การสมรสของคนเพศเดียวกันในสายตาของศาลสิทธิมนุษยชน ECHR


หลายต่อหลายครั้งที่มีคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคนเพศเดียวกันขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชน หรือ ECHR แต่น้อยครั้งที่ศาลจะมีโอกาสพิจารณาและมีคำตัดสินที่ชัดเจนในเรื่องของ "กฎหมายเกี่ยวกับการสมรส"

     

       ในคดีเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๐๑๐ (CEDH 24 juin 2010, n°304141/04) ศาลมีโอกาสได้พิจารณาในรายละเอียดของหัวข้อดังกล่าว

 

       อันที่จริงรัฐสมาชิกของ European Council เพียง ๗ รัฐเท่านั้นที่ยอมรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน ในคดีนี้เป็นกรณีของชายชาวออสเตรียนคู่หนึ่งที่ยื่นฟ้องรัฐออสเตรียต่อศาลสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่ารัฐออสเตรียกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อมาตรา ๑๒, และมาตรา ๘ ประกอบมาตรา ๑๔ ของอนุสัญญา ECHR เนื่องจากกม.ออสเตรียนยอมรับเฉพาะการสมรสของคนต่างเพศกันเท่านั้น 

 

๑) มาตรา ๑๒ Right to marry 

 

     เป็นที่ทราบกันดีว่ามาตรา ๑๒ ของอนุสัญญาฯ นั้น รับรองเฉพาะแต่การ "สมรส" และการ "ก่อตั้งครอบครัว" ของชายและหญิงเท่านั้น ซึ่งตัวบทใช้คำว่า Men and Women  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายสัญชาติของคู่สมรส  อย่างไรก็ดี ศาลสิทธิมนุษยชนในคดีนี้ได้ยืนยันว่าอนุสัญญา ECHR มิได้ปฏิเสธสิทธิในการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันโดยชัดแจ้งแต่ประการใด  และแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนเองก็แสดงให้เห็นว่าศาลมิได้ยึดติดอยู่กับเกณฑ์ "ความสามารถในการตั้งครรภ์" ของบุคคลดังกล่าว เนื่องจากศาลได้เคยมีคำพิพากษายอมรับการสมรสระหว่างบุคคลที่แปลงเพศแล้วกับบุคคลเพศตรงข้าม เช่นเดียวกับที่กฎหมายภายในของหลายๆรัฐยอมรับแล้วนั่นเอง 

 

       เหตุผลประการสำคัญที่ศาลได้ให้ไว้ในคดีนี้คือ การสมรสนั้นถือได้ว่าเป็น "สถาบันพื้นฐาน" ของสังคม และท่าทีของรัฐต่างๆในเรื่องของการยอมรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ซึ่งจะเห็นได้จากกฎหมายภายใน ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่อาจกล่าวได้ว่ารัฐออสเตรียกระทำการอันเป็นการขัดต่อมาตรา ๑๒ ของอนุสัญญาฯ  สังเกตได้ว่าศาลสิทธิมนุษยชนจะแสดงเหตุผลเช่นเดียวกันนี้อยู่เสมอๆ และยืนยันด้วยว่ามาตรา ๑๒ มิได้บังคับให้รัฐสมาชิกต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองการสมรสของคนเพศเดียวกันแต่อย่างใด 

 

๒) มาตรา ๘ Right to respect for private and family right  ประกอบมาตรา ๑๔ Prohibition of discrimination

 

       สำหรับทั้งสองเรื่องนี้ศาลสิทธิมนุษยชนได้ให้การรับรองว่าความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันนั้นย่อมได้รับการคุ้มครองตามมาตรา ๘ เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเมื่อมีการก่อตั้งครอบครัว เนื่องจากถือได้ว่าเป็น "สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว" เช่นกัน 

     คำถามคือ รัฐมีหน้าที่อย่างใดบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือการคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน และทำให้สิทธินี้เป็นรูปธรรม??? 

       คำตอบที่เห็นได้ชัดเจนคือ รัฐต้องพยายามหาทางออกอื่นๆให้แก่คนกลุ่มนี้ ในกรณีที่รัฐนั้นยังไม่พร้อมที่จะรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน กล่าวคือ รัฐสามารถออกกฎหมายเพื่อ "รับรองสถานะทางกฎหมาย" ของคู่รักเพศเดียวกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรองทางทะเบียน หรือ PACS  เราจะเห็นได้ว่าศาลสิทธิมนุษยชนใช้การตีความอย่างกว้างสำหรับคำว่า "สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว" ซึ่งเป็นผลดีต่อคู่รักเพศเดียวกันนั่นเอง

 

       อย่างไรก็ตามศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐสมาชิกหลายๆรัฐต่างแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองสถานะทางทะเบียนของการอยู่ร่วมกันระหว่างคู่รักเพศเดียวกันนั้น มิได้หมายความว่าศาลจะต้องลงโทษออสเตรียที่ไม่แก้ไขกฎหมายโดยทันทีหรือแก้ไขช้ากว่าประเทศอื่น (เนื่องจากในข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชนเมื่อปี ๒๐๐๒ และต่อมาออสเตรียได้ประกาศใช้กฎหมายรับรองการจดทะเบียนระหว่างคู่รักเพศเดียวกันเมื่อ ๑ มกราคม ๒๐๑๐ และศาลได้มีคำพิพากษาคดีนี้วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๐๑๐) เห็นได้ว่าในที่สุดทางรัฐบาลออสเตรียก็ได้แก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ 

       นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่าเรื่องอำนาจปกครองบุตรหรืออำนาจของบิดามารดานั้นยังคงมีความแตกต่างกันอยู่สำหรับกรณีของคู่ชายหญิงและคู่เพศเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การที่รัฐกำหนดสถานะที่แตกต่างให้ระหว่างคนสองกลุ่มข้างต้นในเรื่องการสมรสนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด  

 

วันนี้ขอเล่าสั้นๆค่ะ  

 

       ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าหากเป็นกรณีของคนที่ผ่านการแปลงเพศแล้ว ต่อมาต้องการสมรสกับคนที่มีเพศตรงข้ามกับตน กฎหมายจะยอมรับการสมรสนี้หรือไม่? สิทธิที่คนเหล่านี้จะได้รับจากประกันสังคมและกรณีเกษียณอายุจะเป็นอย่างไร?

 

ไว้จะมาเล่าต่อค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 483780เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 03:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท