โรงเรียนที่ไม่ตาย 4 ชาตรี สำราญ


การที่จะทำให้คนเปลี่ยนแนวคิดได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะแนวคิดของแต่ละคนมักจะฝังรากลึกเข้าไปในคน ๆ นั้น ในที่สุดก็จะกลายเป็นความเชื่อ และก็จะมีและหาความรู้ตามความเชื่อนั้นด้วย

 ในความต่างมีความเหมือน

 

                ชีวิตของคน ๆ หนึ่ง  นอกจากการเกิด   แก่  เจ็บ  ตายแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หมุนวนอยู่ในชีวิต    สิ่งนั้นคือ  ตัวรู้  คิด  เชื่อ   ความรู้   ความคิด   ความเชื่อนี้จะหมุนวนอยู่ในจิตของคนแต่ละคน  เมื่อรู้อะไรเข้าไปลึก ๆ  ก็จะคิดสิ่งนั้นเนือง  ๆ  แล้วจะเชื่อในสิ่งนั้น   ถ้าเชื่อในสิ่งใด ก็จะคิดถึงสิ่งนั้นแล้วจะรู้สิ่งนั้น  มันหมุนอยู่อย่างนี้ตลอดไป

                การที่จะทำให้คนเปลี่ยนแนวคิดได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง  เพราะแนวคิดของแต่ละคนมักจะฝังรากลึกเข้าไปในคน ๆ นั้น  ในที่สุดก็จะกลายเป็นความเชื่อ  และก็จะมีและหาความรู้ตามความเชื่อนั้นด้วย

                ความเชื่อและความคิดนี้ มีอิทธิพลต่อชุมชนหรือสังคมที่อยู่ร่วมกัน  ถ้าชุมชนนั้นมีคนที่คิดต่างกันมาก ๆ  แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันแล้ว  ปัญหาในสังคมนั้นก็ย่อมเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าปัญหาเริ่มต้นที่ต่างกลุ่มต่างมีความเชื่อต่างกัน  ความขัดแย้งย่อมจะเกิดมีขึ้นได้  เมื่อมีความขัดแย้งเล็ก ๆ ได้  ก็อาจจะหลอมความเล็กนั้นเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตขึ้นได้เช่นกัน  ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า “เราจะทำอย่างไรให้ความเชื่อที่ต่างกันนั้นเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”  คำถามนี้คือ  คำถามที่ท้าทาย ๆ ผู้นำกลุ่ม  ผู้นำชุมชน และผู้บริหารทุกระดับชั้น

                ถ้าหากว่าบรรดาผู้นำทั้งหลายสามารถบริหารจัดการให้ความเชื่อที่ต่างกันมาเป็นการเรียนรู้ได้ ปัญหาความขัดแย้งก็จะลดลงหรือหมดไปได้  ยิ่งความเชื่อนั้นผูกพันกับลัทธิหรือศาสนาด้วยแล้ว  ความขัดแย้งย่อมมีทางเป็นไปได้สูงมาก “เราจะทำอย่างไรให้ความแตกต่างทางความคิดนั้นมีคุณค่าเกิดเป็นพลังแห่งการเรียนรู้

                ความจริงแล้ว  ความเชื่อและความแตกต่างทางความคิด  แตกต่างทางการนับถือลัทธิต่างกันนั้นไม่ใช่จะเพิ่งมีในยุคสมัยนี้  เมื่อครั้งพุทธกาลก็มีมาแล้ว  โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน  ดังตัวอย่างที่ได้นำมาจาก หนังสือเรื่อง พุทธสาวก-พุทธสาวิกา ( เสถียรพงษ์  วรรณปก : 2544 )  ขอเล่าเรื่องย่อดังนี้

                สิคาลกมาณพ  ( สิ – คา – ละ – กะ )  เป็นเด็กหนุ่มลูกของพราหมณ์เฒ่า  เป็นคนหนุ่มที่มีความกตัญญูต่อบิดาสูงมาก ก่อนที่บิดาจะตายได้สั่งลูกชายไว้ว่า “พ่อตายไปแล้วลูกจงไหว้ทิศทุกวันนะลูกนะ”  เมื่อพราหมณ์ผู้พ่อตายไป  สิคาลกมาณพจะตื่นแต่เช้ามายืนไหว้ทิศทั้งหกทุกวัน

                วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จผ่านมายังที่สิคาลกมาณพ  ยืนไหว้ทิศหกอยู่   พระองค์จึงตรัสถามว่า “พ่อหนุ่มกำลังทำอะไร”  สิคาลกมาณพ   จึงทูลตอบว่า “ไหว้ทิศพระเจ้าข้า”  พระพุทธองค์ทรงตรัสถามต่อว่า  “พ่อหนุ่มไหว้ไปทำไม”

                “บิดาสั่งให้ไหว้ทุกวัน พระเจ้าข้า”

                “ พ่อเจ้าบอกหรือไม่ว่าไหว้ทิศทำไม”

                “ มิได้บอก พระเจ้าข้า”

                “ ดีแล้ว  เธอทำตามคำสั่งของพ่อ  นับว่าเธอเป็นบุตรกตัญญู  แต่พ่อเจ้าคงมิได้หมายความว่าให้เจ้าไหว้ทิศภายนอกกระมัง”  พระองค์ทรงรับสั่งแบบชวนให้คิด

                เมื่อเห็นว่า สิคาลกมาณพ  ทำท่างุนงง  พระองค์จึงทรงตรัสอธิบายถึงความหมายของทิศทั้งหก  ว่า

                ทิศตะวันออก       คือ           บิดามารดา

                ทิศตะวันตก          คือ           สามีภรรยา

                ทิศเหนือ                คือ           มิตรสหาย

                ทิศใต้                     คือ           ครูบาอาจารย์

                ทิศเบื้องบน           คือ           สมณชีพราหมณ์

                ทิศเบื้องล่าง          คือ           คนใช้และคนงาน

 

                เมื่อมาณพหนุ่มได้ฟัง  แนวคิดใหม่ เกี่ยวกับเรื่อง “ทิศหก”  จากพระพุทธองค์แล้วก็รู้สึกเลื่อมใส  น้อมรับเอามาเป็นหลักปฏิบัติ   หลังจากที่ได้ปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะ แล้ว นับถือพุทธศาสนาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตต่อไป

 

 

                จากเรื่องเล่านี้  พอที่จะเห็นความเป็นบรมครูของพระพุทธเจ้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เช่น

                1.  พระองค์ทรงสอนโดยไม่เปลี่ยนสิ่งที่ผู้เรียนกำลังกระทำอยู่ก่อน  แต่จะเน้นให้ผู้เรียนรู้ต่อแล้วเปลี่ยนแนวความคิด  การสอนแบบนี้เป็นการสอนแบบต่อยอดความรู้  สู่การยกระดับจิตวิญญาณของผู้เรียน เป็นวิธีการสอนที่ละมุนละม่อมมาก  ผู้เรียนจะเรียนรู้สิ่งที่ตนรู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งขึ้นจนรู้แจ้งในสิ่งนั้น  

                เมื่อสิคาลกมาณพเข้าใจเรื่องความหมายของทิศหกได้อย่างลึกซึ้งแล้ว  ก็จะเห็นคุณค่าของการกระทำนั้นว่ามีความหมายต่อเขาอย่างไร  ทำไมพ่อจึงสั่งให้ทำสิ่งนี้  ไม่ใช่ไหว้เพียงเพราะพ่อสั่งดั่งที่ได้ทำมาแล้ว

                จะเห็นได้ว่า  “ถ้าผู้เรียนรู้ความหมายสิ่งที่เรียน”  เขาก็จะซาบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียน  ดั่งเช่น  สิกาลกมาณพรู้ความหมายของทิศหก  เขากระจ่างแจ้งในสิ่งนั้น  จนกระทั่งจิตเกิดศรัทธาต่อพระพุทธองค์  ผู้ทรงชี้ให้เขาเห็นทางใหม่ เขาจึงหันมานับถือพุทธศาสนา

                ลองนึกย้อนกลับไปว่า  ถ้าหากพระพุทธองค์ทรงคัดค้านการไหว้ทิศหกของสิคาลกมาณพตั้งแต่แรกพบเห็น  ว่าเป็นสิ่ง  งมงายไร้ซึ่งประโยชน์  หันมานับถือพุทธศาสนาจะดีกว่า  แล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น   เรื่องจะจบลงแบบนี้ไหม

                2.  พระองค์ทรงสอนแบบ “ทุกที่คือแหล่งเรียนรู้”  จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์จะใช้ทุกที่ที่มีผู้เรียน  หรือมีคนให้พระองค์ทรงโปรดแสดงธรรม (สอน) พระองค์จะแสดงธรรมทันที  พระองค์ไม่จำกัดสถานที่สอน  ว่าจะต้องสอนแต่ในห้องเรียน หรือที่อาคารหรูหรา  แต่พระองค์จะดูว่า ตรงไหนที่เหมาะและใครคือผู้เรียน  นั่นคือพระองค์จะทรงดูว่าจะสอนใครเป็นสำคัญ  แล้วเลือกที่สอนให้เหมาะกับจริตของผู้เรียน  และกับสิคาลกมาณพพระองค์ทรงพิจารณาเห็นแล้วว่า  “พร้อมแล้ว” คือตัวของสิคาลกมาณพ พร้อมที่จะรู้เรื่องที่ตนยังไม่รู้  โดยสังเกตได้จากคำตอบที่ว่า “มิได้บอกพระเจ้าข้า”  เป็นการพร้อมอย่างแรก  พร้อมอย่างต่อไป ซึ่งเป็นการพร้อมอย่างที่สอง  คือ “สื่อพร้อม”  สื่อประกอบการสอนของพระองค์คือ ทิศหก  ที่พราหมณ์หนุ่มต้องการรู้นั่นเอง  พระองค์ทรงนำสิ่งนั้นมาสอนแบบจี้ตรงจุดทันที  พร้อมอย่างที่สาม คือ เวลาสอนพร้อมแล้ว  เพราะเป็นเวลาเหมาะที่สิคาลกมาณพใคร่รู้เรื่องทิศหกอย่างใจจดใจจ่อ  ใคร่เรียนใครรู้จริง ๆ  แล้ว  นี่คือเวลาพร้อมแล้ว  พร้อมต่อไปสำคัญมาก คือ พระพุทธองค์พร้อมที่จะสอนแล้ว  พระองค์ทรงเสด็จมายังที่สิคาลกมาณพกำลังไหว้ทิศหกอยู่  แสดงว่าพระองค์ทรงมีเป้าหมายที่ชัดเจน  พระองค์ทรงเตรียมการสอนมาพร้อมแล้ว  และพระองค์ทรงกำหนดไว้แล้วว่า  ผลสุดท้ายสิคาลกมาณพจะเกิดผลจากการเรียนรู้แบบใด นั่นคือพระองค์พร้อมในเรื่อง

                -  มีเป้าหมายการสอนที่ชัดเจน

                -  มีเกณฑ์วัดประเมินผลเชิงคุณภาพ (Rubrics)

    ที่ชัดเจน

                -  มีการเตรียมแผนการสอนที่ชัดเจนและนำมาใช้สอน
                   จริง

เมื่อสอนเสร็จแล้วก็สามารถประเมินผลย้อนกลับได้ว่า  ผลการสอนสัมฤทธิ์ผลเพียงใด

                การสอนในเวลาสั้น ๆ ใช้วิธีการสอนง่าย ๆ แต่สิคาลกมาณพรู้และเข้าใจบทเรียนได้ดี จนกระทั่งเปลี่ยนแนวคิดของตนได้  นั่นแสดงว่า เป็นสุดยอดการสอน ที่เป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะ ผู้เรียนพร้อม  ผู้สอนพร้อม  นี่คือการจัดการเรียนรู้แบบเน้นความสำคัญทั้งผู้เรียนและผู้สอน  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบนี้  ผู้สอนจะต้องพร้อมในเรื่อง

-          มีเป้าหมายการเรียนการสอนที่ชัดเจน  รู้ว่าเมื่อสอนจบแล้วผู้เรียนจะเกิดผลการเรียนรู้แบบใด

-          จะบอกได้ว่าผู้เรียนสามารถทำอะไรได้บ้างที่เป็นผลงานให้เห็นเป็นหลักฐานชัดเจน

-          จะบอกได้ว่า สิ่งที่ผู้เรียนทำได้นั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับใดของการประเมินคุณภาพผลงาน (Rubric)

-          จะบอกได้ว่าผู้เรียนมีวิธีการเรียนแบบใด (Style  learning )

-          จะบอกได้ว่าผู้เรียนเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ ( Learning  How  to  learn ) อย่างไร

-          จะบอกได้ว่า ผู้เรียนมีความรู้สึกนึกคิดต่อการเรียนรู้อย่างไร

3.  พระองค์ทรงเน้นถึงความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้เรียนอย่างสิคาลกมาณพนั้นมีความกตัญญูต่อบิดามาก   จึงเมื่อบิดาสั่งให้ไหว้ทิศทุกวันเขาก็ทำตามสั่ง  พระองค์ทรงทราบข้อนี้ดีจึงไม่ห้ามเรื่องนี้  ยังทรงเสริมให้รู้ชัดแจ้งในเรื่องความหมายของทิศยิ่งขึ้นไปอีก  ดั่งพระดำรัสที่ว่า “ดีแล้ว  เธอทำตามพ่อสั่ง  นับว่าเธอเป็นบุตรกตัญญู...”  เมื่อสิคาลกมาณพได้ยินคำนี้ก็จะรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ  และเห็นว่าการกระทำนั้นถูกแล้วจึงคิดที่จะทำต่อ  แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไรต่อ  เพราะไม่รู้ความหมายของสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่  เมื่อพระพุทธองค์จะทรงชี้แนะก็พร้อมที่จะยอมรับ  ความพร้อมนี้เองส่งผลให้จิตของสิคาลกมาณพเปิดกว้าง  ยอมรับบทเรียนด้วยดี  ทำให้เข้าใจสิ่งที่เรียนได้อย่างลึกซึ้ง  เห็นคุณค่าสิ่งที่เรียนนั้นจึงยอมเปลี่ยนแนวคิดและหันไปนับถือพุทธศาสนาต่อไป

https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 483891เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2012 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท