แต่กระทบเป็นวงกว้างถึงระดับประเทศ ทำไมเหตุการณ์อย่างนี้จริงเกิดขึ้นได้กับประเทศไทย นักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจ ร่วมถึงนายทุน มองแค่ผลประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น อ้างแต่ความเจริญ เศรษฐกิจที่ดี สุดท้ายแล้วความเสียหายก็ตกอยู่กับประเทศชาติ

          ตะวันเริ่มบ่ายคล้อย คณะของเราได้ออกเดินทางต่อไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากน้ำ เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจ การทำงานของเจ้าหน้าที่ ผอ.อรัญย์ มัจฉา ออกมาต้อนรับด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มปนกับความดีใจที่มีแขกมาเยี่ยมให้กำลังใจ ผอ.อรัญย์เล่าให้เราฟังว่า การดำเนินงานของที่นี่ก็จะพบปัญหาคล้ายกับที่อื่น กลุ่มวัยรุ่นจะเป็นปัญหายาเสพติด กับท้องก่อนวัยอันควร ส่วนผู้สูงอายุก็เป็นความดัน เบาหวาน ซึ่งอาหารหลักของชาวบ้านที่นี่ จะมีกะทิเป็นองค์ประกอบหลัก การดำเนินงานป้องกันต้องร่วมมือกันทำหลายฝ่าย มีการกำหนดข้อตกลงหมู่บ้านเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลงได้

          การเดินทางยังไม่สิ้นสุด หลายคนเริ่มอ่อนล้า หลังจากเดินทางกันมาทั้งวัน รถตู้คันเดิมได้พาเรามาที่บารารีสอร์ท เป็นรีสอร์ทที่ปลูกสร้างด้วยไม้ทุกหลัง สอบถามจากเจ้าของทราบว่าเป็นไม้ที่สั่งตรงมาจากแพร่ ปลูกเป็นเรือนไทยประยุกต์แยกหลังกัน ซึ่งจะเป็นที่พักของพวกเราในค่ำคืนนี้

 

          หลังจากมือเช้าเสร็จแล้ว เป้าหมายแรกของวันนี้คือท่าเรือปากบารา เพื่อนั่งเรือไปยังเกาะหลีเป๊ะ ผ่านเส้นทางที่โครงการท่าเรือน้ำลึกจะถมทะเลขนาดสามร้อยสนามฟุตบอล และขุดลอกร่องน้ำลึก

          ท่าเรือปากบาราแห่งนี้ เป็นเส้นทางสู่ทะเลไปยังเกาะน้อยใหญ่ต่างๆ ทั้งหมู่เกาะตะรุเตา หมู่เภตรา ทะเลบัน และมีท่าเรือประมง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเดินทางเลยก็ว่าได้

 

          เวลาผ่านไปประมาณยี่สิบนาที เรือสปีดโบ้ทสีขาว ขนาดสองเครื่องยนต์บรรจุได้ประมาณยี่สิบห้าคน แล่นมาจอดเทียบท่าเพื่อจะพาเราไปสู่เป้าหมายต่อไป คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุภาพตำบลหลีเป๊ะ ทุกคนดูตื่นเต้น กุลีกุจอช่วยกันขนสัมภาระลงเรือ เพื่อจะไปใช้ชีวิตที่นั้นสองวันหนึ่งคืน ก่อนลงเรือผมไม่ลืมที่จะหยิบโลชั่นกันแดด ยี่ห้อโคโดโม ที่ผลิตโดย บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมาทาใบหน้าตามคำสั่งของภรรยา ที่กำชับก่อนออกจากบ้าน ปรากฏว่า โลชั่นขวดเล็กๆนี้ กลายเป็นที่ถูกใจของทุกคนในเรือ กลับจากดูงานคราวนี้ ไลอ้อนคงได้ลูกค้าเพิ่มหลายคนทีเดียว

          เรือแล่นออกจากท่าเวลาประมาณเก้าโมงสิบห้านาที คำนวนเวลาโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน (ไม่ใช่กรมอุทกศาสตร์)เราน่าจะถึงเป้าหมายเวลาประมาณสิบโมงครึ่ง ทุกคนดูตื่นเต้น เสียงพูดคุยดังแข่งกับเสียงเครื่องยนต์เป็นระยะๆ เรือเริ่มแล่นห่างออกมาจากฝั่ง มองดูรอบทิศมีแต่น้ำทะเลสีครามเสียงคุยเริ่มเงียบลง ผมภาวนาในใจให้คณะของเราไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ทะเลสีครามตัดกับขอบฟ้าที่ไร้เมฆในวันนี้ ดูกว้างใหญ่เวิ้งว้าง เรือลำเล็กๆกำลังแล่นตัดกระแสคลื่นไปยังเป้าหมาย เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของท้องทะเล เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแห่งนี้เท่านั้น ไม่ควรเหิมเกริมที่จะเอาชนะหรือยึดครองธรรมชาติเหล่านี้เลย

 

          จากความสนุกตื่นเต้นของทุกคน กำลังกลายเป็นความกังวล ทุกคนเริ่มชะเง้อมองหาฝั่ง คงคิดเหมือนกันว่า เมื่อไหร่จะถึงเกาะหลีเป๊ะที่ทุกคนอยากสัมผัสในยามนี้ เวลาผ่านไปชั่วโมงกว่าเริ่มมองเห็นเกาะเล็กๆ มีหาดทรายขาว ทอดยาวไปตามแนวอยู่เบื้องหน้าของเรา

       “ถึงแล้วเหรอ...” “เกาะหลีเป๊ะเหรอ...”   “นั่นไงเกาะหลีเป๊ะ...”   “ดูสิมีน้ำทะเลสองสีด้วย...” “สวยมากอ่ะ...”      “เย้! จะได้เล่นน้ำทะเลแล้ว”    “อยากลงไปนอนแช่สักครึ่งวัน...” 

ชีวิตบนเรือเริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้ง ทุกคนมองไปยังเป้าหมายแล้วอุทานออกมาตามแต่จินตนาการของตน ผมไม่ลืมที่หยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพความงดงามแห่งท้องทะเลนี้เป็นระยะๆ น้ำทะเลสีฟ้าใสตัดกับหาดทรายสีขาวละเอียดราวกับผงแป้งช่างงดงามยิ่งนัก

            

เรือเข้าจอดที่หาดทราย ซึ่งไม่มีท่าเทียบเรือเหมือนบนฝั่ง เราต้องเดินลุยน้ำเล็กน้อยก่อนขึ้นฝั่ง เราขึ้นฝั่งบริเวณที่ใกล้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลีเป๊ะ เดินลัดเลาะไปไม่กี่อึดใจก็ถึงที่หมาย คุณหมอเก่ง(ชาวบ้านตั้งให้ ) รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้มานานกว่าสิบสองปี คอยต้อนรับคณะของเราอย่างเป็นกันเอง

คุณหมอเก่งเล่าให้พวกเราฟังว่าเกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะ ที่อยู่ในหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่เป็นเกาะเดียวที่มีโฉนดและปัจจุบัน เป็นของนายทุน เกือบหมดแล้ว มีของชาวบ้านเพียงสามแปลงเท่านั้น ที่นี่มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณพันคน

 

ประชากรแฝงประมาณห้าร้อยคน ซึ่งไม่รวมนักท่องเที่ยว ของอุปโภคบริโภคทุกอย่างนำมาจากฝั่งทั้งหมดทำให้ราคาแพง ค่าครองชีพที่นี่สูงมากๆ ข้าวไข่เจียวจานละห้าสิบบาท ไอศกรีมโคนละแปดสิบบาท ทุกอย่างแพงหมด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง แต่เป็นประมงแบบเถ้าแก่ คือนายทุนลงทุนให้ทั้งหมดเมื่อจับปลาได้ ก็ต้องขายให้นายทุนเท่านั้น (ห้ามขายคนอื่นเด็ดขาด) แล้วนายทุนก็จะขายต่อในราคาที่ตนพอใจ ผลจากการทำประมงน้ำลึกทำให้ชาวบ้าน ป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ ปัจจุบันมีจำนวนหกราย บางรายที่มีอาการหนักได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งภายหลังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นทหารเรือ เข้าไปอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านที่ทำการประมงเกี่ยวกับการดำน้ำเป็นเวลานานๆ และการขึ้นจากน้ำอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคนี้ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะการดำน้ำวางไซเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านและต้องดำน้ำลึกเพิ่มขึ้นทุกวัน สัตว์น้ำเริ่มหายากมากขึ้น ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจเรื่องความปลอดภัยเท่าใดนัก ปากท้องต้องมาก่อนเสมอ

          คณะของเราได้เดินข้ามไปอีกฝากหนึ่งของเกาะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีร้านอาหาร มีตลาดกลางคืน มีรีสอร์ทที่พักซึ่งเราจะพักกันที่นั่นในคืนนี้ เราเดินไปตามทางเดินเล็กๆบางช่วงเป็นดิน บางช่วงเป็นคอนกรีต ลัดเลาะไปตามบ้านชาวบ้านเห็นวิถีชีวิตของคนชาวเลที่กำลังขมักเขม้นกับการทำไซดักปลา เมื่อเดินผ่านเลยไปอีกช่วงหนึ่ง ก็พบกับร้านอาหารที่เรียงรายอยู่สองข้างทางไว้บริการนักท่องเที่ยว มีผู้คนมากมาย เทียบกับภาพที่ผ่านมาเมื่อสักครู่แล้ว เหมือนอยู่กันคนละเมือง

บรรยากาศยามค่ำคืนด้านหนึ่งของเกาะเงียบสงัดไร้แสงไฟ มีเพียงแสงสว่างจากดวงดาวบนท้องฟ้าเท่านั้น  ส่วนอีกด้านหนึ่งกลับมีชีวิตชีวา แสง สี เสียง ครบครัน แสงสว่างจากไฟปั่นกลบแสงดาวที่ส่องประกายบนท้องฟ้าอย่างสิ้นเชิง ผู้คนเขามาเพื่อแสวงหาธรรมชาติที่บริสุทธิ์ แต่กลับเนรมิตธรรมชาติให้กลายเป็นเมืองศิวิไล ช่างเป็นชีวิตที่แตกต่างเสียนี่กระไร

วันรุ่งขึ้นตื่นมาพร้อมกับความเร่งรีบ ชีวิตที่เรียบง่ายหายไปโดยสิ้นเชิง ผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกำลังสาระวนอยู่กับมื้อเช้า ที่ทางรีสอร์ทจัดเตรียมไว้ให้ไม่พอกับความต้องการ ผู้คนหลายร้อยคนกำลังเข้าแถวรอตักอาหารที่เติมมาเป็นระยะๆ หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ความวุ่นวายได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ พวกเรากำลังเก็บสัมภาระลงเรือเพื่อเดินทางกลับขึ้นฝั่ง ระหว่างทางมีโปรแกรมแวะศึกษาธรรมาชาติ ที่เกาะอาดัง เกาะไข่ และเกาะตะรุเตา

          เราจากเกาะหลีเป๊ะที่มีน้ำทะเลสีฟ้าใส หาดทรายสีขาวทอดยาวตลอดแนว ออกมาโดยที่ไม่มีวันรู้เลยว่าในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้เกิดขึ้นจริง ผู้ใหญ่หลายท่านในบ้านเมืองกำลังคิดอะไรอยู่ ไม่รู้หรือไรว่ากำลังปล่อยให้มีการทำลาย ชีวิตและสรรพสิ่งลงอย่างเลือดเย็น

เกาะอาดังถือว่าอยู่ใกล้เกาะหลีเป๊ะมากที่สุด พี่บ่าวเจ้าหน้าที่อุทยานบอกกับเราว่า ที่นี่มีผาชะโดเป็นแหล่งชมวิว หมู่เกาะต่างๆในท้องทะเลแทบนี้ และที่สำคัญมีน้ำตกธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำจืดสำรองให้กับชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะด้วย บนเกาะหลีเป๊ะนั้นส่วนใหญ่จะขุดน้ำบาดาล และถ้าน้ำไม่พอใช้ ชาวบ้านจะน้ำเรือไปขนน้ำจากเกาะอาดังมาใช้

“ต้องถ่ายให้เห็นตรงรูนะ ถึงจะได้ชื่อว่ามาถึงสตูล” เสียงคำแนะนำดังขึ้นมาจากในเรือทันทีที่เรือเทียบหาดทราย เกาะไข่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสตูล และเป็นอีกเกาะหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการขุดรอบร่องน้ำลึกของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทัศนียภาพที่นี่งดงามมากนอกจากน้ำทะเลใส ทรายสวยแล้วยังมีหินเป็นรูปวงแหวน ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดบรรดานักท่องเที่ยว เข้ามาชมธรรมชาติอันงดงาม

เราพักกลางวันกันที่เกาะตะรุเตา ก่อนเดินทางศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ไปชมคุกตึกแดง และสถานที่กุมขังนักโทษการเมืองในสมัยก่อน ที่ทำการอุทยานเราได้พบกับโครงกระโหลกจระเข้น้ำเค็มตัวสุดท้ายของเกาะตะรุเตาซึ่งตอนนี้คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์หมดแล้ว

เกาะตะรุเตามีท่าเทียบเรืออยู่สองท่า อยู่คนละฟากของเกาะ ในช่วงฤดูมรสุมจะใช้ท่าฟังที่กุมขังนักโทษ คณะของเราขึ้นรถบรรทุกสี่ล้อเปิดประทุน เดินทางมุ่งหน้าสู่ป่าเพื่อไปศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ สองข้างทางเรียงรายด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ถ้าประเมินจากสายตาแล้วป่าไม้ที่นี่ไม่มีร่องรอยของการตัดเลย เป็นพื้นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เส้นทางค่อนข้างเล็กขดเคี้ยวไปตามหุบเขา ขึ้นเนินลงเนินเป็นระยะๆ คนขับต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ รถได้มาจอดยังที่หมายและต้องเดินเท้าต่ออีกประมาณห้าร้อยเมตร บริเวณนี้เป็นป่าทึบมีต้นไม้ใหญ่คลุมหนาแน่นจนมีเพียงแสงรำไรส่องเล็ดลอดลงมาถึงพื้นได้ ใบไม้แห้งที่ทับถมกันจนหนา เปรียบเหมือนพรมห่มผืนดิน เราเดินไปตามทางที่ถูกจัดสร้างไว้ด้วยการปูอิฐตัวหนอน ตลอดการเดินทางพี่บ่าวได้เล่าประวัติศาสตร์ให้เราฟังถึงสถานที่ต่างๆ ในที่คุมขังแห่งนี้ บางจุดก็พอมีร่องรอยให้เห็นอยู่บ้าง แต่บางจุดก็ไร้ร่องรอยประวัติศาสตร์เหล่านั้น พี่บ่าวเล่าต่อว่านักโทษที่เคยมาอยู่บนเกาะนี้ ปัจจุบันได้เสียชีวิตหมดแล้ว จากนี้ไปประวัติศาสตร์ของตะรุเตาแห่งนี้คงเหลือไว้แต่ในตำราให้ลูกหลานได้ศึกษา แต่ที่น่าเสียดายมีคนสนใจตะรุเตาน้อยลง และที่สำคัญคนพื้นที่เองกลับไม่สนใจอีกด้วย

ตะวันเริ่มบ่ายคล้อยเป็นสัญญาณเตือนเวลาในคณะของเราต้องกลับออกจากที่นี่ได้แล้ว รถบรรทุกสี่ล้อเปิดประทุนพาคณะของเรามาส่งที่ท่าเรือ ถึงเวลาที่เราต้องอำลาเกาะประวัติศาสตร์นี้ เพื่อทำหน้าที่ตามวิถีชีวิตของเราต่อไป

“อิท ขึ้นลำเล็กก็ได้นะ ยังมีที่ว่าง” หมอหมู่ชวนขึ้นเรือตรวจการของกรมอุทยาน ที่คุณหมอใช้เป็นพาหนะในการเดินทางซึ่งเป็นเรือขนาดเล็ก โดยสารได้ประมาณหกคน แต่มีสองเครื่องยนต์ ตอนออกจากเกาะยังไม่เท่าไหร่ พอมาอยู่กลางทะเลเรือเริ่มโดดเป็นจังหวะตามแรงกระแทกของคลื่น คนขับเรือเลยลดความเร็วลง พอหลังจากคลื่นสงบ คนขับเดินเครื่องสองเครื่องยนต์เต็มสูบไม่รู้ว่าความเร็วเพิ่มมาจากไหน ความรู้สึกเหมือนเรือลอยได้ก็เกิดขึ้น หายใจแทบไม่ทัน พ่อแก้วแม่แก้วก็คงไม่พอในยามนี้ พยายามมองหาโลมา เผื่อช่วยได้ในยามฉุกเฉิน เราใช้เวลาไม่นานก็ถึงฝั่ง ค่อยหายใจเต็มท้องหน่อย พอขึ้นฝั่งทราบว่าเรือลำใหญ่ของคณะเรา มอเตอร์ใบพัดไม่ทำงาน มีการเปลี่ยนเรือกันการทะเล คิดว่าทุกคนคงตื่นเต้นไม่แพ้ผมแน่นอน

เรายังเหลือภารกิจอีกสองอย่างอย่าง คือการเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสิมสุขภาพตำบลน้ำผุดและการเรียนรู้วิถีชีวิตของชนเผ่าซาไกในวันรุ่งขึ้น ส่วนวันนี้คณะของหลังจากเหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งวันแล้ว ได้เข้าพักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งใกล้ๆ อุทยานหมู่เกาะเภตรา

เช้านี้ตั้งใจตื่นขึ้นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่เจ้าหน้าที่บอกกลับเราว่าสวยมาก แต่ด้วยความเหนื่อยล้าจากเมื่อวานทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เราเก็บสัมภาระขึ้นรถตู้ทันทีหลังทานอาหารเช้าเสร็จ รถได้พาเราไปยังจุดหมายแรก คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำผุด โดยมีคุณรุ่งศักดิ์เป็นผู้อำนวยการที่นี่พร้อมกับกำนันตำบลน้ำผุดให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง

          ผอ.รุ่งศักดิ์ บอกกับเราว่า ที่นี่กำลังเจอปัญหาเจ้าหน้าที่ขาดขวัญกำลังใจ เพราะมีพยาบาลสามพันตามนโยบาย รัฐบาลมาสองท่าน บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ พร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมาย ส่วนคนเก่าที่ทำงานมานานแล้วยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่เลย ทำให้การบริหารงานดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เลยมีแนวคิดที่จะสร้างความสุขในที่ทำงาน โดยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำ เน้นกิจกรรมที่ทำให้เจ้าหน้าที่มีความสุข จะได้บริการผู้อื่นอย่างมีความสุขเช่นกัน ผมเลยไม่รอช้ารีบขอเบอร์โทรศัพท์ และแลกเปลี่ยนความคิดกันสั้นๆ เกี่ยวกับแฮปปี้เวิร์คเพลส และหวังว่าในอนาคตคงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น

จุดหมายต่อไปในวันนี้ คือต้นน้ำของคลองละงูที่หล่อเลี้ยงคนทั้งอำเภอ...ไม่นานเราก็มาถึงรีสอร์ทเล็กๆแห่งหนึ่งของคนในพื้นที่ที่จัดกิจกรรมล่องแก่ง เพื่อศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ของต้นน้ำคลองละงู และที่สำคัญฝั่งตรงข้ามรีสอร์ทเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยเผ่าหนึ่ง ที่เราต้องการไปสัมผัสชีวิต ความเป็นอยู่ของพวกเขา คือชนเผ่าซาไกนั่นเอง

ขณะที่เรากำลังสนทนาอยู่กับป๋านึงเจ้าของรีสอร์ท และเป็นผู้ดูแลคอยให้ความช่วยเหลือชนเผ่าซาไกอยู่นั้น คนไทยร่างเล็ก ผิวดำ ผมหยิก ตาโต กลุ่มหนึ่งสวมเสื้อผ้าสีมอๆได้อุ้มลูกจูงหลานประมาณยี่สิบชีวิตเดินเข้ามา ชายผม หยิกผิวดำไม่สวมเสื้อเดินนำหน้า ชื่อนายไข่เป็นหัวหน้าเผ่า พูดภาษาไทยได้บ้างและมีบ้างคนได้เรียนหนังสือ สามารถเขียนชื่อตนเองได้ และอ่านภาษาไทยได้บ้างการสนทนาเป็นไปนลักษณะตั้งคำถามมากกว่า ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของคณะเรา คำถามเลยพรั่งพรูออกไปเป็นชุด ส่วนคู่สนทนาของเราได้แต่นั่งก้มหน้า ส่ายศีรษะไปมา ไม่รู้ว่าฟังเราไม่เข้าใจหรือมึนกับคำถามของเรา สุดท้ายเลยต้องคุยกับนายไข่คนเดียว นายไข่บอกกับเราว่าต้องการที่ดินทำกิน ที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่ต้องการให้ใครมาไล่ที่ และต้องการมีสิทธิเหมือนคนไทยทั่วไป ไม่ใช่การถูกเอาเปรียบจากคนเมืองเหมือนปัจจุบัน ซาไกกลุ่มนี้มีประมาณร้อยคน ได้รับบัตรประชาชนสี่คน คนส่วนใหญ่เลยไม่ได้สิทธิต่างๆทั้งการรักษาพยาบาล และอื่นๆ ที่ควรจะได้รับ พวกเขายังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ จากคนไทยด้วยกันเองที่บอกว่าตนเองเป็นผู้เจริญแล้ว แต่กลับมีจิตใจที่.......สุดๆ        

  

“มาถึงที่นี่แล้วต้องเปียกน้ำ ถ้าไม่เปียกถือว่ามาไม่ถึง” เสียงเชียร์จากพี่จิ๋ม ทีมงานจากโรงพยาบาลละงูดังขึ้นหลังมื้อกลางวัน เพราะนั่นคือภารกิจสุดท้ายของเรา ก่อนที่จะเดินทางกลับสุวรรณภูมิ

รถกระบะของป๋านึงได้พาเราไปที่ต้นน้ำของคลองละงู เพื่อล่องแก่งศึกษาเส้นทางน้ำ และความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าต้นน้ำ บริเวณที่เราลงนี้มีความกว้างประมาณสิบห้าเมตร มีปริมาณน้ำไม่มากเท่าไหร่ ตลอดเส้นทางมีความคดเคี้ยวของลำธารไปตามธรรมชาติ ก้อนหินขนาดเล็กใหญ่โผล่เหนือน้ำเป็นระยะๆ ถูกกระทบจากเรือพลาสติกของพวกเรา แต่ก็ยังคงแข็งแกร่งและทำหน้าที่ของตนได้อย่างดี เวลาล่วงเลยไปพอสมควรเราก็มาถึงจุดหมายที่ต้องนำเรือขึ้น ดูเหมือนทุกคนจะเปียกปอนไปตามๆ กัน บางคนตกน้ำ บางคนเรือคว่ำ แตก็ไม่ได้รับอันตรายใด

หลังจากที่อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้ากันเรียบร้อยแล้ว คณะของเราเดินทางมุ่งหน้าสู่สนามบินหาดใหญ่ ทิ้งความทรงจำดีๆ ไว้เบื้องหลัง ภาพก้อนหินที่ถูกกระแทกในลำธาร ทำให้หวนนึกถึงการสร้างผู้นำ คศน.ว่า “ก้อนกวดที่อยู่บนดินจะเป็นกรวดที่มีเหลี่ยม มีความคม หากอยู่ในน้ำจะมีการกระทบทระทั้งกันบ้าง ทำให้เหลี่ยมคมนั้นหายไป กลายเป็นกรวดที่มีความมนสวยงาม ”

 อิทธิพร วันดี คศน. 032

 เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่

คำสำคัญ (Tags): #คศน.#หลีเป๊ะ
หมายเลขบันทึก: 485489เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท