5 ระดับของการเป็นผู้นำ: ผู้นำโดยตำแหน่ง


ผมได้อ่านหนังสือชื่อ 5 Levels of Leadership ของ John C. Maxwell ซึ่งถือว่าเป็นกูรูทางด้านภาวะผู้นำอีกคนหนึ่งของโลก ได้ให้แนวทางในการพัฒนาภาวะผู้นำไว้ โดยเขาแบ่งระดับของการพัฒนาภาวะผู้นำออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งผู้นำแต่ละคนก็จะต้องมีการพัฒนาและเริ่มต้นจากระดับแรก และค่อยๆ พัฒนากันต่อไปเรื่อยๆ ตามระดับที่สูงขึ้น ผมเห็นว่า 5 ระดับนี้ประโยชน์ในการพิจารณาภาวะผู้นำของตัวเองด้วย ก็เลยอ่านแล้วจะมาเล่าให้ฟังกันเป็นตอนๆ ไปนะครับ

โดยปกติแล้วคนที่เป็นผู้นำก็จะต้องมีผู้ตาม และคนที่มีภาวะผู้นำที่ดี ก็คือคนที่มีผู้ตามที่เต็มใจและยินดีที่จะทำงานด้วย ผู้นำในระดับที่ 1 จาก 5 ระดับก็คือ ผู้นำตามตำแหน่งหน้าที่

ผู้นำตามตำแหน่งหน้าที่คืออะไร ก็คือ คนที่ได้รับตำแหน่งใหญ่โต และเป็นตำแหน่งที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำของหน่วยงานหรือองค์กร เรียกได้ว่า เมื่อไหร่ที่ใครจะมีบทบาทผู้นำในองค์กร ก็คือ ขั้นแรกจะต้องมีตำแหน่งหน้าที่ในการเป็นผู้นำก่อน (อันนี้ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะคนบางคนไม่มีตำแหน่งหน้าที่ก็สามารถเป็นผู้นำได้เช่นกัน)

สิ่งที่ผู้เขียนได้ระบุไว้ก็คือ ใครที่มีระดับผู้นำในระดับที่ 1 ก็คือ ผู้นำตามตำแหน่ง จะเป็นคนที่มีผู้ตามยอมทำตามเพราะเพียงแค่ว่าเรามีตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขา ไม่ใช่เป็นการยอมทำตามในฐานะที่เราเป็นผู้นำที่เขาไว้วางใจและเชื่อใจ แต่ตามเพราะว่า เรามีตำแหน่งค้ำคออยู่ ถ้าลูกน้องไม่ตามเราก็อาจจะมีปัญหาทางด้านผลงานก็ได้

ก็เลยทำให้คนที่มีภาวะผู้นำในระดับที่ 1 นี้ ยังไม่สามารถที่จะซื้อใจพนักงานได้

พฤติกรรมของลูกน้องที่มองผู้นำตนเองเป็นแค่เพียงผู้นำตามตำแหน่งก็คือ

  • ไม่เชื่อมือในการทำงาน บางครั้งก็ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ผู้นำบอก
  • หรือถ้าทำตามสิ่งที่บอก ก็ทำด้วยความไม่เต็มใจสักเท่าไหร่ แต่ขัดไม่ได้ เพราะนายสั่งให้ทำ
  • พนักงานไม่รู้สึกถึงความสนิทสนมด้วย จะมีก็แค่เรื่องงานเท่านั้น เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องอื่นๆ ก็ไม่สนใจ
  • เมื่อไหร่ที่ผู้นำหมดอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่ง ก็จะหมดคนเชื่อฟังในทันที

ในหลายๆ องค์กรก็มีผู้นำแบบนี้อยู่มากมายครับ ได้รับตำแหน่งแล้ว ก็คิดว่าตนเองได้เป็นผู้นำแล้ว ก็เลยใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการสั่งการ และดำเนินการในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งโอนย้ายพนักงาน การปรับเลื่อนระดับตำแหน่งให้กับพนักงานที่ตนเองรู้สึกดีด้วย ฯลฯ ใช้อำนาจกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ไม่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย

ผู้นำประเภทนี้เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว ก็มักจะอ้างตำแหน่งว่าตนเป็นผู้นำแล้ว ไม่ต้องลงมือทำงาน ใช้คนอื่นก็พอแล้ว ถ้าใช้จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็เพราะเป็นหน้าที่ของผู้นำอยู่แล้ว แต่นี่ผู้ตามถามอะไรก็ตอบไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ผู้ตามมีคำถาม หรือมีปัญหาในการทำงาน และขอเข้ามาปรึกษาหารือ ผู้นำประเภทนี้ก็จะไม่มีคำตอบหรือแนวทางในการทำงานให้เลย มักจะบอกว่า “มันเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องคิดและแก้ปัญหา ไม่งั้นผมจะจ้างคุณมาทำอะไร”

ใครที่มีภาวะผู้นำอยู่ในขั้นที่ 1 นี้ ต้องบอกเลยว่า ยังอันตรายมากครับ สำหรับการที่จะทำให้ผู้ตามยอมทำตามเราด้วยความเต็มใจ บางคนพอได้ตำแหน่งแล้ว ก็ลืมตัว และคิดว่าเราเป็นผู้นำที่แท้จริงแล้ว จะทำอะไรก็ได้ แต่หารู้ไม่ว่า ยังเป็นเพียงแค่ผู้นำในระดับ 1 เท่านั้นครับ

Leadership is action not position

ภาวะผู้นำคือการลงมือทำงานและสร้างผลงาน ไม่ใช่แค่เพียงมีตำแหน่งเท่านั้น

--John C. Maxwell--

หมายเลขบันทึก: 484933เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 06:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตนำLeadership is action not position

ภาวะผู้นำคือการลงมือทำงานและสร้างผลงาน ไม่ใช่แค่เพียงมีตำแหน่งเท่านั้น

--John C. Maxwell--

ไปแชร์ต่อที่บันทึกของครูนะคะ หุหุลงไว้เผื่อผู้นำที่มีแต่ตำแหน่งหลงไปทางปู๊นได้อ่านบ้างเหอๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท