ทุกแง่มุมเกี่ยวกับธรรมะ


คำตอบต่อคำถามที่ว่า "ธรรมะคืออะไร?" จากการบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งได้ให้ไว้เมื่อวันที่ ๓๐ ต.ค. ๒๕๓๑ อาจซับซ้อนเข้าใจยากในบางส่วน เนื่องจากเป็นธรรมะบรรยายให้แก่ภิกษุสามเณร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะถูกจริตท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย

             ก่อนอื่นขอเกริ่นเสียก่อนว่าบันทึกที่ท่านผู้อ่านจะได้อ่านต่อไปนั้น มาจากการถอดไฟล์เสียงธรรมบรรยายของท่านพุทธทาส ซึ่งท่านจะบรรยายไปเรื่อยๆจนครบ ๑ ชั่วโมง เพื่อให้ได้สาระธรรมครบถ้วน ผู้เขียนมิได้ตัดทอนหรือสรุปใจความใดๆ แต่เป็นการถอดเรียบเรียงทุกคำพูดที่ท่านบรรยายเอาไว้

           อย่างไรก็ดีเพื่อให้อ่านง่าย ไม่สับสน ผู้เขียนจึงได้เน้นคำหรือข้อความสำคัญ ให้เป็นตัวหนา และขออนุญาตแบ่งย่อหน้า วรรคตอนตามความเหมาะสมค่ะ 

         ขออนุโมทนาบุญกับท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยค่ะ

....................................... 

 

.....ในการบรรยายครั้งนี้ บรรยายโดยหัวข้อว่า “ทุกแง่มุมเกี่ยวกับธรรมะ” อันที่จริงถ้าเรารู้เรื่องธรรมะเรื่องเดียวก็พอ แต่มันรู้ไม่ได้ เพราะมันมีหลายแง่มุม ลึกขั้นไปจนยังไม่รู้เลยก็มี บางทีก็ตื้นเกินไปจนมองข้ามเสียก็มี คิดว่า ในโอกาสแรกนี้ เราพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะกันทุกแง่มุมนั่นแหละจะดี คือจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะจนสำเร็จประโยชน์ได้ คิดว่าทุกแง่มุมนั้นมันก็จะแจงออกไปได้ว่า  ธรรมะนี้มันเพื่ออะไร ธรรมะนี้มันคืออะไร ธรรมะนี้มีได้โดยวิธีใด ธรรมะมีที่ไหน ธรรมะมีกันได้เท่าไหร่ ธรรมะกับศาสนา ธรรมะกับโลกปัจจุบัน ธรรมะกับธรรมะเอง ธรรมะกับคน ธรรมะมีที่ไหนกัน สรุปความว่ารู้เรื่องของธรรมะทุกแง่มุมนั่นแหละ จะง่าย ในการศึกษาธรรมะทั้งหมด จะรู้โดยละเอียดนั้นก็ยังยาก รู้ในลักษณะที่จะรู้จักธรรมะเข้าไปรอบๆตัว ก็พอ  


.....ข้อแรกที่ว่าธรรมะคืออะไรนั้น เป็นการพูดให้สนใจธรรมะด้วย และเป็นการรู้ก่อนสิ่งใด เมื่อเราอยากจะมีอะไร เราต้องรู้ว่าสิ่งนั้นมันมีประโยชน์อะไร ไม่งั้นเราจะไปซื้อไปหามาทำไม รู้ว่าธรรมะเพื่อประโยชน์อะไร จึงจะสนใจ และก็จะมีธรรมะ จึงพูดว่าธรรมะเพื่ออะไรเสียก่อน แล้วจึงจะพูดว่าคืออะไร

ธรรมะสำหรับลูกเด็กๆ ก็พูดตามๆผู้ใหญ่ด้วย ไม่รู้ว่าอะไร แล้วคนก็มักจะว่าธรรมะนี้เป็นศาสนา เป็นตัวศาสนา เป็นเพื่อศาสนาแต่อย่างเดียว แล้วก็ศาสนาชนิดที่เป็นพิธีรีตรองเสียด้วย รู้จักธรรมะกันเพียงเท่านี้ มันไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะว่าธรรมะนั้นมันเพื่อทุกสิ่ง เพื่อทุกสิ่งที่จำเป็นแก่มนุษย์ ทั้งในแง่ของเหตุและในแง่ของผล คือในแง่ของสิ่งที่ต้องมี เป็นเครื่องมือในแง่ของผลที่จะได้รับจากการมี ก็น่าสังเวชที่เรารู้จักธรรมะกันสักแต่ว่าชื่อ ก็ยังไม่ค่อยจะตรงกับใจความของคำว่าธรรมะเสียด้วย  ธรรมะนี้เพื่อมีเพื่อสิ่ง เพื่อความมีสิ่งที่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องมี ธรรมะเพื่อศีลธรรม เพื่อวัดคุณธรรม เพื่อสังคมที่ดี กระทั่งเพื่อการเมืองเพื่อเศรษฐกิจ เพื่อสันติภาพของโลกในที่สุด นี่ธรรมะมันเพื่ออย่างนี้ แต่คนก็รู้ธรรมะเพียงเพื่อตัวกู    นั่นล่ะเค้าบอกธรรมะทำให้ธรรมะมอมแมม เอาธรรมะมาเป็นเครื่องมือสำหรับตัวกู ฉะนั้น ไม่ได้เพื่อประโยชน์อันแท้จริงแก่ทุกคนหรือแก่โลก จะว่าที่จริงธรรมะนี้มันก็เป็นสิ่งที่คู่กันกับชีวิต ถ้ามองลึกแล้วก็เป็นตัวชีวิต ไม่มีธรรมะก็ไม่มีชีวิต มีชีวิตที่ไม่มีธรรมะมันไปไม่รอด มันจึงเป็นคู่ชีวิต เป็นตัวชีวิตเสียเอง สำหรับคนสมัยนี้ ก็ต้องพูดคำที่แปลกสักหน่อยว่า ธรรมะเพื่อมีชีวิตใหม่ ชีวิตที่มีอยู่เดิมๆนั้นขอเรียกว่าชีวิตเก่า เป็นชีวิตที่จมอยู่ในกองทุกข์ ชีวิตใหม่มันต้องขึ้นมาอยู่เหนือ เหนือกองทุกข์ พูดให้มันแคบเข้ามาหรือสั้นเข้ามา ก็ชีวิตที่อยู่เหนือบวกเหนือลบ ชีวิตของคนธรรมดาน่ะมันเดี๋ยวเป็นบวก เดี๋ยวเป็นลบ เดี๋ยวเป็นบวกเดี๋ยวเป็นลบ ล้มลุกคลุกคลานกันไปไม่มีที่สิ้นสุด    นี่มันเพียงเท่านั้น นี่ชีวิตเก่า  เมื่อเป็นชีวิตใหม่ต้องเหนือความเป็นบวกเหนือความเป็นลบ ความเป็นลบน่ะมันเหลือทนแล้ว แต่ความเป็นบวกมันก็ยุ่งเหลือประมาณ และก็มักจะเฟ้อด้วย ชีวิตใหม่จะต้องเหนือบวกและเหนือลบ ถ้าพูดให้ลึกไปก็เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือสิ่งที่เป็นคู่ๆๆ ทุกคู่นั่น จึงจะเป็นชีวิตใหม่ เหนือปัญหาทุกๆประการ เหนือความทุกข์ ทุกๆชนิด  มีคำสูงสุดเขาว่าเหนือโลก  คือโลกุตระ คือเหนือโลก ในโลกนี้มันมีบวกมีลบมีดีมีชั่วมีบุญมีบาปมีสุขมีทุกข์ ล้วนแต่ยุ่งทั้งนั้น นรกก็ยุ่งไปตามแบบนรก สวรรค์ก็ยุ่งไปตามแบบสวรรค์ มันอยู่เหนือนรกเหนือสวรรค์มันจึงจะไม่ยุ่ง จึงจะเป็นความสุขสงบเย็นหรือว่างจากสิ่งรบกวนโดยประการทั้งปวง จะพูดให้ง่ายสำหรับเด็กๆเข้าใจก็ว่า มันอยู่เหนือความดีใจและความเสียใจ เด็กๆมักชอบสิ่งที่ดีใจ ชอบความดีใจ หรือว่าคนผู้ใหญ่บางคนก็ยังแค่นั้นเหมือนเด็กๆ หารู้ไม่ว่าเสียใจนั้นก็ไม่ไหว เห็นชัด แต่ว่าดีใจก็ไม่ไหวเหมือนกัน มันกระหืดกระหอบมันไม่ใช่ความสงบ ต่อเมื่อไม่ดีใจไม่เสียใจนี่มันจึงจะเป็นความสงบ ธรรมะช่วยให้อยู่เหนือความดีใจและความเสียใจ   ปกติอิสระเต็มไปด้วยสติปัญญา เมื่อดีใจนั้นมันก็บ้าชนิดหนึ่ง มันโง่ จนคิดอะไรไม่ถูกเหมือนกัน ดีใจ ดีใจ ดีใจ ต่อเมื่อปกติหรือสงบนั้นมันจึงจะฉลาด จึงต้องมีสภาพที่เหนือดีใจเหนือเสียใจ ดีใจก็กินข้าวไม่อร่อย นอนหลับยากเหมือนกับเสียใจ ต่อเมื่อปกตินี่จึงจะสบาย ธรรมะยังจะเพื่อการดำเนินชีวิตเพื่อไปให้ถึงที่สุดที่ชีวิตมันจะดีได้ หรือเพื่อความเป็นมนุษย์จะสูงสุด ความเป็นมนุษย์ จบเรื่องของความเป็นมนุษย์ นั่นหละเรียกว่าธรรมะ มันจบเรื่องของความเป็นมนุษย์ได้ด้วยการมีธรรมะ ธรรมะมันเพื่ออย่างนี้ ใครจะชอบก็ได้ไม่ชอบก็ได้ แต่มันมีให้อย่างนี้ 

.....เอ้าทีนี้ ธรรมะคืออะไร นี่ลองคิดดู รู้หรือยังว่าธรรมะคืออะไร เท่าที่เรียนในโรงเรียนน่ะมันน้อยเกินไป และมันยังสอนกันผิดๆเสียด้วย เด็กๆในโรงเรียนน่ะครูสอนว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้มันถูกนิดเดียวๆ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะๆนี่น่ะเขาพูด เขามี เขาใช้ เขาสอนกันอยู่ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ธรรมะมันมีความหมายว่า “หน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องประพฤติและกระทำเพื่อความรอด” เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น เขาก็รู้จักธรรมะหรือหน้าที่ไปตามแบบตามมีตามเกิดตามแกนๆก็ได้ แต่มันก็เป็นหน้าที่ ถ้าไม่รู้จักหน้าที่มันตายหมดแล้ว โดยเฉพาะหน้าที่ที่ทำให้รอดชีวิตอยู่ได้นี่เขารู้กันมาตั้งแต่สมัยคนป่านั่นแล้ว มันก็สอนกันมา ดำรงชีวิตให้รอดอยู่ได้นั่นแหละ เป็นหน้าที่ หน้าที่คือ ธรรมะ และก็ใช้คำนี้เรื่อยมาจนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ท่านก็รู้หน้าที่ที่สูงสุด หลุดพ้นจากความทุกทั้งปวงอย่างที่ว่า เป็นพระอรหันต์ มันก็หน้าที่สูงสุด  หน้าที่โดยทั่วไปเขาก็รู้กันอยู่ คือหน้าที่เพื่อความรอดตาย แต่หน้าที่เพื่อความรอดทุกข์นี่ มันยังไม่รู้มาแต่ทีแรก มันมีชีวิตชนิดที่เป็นทุกข์ เมื่อรู้หน้าที่อันสูงสุดนี้ ชีวิตก็พ้นจากความทุกข์  จะพูดให้มันกว้างขวาง ไม่เกี่ยวกับบุคคล ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ ก็พูดได้ว่า ธรรมะนั้นคือความจริง คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่มันมีอยู่อย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ผลจะเกิดขึ้นอย่างไร คำว่ากฎหรือสัจจะ ความจริงที่หมายถึงกฎนี้มันก็ เป็นของที่ตลอดอนันตกาล มีอยู่ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด กฎนี้มันก็มีอยู่ในลักษณะเป็นอสังขตะ คือมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ได้เกิดมาจากสิ่งใด มันเป็นตัวมันเองที่มีอยู่อย่างประหลาด สัจจะหรือสิ่งที่เรียกว่ากฎทั่วไป  แต่มันเป็นตัวมันเองและก็มีลักษณะเป็นอสังขตะ ถ้าดูกันให้เฉพาะมันก็ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับความรอด หน้าที่ตามกฎเกณฑ์นั้นๆ รู้แล้วมันรอด ก็เอาใจความกว้างๆว่า ความจริงหรือกฎเกณฑ์ที่รู้แล้วช่วยให้รอด สิ่งนั้นคือธรรมะ ที่ต้องรู้แล้วก็เอามาปฏิบัติ เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วมันก็ได้ผลเป็นความรอด ถ้าเรารู้ธรรมะหมดทุกอย่างแล้วจะสรุปได้เป็นสี่ความหมาย เดี๋ยวนี้ยังรู้ไม่ได้เพราะยังรู้ไม่หมด ถ้ามันรู้หมดแล้วจะสรุปได้เป็นสี่ความหมาย ธรรมะคือตัวธรรมชาติตามธรรมชาติ เรียกว่าสภาวธรรม ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ในตัวธรรมชาติทั่วไปก็เรียกว่าสัจธรรม ธรรมะคือหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่เรียกว่าปฏิบัติธรรม แล้วผลต้องเกิดขึ้นตามสมควร อันนี้เรียกว่าปฏิเวธธรรม ขอให้ช่วยๆจำสี่คำนี้ไว้เถิด โดยภาษาไทยก็ว่าธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลที่จะได้รับจากหน้าที่ ถ้าโดยภาษาบาลีก็ว่า       สภาวธรรม คือธรรมชาติ สัจธรรม คือกฎของธรรมชาติ ปฏิบัติธรรม คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ  ปฏิเวธธรรม คือผลที่ได้รับจากหน้าที่ เรารู้ทั้งสี่ความหมายนี่เราจะรู้หมดเลย จะรู้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะครบถ้วน ไม่ยกเว้นอะไร น่าสนใจ ควรจะสนใจที่จะรู้กันทั้งสี่ความหมาย 

.....ธรรมชาตินี้มันมีทั้งที่เป็นสังขตะ คือเกี่ยวด้วยเหตุด้วยปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงได้ เรากระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  อย่างนี้เรียกว่า สังขตะ ธรรมะประเภทสังขตะ มันชื่อแปลกจำยากก็จริงแต่ควรจะรู้จักไว้ว่าสังขตะ และ          อสังขตะถ้ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นสิ่งตายตัว ไม่มีเกิดไม่มีดับละก็ นั่นมันเป็นอสังขตะ ถ้ามันยังเปลี่ยนแปลงได้มีเกิดมีดับนั่นเป็นสังขตะ ธรรมะมีทั้งสองชนิด และชนิดที่เป็นอสังขตะคือพวกกฎเกณฑ์ทั้งหลาย เป็นสัจธรรมที่ควรจะทราบ อีกชื่อหนึ่งเขาเรียกว่า สังขารธรรม วิสังขารธรรม สังขารหรือสังขารธรรมนี้ก็คือสิ่งที่เกี่ยวการปรุงแต่ง สิ่งที่ปรุงแต่งสิ่งอื่น หรือสิ่งที่สิ่งอื่นปรุงแต่ง หรือตัวการปรุงแต่งก็ตาม นี่เรียกว่าสังขาร สังขารเรียกว่าการปรุงแต่ง อย่ารู้จักสังขารเหมือนลูกเด็กๆหรือคุณยายแก่ๆ

สังขารคือร่างกายอย่างนี้ถูกนิดเดียว นิดเดียวจนไม่รู้จะนิดอย่างไร สังขารมันกว่างขวาง มันคือทุกสิ่งที่มีการปรุงแต่ง ถูกปรุงแต่งหรือเป็นการปรุงแต่ง เรียกว่าสังขาร วิสังขารคือปราศจากการปรุงแต่ง ไม่มีการปรุงแต่งไม่เกี่ยวข้องกับการปรุงแต่ง นั่นน่ะรู้จักยาก ที่มุ่งหมายกันอยู่ทั่วไป สิ่งนั้นก็คือ นิพพาน  นิพพานหรือโลกุตระ ซึ่งจะพ้นจากการปรุงแต่ง  ยังถูกปรุงแต่งได้อยู่เรียกว่า สังขาร ไม่อาจจะถูกปรุงแต่งได้ต่อไป เรียก วิสังขาร แต่จิตนี้เป็นสังขารอยู่ตามธรรมชาติ เมื่ออบรมดีแล้วมันจะเข้าถึงสภาพวิสังขาร สภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ อย่างนี้มันก็อยู่เหนือโลก เหนือความทุกข์ มันจึงมีคำว่า โลกียะ โลกุตระขึ้นมา  โลกียะมันอยู่ในวิสัยโลก เป็นไปตามโลก โลกุตระก็อยู่เหนือโลก ไม่เป็นไปตามวิสัยโลก นี่ขอให้รู้จักไว้อย่างนี้  

.....ตัวธรรมะแท้ๆ หมายถึงตัวธรรมชาติแท้ๆ ธรรมะตัวแท้ๆ เป็นธรรมชาติแท้ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่เป็นดีไม่เป็นชั่ว ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป ไม่เป็นอะไรอยู่ในตัวเองเป็นเพียงธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นอย่างว่าละ พวกหนึ่งก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ตามกฎอิทัปปัจจยตา พวกหนึ่งไม่เป็นไปตามนั้น คือไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์อันใด มันคงตัวอยู่ สำหรับจะบังคับสิ่งที่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ที่มันเป็นดีเป็นชั่วเป็นบุญเป็นบาปเป็นกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรมนี่มันบัญญัติทีหลัง มนุษย์บัญญัติลงไปในตัวธรรมะที่ดีที่น่าพอใจที่ควรมีไว้เรียกว่า กุศลธรรม ที่ตรงกันข้ามเรียกว่าอกุศลธรรม ที่ยังไม่รู้จะบัญญัติเป็นอะไรแน่ ก็บัญญัติเป็นอพยากตธรรม กุสลาธรรมา อกุสลาธรรมา อพยากตาธรรมาอันนี้สามอย่าง ที่มันถูกใจมนุษย์ควรจะมีก็บัญญัติเรียกว่า กุศล ตามความรู้สึกของมนุษย์  แต่สุนัขมันไม่อาจจะยอมรับได้เพราะมันชอบต่างกัน

เดี๋ยวนี้บัญญัติตามความรู้สึกของมนุษย์ที่มีความรู้สึก ที่พึงปรารถนาก็เรียกว่ากุศลธรรม ที่ไม่พึงปรารถนาก็เรียกว่าอกุศลธรรม แต่ที่มนุษย์ยังไม่รู้ ยังไม่รู้ว่าจะบัญญัติว่ากุศลหรืออกุศลก็ต้องว่าบัญญัติไม่ได้โว้ย เรียกว่า "อพยากตธรรม" เช่น ตัวกฎเกณฑ์เอง ตัวสัจธรรมเอง เหล่านี้ก็เป็นอพยากตธรรม นิพพานก็เป็นอพยากตธรรม เพราะมันบัญญัติไม่ได้ว่าบุญว่าบาปว่าดีว่าชั่วว่าอะไร การที่บัญญัตินิพพานเป็นสุขนั้นเพื่อหลอกล่อคนให้มาสนใจพระนิพพาน เพราะคนทุกคนมันมียาเสพติดเหมือนกันทั้งหมดคือความสุข มันชอบความสุข หวังความสุข หลงความสุข ก็ต้องบอกว่าความสุข แล้วที่สุด ถึงที่สุดด้วย คนก็สนใจนิพพาน แต่เป็นนิพพานแท้จริงมันไม่สุขไม่ทุกข์ไม่บุญไม่บาปไม่ดีไม่ชั่วไม่อะไร แต่ทีนี้มายึด มนุษย์ต้องบัญญัติเพื่อพูดกันรู้เรื่อง ที่จะต้องเข้าใจเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งไม่ว่าธรรมะนี้จะสูงสุด จะศักดิ์สิทธิ์ จะทำอะไรได้ทุกอย่าง อย่างนี้ มันก็ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อาตมัน ไม่ใช่เจตภูติ ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่ความเป็นแห่งวิญญาณเหมือนกับพระเป็นเจ้าอะไรทำนองนั้น เป็นธรรมะ สักว่าเป็นธรรมะ ถ้าจะเรียกให้ถูกก็ว่าเป็น อนัตตา ไม่ใช่อัตตา แล้วเราก็มาพูดกันเองทีหลังว่าเป็นอัตตา ตามความรู้สึกของเราหรือได้รับคำสั่งสอนมาอย่างนั้น ธรรมะแท้จริงก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นอัตตา เป็นอาตมัน เป็นชีโว เป็นเจตภูติเป็นอะไรเหมือนที่เขาจะคิดกัน นี่เรียกว่าความลึกลับที่มนุษย์ไม่ค่อยจะรู้ ว่าธรรมะไม่ได้เป็นอะไรนอกจากเป็นธาตุตามธรรมชาติ แต่ก็มีขอบเขตมีอิทธิพลมีอะไรมาก มากมายเหลือประมาณ เป็นธาตุตามธรรมชาติ คำนี้จำให้ดีๆ "ธรรมะ"ตัวนี้ ตัวหนังสือตัวนี้คำนี้มันแปลว่า "ทรงไว้ ยกขึ้นไว้ รักษาไว้ ประคับประคองไว้ ซึ่งผู้มีธรรมะไม่ให้พลัดตกลงไปในความทุกข์"  นี่เป็นตัวพยัญชนะว่าอย่างนี้ .....แต่โดยอรรถ โดยความหมายแล้วก็คือ หน้าที่ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ๆนี้มัน เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่พลัดตกลงไปในความทุกข์ เรารู้จักธรรมะในความหมายที่ธรรมดาสามัญ ที่ใช้ได้กับเด็กๆแล้วก็ต้องรู้จักว่าธรรมะคือ หน้าที่  หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตจะต้องมีธรรมะ คือสิ่งที่จะดำรงทรงชีวิตนั้นไว้  ตัวพยัญชนะมันแปลว่า ทรงไว้ ทรงไว้ รักษาไว้ ถือไว้  ความหมายคืออรรถ ก็ว่า ทรงไว้ ดำรงไว้ซึ่งชีวิต ให้ยังคงอยู่ ไม่ให้พลัดตกลงไปในฝ่ายต่ำคือ ฝ่ายความทุกข์ ชีวิตที่มีธรรมะจะเป็นชีวิตที่รอด เป็นชีวิตที่มีธรรมะอย่างถูกต้อง ที่จะรอด ธรรมะในฝ่ายตรงกันข้ามก็ ก็ต้องเรียกว่ามัน...มันเป็นทุกข์ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ทำหน้าที่ถูกต้อง มีหน้าที่สำหรับทำให้เป็นทุกข์ มันก็ต้องเป็นทุกข์ มันก็ทรงบุคคลนั้นไว้ในความทุกข์  ธรรมะฝ่ายผิดที่จะถือว่าเป็นฝ่ายดำ ก็ทรงบุคคลนั้นไว้ให้จมอยู่ในความทุกข์  ฝ่ายขาวก็ทรงบุคคลผู้มีธรรมะไว้ไม่ให้พลัดตกลงในกองทุกข์ ให้อยู่เหนือความทุกข์ มีให้ ธรรมะนี้มีให้ทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง  นี่ก็เรียกว่าถือตามเทศะ  ถ้าถือตามกาละ ก็มีให้ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย  แล้วเทศะ เอามิติทางพื้นที่เป็นประมาณนี่ ก็มีให้ทั้งอย่างต่ำ ทั้งอย่างกลาง ทั้งอย่างสูง คือมันอยู่ในสภาวะต่ำมันก็มีธรรมะอย่างต่ำ  อย่างกลางก็มีธรรมะอย่างกลาง อย่างสูงก็มีธรรมะอย่างสูง แล้วแต่ว่ามันกำลังมีอยู่ในสถานะอย่างไร ถ้ามันยังมีอยู่อย่างต่ำๆก็สามารถที่จะอยู่อย่างต่ำๆมีให้เหมือนกัน ที่อยู่อย่างถูกต้องอย่างต่ำๆ ของพวกที่มันยังสูงไม่ได้ ถ้ามันกลางๆขึ้นมาก็มีให้อย่างกลางๆ ถ้ามันสูงสุดก็มีให้อย่างสูงสุด  นี่เรียกว่าธรรมะนั้นมีให้ทั้งอย่างต่ำ ทั้งอย่างกลาง ทั้งอย่างสูง  ทีนี้ถ้าเป็นเวลา ก็หมายถึงจุดตั้งต้น คือเบื้องต้น และท่ามกลางคือกำลังเป็นไปๆๆ และเบื้องปลายก็คือจุดสุดท้าย  ตั้งต้นขึ้นมาในระยะแรก มันก็เป็นไปตามที่ความไม่รู้อะไร  ไม่รู้อะไรแล้วมันก็ทำผิดทำถูก ทุกคราวที่ทำผิดทำถูกมันก็สอนให้ๆ ถ้าทำผิดก็กัดเอา ทำถูกมันก็ประคับประคองให้สบายใจ นี่ธรรมะจึงเป็นไปหรือเปลี่ยนแปลงไปในบุคคลผู้มีธรรมะในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือเบื้องปลาย  เรื่องนี้ไม่ได้เอาอายุเป็นประมาณนะ คนแก่หัวหงอกแล้วยังอยู่ในเบื้องต้นก็ได้ คือมันไม่รู้อะไร คนแก่เปล่าๆ ไม่เป็นคนแก่ ในวันที่ยังหนุ่มยังสาวรู้ธรรมะ ก็เรียกว่าดีกว่า เบื้องปลายก็เป็นพระอรหันต์ คืออยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง  ข้างต้นก็เต็มไปด้วยปัญหา มันก็ค่อยสางออกไปจางออกไป  และเบื้องปลายมันก็หมดปัญหา  ขอได้อย่าท้อใจๆ ทำให้มันถูกกับเรื่องราว มันจะเป็นอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง จะเป็นอย่างเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย ก็ทำให้มันถูกต้องยิ่งๆขึ้นไป มันก็จะเลื่อนชั้น 


.....ทีนี้เราก็จะเล็งถึงคำว่าธรรมะ ธรรมะที่เราใช้กันทั่วๆไปนี่ขอให้ถือว่า หมายถึง "หน้าที่ที่จะช่วยให้รอด" มีแต่ความรู้ยังไม่ได้ ต้องมีการกระทำ มันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ มีการเคลื่อนไหว มีการกระทำที่เป็นไปเพื่อความรอด จะทำอยู่โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ เพราะต้องการความรอด สัตว์เดรัจฉานก็ต้องการความรอด มันก็ดิ้นรนไปในลักษณะที่สัญชาตญาณมันจะบอกให้รู้ว่ารอด รอดไว้แค่นั้นก่อนก็ยังดี รอดชีวิตไปก่อนก็ยังดี รอดจากความทุกข์ทีหลังก็ยิ่งดี เดี๋ยวนี้มันเพียงแต่รอด รอดชีวิตบางทีก็ไม่รอด ตายเสียเป็นอันมาก และรอดชีวิตแล้วอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรกอยู่ตลอดเวลานี่มันไม่ไหว มันต้องรอดจากความทุกข์หรือปัญหาต่างๆอีกทีหนึ่ง  ถ้ารอดแล้วเต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ตายซะดีกว่ามั้ง ที่คนเกิดฆ่าตัวตายขึ้นมาก็เพราะมันไม่อยากจะเป็นทุกข์ ทั้งที่ชีวิตเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าหวงแหน มันก็ยังสมัครตายดีกว่า มันจึงฆ่าตัวตาย นี่เรียกว่าถ้ามีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์มันก็ไม่ไหว เราต้องรอดทั้งรอดตาย และรอดทั้งจากความทุกข์ หรือปัญหา ภาระหนัก โดยประการทั้งปวง นี่คือธรรมะคืออะไร  ถ้ากล่าวอย่างปรมัตถธรรม ภาษาลึก ธรรมะคือทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร ธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่งหรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เหตุก็ตาม ผลก็ตาม นี่เป็นเรื่องของการไหลไปตามการปรุงแต่ง ธรรมะคือทุกสิ่ง ถ้าเอาหลักธรรมชาตินั้นเป็นเกณฑ์ก็ถูกต้องที่สุด ก็คำว่าธรรมะนี้มันเป็นคำเดียวกับธรรมชาติ ภาษาบาลีเรียกธรรมชาติว่าธรรมะ ธรรมะแปลว่าธรรมชาติ รู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติ รู้จักหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ รู้จักผลที่จะได้รับจากหน้าที่ ธรรมะเพียงคำเดียวกว้างขวางถึงอย่างนั้น มันครอบไปหมด  ขี้ฝุ่นสักอณูหนึ่งมันก็คือ ธรรมชาติ มันก็มีกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติขี้ฝุ่นอณูหนึ่ง มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ นับประสาอะไรกับที่ว่า เป็นเนื้อ เป็นตัว เป็นชีวิต เป็นจิตใจ เป็นดินน้ำลมไฟมาประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย มันเป็นธรรมชาติที่มีกฎเกณฑ์อยู่ในนั้นและก็มีหน้าที่ต้องประพฤติให้ถูกตามนั้น มิฉะนั้นมันจะตาย ชีวิตทุกชีวิตมีความรู้สึกเพื่อการทรงอยู่ ดิ้นรนเพื่อการทรงอยู่ ถ้ามันไม่เหมาะมันก็ตาย มันต้องดิ้นรนหาความเหมาะ ความเหมาะนั้นก็คือความถูกต้อง ในบาลีเรียกว่าสัมมา สัมมา - ซึ่งถูกต้อง  เรียกว่าสัมมัตตะ สัมมัตตะคือ ความถูกต้อง เราเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆว่าความเหมาะ มันเหมาะที่จะอยู่นั่นแหละคือความถูกต้อง ซึ่งต้องรู้เรื่องนี้ให้เพียงพอเพื่อจะมีความเหมาะ ชีวิตทุกชีวิตต้องการความอยู่รอด ต้องรู้จักความถูกต้องหรือความเหมาะที่จะอยู่รอด รอดทั้งชีวิต รอดทั้งจากความทุกข์ ถ้าเป็นมนุษย์ต้องมีทั้งสองรอด จึงจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ เพราะคำว่ามนุษย์มันแปลว่าจิตใจมันสูง  สูงก็อยู่เหนือความทุกข์ เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง


.....ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อว่า ธรรมะโดยวิธีใด  เราพูดมาแล้วว่าเพื่ออะไร และคืออะไร ทีนี้ก็จะพูดว่าโดยวิธีใดจึงจะมี ตอบว่าด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ มันเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโดยสมควรแก่ธรรมะ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ  ปฏิบัติให้ถูกต้อง อนุโลมตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมะ มันจึงจะมีธรรมะ เดี๋ยวนี้คนมันจะโง่หรือจะเอาเปรียบกันมันก็มีธรรมะให้ธรรมะมาช่วย อ้อนวอนธรรมะมาช่วย อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยโดยที่ไม่ต้องมีธรรมะ ไม่มีธรรมะ ไม่มีหน้าที่ ก็ไม่มีอะไรช่วย มันต้องมีธรรมะมี ทำหน้าที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะแล้วจะมีสิ่งที่มาช่วย คือหน้าที่นั่นเองมันจะช่วย หน้าที่นั่นเองมันจะกลายเป็นผู้ช่วยขึ้นมา ถ้าไม่มีธรรมะคือไม่มีหน้าที่แล้ว ให้พระเจ้ามาเป็นฝูงๆให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกทั้งหมดมาช่วยมันก็ช่วยไม่ได้ อย่าโง่ให้มันมากไป มันต้องมีธรรมะ มีธรรมะ มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ แล้วก็มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะมีได้โดยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ คือกฎของการที่มันจะช่วยให้รอดได้ การปฏิบัติหน้าที่นั่นเองเรียกว่าการทำให้มีธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวนี้มันพร่า หรือมันเป็นเรื่องของคนไม่รู้ หรือมันมีขอบเขตที่กว้างขวาง ใช้คำว่าธรรมะกันพร่ำเพรื่อ จะยกคำพูดเหล่านี้มาให้ดูให้ฟัง ตั้งใจฟังให้ดีๆ เรามีการเรียนธรรมะในโรงเรียน เรียนอย่างท่องจำ มันก็ไม่มีธรรมะ มันแต่แต่การท่องจำหรือความจำ นี่เรียนธรรมะแล้วก็ไม่รู้ธรรมะ ที่เรียนๆกันตั้งเยอะแยะก็ไม่รู้ธรรมะโดยแท้จริงก็มี เป็นแต่จำเรื่องราวที่เขาบันทึกไว้ได้ นี่เรียนธรรมะแล้วไม่รู้ธรรมะ   ดังนั้นจะต้องรู้ธรรมะ รู้ธรรมะแล้วไม่มีธรรมะ คุณอาจจะไม่เชื่อ รู้ธรรมะ รู้ พูดได้ รู้ เข้าใจได้ แต่มันไม่มีตัวธรรมะ ไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้อง นี่อย่าอวดดีไป รู้ พูดธรรมะแล้วมันยังไม่มีธรรมะ เมื่อมีธรรมะแล้วมันก็ยังไม่มีการใช้ธรรมะ มันโง่หรือมันอะไรก็ตาม มันมีธรรมะแล้วมันไม่ได้ใช้ธรรมะ มันมีไว้อย่างปู่โสมเฝ้าทรัพย์

 ....นี่ถ้ามีการใช้ธรรมะ มันก็ยังมีว่า ใช้ผิดหรือใช้ถูก ใช้ถูกต่างหากมันจึงจะเป็นประโยชน์ ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ บางคนใช้ธรรมะคดโกง ไม่สุจริตมันก็ไม่มีประโยชน์ มันใช้ทำไม่ถูก ไม่มีประโชน์  นี่ธรรมะมีในโลกแล้วมันก็ต้องช่วยกันเผยแผ่ เผยแผ่ให้รู้กันต่อไป  รู้ธรรมะ มีธรรมะ ใช้ธรรมะ แล้วก็เผยแผ่ธรรมะ  การเผยแผ่ธรรมะนั้นไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีธรรมะให้ดู พูดสอนด้วยปากนี่ไม่เท่าไหร่หรอก สู้การมีธรรมะให้ดู ทำตัวอย่างให้ดู มีความสุขให้ดู ทีนี้คนเขาจะรับโดยไม่ต้องพูดสักคำก็ยังได้  นี่เรียกว่าใช้ธรรมะ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นๆ ใช้ธรรมะนั่นแหละคือมีธรรมะ ใช้ธรรมะนั่นแหละคือการเผยแผ่ธรรมะ ใช้ธรรมะอยู่ตลอดเวลาเถิดจะเป็นการมีธรรมะแล้วก็เป็นการเผยแผ่ธรรมะ  ธรรมะนี่ประหลาดนะ เป็นสิ่งที่ประหลาด ต้องใช้น่ะจึงจะมี ต้องใช้มันจึงจะมี ถ้าไม่ใช้ก็เท่ากับไม่มี ที่จริงทรัพย์สมบัติเงินทองศาสตราอาวุธอะไรก็ตามถ้าไม่ใช้ก็เท่ากับไม่มี  มีเงินไม่ใช้ก็เท่ากับไม่มี มีปืนไม่ใช้ยิงก็เท่ากับไม่มี มันต้องใช้มันจึงจะเป็นการมี ยิ่งใช้ยิ่งมี ยิ่งใช้มาก ยิ่งมีมาก พยายามใช้ธรรมะเถิด อย่าเรียนเฉยๆ เรียนไม่รู้ รู้แล้วต้องมีธรรมะ มีธรรมะต้องใช้ธรรมะ ใช้ธรรมะต้องใช้เป็น ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ยิ่งใช้ยิ่งมีๆ ไม่เหมือนกับเงินยิ่งใช้ยิ่งหมด แต่ว่าถ้าธรรมะยิ่งใช้มันยิ่งมี นี่มันน่าอัศจรรย์ไหม ความน่าอัศจรรย์อยู่ที่นี่.....

การใช้ธรรมะที่สำเร็จประโยชน์แท้จริงทุกอย่างทุกขั้นตอนนี้ อยากจะเสนอ "การปฏิบัติอาณาปานสติ" ได้ยินว่ากำลังศึกษากันอยู่กำลังฟังกันอยู่  ขอให้สนใจเถิด พระพุทธเจ้าท่านแนะนำระบบอาณาปานสติ ว่าเมื่อตถาคตอยู่ด้วยอาณาปานสติ เป็นวิหารธรรมก็มีการตรัสรู้ สรรเสริญอาณาปานสติอย่างนี้ คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกต้อง อย่าไปเอาสติปัฏฐานเฟ้อ สติปัฏฐานย้อมแมวขาย อะไรทำนองนั้น อย่าเอาเลย  สติปัฏฐานทั้งสี่ที่ถูกต้องก็คือระบบอาณาปานสติ ๑๖ ขั้น  ที่กำลังสนใจ ขอร้องให้เรียนให้ฟังกันไปพลาง ระบบนั้นจะเป็นระบบที่จะมีธรรมะ ใช้ธรรมะด้วยสติปัญญา มีอาณาปานสติทำให้มีสติมีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ ใช้ได้ทั้งที่เป็นเรื่องโลกๆ ใช้ได้ทั้งในเรื่องที่จะไปสู่โลกุตระ บรรลุมรรคผลนิพพาน  ปฏิบัติอาณาปานสติแล้วก็มีธรรมะเหลือประมาณ จะใช้ในแง่ไหนก็ได้ จะดับทุกข์..ได้..จะเผยแผ่ก็ได้ เพราะรู้เองแล้วก็เผยแผ่ได้  

การรู้จักใช้ “ปราณ” ปราณ ปาณะ คือ ปราณ ลมหายใจเข้าออกนั้นคือ ปราณ ปราณนั้นคือชีวิต การรู้จักปฏิบัติต่อชีวิต การใช้ชีวิตให้สำเร็จประโยชน์  ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น   นี่ตัวธรรมะที่จะจำกัดให้รัดกุม ให้แคบเข้ามา  เห็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติแล้ว ก็ขอเสนออาณาปานสติ ขอให้สนใจ  ผมได้พิจารณาคัดเลือกดูทุกแบบๆแล้ว มันมีมาก พระพุทธเจ้าก็เสนอแบบอาณาปานสติ  ก็เห็นว่าเป็นความจริงที่สุด ในคัมภีร์ชั้นหลังๆ บัญญัติกรรมฐานสมาธิตั้ง ๔๐ วิธี หรือเกินกว่านั้น มันเฟ้อ หรือมันเป็นเรื่องที่ว่าเกิน ยุ่งยากเกิน  

อาณาปานสติระบบเดียวเพียงพอ....พอที่จะใช้ นี้ธรรมะโดยวิธีใด ก็โดยวิธีปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้องให้สมควรแก่ธรรมะ เอ้าทีนี้อยากจะแนะอีกสักนิดนึงว่า มีธรรมะนั้น มีกันโดยที่ความทุกข์มันบังคับให้มี คำพูดนี้บ้าหรือดี ลองฟังดูเอง  มีธรรมะนั้นน่ะมันมีโดยความทุกข์น่ะบังคับให้มี พอมีความทุกข์เกิดขึ้นมันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันก็ดิ้นรนที่จะดับทุกข์  นั่นละความทุกข์มันบังคับให้มี คือมีเพื่อจะดับทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่บังคับ ยังจะเหลวไหลกันอยู่มากกว่านี้ เหลวไหลไม่สนใจธรรมะกันมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้ความทุกข์มันบังคับ มันไม่ยอมนี่ มันบังคับอย่างที่เรียกว่าไสหัวไปเลย เพราะมันบังคับว่าต้องดับทุกข์นี่หรือความรู้สึกของคนเองก็อยากจะดับทุกข์ แม้มันไม่อยากจะดับทุกข์มันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้ ความทุกข์มันกัดเอาๆ ความทุกข์บังคับให้มีธรรมะ คือ ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ส่วนตนเองก็ต้องทำให้ถูกต้อง ส่วนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ส่วนสังคมก็ต้องช่วยกันทำให้ถูกต้อง เพราะว่าเรามันอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้นะ การคิดนึกถึงผู้อื่นนั้นเป็นความถูกต้องที่สุด เพราะว่าเรา อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้  เราจงนึกถึงข้อนี้เถอะแล้วเราก็จะนึกถึงผู้อื่น เราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ สมมติว่าเขาจะยกโลกทั้งหมดๆนี้ให้เราคนเดียวครอบครองอยู่ อยู่คนเดียวเราอยู่ไม่ได้ รับไม่ได้ อยู่ไม่ได้ มันต้องอยู่ด้วยกันมากๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์ มันต้องมีเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน โลกมันจึงจะเป็นโลกหรือเป็นอะไรๆที่ครบถ้วนขึ้นมา ดังนั้นจงนึกถึงผู้อื่นอย่าเห็นแก่ตัวผู้เดียว มันเป็นผิดกฎของธรรมชาติ มันเป็นไปไม่ได้ แล้วมันก็จะล้มละลายเอง มันผิดกฎของธรรมชาติ โดยคิดว่าคนเดียวเห็นแก่ตัวผู้เดียว นี่เป็นไปไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละมันยุ่งยากไปหมด มันเกิดความทุกข์หนักขึ้นมาแล้วมันก็เบียดเบียนผู้อื่น ......ต้องเห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ผู้อื่นแล้วก็จะมีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง มีการที่จะมีธรรมะให้เพียงพอทั้งเพื่อตนเองทั้งเพื่อผู้อื่น ทั้งเพื่อความเนื่องกันแยกออกจากกันไม่ได้ นี่มีธรรมะโดยที่ความทุกข์บังคับให้มี แต่ละคนก็ต้องมี สังคมก็ต้องมี ปัญหาของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าระดับไหนคือความทุกข์ ระดับคนก็ดี ต่อให้ระดับเทวดาก็ดีมันก็มีความทุกข์ตามแบบเทวดา คนก็มีความทุกข์แบบคน มนุษย์ดีกว่าคนหน่อย ก็มีความทุกข์ตามแบบมนุษย์ ก็มีปัญหา สัตว์เดรัจฉานก็มีปัญหา มีความทุกข์ตามแบบสัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ต้นไร่นี่ก็มีความทุกข์ตามแบบของต้นไม้ต้นไร่...(มีต่อค่ะ) 

หมายเลขบันทึก: 484158เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท