โรงเรียนที่ไม่ตาย 2/2 ชาตรี สำราญ


พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการสอนแบบ Child Centered และ Backward Design พระองค์ทรงใช้สื่อจากเงื่อนไขหรือ “ปัญหาชีวิต” ของผู้เรียนเป็นสถานการณ์ในการเรียนของผู้เรียนเอง ทรงจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ทรงจัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ในชุมชน ทรงสร้างความพร้อม ให้เกิดแก่ผู้เรียนก่อนเรียน โดยใช้แรงจูงใจเป็นตัวกระตุ้น ทรงให้โอกาสพิเศษแก่ผู้เรียนที่มีปัญหาทางการเรียน

ความจริงแล้วการสอนแบบผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความหมาย  ในสมัยพุทธกาล  พระพุทธองค์ได้ทรงนำสอนเป็นประจำ  ทั้งนี้ก่อนสอนพระองค์ก็ทรง  วางเป้าหมายการสอน       (Understanding  Goals)  และเกณฑ์การประเมินผลอย่างมีคุณภาพ  ( Rubric) ไว้ชัดเจนว่าผู้เรียนเรียนแล้วจะเกิดผลอย่างไร ระดับใด (โสดาบัน  สกทาคามี  อนาคามี  อรหันต์ )  และกิจกรรมการเรียนรู้ก็เปิดโอกาสให้ผู้เรียน  ( ผู้ปฏิบัติธรรม ) สามารถปฏิบัติแบบ Learning   by  doing  ผู้เรียนจะเป็นผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก ) และเป็นผู้ประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง)  จึงสามารถกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการสอนแบบ  Child  Centered  และ Backward  Design  จากการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการสอนของพระพุทธองค์ นั้นพบว่า    พระองค์ทรงใช้รูปแบบการสอนที่หลากหลายเหมาะกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล  ซึ่งวิธีสอนที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ต่อไปนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง  ในเรื่อง พระกีสาโคตมีเถรี  ใน “ชีวประวัติพุทธสาวิกา” :  (จำเนียร  ทรงฤกษ์ : 2544 )  มีเรื่องว่าดังนี้

                นางกีสาโคตมี  เป็นสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครสาวัตถี  นางมีบุตรชายน่ารักกำลังหัดพูด  หัดเดินอยู่คนหนึ่ง  แต่น่าเสียดาย เพราะบุตรชายของนางได้เสียชีวิตลง   นางรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก  นางคิดว่าบุตรของนางยังไม่ตาย  นางจึงอุ้มศพลูก แล้วไปเที่ยวถามหายาที่จะรักษาลูกชาย  ใคร ๆ ที่นางถามหาต่างตอบว่ายาไม่มี  จนกระทั่งมาถึงบัณฑิตผู้หนึ่งบอกว่า พระพุทธองค์มียารักษาลูกของนางได้  นางจึงอุ้มศพลูกน้อยเข้าไปเฝ้าพระศาสดายังสำนักของพระองค์และกราบทูลถามทันทีว่า “พระองค์รู้จักยาที่จะรักษาลูกของหม่อมฉันไหม  พระเจ้าข้า”

                พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนกีสาโคตมี   ตถาคตรู้จัก” 

นางกีสาโคตมีกราบทูลถามว่า “พระองค์ทรงต้องการอะไรบ้างที่จะทำเป็นยา  พระเจ้าข้า”

                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ตถาคตต้องการเมล็ดผักกาดสักหนึ่งกำมือ”

                นางกีสาโคตมีตอบว่า “หม่อมฉันจะหามาถวายให้จงได้  แต่ทว่าควรจะหาเมล็ดผักกาดได้ที่ไหน พระเจ้าข้า”

                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนกีสาโคตมี  เธอจงเข้าไปในพระนคร  โดยเที่ยวไปให้ทั่วพระนคร  ตั้งแต่ต้นจนจดปลายสุด  ถ้าในบ้านเรือนใดไม่มีคนตาย  เธอจงนำเมล็ดผักกาดจากบ้านเรือนนั้นมาให้ตถาคต”

                นางกีสาโคตมีดีใจมากที่จะได้ยามาชุบชีวิตลูกของนาง  นางจึงออกเดินทางเข้าไปในพระนคร  โดยอุ้มบุตรชายที่ตายไปแล้วด้วย  นางเข้าไปในพระนครถึงบ้านใดก็ขอเมล็ดผักกาดจากเจ้าของบ้าน  เมื่อเจ้าของบ้านนำเมล็ดผักกาดมาให้  นางก็ถามว่า “ในบ้านหลังนี้เคยมีคนตายมาก่อนบ้างไหม”  เจ้าของบ้านทุกบ้านต่างตอบว่า  “กีสาโคตมีเธอถามอะไรอย่างนี้  มีใครบ้างที่จะนับจำนวนคนที่ตายแล้วในบ้านหลังนี้  ผู้ที่มีชีวิตอยู่มีเหลืออยู่น้อย  ส่วนผู้ที่ตายไปมีมากกว่า”  นางขอเมล็ดผักกาดบ้านใดก็จะได้รับคำตอบว่า  บ้านนี้เคยมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น  นางจึงเกิดความเศร้าสลดใจว่า  “เราเข้าใจว่าตายแต่บุตรของเราเท่านั้น  แท้จริงคนตายมีมากกว่าคนเป็นที่อยู่ในบ้านทั้งสิ้น”  เมื่อนางคิดได้ดังนี้  หัวใจที่อ่อนเพราะความรักบุตร  ก็เกิดความแข็งขึ้นมา  นางจึงนำศพลูกชายไปที่ป่าช้า  แล้วพูดกับศพบุตรชายว่า  “ลูกเอ๋ย  แม่คิดได้ว่า  ความตายนี้เกิดกับเจ้าแล้ว  แต่ความตายมิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกับลูกของแม่เท่านั้น  มรณธรรมนี้เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปกับมหาชน”  แล้วนางก็วางศพบุตรชายไว้ในป่าช้านั่นเอง   นางก็กลับไปเฝ้าพระพุทธองค์

                พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนกีสาโคตมี  เธอได้เมล็ดผักกาดมาบ้างหรือไม่”

                นางกีสาโคตมีกราบทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ หม่อมฉันหาเมล็ดผักกาดไม่ได้ตามพระพุทธประสงค์  เพราะในบ้านหลังหนึ่ง ๆ มีคนตายมากกว่าคนเป็นอยู่  หม่อมฉันเลิกหาเมล็ดผักกาดแล้ว  แต่ขอพระองค์ทรงพระกรุณาประทานที่พึ่งแก่หม่อมฉันด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนกีสาโคตมี  เธอเข้าใจว่าบุตรของเราเท่านั้นตายแล้ว  แต่ความตายนั้นเป็นธรรมเที่ยงแท้สำหรับสรรพสัตว์  เพราะว่ามัจจุราชฉุดคร่าสัตว์ทั้งปวง  ผู้มีอัธยาศัยยังไม่พอความประสงค์  ซัดลงไปในสมุทร คือ “อุบาย”  ประดุจห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาสัตว์ทั้งหลายไปฉะนั้น”  เมื่อนาง   กีสาโคตมีฟังธรรมจากพระองค์แล้ว  เกิดดวงตาเห็นธรรม  บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น  ขั้นโสดาปัตติผล  พร้อม ๆกับบุคคลอื่นที่นั่งฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงเทศนาแก่นาง  กีสาโคตมีด้วย   แล้วนางกีสาโคตมีจึงทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า  และต่อมาได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงขั้นพระอรหันต์

                ลองมาพิจารณาวิธีการจัดการเรียนรู้ของพระองค์ที่ทรงนำใช้ต่อพระกีสาโคตมีเถรี  ก็จะเห็นว่า

                1.  พระองค์ทรงใช้สื่อจากเงื่อนไขหรือ “ปัญหาชีวิต” ของผู้เรียนเป็นสถานการณ์ในการเรียนของผู้เรียนเอง  การที่นางกีสาโคตมี  มีความเศร้าโศกเสียใจต่อการตายของบุตรชาย  และเนื่องจากนางไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับการตายมาก่อนนั้น  เป็นตัวอวิชชา  คือความไม่รู้ที่ส่งผลให้นางเกิดอุปาทาน  คือคิดว่า บุตรของตนต้องไม่ตาย  ทำไมความตายต้องมาเกิดแก่บุตรของตนเพียงคนเดียวเท่านั้น  ทำไมบุตรคนอื่นไม่ตาย  นี่คือผลที่เกิดจากการไม่รู้จักความตายของนาง  พระพุทธองค์ทรงรู้สิ่งนี้ดีจึงทรงใช้วิธีการแบบ หนามยอกเอาหนามบ่ง  “เมื่อไม่รู้จักความตายก็ให้ไปรู้จักความตาย”  อันเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนเฉพาะรายในรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล

                2.  พระองค์ทรงจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง  การที่พระองค์ทรงชี้ทางให้นางกีสาโคตมี  เดินเข้าไปถามหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดในพระนครตั้งแต่หัวบ้านจดท้ายบ้าน  ด้วยเงื่อนไขว่าต้องเป็นบ้านที่ไม่มีคนเคยตายมาก่อนนั้น   จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่งและอีกบ้านหนึ่งปรากฏว่า  นาง  กีสาโคตมีได้รับคำตอบแบบเดียวกัน  คือ คนที่ตายไปแล้วในบ้านนี้มีมากกว่าคนที่เหลืออยู่  นั่นคือเป็นการตอกย้ำให้นางกีสาโคตมีรู้ว่า  ไม่เฉพาะลูกของเธอเท่านั้นที่ต้องตาย  ลูกคนอื่นและคน  อื่น ๆ ก็ได้ตายมาแล้วมากมาย   นางฟังครั้งแล้วครั้งเล่า  ข้อมูลเล็ก ๆ ก็ค่อยสั่งสมเป็นข้อมูลใหญ่ขึ้น ๆ   จนกลายเป็นตัวความรู้ที่ตกผลึกให้นางคิดได้ว่า “เราเข้าใจว่าตายแต่บุตรของเราเท่านั้น  แท้จริงคนตายมีมากกว่าคนเป็นที่อยู่ในบ้านทั้งสิ้น”  นี่คือความคิดรวบยอดขั้นต้นที่ต่อมาก็กลายเป็น  ความคิดรวบยอดแบบหลักการขึ้นมาตรงที่นางกล่าวว่า   “ความตายมิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกับลูกของแม่เท่านั้น  มรณธรรมนี้เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปกับมหาชน”   ประสบการณ์สั่งสมที่นางได้รับรู้จากการฟัง (สุตมยปัญญา)  เกี่ยวกับเรื่องความตายจากผู้คนที่นางไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาด  ก่อให้นางเกิดจินตมยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา  ขึ้นมาได้เพราะนางนำมาครุ่นคิด ใคร่ครวญครั้งแล้วครั้งเล่า  จากการได้ผัสสะ คำตอบซ้ำ ๆ เหล่านั้น  จิตของนางก็น้อมนำเข้าสู่การโยนิโสมนสิการ  อารมณ์โศกเศร้าที่รุนแรงก็ลดลง ๆ จนในที่สุดจิตก็อ่อนโยน เห็นความจริงตามความเป็นจริง  นางจึงยอมรับความจริงได้จนสามารถกราบทูลต่อพระพุทธองค์ได้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ   หม่อมฉันหาเมล็ดผักกาดไม่ได้ตามพระพุทธประสงค์  เพราะในบ้านหลังหนึ่ง ๆ มีคนตายมากกว่าคนเป็นอยู่   หม่อมฉันเลิกหาเมล็ดผักกาดแล้ว...”  นี่คือธรรมที่นางเห็น  นี่คือความรู้ที่นางค้นพบได้ด้วยตนเอง  นี่คือความรู้ที่ฝังแผ่นอยู่ในใจนาง  นี่คือทางที่ส่งผลให้นางได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันในที่สุด

                3.    พระองค์ทรงจัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ในชุมชน  จะเห็นได้ว่า  เงื่อนไขหรือปัญหาหรือสื่อที่พระองค์ทรงจัดให้นางกีสาโคตมีได้ปะทะหรือผจญนั้นอยู่ในชุมชน  ซึ่งบทเรียนของนางกีสาโคตมีต้องเรียนรู้ในชุมชน  ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ต้องเรียนรู้แบบ Out  door  Education   นางต้องเก็บข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่น  จากผู้รู้ในชุมชน  จากคนหนึ่ง  บ้านหลังหนึ่ง  สู่อีกคนอีกบ้านและอีกบ้านจนข้อมูลนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้น  ๆ  จนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการคิดของนางได้   นางจึงยอมรับความจริงในความเป็นจริงของชีวิตที่เป็นจริงได้

                4.  พระองค์ทรงสร้างความพร้อม ให้เกิดแก่ผู้เรียนก่อนเรียน   โดยใช้แรงจูงใจเป็นตัวกระตุ้น   จะเห็นได้เมื่อนางกีสาโคตมีเข้าเฝ้าพระองค์  ๆ  ทรงใช้คำนิ่มนวล  อ่อนหวานตรัสในเชิง  เข้าใจ  เห็นใจ และปลอบใจ   ด้วยคำตรัสสั้น ๆ  แต่มีพลังและมีความหมายต่อนางกีสาโคตมีว่า “ดูก่อนกีสาโคตมี  ตถาคตรู้จัก”  คิดดูเถิดคนที่ผิดหวังมาจากคนหมู่มากที่ตอบปฏิเสธนางมาตลอดว่า “ไม่มี”  “ไม่รู้จัก”   พอได้ยินว่ารู้จักจะเป็นอย่างไร  ลอกนึกถึงจิตใจของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูกชายน่ารัก แล้วต้องตายจากไป  พอจะได้ยาชุบชีวิตจะรู้สึกอย่างไร  นี่คือแรงจูงใจที่วิเศษที่สุด  สูงค่ามากที่สุดที่นางกีสาโคตมีได้รับ  ทำให้นางต้องดั้นด้นไปเรียนรู้ความจริงในพระนครจนพบความรู้ที่แท้จริง คือความรู้ที่นางสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของนางได้ หรือสามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่นางได้จริง   เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน

                5.  พระองค์ทรงให้โอกาสพิเศษแก่ผู้เรียนที่มีปัญหาทางการเรียน   ตรงนี้คงจะเข้าใจตรงกันว่า ในสำนักของพระพุทธเจ้านั้นจะมีอุบาสกอุบาสิกามากมายนับร้อย ๆ คน  มีทั้งพระราชา  ข้าราชบริพาร   และชาวบ้านหลากหลายไปคอยฟังพระธรรมเทศนา และกราบทูลถามปัญหาต่าง ๆ แต่เมื่อนางกีสาโคตมีเข้าไปหาพระองค์ทรงทราบด้วยญาณจึงทรงให้โอกาสแก่นางกีสาโคตมีเป็นพิเศษ  พูดง่าย ๆ ว่า “ลัดคิวให้”  แบบให้โอกาสเป็นการเรียนรู้รายบุคคล  แต่ทว่าเมื่อนางกีสาโคตมีกลับจากไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดในพระนครแล้วเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยจิตทีสงบและเริ่มมองเห็นธรรมแล้ว   พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้นางเข้ากลุ่มโดยทรงพระกรุณาเทศนาธรรมสั่งสอนนางกีสาโคตมีเองและสั่งสอนคนอื่น ๆ ไปในพระธรรมเทศนานั้นด้วย  ส่งผลให้มีผู้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อม ๆ กับนางกีสาโคตมีมากมายในที่ประชุมนั้น    นั่นคือ  กลวิธีสอนหรือนวัตกรรม ( Innovation)  อย่างหนึ่งของพระตถาคต

https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 483713เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2012 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท