เรื่องเล่าเกี่ยวกับคดี เรื่องกระบวนการแปลงสัญชาติล่าช้าของประเทศไอร์แลนด์ (Dana Salman v Minister for Justice and Equality)


เป็นเรื่องของการร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไอริชของผู้ลี้ภัยสัญชาติอิหร่าน แต่ประสบกับกระบวนการที่ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

คดี Dana Salman v Minister for Justice and Equality[1] เป็นคดีของศาลสูง ประเทศไอร์แลนด์

ประเด็นของคดีนี้คือว่า นาย Salman ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเศอิหร่าน ได้เข้ามาอยู่ ณ ประเทศไอร์แลนด์ และหลังจากนั้นก็ได้ยื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติเป็นไอริชในปี 2008 แต่เกิดความล่าช้าในกระบวนการการแปลงสัญชาติเป็นเวลาสามปีกับเก้าเดือน ความล่าช้านี้ได้สร้างความลำบากกับนาย Salman ในการเดินทางไปต่างประเทศ โดยบ่อยครั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองได้กักตัวเขาไว้เนื่องด้วยสถานะของเขา จนทำให้เขาหยุดการเดินทางออกนอกประเทศไอร์แลนด์ไป

คดีนี้เป็นการขอ Judicial Review จากศาลสูง และวันก่อนที่จะมี substantive hearing นั้น ก็มีการออกใบรับรองความเป็นสัญชาติไอริชให้กับนาย Salman แต่ก็ยังมีอยู่อีกเรื่องที่ยังต้องสะสางก็คือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี

โดยในคดีดังกล่าวฝ่ายโจทก์ได้ให้การกล่าวถึงมาตรา 34 ของอนุสัญญาว่าด้วยสภานภาพผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐ 1951 ว่า เขายอมรับว่ามันไม่ใช่บทบังคับที่ประเทศผู้รับจะต้องให้สัญชาติแก่ผู้ลี้ภัย แต่ก็มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการกระบวนการดังกล่าวให้เสร็จอย่างรวดเร็ว โดยในคดีนี้รัฐมนตรียุติธรรมกระทำการล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

โดยโจกท์ยังให้การอีกว่า แม้ในตัวบทกฎหมายจะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจนว่ากระบวนการตัดสินใจจะให้สัญชาติแก่บุคคลหรือไม่นั้นควรจะเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่มันก็ควรจะเป็นไปในกรอบเวลาที่เหมาะสมและได้สัดส่วน โดยในคดีดังกล่าวที่กินเวลาไปสามปีเก้าเดือนนั้นไม่สมเหตุสมผล

ผู้พิพากษาในคดีนี้คือ ท่าน Nicholas Kearns ได้ให้เหตุผลที่รวบรวมจากกฎหมายรัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์, มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยสัญชาติของไอร์แลนด์, มาตรา 34 อนุสัญญาว่าด้วยสภานภาพของผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐ 1951 และพิธีสาร 1967 โดยกล่าวว่า การที่จำเลยในคดีมีดุลยพินิจโดยอิสระในการตัดสินใจกระบวนการดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้ตามอำเภอใจหรือไม่ทำการพิจารณาอะไรเลย จำเลยมีหน้าที่จะต้องใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างยุติธรรมและมีเหตุผล

โดยผู้พิพากษา Kearns ได้กล่าวถึงคำพิพากษาในคดี Nearing v The Minister for Justice, Equality and Law Reform[2] ที่ท่านผู้พิพากษา Cooke ได้วางหลักไว้ว่า หากว่ากระทรวงทบวงกรมมีหลักปฏิบัติในเรื่องนั้นๆอย่างชัดเจนอยู่แล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะต้องเข้าไปจัดการหรือสั่งว่าควรมีการปฏิบัติงานกันอย่างไร ดังนั้นศาลก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หากว่ามันชัดแจ้งว่ามีการปฏิบัติการเป็นไปตามระบบโดยยุติธรรมและมีเหตุผล ยกเว้นแต่ว่าจะมีความผิดที่เฉพาะเจาะจงหรือการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในคดีดังกล่าว

จากหลักกฎหมายและคำพิพากษาที่นำมาวินิฉัยกับคดีนาย Salman นี้ ท่านผู้พิพากษา Kearns ก็ได้ตัดสินคดีนี้ว่า ไม่มีหลักฐานต่อศาลของหลักปฏิบัติในการจัดการและการพิจารณาคำร้องขอแปลงสัญชาติ และรัฐมนตรีก็ไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงถึงกรณีความล่าช้า และปฏิเสธที่จะอธิบายว่าทำไมระยะเวลาความล่าช้านั้นเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็นของกระทรวง ศาลจึงพิพากษาว่า มันไม่มีหลักฐานว่ากระทรวงมีระบบที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลในกระบวนการการพิจารณาคำร้องขอแปลงสัญชาติ และกล่าวว่าหากมี Judicial Review เกิดขึ้น โจกท์ก็จะมีสิทธิในเงินช่วยเหลือในการดำเนินคดี

ความล่าช้าดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ของไอร์แลนด์ ผลจากคดีนี้ทำให้ผู้ขอคำร้องหลายๆคนมีความหวังมากขึ้นที่คำร้องของตนจะได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน ปี 2011 รัฐมนตรียุติธรรมได้ประกาศว่าระยะเวลาการรอคอยการพิจารณาจะอยู่ที่ประมาณหกเดือน แต่ในเวลาเดียวกันนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ หน่วยงานการให้บริการการแปลงสัญชาติและการเข้าเมืองของไอร์แลนด์ (The Irish Naturalisation and Immigration Service) ระบุว่าระยะเวลาการดำเนินการอยู่ที่ 23 เดือน โดยหวังว่าจะเลื่อนระยะเวลาให้เร็วขึ้นเป็น 6 เดือนภายในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีคำร้องที่คั่งค้างอยู่มากมายจากปีก่อนๆ

 



[1] Salman v MJE [2011] IEHCC 481

[2] Nearing v The Minister for Justice, Equality and Law Reform [2010] 4 I.R. 211

หมายเลขบันทึก: 484491เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2012 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าเอาไอเดียมาใช้ในประเทศไทยบ้างไหมคะ

น่าทำบ้างค่ะอาจารย์ กระบวนการต่างๆจะได้รวดเร็วมากขึ้นค่ะ :) แต่อาจจะต้องใช้วิธีเดียวกันคือไปร้องต่อศาล หรืออาจจะกำหนดกรอบเวลาในตัวบทกฎหมายค่ะ แต่ความเป็นไปได้ในกรณีไหนมีมากกว่ากันก็น่าจะมุ่งไปทางนั้นนะคะ

สำหรับประเทศไทยก็มีหญิงฟิล​ิปปินส์ที่เคยฟ้องรัฐมนตรีว​่าการกระทรวงมหาดไทยทีมีคำส​ั่งอนุญาตให้สัญชาติไทยโดยก​ารสมรสช้ามาก และชายเชื้อสายเวียดนามที่เ​กิดในประเทศไทยที่ฟ้องรัฐมน​ตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่​มีคำสังอนุญาตให้สัญชาติไทย​โดยหลักดินแดนช้า ซึ่งศาลปกครองก็สั่งให้รีบม​ีคำสั่ง ซึ่งระยะเวลาที่ศาลมองว่าช้​า ก็ประมาณ ๔ ปี เช่นกันค่ะ

แต่ยังไม่มีคนที่ร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยไปฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยค่ะ คงกลัวว่า มท.๑ คงรีบสั่ง แต่สั่งไม่ให้สัญชาติไทย การศึกษานิติปรัชญาในเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยยังทำกันไม่มากนัก เรามักสอนให้ยอมรับอำนาจของรัฐแม้จะเป็นอำนาจที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล เราอาจต้องสอนใหม่ด้วยคำสอนเก่าที่ว่า กฎหมายก็คือ คำสั่งที่ถูกต้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท