การสอนที่มีชีวิต 4/2 Backward design ชาตรี สำราญ


ใครจะเป็นคนตั้งใจ อันดับแรกครูผู้เขียนบทเรียนตั้งใจนำบทเรียนนั้นสอนจริง ไม่ใช่เขียนไว้เพื่อให้คนอื่นมาตรวจแต่ไม่นำสอน เขียนแล้วนำสอน อันดับที่สอง ขณะเขียนบทเรียนต้องตั้งใจว่า จบบทเรียนแล้วผู้เรียนเรียนจบจะเกิดอะไร เกิดอะไรคือ เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ใดเกิดคุณธรรมจริยธรรมใด เกิดวิธีการเรียนรู้แบบใด เกิดความรู้ที่คงทน หรือความรู้ฝังแน่น หรือความรู้ฝังใจอย่างไร

การจัดการสอนแบบนำพาผู้เรียนให้ค้นหาจนพบว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนอยู่ได้เพราะอาศัยซึ่งกันและกัน” นั้น  มีวิธีการสอนมากมายที่ครูค้นคิดขึ้นมาสอน   ตัวอย่างที่ดูได้ เช่น  โรงเรียนบ้านดง  อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่  ฝึกให้ผู้เรียนคิดตั้งคำถาม  ถามหาคำตอบ  โดยแรก ๆ ครูเป็นผู้ตั้งโจทย์ให้ผู้เรียนตั้งคำถามถามครู   ถามจนกระทั่งพบคำตอบหรือพบทางที่ผู้เรียนจะไปค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง  จนกระทั่งผู้เรียนเป็นผู้สร้างโจทย์ปัญหาขึ้นมาให้เพื่อน ๆ ตั้งคำถามถามจนพบคำตอบ  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาระคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  สังคมศึกษาและกลุ่มสาระใดก็มักจะมีเจ้าของโจทย์ปัญหามาถามเพื่อน ๆ เป็นประจำ  นี่คือผู้เรียนสามารถกำหนดเรื่องเรียนรู้เองได้  ผลที่ปรากฏ  ปรากฏว่าสอนไป ๆ  ผู้เรียนเริ่มมีวินัยในตนเอง  เพราะผู้เรียนเริ่มรู้จักตนเอง  ผู้เรียนมีความนอบน้อม  มีจิตร่วมในการพัฒนาโรงเรียน  รักสถาบันของตน  และโรงเรียนนี้มีครูเหมือนไม่มี  ไม่มีครูเหมือนมี  เพราะเวลาเรียนในห้องเรียนจะได้ยินแต่เสียงผู้เรียนที่แสดงบทบาทเป็นครู   ผู้เป็นเจ้าของปัญหาคอยตอบคำถามและเสียงผู้เรียนที่ถามเพื่อหาทางค้นหาคำตอบ  หากว่าจะทำการใดที่เป็นกิจกรรมของห้องเรียนก็จะมีการร่วมคิด   ร่วมวางแผน ร่วมกระทำ  ร่วมประเมินผลและร่วมรับผิดชอบ  เวลามีเรื่องเคืองขัดใจกัน ก็ไม่ต้องเดือดร้อนถึงครูเพราะจะมีกระบวนการซักถามจนได้ข้อสรุป เช่น

 

                                ขัดเคืองหรือโกรธกันเรื่องอะไร                       ทุกข์

                มีสาเหตุใดที่ทำให้ต้องโกรธกัน                                       สมุทัย

                ใครได้รับผลกระทบ ชั้นเรียนมีผลกระทบ

                อย่างไรบ้าง คิดบ้างไหมว่าเพื่อน ๆ จะรู้สึกอย่างไร    

                ถ้าเราไม่โกรธกันผลจะเป็นอย่างไร                 นิโรธ

                เราจะทำอย่างไรจึงไม่โกรธกันต่อไป                              มรรค

 

คำถามเหล่านี้ผู้เรียนอาจจะไม่ทราบหรอกว่า  เป็นคำถามให้พ้นทุกข์แบบอริยสัจ  4  เมื่อทุกอย่างดำเนินไปตามปรกติได้แล้ว  คณะกรรมการห้องเรียนจะนำบันทึกเหตุการณ์นั้นเสนอครูประจำชั้นเพื่อทราบและดำเนินการต่อไป  บทเรียนบทต่อไปคือ  ครูจะนำมาสนทนา เพื่อนำสู่คุณธรรมจริยธรรม ที่พึงมีในตัวผู้เรียนตลอดไป   ตรงนี้จะเห็นความเป็นคุณลักษณะนิสัยรวมของนักเรียนโรงเรียนบ้านดง   ตรงนี้จะเห็นภาพรวมของการเกิดผลจากการศึกษาเรียนรู้ที่ครูจัดให้แก่ผู้เรียน  ภาพอย่างนี้แหละที่รัฐต้องการ  ความคิดอย่างนี้แหละเป็นความรู้แบบความคิดรวบยอด แบบว่า “การกระทำของบุคคลย่อมส่งผลต่อผู้อื่นเสมอ”

                                อีกตัวอย่างหนึ่ง  โรงเรียนศรีนครินทร์  อำเภอ      นาทวี  จังหวัดสงขลา   วันหนึ่งครูตั้งโจทย์ปัญหาถามผู้เรียนว่า “ผีเสื้อหายไปไหน”  ปัญหานี้สร้างความสนใจแก่ผู้เรียนมาก  เด็ก ๆ คอยเที่ยวมองหาผีเสื้อในบริเวณโรงเรียนก็ไม่เห็น  ออกไปที่วัดและสวนป่าซึ่งมีเขตติดต่อกับโรงเรียนก็ไม่มีผีเสื้อ  กลับไปที่บ้านก็ไม่เห็นผีเสื้อ  ใช้เวลาสังเกต 2-3  วันแล้วมาร่วมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร  ได้ข้อสรุปว่า “ไปหาไข่ผีเสื้อตามแหล่งที่เคยพบเจอ” เมื่อไปดูก็ไม่พบ  ถามชาวไร่  ชาวสวนได้คำตอบว่า  ทุกแห่งทุกไร่ทุกสวนต่างใช้ยาฆ่าแมลง  และอีกอย่างหนึ่ง ทั้งหมู่บ้านและบริเวณโรงเรียนขาดดอกไม้ที่มีน้ำหวานยั่วแมลง  ผีเสื้อ  มีแต่ไม้ใบไม้ประดับที่มีน้ำหวานน้อยมาก เช่น เฟื่องฟ้า    ข้อมูลเหล่านี้ผู้เรียนสืบหามาได้เป็นจำนวนมากพอสมควร  และเมื่อเดินเข้าไปในป่าในดงกับผู้ปกครองก็ยังพบเห็นผีเสื้อและแมลง  ผู้เรียนจึงมาร่วมกันสรุปจากข้อมูลที่ได้มาว่า

-          ชาวสวน  ชาวไร่  ใช้ย่าฆ่าแมลงส่งผลให้ไข่ผีเสื้อฝ่อหมด

-          ขาดดอกไม้ที่มีน้ำหวานล่อผีเสื้อ

-          ผีเสื้ออพยพไปหาดอกไม้ในป่าในดงเพราะมีน้ำหวานและไร้สารเคมี

ความคิดทั้งหมดนั้นเป็นความคิดที่เกิดจากผู้เรียนผจญกับปัญหาที่ครูตั้งโจทย์ให้คิด  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่น  เป็นปัญหาที่ผู้เรียนสืบค้นต่อไปพบว่า  ผลไม้ลดปริมาณลงในช่วง 2-3 ปีนี้  ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี ผีเสื้อหายไปด้วย  และผลที่เกิดจะเป็นตัวความรู้ที่ผู้เรียนได้รู้หรือรู้ได้   ซึ่งปรากฏในภาพรายงานที่ผู้เรียนนำเสนอ คือ

                นักเรียนเข้าใจว่าน้ำหวานจากดอกไม้คือตัวยั่วผีเสื้อ

                นักเรียนเข้าใจว่าเมื่อไม่มีน้ำหวานจากดอกไม้ก็ไม่มีผีเสื้อ

                นักเรียนเข้าใจว่ายาฆ่าแมลงคือตัวทำลายไข่ผีเสื้อ

                นักเรียนเข้าใจว่า ชาวสวน ชาวไร่ทำลายแมลงเท่ากับทำลาย

                                                ตนเองด้วย

                นักเรียนเข้าใจว่า ดอกไม้ในป่าไม่มียาพิษ  แมลงจึงไปหา

                นักเรียนเข้าใจว่า ถ้าโรงเรียนไม่มีดอกไม้ที่มีน้ำหวานมาก ๆ 

                                                ไม่มีผีเสื้อ

แล้วผู้เรียนก็ร่วมคิดงานเป็นการแก้ปัญหาเรื่องผีเสื้อหายไปไหนตามความเข้าใจของนักเรียนว่า

                - การปลูกดอกไม้ที่มีน้ำหวานคือการเลี้ยงผีเสื้อ

                -  ถ้าชาวไร่ชาวสวนเลิกใช้สารเคมีฆ่าแมลง จะมีผีเสื้อ

                - ถ้าไม่มีผีเสื้อไม่มีแมลง ผลไม้จะลดปริมาณลง

บทสรุปที่เป็นความรู้แบบความคิดรวบยอด  ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง ผลที่ได้คือสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  ความรู้ที่รู้ได้ไม่มีในตำราที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ พิมพ์ขาย  แต่เป็นความรู้ที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นในขณะออกหาข้อมูลจากชุมชน  ซึ่งจะเป็นความรู้ที่ฝังใจผู้เรียนไปนานแสนนาน  เรียกว่า ความรู้คงทน ความรู้ฝังแน่น  เป็นความรู้ที่ลืมได้ยาก  ที่ลืมได้ยากเพราะกว่าจะได้รู้เรื่องนี้นั้น  ผู้เรียนต้องลำบากกับเรื่องที่เรียน  ต้องเดินหาข้อมูลตามสวน  ตามไร่  ตามป่าเชิงเขา  ต้องถามชาวไร่  ชาวสวนคนแล้วคนเล่า  แล้วมานั่งสรุปกัน  ต้องมาอธิบายให้ครูรับรู้  อธิบายให้ชาวสวนชาวไร่และผู้ปกครองฟังในวันนำเสนอผลงาน  เพราะฉะนั้นความรู้ตัวนี้ผู้เรียนจะจำขึ้นใจและภูมิใจที่ทำได้สำเร็จ  ที่ว่าทำได้สำเร็จคือเมื่อช่วยกันปลูกดอกไม้ชนิดที่ผีเสื้อชอบ(จากการคอยสังเกตนานวัน) ก็เริ่มเห็นผีเสื้อมีเพิ่มขึ้น ๆ ทุกวัน  นี่คือบทเรียนที่เรียนแล้วประสบความสำเร็จ  ส่วนที่ว่า เกิด นั้นต้องคอยดูต่อว่า ผู้เรียนเหล่านี้ รักษ์ผีเสื้อมากน้อยเพียงใด และพวกเขาจะทำอะไรต่อไปอีกกับเรื่องราวเหล่านั้น

                                สำหรับขั้นตอนในการดำเนินงานของผู้เรียนนั้น มี  4  ขั้นตอน  คือ

                                1.  เมื่อได้ปัญหาผู้เรียนร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไข  สรุปว่า ต้องหาข้อมูล จึงแบ่งกลุ่มออกไปหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเรียนรู้  เมื่อได้ข้อมูลมาร่วมกันพิจารณาคัดเลือกข้อมูลที่มีความเหมือนและความต่างกัน  พิจารณาคัดเลือกข้อมูลที่สำคัญ  เหมาะสมกับเรื่องที่กำลังเรียนและมีความเป็นไปได้จริง เป็นข้อมูลสมจริง

                                2.  จัดการกับข้อมูลสมจริง  โดยการสร้างภาพแผนภูมิแสดงความโยงใยสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลหนึ่งสู่อีกข้อมูลหนึ่ง เพื่อให้เห็นสภาพเด่นชัดของปัญหา  สาเหตุของปัญหานั้น  แล้วแบ่งกลุ่มข้อมูล จัดเป็นปัญหาแท้  สรุปเป็นความคิดสั้น ๆ  เช่น  น้ำหวานจากดอกไม้เป็นตัวยั่วผีเสื้อ   โรงเรียนขาดดอกไม้ที่มีน้ำหวานมาก ๆ  จึงขาดผีเสื้อ

                                3.  เมื่อได้ภาพความคิดเป็นความคิดสั้น ๆ แล้ว  ก็ร่วมกันคิดว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้มีผีเสื้อในรั้วโรงเรียนของเรา”  ผู้เรียนต่างร่วมกันพิจารณาความคิดที่เพื่อนๆ ร่วมกันเสนอ จนกระทั่งเห็นว่า พอแล้ว ก็ร่วมกันคิดพิจารณาค้นหาความเป็นไปได้ของแต่ละวิธีการ  จนกระทั่งสรุปว่า “ปลูกดอกไม้ชนิดที่มีน้ำหวานมาก ๆ รอบรั้วโรงเรียนและที่เหมาะสม” คำว่า ที่เหมาะสม  นั้นก็ต้องเขียนผังบริเวณโรงเรียนกำหนดจุดที่เหมาะสมไว้และกำหนดพันธุ์ไม้ดอกที่จะปลูก  แบ่งงานกันเพื่อดำเนินการต่อ

                                4.  เมื่อผู้เรียนทุกคนได้ร่วมกันปฏิบัติการวางแผนปฏิบัติงาน (ในข้อ 3 )  แล้ว ต่างคนต่างรู้หน้าที่ดี ก็ลงมือปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  คอยเฝ้าสังเกตบันทึกผลที่ปรากฏว่าผีเสื้อมีไหม  มีจำนวนเท่าไร  นานเพียงใดจึงมีผีเสื้อ  ผีเสื้อชอบบริเวณใดมาก  ทำไม  นำข้อมูลบันทึกไว้มาร่วมสรุปเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง  นำผลการเรียนรู้เสนอให้ชุมชนรับทราบเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชนต่อไป

 

                                จากตัวอย่างที่ยกมาตั้งแต่บทแรก เรื่อง ยุงน่าเรียนรู้ หรือ การสร้างวิญญาณประชาธิปไตย ของโรงเรียนบ้านดง  อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่   หรือ การค้นพบความรู้ด้วยตนเอง  ของโรงเรียนศรีนครินทร์  อำเภอนาทวี  จังหวัดสงขลา  นั้น  เป็นวิธีการเรียนที่ครูสร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนออกไปผจญกับปัญหาต่าง ๆ  ระหว่างเรียน  ทุกขั้นตอนที่ผจญกับปัญหา  พอแก้ปัญหาได้ครั้งหนึ่ง  ตัวรู้ ก็จะผุดพลายขึ้นมาในใจของผู้เรียนครั้งหนึ่ง  แน่นอนว่า ทุกคน รู้ ไม่เหมือนกัน  ต่างคนต่างรู้ตามความรู้สึกของตน  จิตของตนจะรู้ด้วยจิตของตน  เรียกว่า ปัจจัตตัง  ความรู้อย่างนี้แหละที่ต้องการ  เพราะผู้เรียนที่เรียนอ่อนอ่านไม่ได้  เขียนไม่เป็นก็รู้  เพราะรู้ได้ด้วยจิต  ไม่ใช่รู้ได้ด้วยการท่องจำ  จิตที่ผัสสะกับสภาวการณ์ต่าง ๆ จะรับรู้สิ่งนั้นมาสั่งสมไว้ทีละนิด ๆ จนถึงเวลาก็จะโพลงออกมาจาก   บึ้งลึกของจิตว่า อ๋อรู้แล้ว ๆ   ตัวรู้แล้ว ๆ นี่แหละที่แต่ละคนต่างกัน  แต่เมื่อทุกคนนำตัวรู้แล้วมาเล่าสู่กันฟัง  มาร่วมอภิปราย  ร่วมสรุปก็จะเป็นองค์ความรู้รวม  เป็นความรู้ของกลุ่มในแบบเดียวกันนั้น  แต่ละคนก็จะรู้เพิ่มขึ้นจากที่ อ๋อรู้แล้ว ในตอนแรก  ความรู้ครั้งหลังนี้จะเป็นความรู้ใหม่ที่แต่ละคนรู้ และเมื่อเขานำไปคิดต่อ  ไปพิจารณาต่อ  ไปศึกษาดูผีเสื้อต่อ   เขาก็จะรู้มากขึ้น ๆ   จะสามารถเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ชัดเจน  เล่าบ่อย ๆ ก็จะคล่องขึ้น  จะมีลูกเล่นมากขึ้น  มีตัวอย่างมากขึ้น  มีเกร็ดความรู้ที่ผ่านการสังเกตค้นพบมากขึ้น  มีเหตุผลมากขึ้น  สามารถเชื่อมโยงประเด็นย่อย ๆ  ให้เป็นประเด็นใหญ่ได้มากขึ้น  ตัวรู้ตัวนี้จะเปลี่ยนเป็นตัวรู้จริง  ถ้าพวกเขาศึกษาต่อนำวิธีการเรียนรู้นี้ไปใช้ต่อกับเรื่องอื่น  ปัญหาอื่นแล้วรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตัวรู้แจ้งก็จะเกิดขึ้น   นั่นคือ ผู้เรียนคนนั้นจะมีปัญญา (Wisdom)  มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าปัญญานั้นมีอยู่ในคนทุกคน   ถ้านำใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง แม้คน ๆ นั้นอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้  แต่คิดได้และได้คิดบ่อย ๆ  ปัญญาก็จะเกิดได้ในที่สุด  เพียงแต่ว่าเกิดช้าหรือเร็วก็ย่อมอยู่ที่คนแต่ละคนว่าเขามีกัลยาณมิตรหรือไม่

                                คำว่ากัลยาณมิตรในที่นี้หมายถึง เพื่อนที่ดี  ครูที่ดี  แหล่งเรียนรู้ที่ดี  และตัวเขาก็ดีเองด้วย  การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง     ตัวเองต้องพึ่งตัวเองจึงจะสำเร็จผลตามที่ตั้งใจไว้

                                ใครจะเป็นคนตั้งใจ  อันดับแรกครูผู้เขียนบทเรียนตั้งใจนำบทเรียนนั้นสอนจริง  ไม่ใช่เขียนไว้เพื่อให้คนอื่นมาตรวจแต่ไม่นำสอน  เขียนแล้วนำสอน  อันดับที่สอง  ขณะเขียนบทเรียนต้องตั้งใจว่า  จบบทเรียนแล้วผู้เรียนเรียนจบจะเกิดอะไร  เกิดอะไรคือ เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ใดเกิดคุณธรรมจริยธรรมใด  เกิดวิธีการเรียนรู้แบบใด  เกิดความรู้ที่คงทน หรือความรู้ฝังแน่น   หรือความรู้ฝังใจอย่างไร  ผู้เรียนสามารถอธิบายได้ว่ารู้อย่างไร  รู้อะไร  รู้แค่ไหน  รู้เพียงใด  มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด  ตรงนี้ต้องมี Rubrics  เป็นเครื่องมือในการประเมินผล  ผู้เรียนสามารถดูเกณฑ์มิติคุณภาพ (Rubrics) แล้วนำไปพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา นั่นคือ ครูจะต้องสร้างฝันของตนให้เห็นภาพตลอดแนวแล้วเดินทางไปตามทางที่สร้างฝันไว้  เพราะความสำเร็จของศิษย์ คือตัวบ่งชี้ความสำเร็จของครู  และนี่คือ ชีวิตการสอนของการสอนที่มีชีวิต

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



 

หมายเลขบันทึก: 484101เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2012 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท