สระลดรูป แปลงรูป 2/2 ชาตรี สำราญ


เมื่อเห็นว่าผู้เรียนพร้อมที่จะสอบก็สอบ แต่การสอนกับการสอบต้องเป็นของควบคู่กันไม่แยกออกจากกัน ครูผู้สอนจะต้องสำเหนียกอยู่เสมอว่า สอบคือสอน สอนคือสอบ

1.  ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากหลายแหล่งเรียนรู้

            ก่อนการดำเนินการศึกษาค้นคว้า  ผู้เรียนจะต้องรู้ก่อนว่า

            v จะเรียนเรื่องอะไร

v    เรียนไปทำไม

v    จะศึกษาค้นคว้าหารายละเอียดในประเด็นใดบ้าง (ตรงนี้ผู้เรียนจะต้องตั้งคำถามประเด็นย่อย ๆ  ให้มาก )

v    จะไปศึกษาเรียนรู้จากที่ใดบ้าง

v    จะรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการใด

v    จะจัดการกับข้อมูลนั้นแบบใด

รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ผู้เรียนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้บ่อย ๆ ฝึกให้เป็นนิสัย    นำไปปฏิบัติจริง ๆ   การเรียนรู้แบบนี้เป็นการเรียนรู้แบบมีแผนการเรียน

            ในตอนเรื่อง วิสรรชนีย์ (ที่ผ่านมา) นั้น ผู้เรียนได้เรียนรู้จากวิทยากรประจำกลุ่มที่เตรียมเรื่องเล่า  ไปเล่าให้ผู้เรียนฟังตามระดับการเรียนรู้ ซึ่งการจัดกิจกรรมกลุ่มอย่างนี้  นักเรียนกลุ่มเก่งจะอยู่ในกลุ่มเก่ง  กลุ่มเรียนอ่อนจะอยู่เฉพาะเด็กเรียนอ่อน  ครูผู้เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนได้ตรงสภาพจริง   ซึ่งผู้เรียนกลุ่มเรียนอ่อนจะไม่ได้เรียนเรื่องยาก ๆ  ส่วนกลุ่มเรียนเก่งจะไม่ได้เรียนเรื่องง่าย ๆ   เขาจึงไม่เบื่อ  เพราะเขาเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน  ผลที่ออกมาดูได้ที่ผู้เรียนนำเสนอผลงานการเรียนรู้ ( ฟาอีซะ  บาฮารี  และมะซอพลี )  เด็กเหล่านี้เข้าใจเรื่องเดียวกันแต่แนวทางเรื่องที่เข้าใจต่างกัน  เพราะครูใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบหนัก-เบาไม่เท่ากัน

            การศึกษาค้นคว้าจากหนังสือหรือถามผู้รู้เรื่องหนึ่ง ๆ ควรอ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม  หลายคนแต่ง หรือถามจากผู้รู้หลายคนในเรื่องเดียวกัน  เพราะจะได้ข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งดีกว่าข้อมูลที่ได้จากแหล่งเดียว

            การนำข้อมูลจากหนังสือมาอ้างอิงนั้น ควรใช้ข้อมูลหลากหลายแนวคิดในเรื่องเดียวกันทำให้เห็นภาพมองต่างมุม  อย่านำข้อมูลเดียวมาเขียน เพราะเท่ากับเป็นการลอก ข้อความมาอ้างอิงเท่านั้น   ถ้าเราใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งหลายแนวคิดมีความเหมือนกัน  ต่างกัน  คล้าย ๆ กันบ้าง  เวลาเราสรุปข้อมูลจะเห็นความสอดคล้อง  ความต่างกัน อย่างเป็นเหตุเป็นผล  น่าเชื่อถือกว่าการใช้ข้อมูลเดี่ยวโดดและตัวผู้เรียนจะรู้กว้างกว่าลึกกว่าการฟังคน ๆ เดียวหรืออ่านจากหนังสือเล่มเดียวที่เสนอมุมมองด้านเดียว

 

2.  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

            ขั้นตอนนี้นับว่าสำคัญมาก  เพราะความรู้ที่ผู้เรียนได้จากกลุ่มของตนเป็นความรู้ดิบ  ความรู้ที่สรุปได้เดี่ยว ๆ  พอนำมาเล่าสู่กันฟัง  นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ได้ฟังเพิ่ม  ได้มีโอกาสคิดข้อซักถาม  ถาม    ฟังเพื่อนตอบคำถาม  หรือคิดตอบคำถามเพื่อน  การตอบโต้สนทนากันแบบนี้จะช่วยจุดประกายความคิด ของผู้เล่าและผู้ฟัง  ผู้ถามและผู้ตอบให้กระเจิงได้  เมื่อมีข้อมูลชัดเจนเพียงพอแล้ว ร่วมกันสรุป ความรู้ความคิดให้เป็นหนึ่งตรงนี้สำคัญมาก  เพราะความรู้จากกลุ่มที่สรุป  ผู้เรียนจะรู้ร่วม แต่ทว่าในขณะนั้นผู้เรียนแต่ละคนจะเกิด ความรู้ในเรื่องนั้นเฉพาะตนขึ้นมา  อาจจะรู้เหมือนหรือต่างไปจากกลุ่มก็ได้  ความรู้แบบนี้แหละเป็นความรู้ทีผู้เรียนสร้างขึ้นมาด้วยตนเองและเป็นความรู้ที่รู้จากข้างในใจตนเอง

 

3.  บันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ในรูปแบบเล่าเรื่องและการตรวจสอบ

            ตรงนี้สำคัญมาก  เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการเรียน ขั้น 1-2 แล้ว ผู้เรียนรายกลุ่มหรือรายบุคคลจะต้องนำความรู้ที่ได้มา  มาเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเล่า  ทำไมต้องให้เป็นเรื่องเล่าเพราะเรื่องเล่าภาษาจะไม่แข็ง  ถ้าเข้าใจวิธีเขียนจะเขียนง่ายน่าอ่าน  เหมาะในการฝึกเด็ก ๆ ผู้เรียน  เขียนเสร็จแล้วอ่านให้เพื่อนฟัง  เล่าให้เพื่อนฟัง (เหมือนกับฟาอีซะ  บาฮารีหรือมะซอพลี  เล่าเรื่องวิสรรชนีย์แปลงรูป)  หรืออ่านให้ครูฟัง  ตรงนี้คือการตรวจสอบผลงานของตน ถ้าทุกคนยอมรับก็ผ่าน  ถ้าไม่ยอมรับตรงไหนก็แก้ไข ปรับปรุงนำเสนอใหม่ได้ที่ถือว่าผ่าน

 

4.  จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก

            จะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผ่านมา  ผู้เรียนได้ตอกย้ำความรู้สู่ตนเองทีละนิด ๆ ความรู้นั้นจะค่อย ๆ  เข้าไปในใจของตนตลอดเวลา  แบบน้ำเซาะทราย  พอได้นำมาเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็ก จะเป็นการประกาศศักยภาพ หรือความสามารถของตนออกมาให้เห็น  ผู้เรียนจะต้องทำอย่างเต็มที่ (ในกรณีที่ผู้เรียนพอใจต่อวิธีการเรียนรู้ ) ตั้งแต่เริ่มคิดทำรูปเล่ม เขียนเรื่อง  วาดภาพประกอบ  ทุกขั้นตอน ความรู้จะค่อย ๆ  ซึมลึกเข้าไปในใจของผู้เรียน  คละเคล้ากันระหว่างรู้เรื่องกับรู้สึก จุดนี้แหละที่ความรู้แท้จะเกิดขึ้นในจิตใจของผู้เรียน  ซึ่งจะเป็นความรู้ฝังแน่นในใจผู้เรียน

            สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรขาดในกรณี สระแปลงรูป  สระลดรูปนี้  ควรให้ผู้เรียนเขียนจดหมาย  เขียนเล่าเรื่อง หรือแต่งประโยคบอกเล่า  ประโยคปฏิเสธ  ประโยคคำถาม  หรือคำร้อยกรอง  อย่างหนึ่งอย่างใด  ด้วยภาษาแบบโบราณ (ดังจดหมายถึงผู้พัก)  เพื่อฝึกทักษะและตอกย้ำความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในด้านนี้ของผู้เรียน

            นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรวบรวมคำที่มีสระคงรูป  สระลดรูป  สระแปลงรูป  ที่เรียนผ่านมาแล้วจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มารวมเป็นเล่ม  เป็นตำราเรียนของชั้นเรียนซึ่งผู้เรียนต้องวางแผน  แบ่งหน้าที่กันจัดทำจะเป็นการฝึกทักษะที่ดี

            การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกฝนเรียนรู้จนรู้วิธีการเรียนรู้ ( Learning  How  to  Learn )  สามารถจับหลักการ  ความสัมพันธ์โยงใย ของเรื่องราวการเรียนรู้ แล้วนำมาสรุปเป็น ความคิดรวบยอด ได้ จะง่ายต่อการนำวิธีการเรียนรู้นั้นไปเรียนรู้เรื่องต่อ ๆ ไป ที่มีสาระเนื้อหาคล้าย ๆ กัน  เช่น เรียนเรื่อง การลดรูป  แปลงรูปของวิสรรชนีย์แล้ว  ผู้เรียนจะสามารถนำวิธีการเรียนรู้นี้ไปเรียนรู้เรื่อง การลดรูป  แปลงรูปสระอื่น ๆได้อีก เช่น  สระเอะ , แอะ , โอะ , เอาะ , เอา , เออ, อัว

            การเรียนการสอนวิธีนี้ ครูผู้สอนเพียงแต่ให้ตัวอย่าง  แล้วฝึกให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง  เมื่อเห็นว่าผู้เรียนพร้อมที่จะสอบก็สอบ  แต่การสอนกับการสอบต้องเป็นของควบคู่กันไม่แยกออกจากกัน  ครูผู้สอนจะต้องสำเหนียกอยู่เสมอว่า  สอบคือสอน สอนคือสอบ

 

 

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

 

หมายเลขบันทึก: 484203เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท