โรงเรียนที่ไม่ตาย 6/2 จบ ชาตรี สำราญ


นี่คือบทเรียนที่ “ชุบชีวิตคน” เป็นบทเรียนที่ไม่ตาย โรงเรียนใดทำได้แบบนี้ ก็จะได้ชื่อว่า โรงเรียนที่ไม่ตาย

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็มองเห็น พุทธวิธีสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้  ดังนี้คือ

                1.  พระองค์ทรงใช้วิธีสอนแบบ “แทงตรงจุด”  มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า  พระพุทธองค์ทรงเป็นนักออกแบบการสอนที่ยิ่งใหญ่  พระองค์ทรงออกแบบสอนผู้เรียนแต่ละคนด้วยกลวิธีสอนที่ไม่เหมือนกัน  อาจจะคล้ายกันในรูปแบบภายนอก  แต่แก่นแท้ของคำสอนที่แทงทะลุใจ  จะเลือกความยากง่ายของสาระที่เหมาะกับผู้เรียนคนนั้น ๆ  มาสอน เช่น  พระองค์ทรงใช้มายาภาพ หรือ ภาพเนรมิต  ให้พระนางเขมาเห็นคล้าย ๆ กับที่พระองค์ทรงเนรมิตให้นางปฏาจาราเห็น  แต่พอตรงธรรมเทศนาที่จี้ใจให้เกิดความคิดถึงขั้น Insight  จนจิตสว่างโพลงขึ้น  พระองค์ทรงเลือกธรรมะที่เหมาะกับสภาวะจิตของแต่ละคนต่างกัน  พูดง่าย  ๆ ว่าสื่อคล้ายกัน  แต่บทเรียนต่างกัน

                ความเหมาะสมของสื่อประกอบสอนกับธรรมะหรือบทเรียนที่ตรงกับสภาวจิตของผู้เรียนรายบุคคลมีผลต่อความเข้าใจแบบความรู้ฝังแน่น  หรือ ความเข้าใจที่คงทน ( Enduring  Understanding)หรือการเกิดความรู้ที่ลึกซึ้ง ( Deep  knowledgee)  ขึ้นมาในทันทีทันใดนั้น  ความรู้นี้จะเป็นความรู้ที่ถาวร  ติดใจผู้เรียนไปนานแสนนานและสามารถเปลี่ยนสภาวจิตของผู้เรียนได้ แบบฉับพลัน

                กับองคุลิมาลพระพุทธองค์ทรงใช้ข้อธรรมะที่สั้นแต่ให้ข้อคิด ซึ่งเป็นการเหมาะกับองคุลิมาล   เพราะองคุลิมาลเป็นคนฉลาด   เป็นนักคิด  รับรู้ได้ไว   จึงเรียนเก่งจนเพื่อนอิจฉา

                คำสอนที่ว่า  “เราหยุดแล้วแต่เธอยังไม่หยุด”  คำ ๆ นี้เป็นคำที่มีพลัง  พลังคำกับพลังความคิดที่มาสบเหมาะกันด้วยสภาวจิต   สภาวธรรมและถึงพร้อมด้วยเวลา   ทำให้องคุลิมาลต้องครุ่นคิดแล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมสมณะองค์นั้นจึงพูดอย่างนั้น  พูดว่า เราหยุดแล้วแต่ยังก้าวเดินต่อไป  เดินอย่างไวมาก  แม้เราวิ่งจนเหนื่อยก็ยังไล่ไม่ทัน  จึงตะโกนถามไปว่า  หยุดอย่างไรก็ยังเดินอยู่  พระพุทธองค์จึงทรงตรัสตอบว่า “เราหยุดทำบาป   แต่เธอยังไม่หยุด”  คำ ๆ นี้มีพลังในการขุดคุ้ยจิตใต้สำนึกเดิมของอหิงสกะ  ผู้นิ่มนวล   อ่อนโยน  จิตเปี่ยมไปด้วยเมตตา  จนได้รับนามว่า  อหิงสกะ  ซึ่งหมายถึงผู้ไม่เบียดเยียน  ความรู้ (สึก) เดิม  ขององคุลิมาลพอได้กระทบกับธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ผุดออกมาจากบึ้งจิต  สะกดให้องคุลิมาลเข่าอ่อน  ทิ้งดาบ  ทรุดตัวลงก้มกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทของพระพุทธองค์

                การที่องคุลิมาลวางดาบแล้วก้มลงกราบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์นั้น คือความศรัทธาพระพุทธเจ้า  เกิดมีขึ้นในจิตขององคุลิมาลแล้วเมื่อศรัทธาเกิด หัวใจก็เปิดพร้อมรับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

                คนเราเมื่อพร้อมที่จะเรียนรู้  ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจเรื่องที่เรียนรู้  การที่องคุลิมาล  พร้อมที่จะเรียนรู้นั้นเป็นเพราะ บทเรียนบทแรกที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้เป็นบทเรียนที่มีความหมายต่อองคุลิมาล  “เราหยุดทำบาป  แต่เธอยังไม่หยุด”  คำตรัสสั้นที่มีความหมายทำให้ ซึ้งใจองคุลิมาล  คำว่า หยุด กับ บาป  เป็นลักษณะที่องคุลิมาลมองเห็นได้ชัดว่า ตนจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรต่อไป และที่แล้ว ๆ มาตนทำอะไรลงไป    หลักการง่าย ๆ ที่มองเห็นนี้คือ ข้อปฏิบัติที่องคุลิมาลต้องปฏิบัติ  ดังนั้น ประโยคที่ว่า “เราหยุดทำบาปแล้วแต่เธอยังไม่หยุด”  จึงเป็นความคิดรวบยอดแบบหลักการ  เป็นความคิดสั้น ๆ ที่มองเห็นภาพรวมของการกระทำของตนที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน

                “หยุด”  คือคำหลักที่ต้องนำมาใช้ใน “การ” กระทำต่อไปขององคุลิมาล  ๆ เข้าใจในหลักการข้อนี้อย่างลึกซึ้ง  แบบฝังแน่นในหัวใจ เป็น Deep  knowledge หรือ ความรู้ที่ลึกซึ้ง อันเป็นความรู้ที่ผุดพรายขึ้นมาในจิตของผู้เรียนเอง  จะโพลงขึ้นมาจนบางครั้งบางคนตะโกนว่า  รู้แล้ว ๆ  นั่นเอง

                ทีนี้ลองมาดูความหมายของคำว่า หลักการ สักนิด รศ.ดร.ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์  (2546 ) กล่าวว่า

                “หลักการ ( Principle )  คือข้อความที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดรวบยอดตั้งแต่สองความคิดขึ้นไป  ความรู้หลักการนั้นในบางครั้งเราก็เรียกว่า กฏเกณฑ์ ( Rules)  หรือข้อสรุปรวบยอด ( Generalization)  ตัวอย่างของหลักการ เช่น           

                                สองบวกสองเท่ากับสี่

                                ยุงชุมเพราะน้ำเน่า

                                นกบินทางใต้ในฤดูหนาว

 

                ข้อความชุดนี้เป็นหลักการก็เพราะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดรวบยอด  ข้อความสองบวกสองเท่ากับสี่  มีความคิดรวบยอดอยู่  4  อย่างคือ  สอง  บวก  เท่ากับ สี่   ดังนั้น  ผู้ที่จะเข้าใจและเรียนหลักการได้ต้องเรียนรู้ความคิดรวบยอดมาก่อน

                การ รู้  แบบโพลงขึ้นมาจากบึ้งจิตนี้  ท่านพุทธทาสภิกขุ ( มปพ.)  เขียนเล่าไว้ในเรื่อง    เซ็นในสวนโมกข์  จะขอนำมาเผยแพร่ต่อ  2  เรื่อง  คือ

                                                ยิงไม่เป็น

                ภิกษุรูปหนึ่งไปพบคนปองร้ายกำลังโก่งศรจะยิงท่านให้ตาย  ท่านพูดขึ้นว่า “ท่านรู้จักวิธีที่จะยิงให้ตายอย่างเดียวเท่านั้นเอง  แต่ไม่รู้จักวิธีที่จะยิงให้เป็นเลย”  ผู้ปองร้ายได้สติ  เข้าใจแนวธรรมก็บรรลุเซ็นในขณะนั้นเอง

 

นักปราชญ์เอกแห่งราชวงศ์ถัง

                นักปราชญ์เอกแห่งราชวงศ์ถัง ชื่อ  ไป่จีอี้ เห็นท่าน     เนี่ยวเค่อ (แกล้ง ) ขึ้นไปทำสมาธิบนยอดไม้  จึงได้ท้วงด้วยความเป็นห่วงว่า “อันตรายท่าน”

                ท่านเนี่ยวเค่อย้อนว่า  “เป็นนักปราชญ์  เป็นเทศา  อันตรายกว่า”

                ไป่จีอี้สะอึก เข้าใจและสำนึกสังเวชในความเป็นปราชญ์ที่ต้องถูกกิเลสชั้นลึกเล่นงานอยู่  จึงถามแกมสารภาพว่า “ถ้าอย่างนั้นผมจะต้องทำอย่างไร  ถึงจะพ้นอันตรายนี้ได้”

                ท่านเนี่ยวเค่อตอบพร้อมกับยกนิ้วสามนิ้วว่า “อย่าทำชั่วเด็ดขาด   ทำดีให้เต็มสามารถ  และไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งดีและชั่ว”    ( หลักโอวาทปาฏิโมกข์)

                นักปราชญ์เอกผู้เป็นข้าหลวงใหญ่ประท้วงเชิงดูหมิ่นความรู้ของพระว่า “คำสอนนี้เด็กสามขวบก็พูดได้” (ทำไมต้องเอามาสอนฉันผู้เป็นปราชญ์ล่ะ)

                ท่านเนี่ยวเค่อ ชี้หน้าตวาดว่า “ถูกของแก  เด็กสามขวบพูดได้  แต่เฒ่าหัวหงอกอายุแม้แปดสิบก็ปฏิบัติยังไม่ได้นะ”

                ไป่จีอี้รู้สึกตัว  และเข้าใจใหม่ลึกซึ้ง  ตื่นขึ้นจากธรรมดาและมีผลให้เปลี่ยนนิสัยเดิมตั้งแต่นั้นมา

               

                เรื่องเล่าทั้ง  2  เรื่องนี้  ยืนยันให้เห็นได้ว่า ความรู้นั้น ถ้าผู้ใดมีข้อมูลด้านใดไว้มาก ๆ   พอถึงโอกาสได้รับการขัดเกลา ก็จะโพลงขึ้นมาเป็นความรู้ได้  ดังเรื่องแรก ผู้ปองร้ายพอถูกจี้ตรงจุดด้วยคำพูดของภิกษุ  ก็ได้สติเกิดความเข้าใจในธรรมก็บรรลุเซ็นทันที  ส่วนเรื่องที่สอง  ชื่อว่าปราชญ์ย่อมจะมีข้อมูลความรู้และตัวความรู้ มากมายหลายสาขา  แต่ปัญญาไม่เกิด   เมื่อถูกท่านเนี่ยวเค่อ  กระตุกด้วยคำพูดแทงใจดำเข้าอย่างแรง  ไป่จีอี้สะอึก ซึ่งเป็นอาการรู้ครั้งแรก   พอถูกกระแทกด้วยคำพูดที่หนักหน่วงด้วยเสียงตวาดแบบด่าตรง ๆ  ไป่จีอี้รู้สึกตัว เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง    ตื่น (คือพุทธะ) จากการไม่รู้ คือมีอวิชชาที่ยึดมั่นถือมั่นว่า ฉันคือปราชญ์ ในราชสำนัก  ฉันย่อมรู้ดีกว่าคนอื่น  เรื่องง่าย ๆ 3  ข้อใคร ๆ ก็รู้   แต่พอถูกว่า “รู้แต่ทำไม่ได้”  จึงซึ้งในคำพูดนี้ทุกอย่างที่เคยยึดไว้ก็ถูกปล่อยวางออกหมด  ความเป็นพุทธะคือตื่นก็ปรากฏในจิตเป็นปัญญาบริสุทธิ์เกิดขึ้นมาทันที

                คำพูดของพระภิกษุที่พูดกับผู้ปองร้ายและคำพูดแรงของเนี่ยวเค่อ นั้นเป็นความคิดรวบยอดแบบหลักการทั้งนั้น  เมื่อผู้เรียนเข้าใจได้ก็จะทำให้ผู้เรียนรู้ต่อไป  อาจจะไม่เหมือนแต่ต่อยอดได้  เป็นความรู้ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นด้วยตัวของผู้เรียนเอง  เช่นเดียวกัน องคุลิมาล พอได้ยินคำตรัสของพระพุทธเจ้า  องคุลิมาลก็รู้ได้ด้วยตนเอง  จึงยอมก้มกราบแทบเบื้องยุคลบาทของพระพุทธองค์

                นี่คือบทเรียนที่ “ชุบชีวิตคน”  เป็นบทเรียนที่ไม่ตาย  โรงเรียนใดทำได้แบบนี้ ก็จะได้ชื่อว่า  โรงเรียนที่ไม่ตาย

               

99

                2.  พระองค์ทรงใช้ มหาเมตตา มหากรุณาเป็นตัวนำทางให้องคุลิมาลเรียนรู้เรื่องราวของชีวิตใหม่   ที่กล่าวอย่างนี้เพราะองคุลิมาลเป็นโจรร้ายชื่อดัง  ฆ่าทุกคนที่พบเห็นเพื่อนำนิ้วมาทำพวงมาลัยร้อยคอ   พระพุทธองค์ทรงรู้ดีว่าองคุลิมาลดุร้ายยิ่งนัก  พระองค์รู้ถึงว่า ถ้าปล่อยให้องคุลิมาลจะถึงขั้นเป็นผู้ทำอนันตริยธรรม  คือ ฆ่าแม่ของตนเอง  อันเป็นบาปหนักที่สุด  พระองค์จึงตัดสินพระทัยไปช่วย  คือช่วยองคุลิมาลให้พ้นจากการสร้างบาปอันใหญ่หลวง  ช่วยให้นางมันตานีรอดพ้นจากการถูกองคุลิมาลฆ่า  สิ่งที่ได้คือ ได้พระอรหันต์มาเพิ่มอีกหนึ่งองค์ด้วย  การช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์เป็นมหาเมตตา มหากรุณาที่พระองค์ทรงมี  ซึ่งไม่เฉพาะแต่องคุลิมาลเท่านั้น  กับคนอื่น ๆ อีกมากมายพระพุทธองค์ก็ทรงช่วยเหลือตลอดมาจนกระทั่ง ณ วันนี้

                มีเรื่อง เซ็น เรื่องหนึ่งที่จำได้ ขอนำมาเล่าประกอบเรื่อง

                วัดเซ็นวัดหนึ่ง มีลูกศิษย์มาเรียนรู้เรื่องเซ็นหลายสิบคน  ศิษย์ทุกคนได้รับการฝึกสอนจากเจ้าอาวาสให้ประพฤติปฏิบัติดีทุกคน

                วันหนึ่งคณะลูกศิษย์จำนวนหนึ่งได้เข้าไปร้องทุกข์กับเจ้าอาวาสว่า ศิษย์วัด คนหนึ่ง ขโมยสิ่งของเครื่องใช้ของตน  เจ้าอาวาสได้เรียกศิษย์วัดคนนั้นมาว่ากล่าวสั่งสอนแล้วให้กลับไปทำงาน  เรียนหนังสือ

                อยู่มาไม่นานนักคณะลูกศิษย์กลุ่มเดิมก็ไปร้องทุกข์กับเจ้าอาวาสอีกว่า ศิษย์วัด คนนั้นขโมยสิ่งของเครื่องใช้ของพวกตนอีก  เห็นควรเอาไว้ไม่ได้  ต้องไล่ออกไป

                ท่านเจ้าอาวาสนั่งสงบนิ่งก่อนจะกล่าวว่า “พวกเธอทุกคน ควรออกจากวัด  กลับไปบ้านได้แล้ว  ส่วนเจ้าขโมยคนนั้นสมควรอยู่วัด   คณะศิษย์วัดจำนวนมาก แสดงอาการไม่พอใจ  สงสัยจึงถามว่า “ทำไมพระอาจารย์จึงกล่าวอย่างนี้  ในเมื่อเราทุกคนตั้งหน้าตั้งตาทำความดี  ทำไมต้องออกจากวัด  ส่วนคนขี้ขโมยพระอาจารย์เลี้ยงไว้”

100

                ท่านเจ้าอาวาสจึงตอบว่า  “เพราะเหตุนี้แหละฉันจึงให้พวกเธอกลับบ้านได้แล้ว  เพราะพวกเธอรู้ดี  รู้ชั่ว  พวกเธอเว้นชั่วทำดี   เธอสมควรกลับไปช่วยพ่อแม่นำความเจริญให้แก่ตระกูล  ส่วนเจ้าขโมยขนาดฉันหมั่นสั่งสอนแล้วยังขโมยอยู่อีก  ถ้าปล่อยไปจะขนาดไหน”

                ตั้งแต่นั้นมาศิษย์วัดทุกคนอยู่วัดดังเดิม  และการขโมยสิ่งของก็ไม่เกิดขึ้น  นี่คือการสอนแบบยกระดับจิตวิญญาณของผู้เรียน  การจัดการเรียนการสอนอย่างนี้และน่าจะมีในโรงเรียนปัจจุบันนี้  เพราะจะเป็น “โรงเรียนที่ไม่ตาย

 

 https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 483899เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2012 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท