ทำไมงบประมาณด้านการพัฒนาคน จึงถูกตัดก่อนเพื่อน


เคยสงสัยหรือไม่ครับว่าทำไมเวลาที่บริษัทมีปัญหาทางด้านการเงิน หรือเวลาที่บริษัทตกอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และขาดรายได้ หรือรายได้น้อยกว่าปกติ งบประมาณตัวแรกที่มักจะถูกพิจารณาตัดทิ้งก่อนเพื่อนก็คือ งบประมาณทางด้านการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ทั้งๆ ที่บริษัทนั้นๆ ก็มีการบอกกับพนักงานว่า พนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และเราจะมีนโยบายในการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายงบก้อนนี้ก็ถูกเฉือนทิ้งก่อนเลย

เหตุผลแรกของนายจ้าง หรือผู้ประกอบการก็คือ ต้องรักษาความอยู่รอดของบริษัทไว้ก่อน ดังนั้นค่าใช้จ่ายอะไรที่ตัดได้ก็ตัดทิ้งไปก่อน และค่าใช้จ่ายที่ดูเหมือนกับว่าจะจ่ายแล้วเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ชัดเจน แถมยังเห็นช้ามากด้วย ก็คือ ค่าใช้จ่ายทางด้านการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานนี่เองครับ ก็เลยเป็นตัวแรกที่ผู้บริหารมักจะสั่งให้ตัดทิ้งก่อนเวลาที่บริษัทมีปัญหา

แต่สิ่งที่เราอาจจะลืมไปก็คือ เวลาบริษัมมีปัญหา เราต้องการคนที่เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา และช่วยกันทำงานเพื่อให้บริษัทอยู่รอด คนเหล่านี้ ถ้าขาดการพัฒนาและปรับปรุงทักษะการทำงาน และยังคงทำงานเหมือนเดิมๆ ทุกๆ วัน มันก็ยากที่จะทำให้บริษัทหลุดพ้นจากสภาวะนี้ได้ หรือถ้าหลุดไปได้ บริษัทก็จะต้องมานั่งพัฒนาคนกันอย่างเร่งด่วนอีก เพราะเดี๋ยวจะตามคนอื่นไม่ทัน พองานเยอะเข้า ก็มีเหตุผลอีกว่า ไม่ฝึกอบรมไม่ได้ เพราะงานเยอะ

สุดท้ายการพัฒนาพนักงานก็ไม่ได้ทำกันเลยสักช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจดีๆ หรือ ช่วงตกต่ำก็ตาม

แต่ในหลายบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนนั้น เขาจะไม่ตัดงบประมาณก้อนนี้ทิ้งทั้งหมด แต่อาจจะมีการตัดทอนลดลง โดยจะ Focus มากขึ้นในการที่จะพัฒนาพนักงาน ก็จะต้องเลือกเฟ้นหาหลักสูตร และแนวทางในการพัฒนาที่ตอบโจทย์ของบริษัทได้อย่างตรงมากที่สุด เพื่อใช้เงินก้อนนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตก เป็นช่วงที่พนักงานไม่ค่อยมีงานมากนัก องค์กรเหล่านี้ก็เลยใช้โอกาสในช่วงนี้ทำการพัฒนาพนักงานในสิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต พอเศรษฐกิจดีขึ้น องค์กรมีงานเข้ามามากขึ้น เราก็จะมีพนักงานที่พร้อมที่จะรับภาระงานที่ยุ่งยากมากขึ้นได้นั่นเอง

ในปี 2555 นี้ก็เข้าข่ายนี้อีกเช่นกัน หลายๆ บริษัทเริ่มที่จะตัดงบประมาณการฝึกอบรมออกไป หนักไปกว่านั้นบางบริษัทบอกเลยว่าปีนี้เราจะไม่มีการฝึกอบรมและพัฒนาใดๆ ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งทำให้นายจ้างหลายแห่งต้องปิดตัวลงไปบ้าง เลิกจ้างพนักงานบ้าง องค์กรเหล่านี้ก็ต้องรัดเข็มขัดอย่างแน่นทีเดียวครับ

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ปี 2555 นี้ จะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แบบก้าวกระโดดมากๆ ก็คือประมาณ 40% ก็เลยทำให้ต้นทุนทางด้านค่าจ้างพนักงานจู่ๆ ก็สูงขึ้น โดยที่ผลผลิตไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย นายจ้างก็เลยต้องหาวิธีในการบริหารต้นทุนใหม่เพื่อให้เกิดกำไรมากที่สุด สุดท้ายก็หนีไม่พ้นงบประมาณทางด้านการฝึกอบรมนี่เอง ที่หลายบริษัทตัดทิ้งไปเลยก็มี เรียกได้ว่าฝ่ายฝึกอบรมของบริษัทไม่ต้องมีงานทำกันเลยครับ ต้องมีการโอนย้ายไปทำงานอื่นแทนไปก่อนในช่วงนี้

สิ่งที่ผมอยากให้นักบริหารบุคคลตระหนัก และให้ความเห็นกับผู้บริหารก็คือ การพัฒนาพนักงานไม่ควรจะหยุดทั้งหมด ถ้าเราหยุดพัฒนา ก็เท่ากับว่า ผลงานพนักงานเองก็ยากที่จะทำให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่ควรทำก็คือเปลี่ยนวิธีในการพัฒนาพนักงานจะดีกว่านะครับ หาวิธีที่สามารถพัฒนาพนักงานได้โดยที่ใช้งบประมาณไม่มากนัก

ซึ่งก็มีหลายวิธีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการสอนงานโดยหัวหน้างานโดยตรง (Coaching) หรือการให้ศึกษาด้วยตนเอง โดยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Website ก็เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่พนักงานเองก็ยังได้รับการพัฒนาอยู่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเท่านั้น

ผมเองโดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการหยุดพัฒนาพนักงานเวลาที่บริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน ผมอาจจะลดงบประมาณลงก็จริง แต่ก็จะหาวิธีการอื่นๆ ที่จะสามารถพัฒนาพนักงานได้อยู่เสมอ เพราะเรายังคาดหวังผลงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากพนักงานดังนั้น เราก็ต้องช่วยพนักงานให้สร้างผลงานที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาในสิ่งที่เขายังไม่ดีให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเวลาที่ “งานเข้า” จริงๆ เราจะได้มีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมรับมือกับงานที่จะถาโถมเข้ามาครับ

คิดแล้วก็แปลกนะครับองค์กรบอกว่า "คน" สำคัญที่สุด แต่งบประมาณด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรต่างๆ กลับไม่มีการลดลง ตรงกันข้าม งบประมาณในการบำรุงรักษา "คน" กลับมักจะถูกตัดลงเสมอเมื่อบริษัทมีปัญหา

คำสำคัญ (Tags): #บริหารบุคคล
หมายเลขบันทึก: 483979เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 06:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท