เป็นเพียงทารกก็นอนฝันได้


เราเริ่มฝันกันตั้งแต่เป็นทารก

เป็นเพียงทารกก็นอนฝันได้

โดย อธิษฐาน พูลศิลป์ศักดิ์กุล

ความฝันกลไกหนึ่งของธรรมชาติ


ความฝัน(Dreaming)เกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับแบบที่มีการกรอกไปมาของลูกนัยน์ตาอย่างรวดเร็ว(rapid-eye-movement หรือ REM) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ที่ถูกควบคุมโดยกลไกอัตโนมัติของสมอง หลังจากที่เรานอนหลับไป

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องของความฝันมานานกว่า 50 ปี โดยอนุมานข้อมูลที่มีอยู่หลายๆ ด้านรวมกัน จนได้ข้อสรุปว่าการฝันเป็นการหลับที่เป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิต โดยเริ่มวิวัฒนาการในสิ่งมีชีวิตระดับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งก้านสมองจะเป็นผู้ควบคุมกลไกของระบบวงจรประสาทการฝัน โดยเชื่อว่ามีวิวัฒนาการมาก่อนการหลับแบบไม่ฝันที่อาศัยสมองตอนกลางที่อยู่สูงขึ้นไป

จากการศึกษาทางสรีระวิทยาและจิตวิทยา สามารถให้คำนิยมความฝันในลักษณะรูปธรรมว่า ความฝันเป็นสถานภาพ(State) ของการมีชีวิตในรอบ 1 วัน(หรือ 24 ชั่วโมง) โดยมีสถานะทางจิตใจเกิดขึ้น 3 สถานะคือ สถานะตื่น(waking) นอนหลับ(Sleep) และฝัน(dreaming) การฝันอาจฝันในเวลากลางวันก็ได้(daydream) แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืนในเวลาที่เรานอนหลับ

มนุษย์เราเริ่มฝันตั้งแต่ยังเป็นทารก
เด็กครบกำหนดคลอด 9 เดือน(Full term) สามารถฝันได้ตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกมา การศึกษาพฤติกรรมการนอนหลับและวัดคลื่นสมองพบว่า ทารกมีการตื่นหลับ 18-20 ชั่วโมง โดยการหลับครึ่งหนึ่งจะเป็นการนอนหลับแบบฝัน

ความจำเป็นในการนอนฝัน
การนอนฝันเป็นสถานะที่จำเป็นต่อร่างกายในทางสรีระวิทยาและจิตวิทยา เพราะถ้าเรานอนหลับไม่ฝัน ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น มีหลายทฤษฎีอธิบายความจำเป็นในการฝัน เช่น

ทฤษฎีเกี่ยวข้องกับการเก็บความจำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันคือ ถ้าเรามีประสบการณ์ที่ต้องจดจำหรือรับรู้ไปตลอดชีวิต หรือมีเรื่องที่ทำให้เกิดความกังวล เช่น ถ้านักศึกษาต้องท่องจำหนังสือสอบ กลางคืนจะมีการนอนฝันมากกว่าเดิม มีอีกทฤษฎีที่กล่าวคล้ายกันว่า การนอนฝันเป็นธรรมชาติของสัตว์ที่ต้องคอยระวังการถูกล่า โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพวกแรก เช่น หนู ดังนั้นระหว่างการหลับ คลื่นสมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับและความจำ จะมีการถ่ายทอดประสบการณ์ให้ระวังตัวในการถูกล่าเพื่อเอาตัวรอด

ความฝันสัมพันธ์กับการเติบโตของทารก
รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี อาจารย์โครงการวิจัยชีวะวิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความฝันมีความสัมพันธ์กับทารกหลายประการคือ

  1. จากทฤษฎีการเก็บความจำ เนื่องจากเด็กจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อเรียนรู้มากก็ต้องเก็บความจำมาก จึงอาจทำให้ใน 1 คืน เด็กจะหลับฝันเป็นส่วนใหญ่

    นอกจากนั้นระหว่างที่เกิดกลไกความฝัน ยังเป็นการถ่ายทอดข้อมูลจากการเก็บความจำระยะสั้น ไปเก็บไว้ยังส่วนต่างๆ ของสมองอย่างเป็นระเบียบ เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำระยะยาวต่อไป
  2. ความฝันเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของทารก เพราะระหว่างนอนฝัน มีเซลล์หลายกลุ่มในสมองและร่างกายส่วนต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระและชีวะเคมี โดยเฉพาะการทำงานของยีนหรือสารพันธุ์กรรมในเซลล์ เพื่อให้เซลล์สร้างโปรตีนเฉพาะ และเป็นการเปิดกลไลการทำงานของเซลล์บางอย่างให้มีการสังเคราะห์และแสดงลักษณะสารพันธุกรรมออกมา เช่นระบบต่อไร้ท่อจะขับออร์โมนโซมาโทโทรพิน(somatotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตที่หลั่งจากต่อมใต้สมองในเวลาหลับ

    พูดง่ายๆ ก็คือ การเอาข้อมูลที่อยู่ในพันธุกรรมของ DNA ที่อยู่ในโครโมโซมมาเปิด แล้วยอมให้มีการถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อเอาไปสังเคราะห์โปรตีนชนิดต่างๆ เช่น เอนไซม์โครงสร้างโปรตีน ที่มีหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหลอ ฉะนั้นช่วงนอนฝันจะมีกลไกที่ทำให้เซลล์ซ่อมแซมตัวเองได้

    การหลับฝันของเด็กต่างกับการหลับฝันของผู้ใหญ่ซึ่ง จะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุ โดยจะเหลือการนอนฝันเพียง 25% จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า เหตุที่ร่างกายของผู้สูงอายุเสื่อมสภาพลง อาจเพราะมีการหลับฝันน้อยลง ทำให้การซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอบกพร่อง และทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพได้รวดเร็วด้วย
  3. การนอนฝันมีความเกี่ยวข้องกันกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย
  4. นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความแปลกขึ้นทางสรีระวิทยาคือ สัตว์เลือดอุ่นมีการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับ 37 องศาเซลเซียส แต่ขณะหลับฝันระบบประสาทจะไม่มีการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย จึงทำให้อุณหภูมิตกลงมาได้หากหลับในห้องที่มีความเย็น ดังนั้นควรระวังให้ความอบอุ่นแก่เด็กในเรื่องนี้ด้วย



ฝันร้ายแก้ไขได้
การที่เด็กนอนสะดุ้งตื่นจึงเป็นประสบการณ์ที่เด็กทุกคนต้องเคยผ่านมา 1-2 ครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากเกิดขึ้นวันแล้ววันเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ควรหาสาเหตุ เช่น

  • ต้องดูว่าในเวลากลางวันมีอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางจิตใจและร่างกายที่ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย
  • เด็กมีความผิดปกติในเรื่องอื่นๆ หรือไม่ เช่น หากเด็กเล็กๆ ได้นมเต็มส่วน formula ทำให้นมไม่ย่อยหรือเปล่า หรือเติมสารอะไรที่เด็กแพ้ เด็กบางคนแพ้นมวัว เด็กบางคนไม่มีน้ำย่อยสลายแลคโตส หรือมีอะไรอยู่ในอาหารเสริมที่ได้รับหรือเปล่า จึงทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น


ช่วยคลายฝันร้าย
รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี กล่าวปิดท้ายว่า หากเด็กนอนฝันและสะดุ้งตื่น แล้วมีอาการหวาดกลัว งอแงตกใจ หายใจแรง เหงื่อออก นั่นเป็นสัญญาณว่า ช่วงการหลับฝันของเด็ก ทำให้เกิดการปรับตัวที่รับไม่ได้ เขาจึงสะดุ้งตื่น ซึ่งเป็นการบอกให้พ่อแม่ทราบว่า เด็กต้องการการปลอบใจ ความอบอุ่น หากคุณทำให้เขารู้สึกว่ามีที่พึ่งได้ เขาก็จะหลับไปอีกครั้ง

วิธีทำให้เด็กฝันดี

  1. ให้เขาสบายตัว คือสุขภาพร่างกายต้องดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สภาพแวดล้อมของที่นอน อากาศถ่ายเท อุณหภูมิในห้องที่ไม่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป หรือแสงไฟและเสียงรอบข้าง
  2. ให้เขาสบายใจ ผู้ใหญ่รอบข้างบางคนชอบขู่ให้เด็กกลัวความมืด ทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขากลัว เช่นเสียงตุ๊กแกร้องหรือแม้แต่รูปภาพติดฝาผนังก็อาจทำให้เด็กวิตก สิ่งที่ช่วยแก้ฝันร้ายได้ดีที่สุด คือความอุ่นใจที่ได้รับการสัมผัสถึงความอ่อนโยน และห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่ การมีคุณอยู่ข้างๆ ส่งเขาเข้านอนถือเป็นการปูพื้นให้เขาฝันดีได้อย่างหนึ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 483498เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท