การสอนที่มีชีวิต Backward design 2/1 ชาตรี สำราญ


การวางแผนการเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่จำเป็นมากสำหรับผู้เรียน ถ้าผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแล้ว นั่นคือผู้เรียนสามารถพึ่งพาตนเองในการศึกษาเรียนรู้ได้

ในการเล่นนั้นมีการเรียนรู้ 2

 

 

                                ในบทแรกได้กล่าวมาแล้วว่า  การสอนคือการแสดง   แสดงแบบการเล่าเรื่องให้เป็นเรื่องราวไปตามเส้นทางของ Story   Line  โดยกำหนดให้ผู้เรียนที่ร่วมเล่นเรียนแบบ  Play & Learn  ได้เป็นผู้ร่วมแสดงด้วยนั้น  ผู้เรียนจะมีโอกาสปฏิบัติการเล่นเรียนในรูปแบบ Learning  by  doing  แล้วบทเรียนนั้นก็จะจัดอยู่ในประเภท Edutainment  ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อ   เพราะสนุกและผู้เรียนจะเรียนรู้แบบค่อย ๆ  รู้เพิ่มขึ้น ๆ เรื่อย ๆ  จนกระทั่งรู้แจ้งในเรื่องนั้น ๆ

                                คำว่า รู้ ในที่นี้ไม่ใช่รู้แบบจำความรู้ที่บอกผ่านโดยครูผู้บอกเล่า  แต่เป็นการเรียนที่รู้ได้ด้วยตนเอง   เป็นการรู้แบบผู้เรียนค่อย ๆ สร้างองค์ความรู้ขึ้นมา  ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎี  Constructivism  นั่นเอง

                     การเรียนรู้แบบนี้ผู้เรียนจะสนุกไปกับการเรียน   ผู้เรียนแต่ละคนจะมีโอกาสเผยตนเองออกมาให้เห็นว่า  ตนถนัดด้านใดบ้าง   ผู้เรียนบางคนอยู่ในห้องเรียน  จะนั่งนิ่งเงียบ  แสดงอาการเบื่อหน่ายที่จะทนนั่งเรียนเรื่องนั้น ๆ   เบื่อการอ่าน  เขียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการขีด ๆ เขียน ๆ แต่พอได้ออกมาเรียนนอกห้องเรียน  เขาจะเปลี่ยนแปลงท่าทีของการเรียนต่างออกไปจากภาพเด็กคนเดิม  ที่นั่งซึมเซาอยู่ในห้องเรียน  เขากลายเป็นผู้นำกลุ่ม  เขามีโอกาสเป็น Hero  เพราะเขารู้เรื่องนอกห้องเรียน  ที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนั้น

                                นิไพศาล  เป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.1  อ่านเขียนไม่คล่องมาก ๆ   แต่พูดเก่ง  เวลาให้อ่าน  เขียนหนังสือ นิไพศาลจะไม่สนุก เขาจะนั่งนิ่ง ๆ   บางครั้งทำท่าว่าอยากจะหลับไปให้พ้น ๆ  ชั่วโมง  แต่เมื่อครูตั้งประเด็นถามว่า    “ทำไมวันนี้ยุงมากเหลือเกิน” นิไพศาลยกมือทันทีแล้วพูดว่า “ผมรู้ครับ”

                                ตรงนี้จะสังเกตได้ว่า เรื่องใดที่ผู้เรียนรู้ เขามักจะแสดงอาการออกมาให้เห็น  บทบาทตรงนี้ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้ควบคุมการแสดงครูจะต้องหาทางกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความรู้ที่เขามีอยู่ออกมาให้เพื่อนได้รับรู้ให้จงได้

                                ครูต้องเป็นCoach หรือเป็นนักวิจัยต้องคอยสังเกตพฤติกรรมผู้เรียนอยู่ทุกขณะ   ถึงแม้ว่าเด็กคนนั้นจะไม่ค่อยพูด  มักอยู่นิ่งเงียบก็ตามที  ลองดูที่ดวงตาของเขา  ถ้าเรื่องใดถูกใจเขา  ดวงตาจะบอกให้ครูรู้    หากครูหมั่นซักถามเขาจะตอบ   หรือไม่เขาจะกระซิบบอกให้เพื่อนตอบแทน  ก็ดีแล้วครูจะได้รู้ว่าเขารู้อะไร แค่ไหน  ดีกว่าปล่อยให้เขานั่งนิ่งเงียบทั้งวัน

                                นิไพศาล  ไม่ใช่เด็กประเภทนั่งนิ่งเงียบ  เขามักจะแสดงออกในสิ่งที่เขาทำได้  เมื่อครูถามถึงเรื่องยุง นิไพศาลรู้ว่าเขารู้เรื่องยุงจึงรีบยกมือตอบทันที  นิไพศาลเล่าว่า  “ยายเขาแช่หมากไว้ในไห  หลายสิบไห  เพื่อเอาไว้กินเวลาหมดหน้าหมากออกลูกและจะได้ขายด้วย  บ้านคนอื่น ๆ ก็ดองหมากด้วย  เวลาจะเอาหมากพอเปิดไห ยุงจะบินออกมามาก ๆ แต่ละไหมียุงมาก  เพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้ยุงมีมาก”

                                นี่คือคำตอบของเด็กคนหนึ่งที่รู้เรื่องยุง  ครูได้โอกาสที่จะสอนให้เด็กรู้จักวางแผนการเรียนรู้ โดยการถามว่า “ใครจะไปดูยุงที่บ้านนิไพศาลบ้าง”  แน่นอนเด็ก ๆ ต้องยกมือเพื่อบอกว่า เขาไปกันทุกคน  ครูจึงตั้งคำถามง่าย ๆ ให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดว่า

  1. เราจะไปดูยุงที่บ้านนิไพศาลทำไม (ร่วมกันสร้างเป้าหมายการทำงาน)
  2. มีเรื่องอะไรที่จะดูหรือมีคำถามอะไรที่จะถามครูหรือถามใครก็ได้ขณะที่ไปดูยุงที่บ้าน         นิไพศาลบ้าง

3.จะเดินทางไปดูยุงกันอย่างไร  และจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ขณะที่ไปดูยุง ( ร่วมกันตั้งข้อตกลง)

4.ดูยุงเสร็จแล้วกลับมาโรงเรียนจะทำอย่างไร  ครูจึงจะรู้ว่า พวกเรารู้เรื่องยุง  ( ฝึกคิดรายงานผลการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้)

 

ทั้งหมดนี้ครูถือโอกาสสอนวิธีการวางแผนการเรียนรู้ ในการออกไปศึกษานอกสถานที่ (out door education) ให้แก่ผู้เรียน  เพราะการวางแผนการเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่จำเป็นมากสำหรับผู้เรียน  ถ้าผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแล้ว  นั่นคือผู้เรียนสามารถพึ่งพาตนเองในการศึกษาเรียนรู้ได้

                                ถ้าหากเด็ก ป.1  รู้จักบอกตัวเองว่า “ทำไมพวกเขาจึงต้องเรียนรู้เรื่องนี้”  ได้ก็จะช่วยให้พวกเขาพยายามเดินทางไปสู่เป้าหมายที่พวกเขาพยายามสร้างกันขึ้นมา  และเชื่อแน่ว่า พวกเขาจะไม่หลงทาง เพราะเขาได้กำหนดเป้าหมายไว้ด้วยตนเองแล้ว  นี่คือ การเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายใช่ไหม  ยิ่งพวกเขาเรียนรู้แล้ว  สามารถบอกเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ว่า ได้เรียนรู้อะไร  เรียนรู้ด้วยวิธีการใดบ้าง และสามารถนำวิธีการเรียนรู้นี้ไปเรียนรู้เรื่องอื่น ๆได้อย่างไร  ต่อไปจะเป็นการดีเลิศสำหรับเด็ก ๆ  แต่นั่นแหละครูต้องใจเย็น  ต้องอดทน  ต้องเพียรพยายามฝึกหัด   ฝึกฝน  ฝึกปรน  ฝึกปรือให้เด็ก ๆ รู้จักวางแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

                                สำหรับผู้เรียนระดับสูงขึ้นไปนั้น  ในการวางแผนการเรียนรู้จะต้องมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะการคิดตั้งคำถาม  เพื่อนำไปสืบค้นหาข้อมูลจากสถานการณ์ที่จะเรียนรู้  ได้ข้อมูลมาแล้วมาร่วมกันตั้งประเด็นอภิปราย ๆ  แล้วร่วมกันสรุปว่า

 

                                ได้เรียนรู้เรื่องอะไร  แค่ไหน  ชัดเจนเพียงใด

                                ได้เรียนรู้ด้วยวิธีการใด

                                มีความรู้สึกต่อการเรียนรู้อย่างไรบ้าง

                                ผลของการเรียนรู้ที่ได้มามีคุณภาพมาก-น้อย

                                เพียงใด  รู้ได้อย่างไรว่ามีคุณภาพ

 

โดยเฉพาะคำว่า  รู้ได้อย่างไร  นั้น  ครูจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกันจัดทำระดับคุณภาพ (Rubrics) เพื่อนำเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลงานของตน

                                จากการสอนที่ผ่าน ๆ มา พบว่าสิ่งที่ยากมากสำหรับผู้เรียนคือการตั้งคำถาม ที่จะนำไปสืบเสาะค้นหาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้  ตรงนี้ครูจะต้องคอยช่วยเหลือโดยการตั้งคำถามซอยย่อย  กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดตั้งคำถามที่ตรงกันข้ามกับการตอบคำถามของครู

เช่น  ครูถามว่า  “ ได้คำถามมาแล้วเราจะไปถามใคร”   ใหม่ ๆ  เด็กจะตอบว่าไปถามคนนั้นไปถามคนนี้   แต่พอเข้าใจคำถามซอยย่อย

แล้ว พวกเขาจะตั้งคำถามซอยย่อยเพื่อให้ผู้เรียนไปคิดตั้งคำถามต่อ “เป็นคำถามเพื่อให้คิดตั้งคำถาม”  การฝึกตั้งคำถามนี้จำเป็นจะต้องใช้เวลามากในระยะแรก ๆ  แต่ต่อ ๆ ไปเวลาจะลดน้อยลง  เพราะคำถามเหล่านี้กลายเป็นสูตรสำเร็จรูปที่ผู้เรียนจะนำมาใช้ได้ทันที  กลายเป็นนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการคิดวางแผนของผู้เรียน

                                จากการสังเกตพฤติกรรมการคิดตั้งคำถามของผู้เรียนที่ผ่านมา   ใหม่ ๆ จะลอกแบบครู  แต่ฝึกต่อ ๆ ไป ผู้เรียนจะคิดตั้งคำถามที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น  มีความยากมากขึ้น  และมีความลึกของคำถามเพิ่มขึ้นตามระดับ  นั่นหมายถึงว่า เวลาแห่งการวางแผนการเรียนรู้ย่อมจะขยายช่วงเวลาออกไปอีก  เพราะผู้เรียนเริ่มคิดในสิ่งที่ยากขึ้น  ครูจะต้องคอยดู  คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนต้องการความช่วยเหลือ และครูจะต้องคอยสังเกตบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียน เพื่อนำสรุปหาข้อที่ควรพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป

                                 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 483998เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท