หัวหน้าที่ดีต้องไม่ลืมพัฒนาพนักงาน


ช่วงต้นปีแบบนี้เป็นช่วงของการวางแผนงานในด้านต่างๆ กันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นแผนงานขององค์กร ของหน่วยงาน และของพนักงานแต่ละคน ธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมองเรื่องของผลตอบแทน และมักจะวางแผนงานโดยใช้ผลตอบแทนเป็นตัวชี้วัดกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คาดหวังให้ผลประกอบการ หรือผลตอบแทนสูงขึ้นทุกๆ ปี

บางองค์กรวางแผนทางด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เคยที่จะวางแผนพัฒนาพนักงานของเราเองเลย พนักงานในองค์กรก็ลุยทำงานกันไป ไม่มีการพัฒนา หรือส่งไปฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอกเลย

สิ่งที่ขัดกับตรรกะก็คือ การที่บริษัทคาดหวังผลงานในด้านต่างๆ ที่ดีขึ้น แต่กลับไม่มีการพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่สูงขึ้นนั้น มันก็ยากที่จะทำให้องค์กรสามารถสร้างผลงานได้ตามเป้าหมายที่สูงขึ้นทุกปี งานยากขึ้น แต่พนักงานรู้เท่าเดิม ผลงานที่ผู้บริหารคาดหวังมันก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้นในช่วงต้นปีแบบนี้ หัวหน้างานหรือผู้จัดการที่มีลูกน้องต้องดูแล จะต้องพิจารณาวางแผนและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาลูกน้องแต่ละคนให้ชัดเจน โดยพิจารณาถึงผลงานในปีที่ผ่านมา และดูว่าแต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้นำมากำหนดแผนในการพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและความสามารถเพียงพอที่จะสร้างผลงานได้ตามที่หัวหน้าคาดหวังไว้

เชื่อหรือไม่ครับว่า มีหัวหน้างานและผู้จัดการบางคนมองว่าเรื่องของการพัฒนาพนักงานเป็นเรื่องของฝ่ายบุคคล หรือฝ่ายฝึกอบรม ซึ่งถ้ามองในแง่ของการจัดให้มีการฝึกอบรมมันก็ใช่ แต่คนที่รู้จักลูกน้องของตนเองดีที่สุดก็คือหัวหน้างานโดยตรงมากกว่า เพราะทำงานด้วยกันมาตลอดทั้งปี ย่อมจะรู้ว่าลูกน้องของตนเองแต่ละคนนั้นมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง และยังขาดความรู้ในด้านใดบ้าง เพื่อที่จะทำให้ผลงานออกมาดีขึ้นตามที่องค์กรคาดหวัง ฝ่ายบุคคลเขาไม่รู้จักลูกน้องเรา

และเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่ดี ที่จะต้องวางแผนพัฒนาพนักงานของตนเอง จากนั้นค่อยประสานกับฝ่ายบุคคล หรือฝ่ายฝึกอบรมว่า สิ่งที่เราต้องการจะพัฒนานั้น มันมีอยู่ที่ไหนบ้าง และให้ใครมาสอนดี หรือจะส่งไปเรียนที่ไหนดี สิ่งเหล่านี้ฝ่ายบุคคลน่าจะรู้ดีกว่า เพราะเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องสรรหาวิทยากรและสถาบันฝึกอบรม เพื่อให้เข้ามาพัฒนาพนักงาน

แต่ต้นทางที่สำคัญก็คือ มาจากหัวหน้านั่นเองครับ

หัวหน้าหลายองค์กรก็ไปคาดหวังว่าฝ่ายบุคคลต้องจัดฝึกอบรม แต่ฝ่ายบุคคลไม่รู้เลยว่าใครเป็นอย่างไร ดี หรือไม่ดีตรงไหน สอบถามไปที่หัวหน้าหรือผู้จัดการ ก็ไม่มีคำตอบมาให้ แถมยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ก็เป็นหน้าที่ของคุณไม่ใช่หรือ”

พอฝ่ายฝึกอบรมจัดหลักสูตรขึ้นมา ก็มาบ่นว่า จัดหลักสูตรอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ (แป่ว!!) แต่ถามไปแล้วไม่เห็นจะได้คำตอบอะไรมาเลย

ก็เลยกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ โทษกันไปมาว่าการพัฒนาคนเป็นหน้าที่ของใครกันแน่

โดยหลักการแล้วคนที่เป็นหัวหน้างาน จะต้องไม่ลืมที่จะดูแลลูกน้องของตนเองนะครับ ต้นปีแบบนี้ลองเรียกลูกน้องมานั่งคุยกันถึงผลงานในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายผลงานในปีนี้ พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน และประเด็นที่จะต้องพัฒนา เพื่อให้พนักงานมีทักษะ และความสามารถเพียงพอที่จะสร้างผลงานได้ตามที่หัวหน้าคาดหวังไว้ได้ ทำแค่นี้ก็พอที่จะได้แนวทางแล้วครับ เรื่องของ Competency ถ้าคิดว่ามันยุ่งยากก็ไม่ต้องไปใส่ใจมันมากนักก็ได้ครับ ถ้ามีแล้วใช้กันเป็นมันก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่มีแล้วใช้ไม่เป็นมันจะเป็นปัญหามาก ผมเห็นหลายองค์กรทำเสร็จแล้วก็ยังไม่เห็นจะสามารถเอาไปใช้ในการพัฒนาพนักงานอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย แต่กลับเพิ่มความงงงวยให้แก่เหล่าบรรดาผู้จัดการจนไม่อยากจะคิดพัฒนาพนักงานอีกเลย

ลองกลับมาใช้วิธีการแบบง่ายๆ กันดูบ้างก็ดีนะครับ

สูงสุดคืนสู่สามัญครับผม

หมายเลขบันทึก: 484633เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"โดยหลักการแล้วคนที่เป็นหัวหน้างาน จะต้องไม่ลืมที่จะดูแลลูกน้องของตนเองนะครับ ต้นปีแบบนี้ลองเรียกลูกน้องมานั่งคุยกันถึงผลงานในปีที่ผ่านมา และเป้าหมายผลงานในปีนี้ พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน และประเด็นที่จะต้องพัฒนา เพื่อให้พนักงานมีทักษะ และความสามารถเพียงพอที่จะสร้างผลงานได้ตามที่หัวหน้าคาดหวังไว้ได้ ทำแค่นี้ก็พอที่จะได้แนวทางแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท