ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา


เรื่อง ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา

                                                                                                                โดย นายสุวัฒน์  อำนวย       รหัส 52147010036
โพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

         ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นทั้งความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของความขัดแย้งได้อย่างชัดเจน และแม้ว่าทั้งไทยและกัมพูชาจะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้โดยอาศัยกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน

      การวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา

          1.ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาบนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยมปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในปัจจุบันนั้นมีรากฐานเกิดมาจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยมเป็นหลัก ปัญหาประการแรกของประเทศทั้งสองนั้นเกิดจากการขีดแบ่งเส้นแดนโดยจักรวรรดินิยม ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยอีสานใต้และกัมพูชาแล้ว จะเห็นได้ว่าดินแดนทั้งสองต่างก็เป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน มีลักษณะทางชาติพันธุ์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ดินแดนทั้งสองส่วนต้องแยกจากกันเพราะวิธีคิดการแบ่งเขตแดนแบบรัฐชาติ (Nation State) สมัยใหม่ตามแบบที่จักรวรรดินิยมตะวันตกพึงปรารถนาให้เป็น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการแบ่งเขตแดนเพื่อการจัดการผลประโยชน์เหนือดินแดนของจักรวรรดินิยมตะวันตกนั่นเอง

        ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนไปในอดีตก็จะเห็นถึงความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างไทยอีสานใต้และกัมพูชาบนพื้นที่ความขัดแย้งในปัจจุบัน คือ พื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมได้สร้างเทวสถานบนเทือกเขาพนมดงรัก (เพี๊ยะนมดงเร็ก) เพื่อให้ชาวเขมรสูง (อีสานใต้) และชาวเขมรต่ำ (กัมพูชา) ได้สักการะเทวสถานแห่งนี้ร่วมกัน อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และความผูกพันทั้งในอดีตและปัจจุบันของดินแดนทั้งสอง ซึ่งในปัจจุบันดินแดนดังกล่าวกลับเป็น

          กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือเขตแดนและกฎเกณฑ์ที่ตะวันตกได้กำหนดเอาไว้ มิได้มองถึงวัตถุประสงค์ของผู้สร้างปราสาทเขาพระวิหารที่มีเจตนาให้ดินแดนเขมรทั้งสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์ (การสักการบูชาร่วมกัน) อีกทั้งรัฐไทยและรัฐกัมพูชาสมัยใหม่ยังมองข้ามบริบททางวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมชุดเดียวกันของดินแดนทั้งสอง ทำให้ทั้งสองฝ่ายยึดถือแต่ผลประโยชน์แห่งชาติ(National Interest) บนเส้นแบ่งเขตแดนตามแบบชุมชนในจินตนาการ (Imagine Community) ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          ปัญหาอีกประการ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยได้ถูกหล่อหลอมจากกระบวนการ ตำรา และแบบเรียนภายใต้อุดมการณ์แบบชาตินิยมที่ประกอบสร้างให้เราเกลียดพม่า กลัวญวน และดูหมิ่นเขมรซึ่งหากหันไปมองประวัติศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่าสยามในอดีตนั้นก็เป็นเพียงดินแดนของคนเถื่อนเท่านั้นในขณะที่ขอมเป็นดินแดนอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้จากภาพแกะสลักนูนต่ำ "เสียมกุก" หรือ นี่เหล่าคนสยาม (กองทัพสยาม) บริเวณระเบียงรายรอบปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นภาพที่บรรยายถึงในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้เกณฑ์ไพร่พลในดินแดนรัฐบรรณาการของพระองค์ที่หนึ่งในนั้น คือ เสียม สยำ หรือ สยาม นั่นเอง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแบบเรียนที่เน้นศักดิ์ศรีและยิ่งใหญ่ของชาติเกินความเป็นจริงโดยไม่ย้อนไปมองบริบททางประวัติศาสตร์ ย่อมจะเกิดผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ต้องไม่ลืมนึกถึงกฎเกณฑ์วัฏจักรทางประวัติศาสตร์ที่อาณาจักรใดก็ตามมีจุดสูงสุดก็ย่อมจะต้องตกต่ำลงเป็นธรรมดา ปัจจุบันเราอาจจะเหนือกว่าเขาแต่ในอดีตเขาก็เคยเหนือกว่าเราเช่นกัน

          ปัญหาอีกส่วนหนึ่งของความเป็นชาตินิยมแบบคลั่งชาติภายใต้กระบวนการสร้างแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) ทำให้ชาติของเราดูดีงาม และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมแต่ในขณะเดียวกันก็สร้างภาพให้ชาติอื่นกลายเป็นศัตรูถาวรที่มีแต่ความเลวร้ายหรือต่ำต้อยกว่าเรา ดังจะเห็นได้จากรัฐไทยนั้นติดอยู่กับบ่วงวาทะกรรมว่าอยุธยานั้นถูกหงสาวดีเป็นศัตรูถาวรที่รุกรานเผาบ้านเมืองและปล้นสะดมนานหลายร้อยปี แต่หากมองดูที่ประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะเห็นได้ว่าช่วงความรุ่งเรืองของอยุธยานั้นเป็นช่วงที่กัมพูชาหรือกัมโพชเสื่อมถอยลง เมื่ออยุธยามีอำนาจที่เข้มแข็งก็ได้มีการขยายอำนาจรุกรานดินแดนที่อ่อนแอกว่าเช่นกัน ดังเห็นจากการขยายอำนาจครั้งสำคัญในรัชสมัยของพระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา แห่งอาณาจักรอยุธยา ซึ่งการขยายขอบขัณฑสีมารุกรานกัมพูชาในครั้งนั้นอยุธยาได้ทำการเผาและปล้นสะดมอาณาจักรกัมพูชา เช่นเดียวกับที่อยุธยาถูกหงสาวดีกระทำในกาลต่อมา หรือจะเป็นเมื่อครั้งพระนเรศวร ที่พระองค์ทรงพักจากศึกหงสาวดีแล้วไปทำสงครามสั่งสอนกัมพูชา โดยในสงครามครั้งนั้นอยุธยาได้ทำการเทครัวและกวาดต้อนชาวเขมรเพื่อไปเป็นแรงงานให้แก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก หรือจะเป็นในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินหลังจากการปราบดาภิเษกเถลิงราชสมบัติเป็นการสำเร็จ พระองค์ก็มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแพร่บุญโพธิสมภารไปสู่ราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะเดียวกันก็ทรงหาหนทางที่จะต้องการนำตัวกษัตริย์กัมพูชามาลงโทษ เนื่องมาจากการปฏิเสธที่จะส่งบรรณาการสู่ธนบุรี ทำให้พระเจ้าตากสินได้ยกทัพเข้าตีกัมพูชาหลายต่อหลายครั้ง จนในปี พ.ศ. 2315 กองทัพสยามได้เผากรุงพนมเปญ และได้สถาปนานักองค์เองให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของธนบุรีหลังจากนั้นอีกเจ็ดปี

          ในขณะที่ไทยมองกัมพูชาในฐานะที่ต่ำต้อยกว่าและตกเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด กัมพูชาเองก็ประกอบสร้างให้ไทยเป็นศัตรูถาวรของกัมพูชาเช่นกัน อันเป็นผลมาจากเมื่อสยามในอดีตมีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นขึ้นมาคราใด สยามก็จะต้องรุกรานกัมพูชาทุกครั้งเช่นกัน เห็นได้ว่าการรุกรานขยายอาณาดินแดนของรัฐจารีต ในอดีตนั้นเป็นกฎของสัจนิยม (Realism) ที่ว่าสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นเป็นสภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) ที่ไม่มีกฎเกณฑ์อันใดมาควบคุมพฤติการณ์ระหว่างรัฐ นอกจากนี้ สงครามยังคงเป็นความชอบธรรมที่แต่ละรัฐสามารถนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยไม่ขัดกับหลักประเพณีระหว่างประเทศในอดีต หากไทยและกัมพูชาเข้าใจถึงเกณฑ์ความสัมพันธ์ของรัฐจารีตดั้งเดิมและไม่ใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือสร้างกระแสชาตินิยมของประเทศทั้งสองความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ คงจะไม่ทวีความรุนแรงอย่างในปัจจุบัน

          ถึงแม้ว่าข้อดีของการใช้ความเป็นชาตินิยมสร้างชาติอื่นให้เป็นศัตรูถาวรจะมีอยู่ที่เป็นการสร้างอุดมการณ์ต่อต้านศัตรูเพื่อสร้างความสามัคคีในชาติได้ แต่หากพิจารณาถึงบริบทของการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สงครามที่เป็นการรบมิใช่สงครามหลักในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป สงครามเศรษฐกิจกลับเข้ามามีบทบาทหลักที่ผลักให้เกิดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น ประกอบกับเขตแดนของรัฐแบบเวสต์ฟาเลีย (Westfalia) ที่ชาติตะวันตกเคยแบ่งเขตแดนให้กับทั่วโลก เริ่มจะมีผลสะเทือนจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ตะวันตกสร้างนี้ได้ลดทอนคุณค่าทางเขตแดนแบบรัฐชาติลง นอกจากนี้ ตะวันตกก็ยังผลักกระแสการบูรณาการ (Integration) ระหว่างประเทศที่มีต้นแบบจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) กลายมาเป็นสงครามในการรวมกลุ่มประเทศที่เป้าหมายในการรวมกลุ่มประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายการต่อสู้ในสงครามทางเศรษฐกิจระหว่างแต่ละกลุ่มประเทศ ซึ่งลักษณะของการบูรณาการในภูมิภาคนั้นจะมีลักษณะที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคโดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี จะเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะเป็นองค์กรเหนือรัฐ (Supranational Organization) ที่มีความเข้มแข็งมีทั้งสภาแห่งยุโรป (European Parliament) ศาลแห่งยุโรป (European Court) สกุลเงินยุโรป (EURO) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (Central Bank of European) โดยมีนโยบายเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เป็นเอกภาพ และในอนาคตสหภาพยุโรปก็กำลังดำเนินการสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมืองเช่นกัน กล่าวได้ว่าแนวทางการบูรณาการภายในกลุ่มระหว่างประเทศนั้นเป็นการลดทอนอธิปไตย เขตแดน และความเป็นรัฐชาติลงนั่นเอง

           ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นทั้งสองประเทศต่างก็เป็นสมาชิกของอาเซียน (ASEAN) ที่กำลังเดินหน้าตามตัวแบบอย่างสหภาพยุโรปโดยที่ในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนต้องก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งก็หมายความว่าไทย กัมพูชา และอาเซียนก็กำลังตามกระแสของสงครามทางเศรษฐกิจและการบูรณาการระหว่างประเทศ ดังนั้น เป้าหมายของอาเซียนในอนาคต คือ ไปสู่การสร้างความเป็นเอกภาพของประชาคมอย่างแท้จริง ที่อธิปไตยเขตแดน และความเป็นชาติย่อมจะถูกลดทอนลง เมื่อสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ภายในภาคีของอาเซียนเองก็จะต้องตรียมพร้อมเพื่อไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้วยการลดข้อจำกัดในการสร้างความเป็นศัตรูถาวรภายใต้กระแสชาตินิยม เมื่อใดก็ตามที่ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ และความล้าหลังคลั่งชาติก็ย่อมจะสร้างความขัดแย้งระหว่างกันและกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          เมื่อความเป็นหนึ่งเดียวแบบประชาคมกำลังจะเกิดขึ้นในอาเซียน คำถามก็คือ การสร้างกระแสชาตินิยมบนพื้นฐานความแค้นในเชิงประวัติศาสตร์มีความจำเป็นอยู่ไหม ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาต้องทบทวนว่าทั้งสองประเทศจะยินยอมติดอยู่กับกับดักของลัทธิชาตินิยมและประวัติศาสตร์อยู่หรือไม่ หรือจะเลือกเดินไปสู่หนทางของความร่วมมือที่จะเกื้อกูลกันเพื่อต่อสู้ในสงครามทางเศรษฐกิจบนเวทีระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

 

2. ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาภายใต้ผลประโยชน์แห่งชาติและการเมืองระหว่างประเทศ

          สำหรับการเมืองในประเทศไทยนั้น หลายปีที่ผ่านมามีความปั่นป่วนและขาดเสถียรภาพอยู่พอสมควรอันมาจาก Colour Politics หากมองถึงปมแห่งปัญหาของการเมืองของไทยนั้นเกิดจากที่ประชาธิปไตยแบบตะวันออกของไทยยังให้ความสำคัญตลอดมาว่าการเลือกตั้ง คือ หัวใจสำคัญของประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงกระบวนการสรรหาตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ประกอบกับการเลือกตั้งในไทยยังยึดโยงอยู่กับทุน และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเราต้อง มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยต้องไม่ใช่แค่เพียงการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยโดยวิถีชีวิตที่ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และรับฟังเสียงจากคนส่วนน้อย ซึ่งสังคมประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบถกแถลง (Deliberate Democracy) ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและการแลกเปลี่ยนความคิดกันกันอย่างสร้างสรรค์ กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันจึงเป็นประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตยผสานกับอัตตธิปไตยที่ขับเคลื่อนไปด้วยอวิชชาและมิจฉาทิฐิแม้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของกัมพูชาจะมีอยู่สูง เนื่องมาจากรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชาที่นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนสามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งของกัมพูชาได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พรรคประชาชนกัมพูชาได้เข้าสู่การเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงพรรคเดียว (One Dominant Party System) โดยมีพรรคฟุนซินเปคและพรรคสมรังสีเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ที่นั่ง กล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนสามารถใช้อำนาจและกลไกของรัฐผสานกับการใช้กุศโลบายทางเศรษฐกิจ ในการควบคุมฐานเสียงและการลงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอมา หากมองลักษณะทางการเมืองของกัมพูชาถึงแม้ว่ากัมพูชานั้นจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่จากการควบคุมจากรัฐบาลทุกองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ NGO และสื่อมวลชน ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม (Authoritarian Democracy) ของกัมพูชา

          จากลักษณะของการเมืองภายในของประเทศทั้งสองเห็นได้ว่า ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นประเทศประชาธิปไตย (แบบเอเชีย) เคยมีคำกล่าวของฝ่ายเสรีนิยม (Liberalism) ว่าประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ทำสงครามกัน แต่ในกรณีของความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชานั้นทั้งสองต่างก็ตั้งผลประโยชน์หลักแห่งชาติ (National Interest) ไว้ที่เป้าหมายเดียวกัน การนิยามถึงผลประโยชน์หลักแห่งชาติหรือผลประโยชน์ที่จะสูญเสียไปไม่ได้ไว้ที่ตำแหน่งเดียวกัน อาจส่งผลต่อความขัดแย้งหากการเจรจาประนีประนอมนั้นดำเนินการมิได้ ย่อมอาจนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามในที่สุด ซึ่งผลประโยชน์หลักของทั้งไทยและกัมพูชาก็คือ ปัญหาปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แต่ปัญหาที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสองลุกลามจนไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะยุติลงได้ ก็คือปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายให้คุณค่าว่าเป็นผลประโยชน์หลักที่จะสูญเสียไปไม่ได้

          เมื่อมองไปที่ความขัดแย้งของไทยและกัมพูชานั้น ส่วนหนึ่งต้องมองไปที่บทบาทและท่าทีของเวียดนามที่พยามช่วงชิงความเป็นเจ้าในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (Mainland Southeast Asia) จากไทยโดยการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเวียดนามในระดับภูมิภาค ถึงแม้ว่าบทบาทในองค์การภูมิภาค อาทิเช่น อาเซียน ของเวียดนามจะมีบทบาทที่โดดเด่นไม่เท่ากับไทย แต่หากมองแยกไปเฉพาะส่วนย่อยในภูมิภาคอย่างอินโดจีน ก็จะเห็นถึงบทบาทความเป็นผู้นำที่ชัดเจนของเวียดนามที่มีเหนือลาวและกัมพูชา ซึ่งตรงจุดนี้ก็ต้องยอมรับว่าบทบาทการนำของเวียดนามคือผู้นำของอินโดจีนอย่างแท้จริง ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับลาวและกัมพูชาอันมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น กล่าวได้ว่าเวียดนามได้ดำเนินนโยบายสร้างตนให้เป็น แกนล้อ (Hub) และสร้างให้กัมพูชากับลาวเป็นซี่ล้อ (Spokes) ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบด้วยความใกล้ชิดและสายสัมพันธ์อันดีของฮุนเซนกับเวียดนามยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและเวียดนามนับวันก็ยิ่งจะมีความแนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าในทางกลับกันความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยก็ย่อมจะถดถอยลงจากยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าในอินโดจีนของเวียดนาม

สรุป

          จากเหตุการณ์ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของความขัดแย้งได้อย่างชัดเจน และแม้ว่าทั้งไทยและกัมพูชาจะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้โดยอาศัยกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไทย – กัมพูชา เป็นสิ่งที่เราสามรถนำความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อสร้างความเป็นพี่น้องระหว่างเพื่อนบ้านร่วมกัน เช่น ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นทั้งสองประเทศต่างก็เป็นสมาชิกของอาเซียน (ASEAN) ที่กำลังเดินหน้าตามตัวแบบอย่างสหภาพยุโรปโดยที่ในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนต้องก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งก็หมายความว่าไทย กัมพูชา และอาเซียนก็กำลังตามกระแสของสงครามทางเศรษฐกิจและการบูรณาการระหว่างประเทศ ดังนั้น เป้าหมายของอาเซียนในอนาคต คือ ไปสู่การสร้างความเป็นเอกภาพของประชาคมอย่างแท้จริง ที่อธิปไตยเขตแดน และความเป็นชาติย่อมจะถูกลดทอนลง เมื่อสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ภายในภาคีของอาเซียนเองก็จะต้องตรียมพร้อมเพื่อไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าจากความสัมพันธ์และความขัดแย้งไทย – กัมพูชา เราในฐานะนักศึกษาควรที่จะศึกษาว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไรบ้าง เราควรที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาร่วมกัน การค้า และทางด้านความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างไทย – กัมพูชา ทำให้เหตุการณ์ของความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ได้เรียนรู้เป็นบทเรียนให้เราเห็นว่าความขัดแย้งนั้นส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในเมื่อความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อกัน เราควรสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่าง ไทย – กัมพูชา

 

เอกสารอ้างอิง

ชัยณรงค์ ศรีพงษ์.  (2555). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ประวัติศาสตร์กัมพูชา. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ

 

หมายเลขบันทึก: 484422เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2012 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะได้ความรู้มากค่ะๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท