ครูบาบินก้าว
ครูบา บินก้าว อิทธิภาโว จนอีหลีอีหลอ

" ติดสา บูมี "


เมืองไทย ยังไม่เคยมี...
  • เมืองไทย ยังไม่มี ๑

    เมื่อต้นเดือนที่แล้ว ผมผ่านไปมุมไบ และได้พบกับปรากฏการณ์ศรัทธาของชาวอินเดียต่อนักการเมืองท่านหนึ่ง ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผมมาก อาจเป็นเพราะไม่คุ้นเคยกับศรัทธาที่ประชาชนไทยมีให้ต่อนักการเมือง นักการเมืองอินเดียท่านนี้ คือ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar)

    ช่วงที่ผมอยู่ในมุมไบ ตรงกับคืนก่อนวันครบรอบวันตายของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ จึงมีโอกาสเห็นชาวอินเดียทั้งคนแก่ หนุ่มสาว และเด็ก เข้าแถวเพื่อที่จะเข้าไปเคารพอัฐิของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปจนใกล้เที่ยงคืนแล้ว แต่แถวยังยาวหลายกิโลเมตร และประชาชนต้องรอนานไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง จึงจะเข้าถึงสถูปที่เก็บอัฐิ ภาพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้นำแบบนี้อาจจะไม่แปลก ถ้าผู้นำเหล่านั้นเป็นกษัตริย์ ประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี แต่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ไม่เคยเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ และเสียชีวิตมาถึง 53 ปีแล้ว ผมไม่คิดว่าในเมืองไทยจะมีรัฐมนตรีหรือหัวหน้าพรรคการเมืองคนใด ที่จะสร้างศรัทธาจากประชาชนได้มากเท่านี้

    ดร.อัมเบ็ดก้าร์ เป็นนักต่อสู้ และนักปฏิวัติสังคมที่มีประวัติน่าสนใจมาก สมควรอย่างยิ่งที่นักการเมืองไทยควรจะได้ศึกษา (หรือถูกบังคับให้ศึกษา) ดร.อัมเบ็ดก้าร์ เกิดในครอบครัวยากจนในวรรณะจัณฑาล ซึ่งถือว่าเป็นวรรณะที่ต่ำที่สุดของสังคมอินเดีย เมื่อ ดร.อัมเบ็ดก้าร์เข้าโรงเรียนนั้น คนในวรรณะจัณฑาลไม่สามารถนั่งเก้าอี้เรียนหนังสือร่วมกับเพื่อนวรรณะอื่นได้ แต่ด้วยความที่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์เป็นนักต่อสู้ตั้งแต่เด็ก และเป็นคนเรียนเก่ง จึงสามารถสอบได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกถึงสองใบ คือ ปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นิวยอร์ก และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จาก London School of Economics
     
  • สมณะบินก้าว อิทธิภาโว ‎.

    เมืองไทย ยังไม่มี ๒

    เมื่อ ดร.อัมเบ็ดก้าร์สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อินเดีย ท่านยังคงต้องเผชิญกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางวรรณะสูงมาก ยังถูกรังเกียจและกีดกันเพราะว่าเป็นวรรณะจัณฑาล ดร.อัมเบ็ดก้าร์จึงยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางวรรณะ เพื่อให้คนที่เกิดมาในวรรณะจัณฑาลได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพชีวิตของตน เมื่ออินเดียได้รับเอกราช ดร.อัมเบ็ดก้าร์ได้ตั้งพรรค Republican Party of India ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยของรัฐบาลเนรูห์ นอกจากนี้ ท่านยังได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาอินเดียให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย โดยท่านได้ยึดถือความยุติธรรมระหว่างคนต่างวรรณะเป็นหลักการสำคัญในการทำงาน

    การต่อสู้เรื่องวรรณะในอินเดียเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นการต่อสู้กับความเชื่อที่เป็นรากฐานของสังคมฮินดู ที่สืบเนื่องกันมาหลายพันปี แต่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์กล้าที่จะต่อสู้ในสิ่งที่ท่านเชื่อว่าถูกต้อง แม้ว่าในช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ท่านมีโอกาสที่จะผลักดันให้เกิดการแบ่งแยกประเทศสำหรับคนจัณฑาลที่ปฏิเสธศาสนาฮินดู คล้ายกับกรณีที่ชาวมุสลิมแยกออกไปตั้งเป็นประเทศปากีสถาน และบังกลาเทศ แต่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ไม่ทำ เพราะ ท่านไม่ต้องการสร้างความแตกแยกให้ประเทศอินเดีย เป้าหมายหลักของท่าน คือ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอินเดีย โดยไม่สร้างความแตกแยก
  • สมณะบินก้าว อิทธิภาโว ‎.

    เมืองไทย ยังไม่มี ๓

    การต่อสู้ของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์นั้นเป็นการต่อสู้แบบปฏิเสธอาวุธและความรุนแรง แต่ใช้ปัญญาและหลักศาสนาเป็นกลไกหลัก เมื่อ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ตระหนักว่าศาสนาฮินดูได้สร้างให้เกิดระบบวรรณะที่นำไปสู่ความไม่ยุติธรรมในสังคม ดร.อัมเบ็ดก้าร์ได้ใช้เวลาหลายปีศึกษาหลักศาสนาต่างๆ ก่อนที่จะเลือกศาสนาพุทธเป็นศาสนาใหม่ของท่าน ในปี พ.ศ. 2499 ได้นำชาวจัณฑาลกว่า 500,000 คน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เป็นการปลดแอกชาวจัณฑาลออกจากสังคมวรรณะแบบฮินดู และส่งเสริมให้คนอินเดียหันกลับมาสนใจพุทธศาสนา หลังจากที่พุทธศาสนาในอินเดียถูกทอดทิ้งมาหลายร้อยปี

    ในหนังสือ "ดร.อัมเบ็ดก้าร์ รัตนบุรุษแห่งชมพูทวีป" พระอาจารย์อารยะวังโส ได้วิเคราะห์หลักแนวคิดของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ ตามหลักธรรมของพุทธศาสนาไว้น่าสนใจมาก ดร.อัมเบ็ดก้าร์ เชื่อในเรื่องของกรรมว่าคนเราจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำไม่ได้ขึ้นอยู่กับวรรณะ หรือตระกูลที่เกิดขึ้นมา คนทุกคนมีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน นอกจากนี้ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ส่งเสริมให้คนต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และภราดรภาพ ส่งเสริมให้คนปฏิบัติตามศีล ตามมรรค ปฏิบัติภาวนาเพื่อพัฒนาจิตใจ และมีเมตตาต่อคนอื่นๆ ตามหลักของพุทธศาสนา ด้วยการยึดหลักเหล่านี้ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ ได้สร้างโอกาสการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนจัณฑาลจำนวนมากที่เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา จนในวันนี้ มีชาวพุทธกว่าสิบล้านคนที่มีรากมาจากวรรณะจัณฑาล ได้อาศัยประตูที่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์เปิดให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในรัฐบาล เป็นข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้นำสังคม

    ที่มา..เศรษฐศาสตร์พเนจร : ดร. วิรไท สันติประภพ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554
     
     
  • สมณะบินก้าว อิทธิภาโว 
    " ติดสา บูมี " 

    อันคือ ทัศนาสถาน...ประวัติ ดร.อัมเบ็ดก้า แห่งมหารัชตะ อลังกาบาตร ประเทศอินเดีย
    http://www.facebook.com/media/set/?set=a.345827565438936.80562.100000350872323&type=3
คำสำคัญ (Tags): #ครููบาบินก้าว
หมายเลขบันทึก: 483467เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 04:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประทับใจมากครับ เรื่อง ดร.อัมเบ็ดก้า น่าจะได้อ่านกันมากๆๆๆ

..เรื่องดีๆ..ที่น่าเอาอย่าง..คงมีอีกมากมาย..ที่เอาอย่างเขาเขามาตลอด..(ไม่เคยเป็นสิ่งดีให้เห็นเล้ย)...ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท