การสอนที่มีชีวิต Backward design 2/2 ชาตรี สำราญ


พวกเด็ก ๆ ได้เรียนไปโดยไม่รู้ว่าเรียน เพราะทุกอย่างเป็นการเล่น และการเล่นนั่นแหละคือการแสดงในบทบาทของผู้เรียน

กลับมาห้องเรียนแห่งความเป็นจริง

                                ที่บ้านของนิไพศาลนั้น  เมื่อเด็ก ๆ  ได้ไปเรียนรู้เรื่องยุง  เขาก็ค้นพบคำตอบด้วยตัวของเขาเองว่า “ทำไมในไหที่ดองหมากจึงมียุงอยู่  ทำไมในบ่อน้ำจึงไม่มียุง”  เพราะพอเด็ก ๆ  เปิดฝา

ไหหมากดองก็ได้กลิ่นเหม็นจากน้ำดองหมากที่หมักอยู่เป็นเวลานาน  และมียุงบินออกมาเป็นจำนวนมาก เด็กพูดเสียงดัง ๆ ว่า เหม็น  น้ำเหม็น  แล้วเขาสรุปว่า ที่มีน้ำเหม็นจะมียุง  ครูต้องคอย สอนเพิ่มว่า “น้ำเหม็น” เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “น้ำเน่า”  เด็ก ๆ จึงเปลี่ยนเป็นว่า “ที่มีน้ำเน่าจะมียุ่ง”  และเขาพูดกันเองว่า ที่บ่อน้ำน้ำไม่เน่าจึงไม่มียุง

                                ข้อสรุปที่เกิดขึ้นมาได้โดยบังเอิญว่า “ที่มีน้ำเน่ามียุง”  นี้ครูไม่ควรมองข้าม เพราะนี่แหละคือ ความรู้ที่ฝังแน่น              ( Enduring  Understanding ) เพราะมันผุดพรายมาจากส่วนลึกของจิต ที่ถูกกระตุ้นด้วยบทเรียนหรือคำถามทีละข้อ ๆ จนสามารถสรุปออกมาได้อย่างนี้  และได้สังเกตต่ออีกภายหลัง เวลาเดินรอบบริเวณโรงเรียนถ้าพบหลุมบ่อมีน้ำขังเด็ก ๆ จะพูดถึงน้ำเน่าแล้วพวกเขาจะช่วยกันกอบโกยดินไปถมหลุมบ่อเหล่านั้น  นี่คือตัวชี้วัดว่า เด็กเรียนรู้แล้วเกิดอะไร

                                ในขณะที่เด็ก ๆ หลายคน พูดออกมาว่า “ที่มีน้ำเน่าจะมียุง” นั้นสังเกตเห็น รอมือลี มีแววตาผิดสังเกต  แววตาของรอมือลี วาว ขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับรอยยิ้มนิด ๆ  ที่มุมปาก     ครูจึงถาม     รอมือลีว่า  “รอมือลีจะบอกอะไรครู”  รอมือลีนิ่งพักหนึ่งแล้วหันไปพูดกับนิไพศาลเบา ๆ นิไพศาลจึงบอกครูว่า “รอมือลีว่าที่ทุ่งนามีปลักควาย (หลุมที่มีน้ำขังโตพอที่ควายจะลงไปนอนเกลือกกลิ้งแช่น้ำโคลนได้)  ก็มียุงมาก”  ครูจึงให้รอมือลีเดินนำเพื่อน ๆ ไปดูที่ตรงนั้น  พอไปถึงที่หมายรอมือลีหยิบไม้ขึ้นมาหวดซ้ายป่ายขวาลงไปที่พงหญ้ารอบ ๆ หนองน้ำ  โดยเฉพาะที่กองกิ่งไม้ซึ่งแช่น้ำโผล่ขึ้นมาข้างหนองน้ำจะมียุงบินขึ้นมา  เป็นเครื่องพิสูจน์ ที่มีน้ำเน่าจะมียุง เพราะกลิ่นน้ำในหนองน้ำนี้เหม็นมากกว่ากลิ่นหมากดองที่บ้านนิไพศาล

                                ได้แอบดูรอมือลี เด็กน้อยรู้สึกภูมิใจที่เพื่อน ๆ ต่างยอมรับผลการพิสูจน์ที่ตนเป็นต้นคิด รอมือลียิ้มที่มุมปากนิดๆแววตาแจ่มใสดูมั่นใจมากขึ้น

                                เมื่อรอมือลีกับเพื่อนร่วมกันพิสูจน์เป็นบทสรุปได้ว่า ที่มีน้ำเน่าจะมียุง ให้เห็นได้ชัดขึ้นแล้ว  นิไพศาลจึงบอกกับทุกคนว่า  ที่สวนยางของพ่อเขาก็มียุงเยอะ     เพราะมีต้นไม้เล็ก ๆ เป็นป่าเล็ก ๆ  ในสวนยาง  ครูจึงให้เด็ก ๆ ไปดูยุงที่สวนยางของนิไพศาลอีก แต่ไม่ลืมให้นึกถึงข้อตกลงในการเดินไปดูซึ่งได้วางไว้ตอนวางแผนการเรียน

                                ก่อนจะถึงสวนยางของนิไพศาล  เป็นทุ่งนามีป่าละเมาะอยู่ด้วย  ครูให้เด็ก ๆ ดูว่าในป่าละเมาะกลางแจ้งมียุงไหม    เด็ก ๆ วิ่งลงไปในทุ่งนา  ใช้ไม้ตีต้นไม้เล็ก ๆ  ปรากฏว่าไม่ค่อยมียุง  เด็ก ๆ พูดว่า “ร้อนครูยุงจึงไม่มี”  และเด็กบางคนพูดว่า “ที่สว่างไม่ค่อยมียุง”  ดังนั้น เมื่อไปถึงสวนยางครูจึงให้เด็ก ๆ ดูว่า ป่าละเมาะในระหว่างแถวต้นยางนั้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง  เช่น  มืดไหม   เย็นไหม   อากาศชื้นไหม  เด็ก ๆ เข้าไปดูเร็ว ๆ แล้วรีบวิ่งออกมาเพราะมี
ยุงมาก  แล้วเด็ก ๆ ก็มานั่งสนทนากัน (วิเคราะห์ ) ในประเด็นว่า

                                ทำไมจึงมียุงที่ตรงนี้มากกว่าที่กลางทุ่งนา

                                ทำไมที่หนองน้ำเน่ามียุงด้วย

                                ยุงชอบอยู่ในที่อย่างไร

ผลของการร่วมกันคิดครั้งนี้  เมื่อเด็ก  ๆ กลับมาถึงห้องเรียน ต่างคนต่างเขียนเรื่องส่งครู  นิไพศาลเขียนว่า

 

                                                ยุง

                                ในไหหมากมีน้ำเน่า

                                ในน้ำเน่ามียุง

                                ในบ่อน้ำไม่มียุง

                                น้ำไม่เน่า     ไม่มียุง

 

 

ส่วนรอมือลี   เขียนเรื่องยุง ว่า

               

                                ที่ต้นไม้มาก  ๆ

                                มืด    เย็น     มียุง

 

แน่นอนว่า  เด็กน้อยทั้งสองคนเขียนได้เพราะถามเพื่อนว่าคำนั้นคำนี้เขียนอย่างไร     เมื่อเพื่อนเขียนให้ดู เขาจึงนำคำนั้นมาเขียน    ครูให้ นิไพศาลอ่านให้ฟัง   นิไพศาลอ่านได้  แสดงว่าเด็กคนนี้เขียนด้วยความคิดของตนเอง  และเมื่อครูชี้คำบางคำให้อ่าน เช่น น้ำเน่า  ไหหมาก   บ่อน้ำ  นิไพศาลก็อ่านได้ แสดงว่า  คำเหล่านี้เริ่ม  ติดใจ         นิไพศาลแล้ว   แต่สำหรับรอมือลีนั้น  ฝากนิไพศาลมาส่งครูแทน      นิไพศาลบอก  “มันอายครู  มันกลัวครูถามและให้มันอ่าน  มันจึงให้ผมส่งแทนครู”  ก็ไม่เป็นไรถือว่าแค่รอมือลีตั้งใจเขียนงานส่งในเวลาเรียนก็เป็นความสำเร็จระดับเริ่มต้นวิธีการเรียนครั้งนี้แล้ว  การที่    เด็ก ๆ  เขียนสั้น ๆ  บางครั้งยังไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์นั้น  ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กชั้น ป.1   เพราะบางคนก็เขียนเรื่องได้สมบูรณ์ดี เช่น  สะปีน๊ะ  เขียนเรื่องยุงว่า

 

                                                                        ยุง

 

                                ครูให้เด็ก ๆ ไปดูยุงที่ไหหมาก  บ้านนิไพศาล

                                แล้วให้ดูยุงที่หนองน้ำเน่ากลางทุ่งนา  และที่

                                สวนยางของนิไพศาล  ที่มีน้ำเน่า  ที่มืด  อากาศ

                                เย็นจะมียุง  แต่ที่สว่าง อากาศร้อนจะไม่มียุง

 

 

คนที่มีบัญชีคำน้อย ๆ ในตัวเขาก็จะเขียนได้ระดับหนึ่ง  คนที่มีบัญชีคำมาก ๆ  ก็จะเขียนได้อีกระดับหนึ่ง  ขอเพียงแต่ครูอย่าปล่อยปละละเลยให้เด็กที่เขียนได้น้อย ๆ ไม่พัฒนาการเขียนเพราะไม่สะสมคำใหม่เพิ่มเติม  ครูต้องช่วยเสริมตรงนี้  บทบาทตรงนี้ครูต้องแสดงให้เห็นว่าครูคือผู้กำกับการแสดงหรือเป็น Coach เป็นพี่เลี้ยงนักมวย  ขณะที่นักมวยต่อยอยู่บนเวที   มีจุดอ่อนต้องแก้ตรงไหน  พี่เลี้ยงจะต้องบอกต้องสอนระหว่างพักยก  คอยให้กำลังใจตลอดเวลา  นักมวยจึงจะพัฒนาฝีมือขึ้นได้  ในชั้นเรียนก็เช่นกันครูต้องคอยสอนคอยให้กำลังใจแก่เด็ก ๆ อย่ามัวสอนแต่เด็กเรียนเก่งอย่าง สะปีน๊ะ แล้วเมินเฉยต่อการเรียนของ นิไพศาลและรอมือลี  เด็กสองคนนี้ครูควรสนใจให้มาก เพราะเขาขาดหลายอย่าง

 

                                ขาดคำนำมาเขียน

                                ขาดความมั่นใจในการอ่าน-เขียน

                                ขาดความรู้ทางด้านภาษาที่จะนำมาร้อยเรียงให้

                                เป็นเรื่องราวได้ดั่งคนอื่น

 

ถ้าดู ๆ แล้ว  นิไพศาล กับ รอมือลี จะเป็นเด็กที่ไม่รับผิดชอบเพราะมักส่งงานช้า   บางครั้งก็ไม่ส่งงาน  เล่นเป็นสิ่งที่ชอบมาก ๆ  แต่ถ้าดูให้ดีเด็กทั้งสองจะตั้งใจเขียนงาน   เวลาให้เขียนจะนั่งเขียนได้สักคำ พยายามเขียนคำต่อไป  นึกไม่ออกเขียนไม่ได้  บ่อย ๆ ครั้งส่งผลให้เขาเบื่อจะคิด  เบื่อจะเขียน  ถ้าครูช่วยให้เขาคิดเขียนคำที่เขาต้องการเขียน  เขาจะเขียน  ได้ลองเรียกมาถามว่า “จะเขียนอะไร”  พอเด็กน้อยบอกคำมาก็เขียนให้ดูในกระดาษเล็ก ๆ  ให้เขาอ่านคำนั้น  แล้วเขาก็นำไปเขียนในสมุด  และนั่งคิดต่อว่าจะเขียนอะไร  จึงเรียกให้มาอ่านสิ่งที่เขียน เด็กๆ อ่านให้ฟังแล้วถามว่า ต่อไปจะเป็นอย่างไร  เช่น

                                “ลูกวัววิ่งที่ทุ่งนา”   เขียนได้แค่นี้ก็หยุด  ครูจึงถามว่า “วิ่งทำไม”   เด็ก ๆ ตอบว่า  วิ่งสนุก  แล้วเขาก็ถามว่า สนุก เขียนอย่างไร  เมื่อครูเขียนให้ดูเขาก็ไปเขียนต่อ  และครูก็ถามย้ำ ๆ อย่างนั้นจนเรื่องสั้น ๆ ที่เด็กเขียนค่อยยาวขึ้นยาวขึ้น   สำหรับความถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาในระยะเริ่มแรกจะไม่เน้นเท่าไรนัก  ขอให้ผู้เรียนกล้าคิดกล้าเขียนให้เป็นเรื่องราวตามที่ต้องการจะสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ  แล้วค่อย ๆ แก้ไขต่อไป  โดยครูจะต้องบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ในบันทึกหลังสอน และคิดหาทางช่วยเหลือเขาต่อไป ครูคอยกระตุ้นให้เด็ก ๆ  คิดเขียนให้ได้ตามจิตคิดของเขา  เมื่อผลงานออกมา ควรยกย่องชมเชยให้เขามีโอกาสได้รับความสำเร็จในการทำงานบ้าง

                                จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนิไพศาลและ รอมือลี ทั้งนี้รวมถึงเด็กคนอื่น ๆ ด้วย  พบว่า พอพวกเด็ก  ๆ ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้เล่น ไปด้วย เรียนไปด้วย  โดยที่พวกเด็ก ๆ  ได้เรียนไปโดยไม่รู้ว่าเรียน เพราะทุกอย่างเป็นการเล่น  และการเล่นนั่นแหละคือการแสดงในบทบาทของผู้เรียน

                                คำว่า เล่น นี้  เรามักจะพูดกันว่า  เล่นมโนราห์  เล่นหนังตะลุง  เล่นละคร   ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการแสดง  และในการเล่นทุกอย่างจะมีการเล่าเรื่องไปด้วยกัน  เล่าไปในการเล่นนั่นเอง

                                มาถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่าในบทนี้จะเห็นบทบาทของครูที่มีบทบาทหลายบทบาท  เช่น  บทบาทของนักจิตวิทยาที่คอยกระตุ้นให้กำลังใจเด็ก  เป็นนักวิจัยที่คอยสังเกตเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้เรียน  เป็นผู้ร่วมเรียนรู้กับผู้เรียน   ครูจะเป็นอะไรก็ตามแต่ แท้จริงแล้ว ครูยังคงเป็นครูอยู่นั่นเอง

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 484000เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท